วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ธิดา ถาวรเศรษฐ : พรรคเพื่อไทย ดองกับ พรรคประชาธิปัตย์ ข้ามศพประชาชน [ถอดจากรายการ THAIRATH NEWSROOM เมื่อ 29 ส.ค. 67]

 


ธิดา ถาวรเศรษฐ : พรรคเพื่อไทย ดอง พรรคประชาธิปัตย์ ข้ามศพประชาชน


ถอดจากรายการ THAIRATH NEWSROOM

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567

ลิ้งค์ยูทูป https://www.youtube.com/live/sKfE38O0xSE


อาจารย์รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ มาถึงจุดที่ “ประชาธิปัตย์” เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย


ไม่แปลกใจ เพราะว่าทันทีที่คุณทักษิณมีดีลและกลับประเทศ แล้วมีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลกับกลุ่มผู้มีอำนาจเดิมที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ความเข้าใจของเราก็คือว่า คุณทักษิณได้เปลี่ยนจากพรรคการเมืองที่เป็นแกนฝ่ายประชาธิปไตย ที่เป็นผู้นำของฝ่ายประชาธิปไตยด้วยนะ คือพรรคเพื่อไทยได้กลายมาเป็นพรรคแกนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียบร้อยแล้ว เปลี่ยนบทบาท


แล้วถามว่าพรรคประชาธิปัตย์คือใคร? เดิมเป็นพรรคแกนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาตลอด ถ้ามีคนเรียงลำดับว่าเขาได้รับชัยชนะมาตลอดนะ แต่ก็ประมาณร้อยกว่า ทันทีที่เกิดพรรคไทยรักไทยขึ้นมา ความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์มันก็เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การทำรัฐประหารแต่ละครั้ง หลังทำรัฐประหาร ฝั่งอนุรักษ์นิยมก็คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้นำและชนะด้วย แต่มันก็ไม่ชนะเสียที สุดท้ายเขาก็ตั้งพรรคเอง


ดังนั้น บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่พรรคแกนนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกต่อไป แล้วก็ตกต่ำลงเป็นลำดับ เพราะว่าพรรคที่ตั้งขึ้นมาแทน เช่น พลังประชารัฐ หรือ พรรครวมไทยสร้างชาติ เหล่านี้มีลักษณะเป็นพลังอนุรักษ์นิยมที่มากกว่า แข็งแรงกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่ประชาธิปัตย์ก็ค่อย ๆ กลายเป็นพรรคเล็ก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจาก 100 กว่าจะลงมาเหลือ 50 กว่า และเหลือ 20 กว่า แต่ว่าก็เข้าใจ


ตอนนี้ที่ว่ามารวมกับประชาธิปัตย์นั้น เป็นตอนที่มาเสริมทัพ แต่ความเป็นอันเดียวกันมันน่าจะมีตั้งแต่ตอนแรกแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ลงตัว ประชาธิปัตย์ก็รอไปก่อน แต่พอมามีการตัดสินใจว่าไม่เอา “ลุงป่า” ก็เป็นทฤษฎีที่ว่าพรรคไทยรักไทยหรือคุณทักษิณจะต้องมีตัวเลขที่เหมาะสมเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ พอมันเป็นอย่างนี้ สำหรับอาจารย์ก็ไม่แปลกใจ



แต่ว่าสำหรับประชาชนและคนเสื้อแดงซึ่งเขามีปัญหาและมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้าม และมีบทบาทร่วมกันในการที่ทำให้เกิดการเสียหายบาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนปี 2553 ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นทั้งทีม กปปส. เพราะประชาธิปัตย์เวลาลงไป กปปส. ก็ไปทั้งหมด และดีอกดีใจที่มีการทำรัฐประหาร ตอน 2553 ก็มีบทบาทใน ศอฉ. เต็มที่


ดังนั้น ความเป็นปฏิปักษ์ในหมู่ของผู้รักประชาธิปไตยและคนเสื้อแดง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดมีอยู่สูงมาก จนกระทั่งวันนี้พอเกิดเหตุการณ์ที่มารวมกัน หลายคนก็ยังทำใจไม่ได้ แต่ที่จริงสำหรับอาจารย์ก็เข้าใจมาก่อนแล้วว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็เพื่อไทยข้ามขั้วมาอยู่ฝั่งนี้ มันก็อยู่ฝั่งเดียวกัน ก็เป็นพวกเดียวกันแล้ว


ตั้งแต่วันที่โหวต นายกฯ เศรษฐา แล้ว สิ่งที่เป็นผลสะเทือนมากที่สุดก็คือ แกนนำของพรรคอนุรักษ์นิยมพรรคใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในชื่อประชาธิปัตย์ คือ พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ มาอยู่ฝั่งนี้ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย


แล้วกลายเป็นแกนนำ ก็คือพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยจากแกนนำฝั่งประชาธิปไตย กลายมาเป็นแกนนำฝั่งอนุรักษ์นิยม


แต่คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมจริง ๆ พอฟังว่าเพื่อไทยมาเป็นแกนนำ บางคนก็อาจไม่ค่อยถูกอกถูกใจเท่าไหร่


ไม่ถูกใจ ยังมีความเกลียด ความกลัว ความระแวงและไม่ชอบใจอยู่ ถึงพรรคเพื่อไทยจะมาเป็นแกนนำฝั่งนี้ แต่อยู่ไม่ได้เป็นสุขล่ะค่ะ เพราะว่าฝั่งนี้เขาไม่ได้เป็นเอกภาพ การเพาะความเกลียดชังพรรคไทยรักไทย-คุณทักษิณ มันมีมายาวนานหลายสิบปี ไม่ว่าคุณทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยจะมี “บิ๊กดีล” อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเขาก็ยังคงความเกลียดชังอยู่ คงความระแวงอยู่ แม้นจะรู้ว่าพรรคเพื่อไทยหรือคุณทักษิณเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะรักษาอำนาจ แต่ว่าก็ไม่ชอบ ก็เกลียด แล้วก็กลัวด้วย ถ้ายังไปชื่นชมก็แปลว่าเมื่อก่อนที่เคยด่าเอาไว้ แปลว่าผิดซิ


อีกอย่างก็คือ สไตล์ของพรรคไทยรักไทยและคุณทักษิณก็ยังคล้าย ๆ เดิมอยู่ ในความคิดของอาจารย์นะ ก็คือยังขาดความระมัดระวัง มีโอกาสที่จะโดนร้องเรียนเยอะมากกกกก


การที่มีเสียงมาเติม เอาพรรคพลังประชารัฐออกไป ไม่ได้มีความปลอดภัยหรือความมั่นคงในตัวของรัฐบาลมากขึ้นเลย


