วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2567

พรรคประชาชนลงพื้นที่ภูเก็ต ฟังสาเหตุดินถล่มเขานาคเกิด ย้ำแนวทางป้องกัน-แจ้งเตือนภัย พร้อมตรวจสอบกรณี ‘พระใหญ่’ ได้รับอนุญาตก่อสร้าง-ประเมินสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ชงเรื่องเข้า กมธ.ที่ดินเร็วที่สุด

 


พรรคประชาชนลงพื้นที่ภูเก็ต ฟังสาเหตุดินถล่มเขานาคเกิด ย้ำแนวทางป้องกัน-แจ้งเตือนภัย พร้อมตรวจสอบกรณี ‘พระใหญ่’ ได้รับอนุญาตก่อสร้าง-ประเมินสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ชงเรื่องเข้า กมธ.ที่ดินเร็วที่สุด 


วันที่ 27 สิงหาคม 2567 แกนนำพรรคประชาชน นำโดย ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และ ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์ดินถล่มที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา 


โดยช่วงเช้า ศิริกัญญา, ภคมน, พร้อมด้วย สส. ภูเก็ต พรรคประชาชน ประกอบด้วย สมชาติ เตชถาวรเจริญ (เขต 1), เฉลิมพงศ์ แสงดี (เขต 2) และ ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล (เขต 3) ลงพื้นที่พระใหญ่ เทือกเขานาคเกิด บริเวณลานจอดรถที่เพิ่งสร้างใหม่และคาดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดดินถล่ม ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในซอยปฏัก 2 และซอยปฏัก 8 ได้รับผลกระทบ ที่พักอาศัยพังทลายและมีผู้เสียชีวิต 13 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัด, ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมลงพื้นที่ด้วย


เฉลิมพงษ์กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบ 3 ประเด็นที่ต้องติดตามหาความกระจ่างต่อไป เรื่องที่ 1 พื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. วันที่ 23 มิถุนายน 2563 แต่ก็พบว่ามีการขยายพื้นที่ก่อสร้างไปถึงกว่า 40 ไร่ เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเพียง 15 ไร่ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถก่อสร้างบนพื้นที่ความสูงได้ไม่เกิน 80 เมตร ยกเว้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เสาสัญญาณ แต่กรณีพระใหญ่และอาคารประกอบกลับได้รับยกเว้น ต้องตรวจสอบต่อไปว่าได้รับอนุญาตได้อย่างไร 


เรื่องที่ 2 พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีหินแกรนิตผุพัง และสภาพดินเป็นดินทรายและดินเหนียว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่ม ต้องตรวจสอบว่ามีการประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานนั้น ๆ ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามรายงานการประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดหรือไม่ 


เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องสำคัญและสามารถเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด คือระบบเตือนภัย ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีเฉพาะการเตือนภัยเหตุสึนามิ ไม่มีการเตือนภัยภัยพิบัติอื่น ซึ่งเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้หากมีระบบเตือนภัยเช่นเซนเซอร์แจ้งเตือนขณะที่มีการเคลื่อนตัวของหินแกรนิตขนาดใหญ่ พี่น้องประชาชนจะอพยพได้ทัน แต่เหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ซึ่งส่วนใหญ่นอนหลับอยู่ในบ้านขณะเกิดเหตุ หากจังหวัดมีระบบแจ้งเตือนเชื่อว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต 


สส.ภูเก็ตกล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต พบว่าหินแกรนิตจังหวัดภูเก็ตเริ่มมีความเสื่อมโทรมทำให้แตก บวกกับชั้นดินเหนียวทำให้เกิดการสไลด์เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ข้อสังเกตนี้ต้องตรวจสอบกันต่อไปผ่านการทำประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่ตนจะติดตามต่อไปคือพื้นที่ตรงนี้เริ่มต้นจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้เพื่อก่อสร้างองค์พระใหญ่จำนวน 15 ไร่ และขณะนี้พื้นที่เทือกเขานาคเกิดได้ขยายการก่อสร้างลานจอดรถและตัวอาคารเพิ่มเติมออกไป จึงต้องตรวจสอบว่ามีการอนุญาตถูกต้องหรือไม่


จากนั้น ศิริกัญญาและคณะ เดินทางต่อไปยังศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมรับฟังและประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พูดคุยกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ที่พักอาศัยและทรัพย์สินเสียหาย ร่างกายได้รับบาดเจ็บ


โดยศิริกัญญากล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ลาดชันใช้ชีวิตอย่างหวาดผวา สิ่งที่ต้องการคือการแจ้งเตือนที่แม่นยำ เพราะขณะนี้ไม่รู้ว่าเหตุจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร ซึ่งทางนายกเทศมนตรีตำบลกะรนกล่าวว่าเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนตัวการตรวจจับมวลดินที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นของกรมทรัพยากรธรณีซึ่งไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อสอบถามถึงสาเหตุทราบว่าไม่มีงบประมาณซ่อมบำรุง จึงเห็นว่าหากไม่สามารถดูแลได้ ก็ควรโอนมาให้ท้องถิ่นจัดการ


นอกจากเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยที่ต้องผลักดันต่อเพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปคือการเยียวยา ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่เนื่องจากค่าครองชีพของจังหวัดภูเก็ตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เช่นค่าเช่าบ้านตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ระเบียบกระทรวงการคลัง ให้แค่ 1,800 บาทต่อเดือน เพียง 2 เดือน ซึ่งสำรวจในภูเก็ตแล้ว ค่าเช่าบ้านเริ่มต้นที่ 5,000 บาท จึงจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย


ด้านเฉลิมพงษ์กล่าวว่า หลังจากนี้พรรคประชาชนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการป้องกันและแจ้งเตือนภัย มิให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของภูเก็ตอีก ขณะฐิติกันต์ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้า กมธ.ที่ดินฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เรื่องเงียบหาย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #กมธที่ดิน