วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567

“กัลยพัชร” ชี้กรณี สปสช. ตัดลดงบดูแลผู้ป่วยใน กระทบคุณภาพการรักษา - โรงพยาบาล - บุคลากรการแพทย์ ถามรัฐบาลทำเพื่ออะไร แนะเร่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ จะได้มี รมว.สธ. รับผิดชอบแก้ปัญหาประชาชน

 


กัลยพัชร” ชี้กรณี สปสช. ตัดลดงบดูแลผู้ป่วยใน กระทบคุณภาพการรักษา - โรงพยาบาล - บุคลากรการแพทย์ ถามรัฐบาลทำเพื่ออะไร แนะเร่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ จะได้มี รมว.สธ. รับผิดชอบแก้ปัญหาประชาชน


วันที่ 21 สิงหาคม 2567 กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวประเด็นการคำนวณการจ่ายรายหัวต่อผู้ป่วยที่ต้องแอดมิตโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยในที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยกล่าวว่า ขณะนี้มีกรณีร้องเรียนถึง สปสช. ที่ได้ลดอัตราการจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยใน ผ่านการลดสูตรค่าคำนวณจ่ายที่เรียกว่า AdjRW (Adjusted relative weight) ทำให้โรงพยาบาลที่มีเตียงรักษาผู้ป่วยใน มีรายรับลดลง 30% จากการรักษาผู้ป่วยใน นอกจากจะกระทบรายได้ของโรงพยาบาล ยังกระทบคุณภาพการรักษาผู้ป่วย รวมถึงกระทบคุณภาพชีวิตบุคลากรของโรงพยาบาลอีกด้วย


ยกตัวอย่าง กรณีผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปกติจะต้องแอดมิตเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลก็จะได้ค่าใช้จ่าย 8,350 บาทต่อหัว แต่หลังจากวันที่ 3 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา สปสช. ปรับลดค่าชดเชยที่จะจ่ายให้โรงพยาบาล เหลือเพียงประมาณ 4,531 บาท ซึ่งอาจจะต่ำกว่าต้นทุนในการรักษา สถานการณ์แบบนี้เท่ากับว่ายิ่งโรงพยาบาลรับผู้ป่วยในก็จะยิ่งขาดทุน


กรณีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ พบว่าโรงพยาบาล ที่เคยได้รับเงิน 7,000-8,000 บาทต่อหัว ถูกลดลงเหลือเพียง 4,000-5,000 บาทต่อหัว หรือลดลงประมาณ 30% แม้เรื่องนี้ ผู้ป่วยจะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยอย่างมาก เพราะยิ่งรักษาผู้ป่วยใน โรงพยาบาลยิ่งขาดทุน


สส.พรรคประชาชน ยกตัวอย่างผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 4 ประเด็น (1) โรงพยาบาลบางแห่ง อาจพิจารณารับคนไข้รักษาเป็นผู้ป่วยในด้วยเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เช่น จากเดิม หากผู้ป่วยเป็นกลุ่มอาการระดับสีเหลือง ต้องรับไว้เป็นผู้ป่วยในเพื่อสังเกตอาการ แต่เมื่อยิ่งรักษาผู้ป่วยในยิ่งขาดทุน ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองก็อาจได้รับการพิจารณาให้จ่ายยาและกลับไปรักษาที่บ้าน


(2) โรงพยาบาลลดต้นทุนการจัดบริการ ลดค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งกรณีนี้ตนได้รับร้องเรียนมาโดยตลอด เนื่องจากพยาบาลในโรงพยาบาลบางแห่ง ถูกตัดเงินที่ได้รับจากการทำงานล่วงเวลา โรงพยาบาลบางแห่งอาจจำใจต้องลดจำนวนบุคลากรประจำวอร์ดผู้ป่วยใน เพื่อจะได้คุมต้นทุนให้เท่ากับรายได้ที่ได้รับ ผลกระทบคือคุณภาพการบริการลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บุคลากรที่เหลืออยู่มีภาระงานมากขึ้น เครียดมากขึ้น


(3) โรงพยาบาล รับภาระแหล่งรายได้ทางอื่นมาจุนเจือการจัดบริการ เช่น โน้มน้าวให้ข้าราชการเข้ารับรักษาเป็นผู้ป่วยในมากขึ้น เพราะสามารถเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาที่มากเกินไปกับคนกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สิทธิข้าราชการ และผู้ป่วยที่จ่ายเอง และให้การรักษาน้อยเกินไปกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน


(4) บางโรงพยาบาลอยู่ได้ด้วยการยืมยา และมีการติดหนี้ค่ายา การได้รับเงินสนับสนุนที่น้อยลง จะส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ขาดเงินมาพัฒนาคุณภาพการบริการ ทำให้การรักษาไม่ก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ


กัลยพัชร ย้ำว่า ตนในฐานะตัวแทนพรรคประชาชนขอตั้งคำถามว่า สาเหตุของการปรับสูตรคำนวณการจ่ายดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด ตนและ สส. ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข จะเสนอบรรจุวาระติดตามปัญหานี้ใน กมธ.สาธารณสุข โดยเร็วที่สุด คาดว่าในวันที่ 29 ส.ค. นี้ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน กระทบต่อประชาชนทั้งประเทศที่ส่วนใหญ่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ


พร้อมกันนี้ กัลยพัชร กล่าวอีกว่า ตนจะแถลงข่าวผลการหารือเป็นระยะ รวมทั้งใช้กลไกอื่นๆ ในรัฐสภาอย่างเต็มที่ ได้แก่ การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที เมื่อมีการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ การอภิปรายรับรองรายงานของ สปสช. และอภิปรายการแถลงนโยบายที่กำลังจะถึงในเดือนกันยายน ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบตั้ง ครม.โดยเร็ว เพื่อให้การสาธารณสุขมีผู้บริหารที่ชัดเจน ถืออำนาจเต็ม มารับผิดชอบการแก้ปัญหาสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างมีทิศทาง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #สปสช #กระทรวงสาธารณสุข