คือตัวเสียงมันพอ แต่ว่าการดำรงอยู่มันไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยเสียงในสภาอย่างเดียว อย่าลืมว่าองคาพยพของฝ่ายระบอบอำมาตย์ต่าง ๆ แล้วก็นักร้องต่าง ๆ เหล่านี้เขาไม่ได้อยู่ในสภาด้วย เขาก็ยังมีส่วนที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้มากมาย เพราะฉะนั้น คุณทักษิณ 1) นอกจะมีด่านของคนที่เคยนิยมแล้วไม่ชอบใจ 2) แม้กระทั่งมาอยู่ฟากนี้แล้ว ฟากอนุรักษ์นิยมเขาก็ไม่ยินดีด้วยกันหมดทั่วทุกคน



ประเด็นของเรื่องนี้ อาจารย์ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันมามั้ยว่าเขามีความเห็นความรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร หรือหลายคนมองอย่างที่อาจารย์มองว่ามันจบไปตั้งแต่ตอนข้ามขั้วแล้ว ตอนนี้ไม่เซอร์ไพรส์เท่าไร


คนจำนวนหนึ่งเขายังคิดไม่ได้เหมือนเรา เขายังมีความผูกใจเจ็บกับการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตอยู่มาก ข้ามขั้วไปแล้วก็จริง ก็อาจจะเสียใจระดับหนึ่ง พอยิ่งจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็มีความรู้สึกว่ามันยิ่งเจ็บอีก ประมาณนั้น


ทางฝั่งเพื่อไทยเขาก็พยายามจะมาบอกว่าตัวละครเก่าไม่อยู่แล้ว มีแต่ตัวใหม่ ๆ มา แต่ว่าการกระทำในนามพรรคมันทำมายาวนาน ไม่ว่าตัวละครจะอยู่หรือไป แต่โลโก้และป้ายมันยังเป็นอันเดิม ความรู้สึกที่มันเจ็บปวดและฝังลึกในปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานที่ถูกกระทำ คนเหล่านี้ก็มีความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นอีก


อย่างสมมุติว่าคนก้อนแรกของคนเสื้อแดงที่ไปเลือกอนาคตใหม่ คนก้อนแรกนี้เขาอาจจะเฉย ๆ พวกที่เขาไม่มาเลือกเพื่อไทยแล้วนะ แต่ว่าคนก้อนที่ยังเลือกเพื่อไทยอยู่ โดยเชื่อว่ายังเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ คนพวกนี้จะเจ็บปวดมากขึ้น เพราะว่าเขาก็อยากจะให้อภัย อยากจะเห็นใจ แต่ว่าแหม...มันยิ่งรับไม่ได้มากขึ้น ๆ คนเหล่านี้มีมาก (คือหมายถึงเป็นพวกที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย) โดยเฉพาะตอนหลัง โหวตเตอร์ 10 ล้านเสียงนั่นแหละ เพราะว่าโหวตเตอร์ 10 ล้านเสียงนี้เขาคิดว่าพรรคเพื่อไทยยังเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พวกนี้ก็จะมีปัญหามากขึ้น แต่อาจารย์เข้าใจว่าจริง ๆ เขาก็จะรวมกันตั้งแต่ทีแรกแล้ว เพียงแต่มันยังไม่ได้ก็ต้องรอมาอีกทีหนึ่ง


แล้วมันก็ไม่น่าแปลกอะไรเพราะว่ามันเป็นการก้าวข้ามมาอยู่ฟากเดียวกันแล้ว สำหรับอาจารย์ก็ไม่รู้สึกแปลก เพียงแต่ว่ามันตอกย้ำให้เห็นว่า อดีตที่ผ่านมามันเหมือนถูกลืม แล้วอย่างที่อาจารย์พูดเอาไว้ว่า การต่อสู้นั้นมีคนบาดเจ็บล้มตาย ติดคุกติดตะราง ถูกฟ้องทั้งอาญาทั้งแพ่งต่าง ๆ มากมาย และคดียังไปไม่ถึงไหน เพราะว่าถูกกระทำโดยการทำรัฐประหาร ทำให้คดีหยุด เราทวงต่อก็ไม่ได้ ทหารก็ไปติดที่ศาลทหาร นักการเมืองก็ไปติดที่ป.ป.ช. แล้วที่ยังไม่ได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีกตั้ง 60 กว่าศพ ถึงถามว่าเขาไม่อยากรู้เลยหรือว่ารายละเอียดของการชันสูตรพลิกศพเหล่านี้เป็นยังไง? คือปล่อยให้หายไปเลย


ตรงข้ามกับคดีของคนเสื้อแดง ก็คือติดคุกฟรีเป็นจำนวนมาก เพราะเขาพยายามจะทำให้เห็นความชอบธรรมว่า พวกนี้มีกองกำลังอาวุธ อย่างกรณีล่าสุดที่ใน The101.world ที่เอามาพูดเรื่องชายชุดดำ ติดคุณไป 8 ปีฟรี ๆ ที่คุณวจนา วรรลยางกูรเอามาสัมภาษณ์ แต่ตอนนั้นอาจารย์จำได้นะก็คือเวลาเขาเอามาแถลงข่าวนะ เขาให้ใส่เสื้อดำ แล้วก็เอาริบบิ้นสีแดงผูกแขน แล้วก็ให้ถือปืน อาจารย์ได้ยินเสียงกำกับให้ประทับปืนแบบนี้ ๆ อาจารย์ก็รู้แล้วว่าเขาพยายามเล่นละคร เพราะว่าคนเสื้อแดงจริง ๆ มันแต่งตัวตามสภาพ แล้วเอาริบบิ้นมาผูกนี่มันนิสัยทหาร ไม่ใช่ประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีริบบิ้นมาผูกเพราะคนรู้จักหน้ากันว่าใครเป็นใคร ไม่เหมือนพวกเขา มาจากเหล่าไหนก็ไม่รู้ก็ต้องผูกริบบิ้น คือเป็นเรื่องปลอมทั้งนั้นเลยที่จัดฉาก


ดังนั้น ความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง ความสูญเสียของคนเสื้อแดง ทั้งที่เจ็บ ทั้งที่ตาย ทั้งที่ถูกคุมขัง มันยังไม่ได้ถูกชำระ แม้กระทั่งศพยังไม่ได้รับการไต่สวน พอมาเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว แล้วคุณจะไปทวงได้ไง เพราะเขาไปจับมืออยู่กับคนที่มีส่วนในการฆ่าประชาชน แล้วจะไปทวงได้ยังไง เขาจับมือกันเป็นรัฐบาล


พรรคการเมืองที่ “เพื่อไทย” กำลังร่วมงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “รวมไทยสร้างชาติ”  ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากพรรคของคุณประยุทธ์ ซึ่งคุณประยุทธ์ก็มีตำแหน่งเป็นรองผบ.ทบ.ในสมัยที่ปราบเสื้อแดง “ประชาธิปัตย์” ก็แกนนำรัฐบาลตอนนั้นเลย คุณอภิสิทธิ์-สุเทพ ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ก็ตาม


แต่ว่าลูกชายคุณสุเทพก็อยู่รวมไทยสร้างชาติได้เป็นรัฐมนตรีไง คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ แล้วคุณเอกนัฏไปจัดการน้องไปป์ (ลูกคุณยิ่งลักษณ์) อย่างที่บอก คุณทักษิณเขาบอกเขาลืมอดีต คนที่มาจัดการกับเขา เขาบอกเขาจำ แต่ว่าเขาลืม อาจารย์ก็เลยถึงพูดมาว่า ถ้าคุณลืมคนที่อดีตที่ทำร้ายคุณ ศัตรูที่ทำร้ายคุณ คุณลืมเขาได้ คุณก็ลืมมิตรที่เคยร่วมในการต่อสู้บาดเจ็บล้มตาย คุณต้องเดินผ่านซากศพเหล่านี้เพื่อไปจับมือเขา



แล้วยังมีพลังประชารัฐอีก ที่ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ร่วมในรัฐบาลนี้ แต่ร่วมรัฐบาลคุณเศรษฐาไปแล้ว ซึ่งมีพลเอกประวิตร ที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหม คือทุกตัวละครล้วนเกี่ยวข้อง


มันเป็นชุดเดิม คือคณะที่มาจับมือ มีแต่เพื่อไทยเท่านั้นที่เข้าไป ภูมิใจไทยก็อยู่เหมือนเดิม มันเป็นชุดที่อยู่กับการสืบทอดอำนาจ ทำให้คุณประยุทธ์เป็นรัฐบาลได้จนหมดยุค แกอยู่ได้ตั้ง 9 ปี ด้วยพรรคต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาลในขณะนั้นก็มาร่วมรัฐบาลขณะนี้ ก็ขาดประชาธิปัตย์พรรคเดียว ตอนนี้ก็เอามา


แต่ว่าปัญหาสำหรับพลังประชารัฐนั้น คงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องในอดีตที่ถูกจัดการไป คงเป็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งในปัจจุบัน


ความคาดหวังในพรรคเพื่อไทย ก่อนและหลังเรื่องตั้ง สำหรับอาจารย์ มันพลิกหน้ามือ/หลังมือ เลยมั้ย? กับเรื่องการทวงความยุติธรรมให้กับ “คนเสื้อแดง”


เราไม่ไว้ใจอยู่แล้ว แต่ว่ายังมีความหวังอยู่ เพราะว่าตอนนั้นอาจารย์ก็รู้แล้วว่าเขาจะมีเลือกตั้ง เขาก็ต้องหาเสียง เราก็ต้องการคำมั่นสัญญาในตอนที่หาเสียง ที่อาจารย์ทำหนังสือออกมา เราก็ทำข้อมูลไปเพื่อต้องการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการบริหารเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นไปตามกฎหมายนะ ไม่ใช่เกินกว่ากฎหมายนะ ที่มันไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะถูกฟรีซเอาไว้ในยุครัฐบาลทหาร เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้ควรจะทำได้ เรื่องที่สองก็คือแก้กฎหมายให้ทหารที่ทำความผิดอาญาต่อประชาชนขึ้นศาลพลเรือน ซึ่งอันนี้ก็ต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อย่างน้อยสองเรื่องนี้ที่ทำได้ เรื่องไป ICC อาจารย์ไม่หวังหรอก แต่อย่างน้อยสองเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร เขาควรจะทำได้ แต่ว่าลึก ๆ ในใจก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าเราต้องทำไปก่อนเพื่อที่จะทำให้คนเสื้อแดงหนึ่ง ญาติวีรชนหนึ่ง เขาจะได้รู้ว่าพวกเราไม่ได้ทิ้ง แล้วก็พยายามอย่างถึงที่สุดในการทวงความยุติธรรมให้กับคนตาย เราพยายามทำเต็มที่ แล้วก็ไม่ได้ไปต่อว่าต่อขานนะ ก็พูดกันดี ๆ เขาก็มา เอาเข้าจริงจนถึงป่านนี้แล้วก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไรในเชิงบวกเลย


ที่เราไม่ค่อยสบายใจเพราะว่าในช่วงที่เขาเป็นรัฐบาล พูดตรง ๆ ว่า นปช.กับพรรคเพื่อไทยก็มีความขัดแย้งอยู่ในหลายเรื่อง เช่น นิรโทษสุดซอย เรื่อง ICC หรือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่เอาเรื่องหลัก ๆ ไม่เอาเรื่องน้อย ๆ ความเห็นไม่ตรงกัน และเราด้วยความหวังดีเราก็พยายามอธิบาย แต่ว่าไม่เห็นด้วย แล้วชะตากรรมก็เกิดขึ้นไง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว คนเสื้อแดงและขบวนการประชาชนก็ถูกกระทำไปด้วย


อาจารย์มองแล้วก็คือ ทางพรรคเพื่อไทย ถ้าการใดที่เป็นประโยชน์และเขาเห็นชอบ ก็อาจจะทำด้วยกัน ถ้าการใดที่เขาไม่เห็นประโยชน์และไม่เห็นชอบ เขาก็ไม่ได้สนใจและไม่ได้เชื่อแม้เราจะหวังดี เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็คิดว่าพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณ แม้ว่าจะมีขีดความสามารถในเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในทัศนะของอาจารย์ส่วนตัวนะ ไม่ได้ดูเบานะ ต้องขออภัย คืออาจารย์มองว่าพรรคเพื่อไทยยังรู้จักสังคมไทยน้อยไป รู้จักจารีตนิยมอำนาจนิยมน้อยไป มันถึงได้เกิดชะตากรรมแบบที่เกิดขึ้น แล้วต้องรู้ว่าในฝ่ายอำมาตย์เขาอำมหิตแค่ไหน ถึงคุณมาอยู่ฝั่งนี้คุณก็จะรู้ นี่คุณก็โดนไปตั้ง 2 เรื่องเข้าไปแล้ว เรื่อง 112 คุณทักษิณ แล้วก็นายกฯ เศรษฐา ด้วย แล้วมันกำลังจะเกิดขึ้นอีกตั้งเยอะแยะ


เพราะฉะนั้น มันไม่ง่าย ๆ อาจารย์คิดว่าเขาอาจจะรู้เรื่องทุนนิยม บางอย่างไปอ่านหนังสือต่างประเทศได้ แต่สังคมไทยมันมีลักษณะพิเศษ เป็นเรื่องที่ยาก อาจารย์ก็เคยมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ภาคประชาชน เรามีปัญหาเรื่องวิเคราะห์สังคมไทย ถ้าเราวิเคราะห์สังคมไม่ถูก เราจะวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการต่อสู้ผิดหมด พูดกันตรง ๆ เลยว่า เขายังรู้จักฝั่งจารีตกับอำนาจนิยมน้อยไปนะ ผ่านมาตั้ง 17 ปี คุณทักษิณก็อาจจะคิดว่าไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ต้องเอาอย่างนี้ก็ได้ แต่เขาต้องเลือกเอาว่า ประชาชนนั้นเปลี่ยนไปแล้วนะ แต่โครงสร้างชั้นบนของสังคมไทยและฝั่งจารีตอำนาจนิยมก็ยังไม่เปลี่ยน


ประชาชนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าคุณเป็นไปตามฝั่งอำมาตย์และจารีตนิยม คุณก็จะมีคนคัดค้าน ประชาชนไม่เห็นด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าคุณปรับมาทางทำงานให้กับประชาชน คุณก็อาจจะถูกฝั่งอำมาตย์จัดการตีหัวเล่นงานก็ได้



แล้วตกลงต้องเลือกทางไหนในมุมมองของ อ.ธิดา?


อาจารย์อยู่ฝ่ายนักต่อสู้ประชาชนต้องเลือกประชาชนอยู่แล้ว แต่เรารู้ว่าเขาไม่ได้ตั้งพรรคมาเพื่อมาต่อสู้แบบนี้ เขาตั้งพรรคมาเพื่อเขาจะเป็นรัฐบาล แล้วเขาจะให้คุณทักษิณกลับแล้วก็ไม่ต้องมีโทษ เราก็เข้าใจนะ แต่ว่าสิ่งที่ทำมันเกิดผลร้ายกับความก้าวหน้าของประชาชน เกิดผลร้ายกับพัฒนาทางการเมืองที่จะไปในทิศทางที่ก้าวหน้า เพราะเขามาเสริมพลังที่ล้าหลัง เข้ามาอยู่ในพลังที่ล้าหลังแล้วค้ำจุนพลังที่ล้าหลัง แทนที่เขาจะเป็นตัวช่วยฝ่ายประชาธิปไตย ก็กลายไปช่วยอีกฝั่งหนึ่งเสียฉิบ เพราะฉะนั้น ที่เราจะทวงความยุติธรรม แล้วมันจะทำได้ยังไง ก็เจอคนปราบปรามอยู่ในรัฐบาลนั้นอีก


อนาคตเราจะพึ่งพากลไกใด หรือกลุ่มคนใด ได้บ้าง?


ขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนยังดำรงอยู่ แล้วก็ขยายตัวมากขึ้น โดยเห็นได้จากการที่ว่าเขาหันมาต่อสู้ในวิถีทางรัฐสภา เสียงโหวตรวมกัน (เพื่อไทย+ก้าวไกล) ตอนนั้นรวมกันก็ประมาณ 70% ซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น พลังของประชาชนก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ส่วนพลังของคนเสื้อแดงที่ติดตามพรรคเพื่อไทยไปก็ยังมีส่วนหนึ่ง เขาก็อยากพยายามทำงานทางเศรษฐกิจ เพราะฝั่งอำมาตย์เขาไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคุณทำเศรษฐกิจแบบดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้นะ ทำได้เท่าที่เขาอนุญาตให้ทำ ถ้าไม่อนุญาตก็ทำไม่ได้ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าทำแบบเดิมไม่มีทางได้ ขนาดทำไม่เหมือนเดิมก็ยังต้องไปเลย อย่างคุณเศรษฐา เขาก็จะอยู่ไม่สนุกหรอก ตอนนี้ “นักร้อง” ก็เตรียมแฟ้มไว้ร้องเต็มไปหมดเลยอาจารย์ว่า


ที่ร้องไปแล้วก็มีคุณเรืองไกร สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไปร้องทั้งประเด็น “แพทองธาร” และประเด็นคนครอบงำพรรค โดยบุคคลนิรนามที่ไปร้องพรรคเพื่อไทยถูกครอบงำโดยคุณทักษิณ ล่าสุดการให้สัมภาษณ์ของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน พูดเรื่องการที่เพื่อไทยไม่เอา พปชร. เข้าร่วม แบบนี้ “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” หรือเปล่า


ก็จะมีนักร้องไปร้อง หรือไม่คุณไพบูลย์ร้องเองก็ได้ คุณไพบูลย์ก็เป็นมือกฎหมายฝ่ายอนุรักษ์นิยมเต็มที่อยู่หนึ่งคน และมาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ การที่เอาพรรคพลังประชารัฐออก แน่นอน มีเสถียรภาพทางการเมืองเพราะเอาประชาธิปัตย์มาร่วม และมีคนในพลังประชารัฐที่ยังโหวตให้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่กระบวนการในการที่จะเอาผิดพรรคเพื่อไทยจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ยิ่งมากขึ้น เพราะว่าฝั่งจารีตเขาไม่ได้เป็นเอกภาพนะ ไม่ใช่ว่าคุณมีบิ๊กดีลแล้วทุกคนจะฟังหมดนะ บางส่วนเขาก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย ไม่ชอบเสียอย่าง


หลายคนมองว่าพรรคการเมืองสลายขั้วก็จริง แต่ประชาชนบางกลุ่มก็ไม่ได้สลายขั้วตาม ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่ได้เกาะกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ฝ่ายประชาธิปไตยเดิมก็มีความเห็นต่าง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมปัจจุบันก็มีความเห็นต่างก็หลากหลายมาก


คือฝ่ายประชาธิปไตยขบวนการประชาชนมันสลายขั้วไม่ได้นะ เพราะความขัดแย้งมันยังดำรงอยู่ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ทำให้มีประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ทำให้มีความยุติธรรมแบบไทย ๆ และมีการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ จะบอกว่าพรรคเพื่อไทยไปอยู่ทางโน้นแล้วสลายขั้ว ไม่ใช่!!! ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ทนโท่ และยิ่งหนักขึ้นอีก แม้กระทั่งเรื่องที่อาจจะมีความเห็นในเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรค แม้กระทั่งตัดสินของคุณเศรษฐาก็ตาม มีความเห็นที่ไม่เห็นด้วยมากมาย และยิ่งมีการออกมาพูดโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทำหน้าที่ ความจริงเขาไปพูดในงานนั้น เขาตั้งใจจะชื่นชมว่าสิทธิเสรีภาพประชาชนเต็มที่นะ ก็คือคนหนึ่งคนก็ยังล้มพรรคได้เลย สิทธิเสรีภาพมาก รัฐธรรมนูญประเทศอื่นไม่มีนะ ความจริงมาตรา 49 ตอนที่อาจารย์เห็นในรัฐธรรมนูญอาจารย์รู้แล้วว่านี่เป็นช่องทางให้นักร้องสามารถร้องตรงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปรออัยการหรือใคร อาจารย์มองแล้วว่านี่แหละคือวิถีทางที่เขาจะจัดการพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วยนักร้องคนเดียว คุณจะร้องยังไงก็ได้ มันอยู่ที่การพิจารณา ตอนนี้พิจารณาเรื่องวิญญูชน เรื่องจริยธรรม ซึ่งไม่รู้ขอบเขตอยู่ที่ไหน


ฉะนั้น ที่บอก “สลายขั้ว” มันไม่ใช่ ขบวนการประชาชนในการต่อสู้เพื่อให้คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นประชาธิปไตยแบบสากล ก็คือคุณอยู่พรรคไหนก็ได้ พรรคขวา พรรคซ้าย พรรคอนุรักษ์นิยมอะไรก็ได้ บอกมาตรง ๆ เลย แล้วก็เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่มีการทำรัฐประหาร แล้วองค์กรสำคัญ ๆ ควรจะยึดโยงกับประชาชน และนี่องค์กรสำคัญ ๆ แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารทั้งนั้น สว.ก็มาจากการแต่งตั้ง นี่ยกตัวอย่าง


ดังนั้น ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ มันไม่ได้สลาย เพราะว่าชนชั้นนำที่เป็นเหมือนกับอยู่ในระบอบเก่ายังเป็นผู้ปกครอง แล้วยังกระทำต่อประชาชน ดังนั้นขบวนการประชาชนก็ยังต้องเดินหน้า แม้นว่านปช.ไม่ได้เป็นผู้นำแล้ว แต่ว่าทิศทางที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจโดยไม่ต้องมีผู้นำ ซึ่งอาจารย์ชื่นชมมาก คือเขามีความเป็นตัวของเขาเอง เขารู้ว่าเขาควรจะทำยังไง ควรจะเป็นโหวตเตอร์อะไร เขาจะเลือกพรรคไหน หรือให้คุณให้โทษอย่างไร เขารู้!!!


อาจารย์คิดว่าภารกิจในการที่ทำให้ประชาชนคิดไปในทางก้าวหน้ามันได้ผลมาพอสมควรแล้วนะ ดังนั้นก็ต้องเดินหน้าต่อไป และเราพยายามมองว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ไม่ใช่พวกสุดโต่งน่าจะพอเข้าใจแล้วเข้ามาให้อยู่ตรงกลาง ๆ สักหน่อย อย่าไปขวามาก ถ้าเป็นอย่างนั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากว่าหมดทาง อาจารย์ไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นพม่า



พรรคเพื่อไทยจะยังคงรักษาฐานเสียงอย่างไรดีในมุมมองอาจารย์ หรือว่าอาจจะช้าไป


ที่เสียไปแล้วที่เขาไม่สนใจพรรคเพื่อไทยแล้วก็มี เอากลับมาได้ยาก แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดที่มีอยู่ 10 เสียง ถ้ารักษาเอาไว้ได้นะ แล้วเขาก็ใช้ระบบบ้านใหญ่ มันไม่ใช่ระบบกระแสแล้ว กระแสใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าคนที่เป็นฐานเสียงจำนวนมากเป็นพลังฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะมีจำนวนหนึ่งซึ่งถ้ารักษาไว้ได้ก็ถือว่าดี แต่ว่าเขาจะรักษาไว้ได้ต้องเข้าใจว่าพลังฝ่ายประชาธิปไตยเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง โอเคเขาชอบแหละถ้าคุณจะจ่ายเงินให้เขา 1 หมื่น แล้วตอนนี้ก็ทำตามเดิมไม่ได้แล้ว เขาไม่ยอมให้ทำ พยายามจะทำเดี๋ยวก็โดนอีกนั่นแหละ คือเขาขัดขาหมดเลยทุกอย่าง


จะเรียกเสียงฝ่ายประชาธิปไตยมาได้ก็คือ เขาต้องเข้ามาสู่การแก้ไขทางการเมือง เช่น ร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่วมมือในปัญหาของนิรโทษกรรม แล้วก็แก้กฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม ต้องพยายามสร้างความยุติธรรมที่ใกล้เคียงลักษณะสากลให้ได้ ต้องทำอย่างนี้ถึงจะพอเรียกเสียงกลับมาได้ แต่ถามว่าทำอย่างนี้พรรคพวกทางฝั่งอนุรักษ์นิยมเขายินดีหรือเปล่า? เขาจะยอมมั้ย? อย่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลประโยชน์ร่วมกันของพรรคการเมือง เขาอาจจะยอม แต่ว่าแก้แล้วก็คงอาจจะดีกว่า 2560 แต่ว่าอาจจะไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็ระบอบอำนาจนำนี้ยังอยู่ นี่หมายถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็นิรโทษกรรม เขาก็บอกแล้วว่าไม่ให้รวม 112


ก็เลยดูว่าพออยู่ตรงกลางระหว่างนี้ พอจะทำอะไรอย่างเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้ว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมเดิมเขาจะยอมมั้ย? พอจะมาฝั่งตรงข้ามเต็มตัวก็ต้องมาแข่งกับพรรคประชาชนอีก ซึ่งตอนนี้ภาพเขาเหมือนจะชัดกว่ามั้ย? อาจารย์มองอย่างไร?


อ๋อ...แน่นอน ๆ ก็คือว่าพรรคประชาชนเป็นพรรคใหม่ อาจารย์ฟังแล้วก็เข้าใจเขา แต่อาจารย์ไม่เกี่ยวเลยนะ ไม่เป็นสมาชิกพรรคไหนและไม่ได้คุ้นเคยกันด้วย คุ้นเคยกับพวกเพื่อไทยมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะอย่างน้อยก็สู้กันมานาน แต่ว่าเขาบอกเลยว่าถ้าพรรคเพื่อไทยทำได้ดีถูกต้อง เขาก็ไม่ต้องทำพรรค ซึ่งอาจารย์ก็เห็นด้วยนะ เห็นด้วยว่าเพื่อไทยทำอะไรไม่ได้หลายอย่าง เพราะเขามีขีดจำกัดของเขา เขาตั้งพรรคมาเป็นรัฐบาล คุณทักษิณเขาเคยพูดว่า “ผมก็คิดว่ามันเป็นประชาธิปไตยแล้ว ผมก็ตั้งพรรคแล้วพยายามสร้างคะแนนนิยมเต็มที่” ที่อาจารย์บอกว่าเขายังรู้จักสังคมไทยน้อยไปนี่แหละ เขาก็บอกว่าก็ใครคิดว่ามันเป็นประชาธิปไตย เพราะว่ามีรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ดูมันดีหมดเลย


แต่ว่าความเป็นจริงไม่ใช่!!! โครงสร้างสังคมไทยทั้งลึก ทั้งอยู่ในขอบเขตอุดมการณ์ ประเพณีวัฒนธรรม วรรณกรรม การศึกษา ทุกอย่างยังเป็นสิ่งที่อยู่ในระบอบเก่า แต่ประชาชนเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้ามากขึ้น เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมจริง แต่เป็นทุนนิยมที่พิกลพิการ ยังไม่ใช่เป็นทุนนิยมที่แข็งแกร่ง เพราะภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเราไม่แข็งแกร่ง เพราะการศึกษาเราไม่ดีด้วย ขีดความสามารถในการแข่งขันเราก็ต่ำกว่าที่อื่น ดูได้จากการศึกษาเวลาไปเทียบผลของเรามันแย่มาก ๆ เลย จนต่างประเทศเวลาเขาวิเคราะห์มองประเทศไทยแล้ว พอเขาเห็นการศึกษาประเทศไทยเขาทำนายอนาคตได้เลยว่าอนาคตไปไม่รอด เพราะว่ายังอยู่ในระบบที่ล้าหลังหมดเลย ยังท่องเด็กเอ๋ยเด็กดีอยู่อย่างนั้น ความมั่นคงก็แบบเดียวกันนะ 12 ข้อ อาจารย์ไปเปิดดูแล้วตกใจเลย แบบเดียวกันเลย ไปดูหน่วยงานความมั่นคงเขาก็มีคาถาแบบเดียวกัน ทุกอย่างยังไม่ได้มีการปรับตัว


ถ้าเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มประชาชนที่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและต้องการก้าวไปข้างหน้า อยู่ที่ว่าชนชั้นนำและโครงสร้างชั้นบนของเราถ้าเขาไม่ประสงค์จะคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่อยากเป็นประชาธิปไตยแบบสากล ต้องการเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ถ้าเขาคิดอย่างนั้นอยู่ ก็จะต้องหยุดยั้งทุกอย่างที่เขาใช้คำว่า “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิทธิเสรีภาพ ยังเป็นมุมมองแบบสมัยโบราณ ยิ่งกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างคดีครั้งหลังที่เขาโพสต์ 8 โพสต์ โทษขั้นต่ำ 3 ปี คูณเข้าไปเป็นถูกจำคุก 24 ปี ลดให้หน่อยหนึ่ง ก็เหลือ 10 กว่าปี แต่ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์โทษขั้นต่ำไม่มีนะ ไม่ใช่ว่าทำกี่กรรมแล้วเอาคูณ 3 แล้วก็คูณจำนวนครั้งที่ทำ


ดังนั้น ความล้าหลังและการที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนจึงเป็นอุปสรรคอย่างหนัก ถ้าพรรคการเมืองที่ไม่มีเจตนาช่วยกันแก้ปัญหานี้กับประชาชน พรรคการเมืองนั้น ๆ ก็จะต้องกลายเป็นหางเครื่องและเครื่องมือขอบระบอบเก่าระบอบอำมาตย์เต็มที่ ซึ่งหลายพรรคการเมืองเขาก็ไม่สนใจ ขอให้เขาอยู่ได้ ได้เป็นรัฐบาล มีเสียงมากพอก็โอเคแล้ว


เวลาจะเรียกว่าตัวเองเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องยืนยัดอุดมการณ์อย่างน้อยที่สุดก็คือ???


ต้องไปในทิศทางที่คืนอำนาจให้กับประชาชน ไม่ได้อยู่ในมือของชนชั้นนำ คือเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ แต่ว่าควรจะเป็นเสรีนิยมคือไม่กีดกัน ความคิดจารีตหรืออนุรักษ์นิยมคุณก็ตั้งพรรคได้ ประกาศอุดมการณ์ของพรรคออกมาเลย พรรคไหนที่จะเป็นซ้าย เป็นขวา ก็ประกาศออกมาเลย ไม่ต้องมีการทำรัฐประหาร ไม่มีการลงโทษยุบพรรค นี่ยังมีการทำรัฐประหารและลงโทษยุบพรรค และลงโทษเยาวชนประชาชนมากมาย คดีความก็อย่างที่ว่า ฆ่าคนตายกลางถนนแล้วไม่ต้องรับผิดเลย อย่างนี้มันจะเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร


และนี่คือเหตุผลที่ว่า ขบวนการประชาชนยังต้องดำเนินการสู้ต่อไป และพรรคการเมืองไหนก็ตามที่คิดว่าตัวเองจะอยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ก็ต้องมาช่วยกันกับประชาชน แต่ไม่ใช่เข้ามาครอบงำ แม้แต่ครอบครองยิ่งไม่ได้เลย ต้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าเป็นทิศทางที่ขัดขวางสิทธิเสรีภาพประชาชน ขัดขวางการคืนอำนาจให้กับประชาชน คุณก็เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนเท่านั้นเอง ซึ่งฟังดูเหมือนง่าย แต่พรรคการเมืองเวลาทำ ปัญหาอยู่ที่เขาตั้งพรรคขึ้นมาเพื่ออะไร? เกือบทั้งหมดเพื่อเป็นรัฐบาลและให้อยู่ได้ยาวที่สุด คดีความให้น้อยที่สุด แค่นั้น!


เพราะฉะนั้น ภาคประชาชนจำเป็นที่จะต้องเดินหน้า อาจารย์มองว่าขณะนี้ประชาชนเหมือนบังคับพรรคการเมืองแล้วนะ ก็คือฝั่งประชาธิปไตยเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้แหละ โหวตเตอร์ทางฝั่งประชาธิปไตยก็มากขึ้น ดังนั้นพรรคการเมืองที่เปลี่ยนสีแปรธาตุหรือไปเลือกอยู่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาชน ก็ต้องเลือกเอาว่าจะเอาเสียงหรือจะอยู่ในฐานะที่เป็นแกนนำของฝั่งอนุรักษ์นิยม


ปัจจุบันอาจารย์มองว่าในส่วนของเพื่อไทยยังเป็นพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยอยู่มั้ย?


ไม่เป็นแล้ว เป็นแกนนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นแกนนำเลย เมื่อก่อนประชาธิปัตย์ แต่ประชาธิปัตย์หมดสถานะแล้ว ประชาธิปัตย์ในอดีตมีสถานะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลยนะ เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ต้นเลย จนกระทั่งมาเกิดการแข่งขันโดยพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นนายทุนที่กระโดดเข้ามาในทางการเมือง และหลังจากนั้นประชาธิปไตยก็แพ้ตลอด เพราะว่าการเมืองในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงได้ก็คือ คู่แข่งเขาคือพรรคท้องถิ่น เช่น พรรคเจ้าสัวในกลุ่มภาคกลาง กลุ่มตะวันตก กลุ่มตะวันออก ก็กลายเป็นพรรคเล็ก หรืออีกทีก็พรรคทหาร เช่น พวกผู้นำทหารเผด็จการมาตั้งพรรค ก็เป็นพรรคเฉพาะกิจ


ดังนั้น ประชาธิปัตย์เคยได้เสียงสูงถึง 169 เสียง จนบัดนี้เหลือ 25 เสียง ลองคิดดู ในทัศนะของอาจารย์ก็คือเขาล่มสลายโดยสิ้นเชิงแล้ว จะมารวมกับพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีอะไรที่น่าแปลกใจ คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์เองเขาก็ไม่เอา บัดนี้เพื่อไทยมีสถานะใหม่แล้ว ไม่ใช่พรรคสถานะแกนนำฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งแต่ก่อนมีอยู่พรรคเดียวด้วย ตอนหลังก็มีก้าวไกลด้วย แล้วก็เป็นพรรคประชาชนในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นก็เปลี่ยนสถานะมาอยู่ฝั่งนี้แล้ว มันเป็นการข้าม ขั้วมันยังมี ตราบใดที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบสากล มันต้องมีฝ่ายปกครองกับฝ่ายที่ถูกปกครองอย่างนี้


คนเสื้อแดงที่ไปสนับสนุนพรรคประชาชน (อดีตพรรคก้าวไกล) ในมุมมองอาจารย์คิดว่ามีมากแค่ไหน? ใน 100% คิดว่าเป็นเท่าไร?


โอ้ยเยอะ....อาจารย์ไม่มโน เอาตัวเลขจริง ๆ ก็อย่างที่บอกดูเหมือนเคยพูดไปแล้วก็คือว่า จาก 15 ล้านเสียงในสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ตอนนี้เหลือ 10 ล้านเสียง ก็หายไป 5 ล้านเสียง ทั้ง ๆ ที่มีคนใหม่เพิ่มขึ้นมานะ จำนวนคนที่เข้าสู่การเลือกตั้งมากขึ้น สัดส่วนคนที่มาออกเสียงก็มากขึ้น ก็หายไปร่วม 5 ล้านเสียง แล้วจะไปอยู่ที่ไหน? เขาก็ตัดสินใจแล้วที่เขาไปเลือกก้าวไกล แต่ว่า 10.9 ล้านเสียงที่ได้อยู่ตอนนี้ จำนวนหนึ่งก็เป็น FC กับพรรคเพื่อไทย อีกจำนวนหนึ่งเขาเลือกทางยุทธศาสตร์ คิดว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นฝั่งประชาธิปไตย เพราะแม้จะอึกอัก แต่สุดท้ายก็บอกไม่เอาสองลุง


ฉะนั้น 10.9 ล้านเสียงมันมีทั้งพวกที่มี Loyalty และยังมีความเชื่อมั่นว่าอยู่ในพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ในกลุ่มนี้ที่เขาจะมีความไม่พอใจในการข้ามขั้วรวมกับประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าฝั่งที่ไปเลือกก้าวไกลแล้วนี่ไปเลยนะ ไม่ได้สนใจแล้วนะว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร ใน 10.9 ล้านเสียงนี้ อาจารย์ว่าคนที่เลือกแบบยุทธศาสตร์และคิดว่าเพื่อไทยเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมีมากทีเดียว อาจจะเป็นครึ่ง/ครึ่งเลย


ตัวเลขของอาจารย์สำหรับคนเสื้อแดงแท้ ๆ มีไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน คือจำนวนคนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย ไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อสีอะไรก็ตาม แต่ว่าส่วนใหญ่ก็เป็นคนเสื้อแดง เป็นตัวเลขของคนที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญทั้ง 2550 และ 2560 ไม่ว่าจะถูกกดดันยังไง? ไม่ว่าพรรคการเมืองจะมาบอกว่ารับ ๆ ไปเถอะ แต่เขาก็ยืนยันไม่เอา แล้วตอนที่กปปส.มาปิดไม่ให้มีการลงคะแนน คนก็ยังดื้อมาลงคะแนน 20 ล้าน ทั้ง ๆ ที่ถูกปิดเยอะนะ แต่ใน 20 ล้าน เอาว่าคนเสื้อแดงแท้ ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน


ในอันนี้อาจารย์ว่าประมาณครึ่งหนึ่งใน 10 ล้านเสียง ไปก็ 5 ล้าน ยังอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แล้วก็มีพวกที่มี Loyalty อันนี้เขาจะสูญเสีย ยกเว้นว่าถ้าเขาจะพยายามทำที่อาจารย์พูด แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปัญหาเรื่องนิรโทษกรรม คือแก้ไขปัญหาทางการเมือง คนเสื้อแดงและประชาชนฝ่ายรักประชาธิปไตยเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดิจิทัลวอลเล็ตทำได้/ไม่ได้เขาไม่ว่าหรอก แต่ว่าโหวตเตอร์ทั่วไปประชาชนอยากได้ แต่การเมืองมาก่อนสำหรับคนเสื้อแดง เศรษฐกิจมาตามหลัง ถ้าการเมืองไม่ดี เศรษฐกิจก็เป็นไปไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำคุณจะแก้ได้ยังไงถ้าอำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน เศรษฐกิจก็จะเหลื่อมล้ำอยู่อย่างนี้ มันก็จะได้จากยอด ได้ทุนผูกขาด ได้นายทุนใหญ่ กว่าชาวบ้านจะได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครองเท่านั้น อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนจริง



ก็คือว่าต่อให้รัฐบาลนี้ทำเศรษฐกิจได้ดีมาก ๆ แต่ถ้าเกิดการเมืองอย่างที่อาจารย์บอกมา แก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมแล้วก็ไม่รวม 112 หรืออะไรต่าง ๆ ทำไม่ได้


แล้วเขาก็ทำเศรษฐกิจได้ดีไม่ได้ ดูดิจิทัลวอลเล็ตทำได้ที่ไหน ที่พูดตั้งแต่ตอนต้น ให้ 1 หมื่นทุกรายนะ ตอนนี้เหลือแต่คนเปราะบาง คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจนนั่นแหละ แปลว่าก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าเขาไม่อนุญาตให้ทำไง


แต่อย่างที่บอกว่าถึงจะทำเรื่องการเมืองสำเร็จ ก็ต้องไปแย่งเสียงกับพรรคประชาชน ซึ่งเขาก็ยังมีฐานเสียงที่แข็งแรงอยู่ นี่ปฏิเสธไม่ได้


ใช่ แต่ว่าเขาก็มีความได้เปรียบก็คือ ยังมี Royalty ของคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ยังคิดผูกพันความสัมพันธ์เก่าจำนวนครึ่ง/ครึ่ง ใน 10 ล้านเสียงที่มีอยู่ ถ้าไม่สำเร็จ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็ไปแล้ว คือเศรษฐกิจ เขาจะทำตามที่ฝั่งจารีตขีดไว้ให้เดินเท่านั้น จะไปทำอะไรก็ไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเขาก็ไม่ยอม หน่วยงานอื่นก็ไม่ยอม มันก็จะต้องมีปัญหา ก็ถูกฟ้อง เดี๋ยวก็ผิดกฎข้อนั้น ผิดวินัยการคลัง ผิดไอ้โน่นไอ้นี่ แทรกแซงตรงไหนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทำยาก!


อาจารย์ก็มองเห็นว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่มันก็ทำไงได้ เราอยู่ฝ่ายประชาชน เราต้องการให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า เราก็ต้องยืนยันตรงนี้ แต่พรรคการเมืองก็เป็นเรื่องคนละส่วน เขาอยากเป็นรัฐบาลและอยากให้คุณทักษิณกลับมา อาจารย์ก็เห็นใจนะ แกถูกกระทำมาก แกเป็นเหยื่อทีเดียวที่ถูกกระทำอย่างมากมาย และเป็นที่เกลียดชังของพวกฝั่งอนุรักษ์นิยม อาจารย์ก็เห็นใจในแค่นี้ แต่อาจารย์ไม่แลกกับผลประโยชน์ประชาชนนะ ไม่แลกกับทิศทางก้าวหน้า เราจะต้องยืนและเดินอยู่บนเส้นทางที่ก้าวไปข้างหน้า เราจะไม่ยอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายล้าหลังที่แย่งอำนาจจากประชาชนไป และไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน


คือการเข้าร่วมกับเขาไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง


ถูกต้องสำหรับเขา อาจจะคิดว่าดี แต่ไม่แน่นะ แต่สำหรับเรา ไม่ถูกเลย!!!


หลังจากที่ “เสรีพิศุทธ์” ออกมาแฉอะไรต่าง ๆ กลายเป็นว่าในทุกสารทิศเริ่มที่จะมีศัตรูทางการเมืองมากขึ้น


มีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรรคพลังประชารัฐ ในกลุ่มสว.เก่า ในองค์กรอิสระทั้งหลาย ผู้เฒ่าทั้งหลายที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน เราเข้าใจและเราก็เห็นใจ แต่เราไม่เห็นด้วย และเราก็ถือว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการการเมืองของประชาชน และแยกสลายประชาชน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งถูกแยก แน่นอนมันก็มี FC แฟนคลับซึ่งเป็นคนเสื้อแดง จะทำอะไรก็เอาเหอะ เห็นดีเห็นงามด้วย แต่ในความคิดของอาจารย์มันไม่มากหรอก แต่ตรงข้ามกับความเชื่อของพรรค พรรคเขาอาจจะคิดว่าที่แล้วมาเขาคิดว่าคนเสื้อแดงเป็นของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด แต่พอรอบก่อน (รอบ 2562) ได้คะแนนน้อยมาก พอรอบ 2566 ทางเพื่อไทยก็เปลี่ยนสีเป็นสีแดงเลย ก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นสีแดง แล้วในตอนช่วง 2554 คุณทักษิณพยายามจะให้ถอดเสื้อแดงด้วย ไม่รู้ใครไปบอกแกอย่างนั้น ให้ถอดเสื้อแดงด้วย เวลามีปราศรัยไม่ให้ใส่เสื้อสีแดง แล้วชาวบ้านน่ะไม่ต้องซื้อด้วยนะ เขาเอาเสื้อแดงตัวเก่าปี 2553 มาใส่ ในตอนเลือกตั้งปี 2554 แล้วบังเอิญเขาคุยสายอยู่กับใครอยู่ อาจารย์เลยขอสายคุยต่อเพราะอาจารย์ไม่ได้ติดต่อโดยตรง อาจารย์บอกว่าคุณทักษิณทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะคนเสื้อแดงเขาไม่ยอม เขาบอกไม่เป็นไร ถ้ายังไงให้เขาเลือก เขาเลือกอยู่แล้ว ตอนนั้นมีพรรคเดียว หลัง ๆ มาก็อีกหลายเรื่อง


ในที่สุดก็เหมือนถูก ขออภัยนะ คือเขาเป็นดีลที่ไม่จริง แล้วก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบเลยสำหรับคุณทักษิณ ครั้งนี้ไม่รู้จะรอดหรือไม่รอด อาจารย์ดูว่าลำบากแน่


“สีแดง” ถูกเอามาใช้เป็นสัญลักษณ์โลโก้ในปี 2566 นี้ เลือกตั้งครั้งหน้าคิดว่าจะยังใช้โลโก้นี้มั้ย?


เขาคงยังใช้ ทำไมถึงต้องใช้ “สีแดง” เพราะคุณทักษิณและคณะผู้บริหารเขาคงมองแล้วว่า “คนเสื้อแดง” หายไปเยอะ ไปอยู่กับอนาคตใหม่ อนาคตใหม่ได้เสียงมาตอนนั้นก็ยังบอกว่าได้มาเพราะ “ไทยรักษาชาติ” ถูกยุบ แต่ในที่สุดก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ใช่ ตอนนี้ใครจะมานึกว่าในกรุงเทพฯ เหลือที่เดียว ซึ่งที่ลาดกระบังชนะแค่ไม่กี่คะแนนเอง เพราะฉะนั้นก็เลยต้องการให้คนเสื้อแดงกลับมา ก็เลยมีครอบครัวเสื้อแดง


แต่ว่ามันไม่ได้อยู่ที่สีเสื้อ มันอยู่ที่จิตวิญญาณอุดมการณ์ ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อสีแดง แม้องค์กรนปช.ไม่อยู่แล้ว แต่อุดมการณ์มันถูกบ่มเพาะ ถูกสร้างขึ้น แล้วเขาก็เติบโตขึ้น และเฉพาะคนรุ่นใหม่ ยิ่งทำให้เขาเชื่อมั่นว่าทิศทางของคนเสื้อแดงถูก เพราะมันเป็นทิศทางเดียวกัน ทิศทางอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงคือต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นี่คือนโยบายข้อ 1 ของนปช. และข้อ 3 บอกว่าเราสู้โดย “สันติวิธี”


แล้วมาตอนหลังของพวกเยาวชนเขาบอกว่าให้มีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะว่าเป็นภาเดียวกับคณะราษฎร แต่เอาจริง ๆ เลยว่า “อำนาจเป็นของประชาชน” ไม่ใช่อำนาจของชนชั้นนำมาปกครองประชาชน


รัฐบาล “แพทองธาร” จะอยู่ได้ไกลขนาดไหน?


อาจารย์ว่าลำบาก ครั้งนี้เป็นเดิมพันที่เรียกว่าน่าหวาดเสียวมาก แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยตัดสินใจแบบนี้ก็อย่าประมาท เพราะว่าฝั่งอำมาตย์และฝั่งจารีต นี่พูดอย่างหวังดีนะ เขาเหี้ยมโหดอำมหิต เขาไม่ได้รักพวกคุณนะ เขาไม่ได้เป็นเอกภาพนะ เขาไม่ได้สนใจว่าคุณมี/ไม่มี “บิ๊กดีล” แต่ในประวัติศาสตร์เขายังเกลียดยังกลัวพวกคุณอยู่มากนะ ดังนั้น ถ้าไม่อยู่ในมือเขาจริง ๆ หรือคนที่เกลียดกลัวเขาก็ต้องหาวิธี คุณมีช่องว่างตรงไหนมันจะมีดาบเสียบตรงนั้นหมดเลย คุณมีช่องว่างไม่ได้ ฝ่ายกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของพรรคก้าวไกล ของพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งของคุณทักษิณ ที่แล้วมาในความคิดของอาจารย์นะ สู้ฝ่ายกฎหมายของพวกจารีตไม่ได้ พวกนั้นเขาเก่งมาก อย่ามีจุดอ่อนนะ นิดเดียวเขาก็จะสอดดาบปลายแหลมเข้าไปแทงคุณ ถึงแม้เพื่อไทยจะไปอยู่เป็นแกนนำอีกฝั่งหนึ่ง เราก็ยังมีความเป็นห่วงอยู่บ้านในฐานะที่เคยรู้จักกัน ไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่ถือเป็นศัตรูนะ เพราะถือว่าเขาอยู่ใน Transition Period เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาในอนาคต เขาอาจจะต้องกลับมาอยู่ฝั่งประชาธิปไตยอีกก็ได้ถ้าถูกกระทำครั้งสุดท้าย


ประชาชนก็ต้องเป็นคนตัดสิน แต่ว่าแน่นอนว่าประชาชนเขาไม่เชื่อคุณอยู่แล้ว คุณตัดสินใจแบบนี้ไปแล้วก็ขอให้ไปดีก็แล้วกัน แต่ว่าไม่ไปด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ทักษิณ #คนเสื้อแดง #ประชาธิปัตย์