วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

‘พิธา’ พบสภาหอการค้าไทย ชู 3F ปรับทิศทางเศรษฐกิจสู่อนาคต มุ่งส่งเสริม SME ให้เศรษฐกิจไทยแกร่งจากฐาน ด้านสภาหอการค้า ชี้ ภาคธุรกิจห่วงตั้งรัฐบาลช้า ทำประเทศเสียโอกาส 'พิธา' ย้ำช้าเร็วขึ้นอยู่กับ กกต. ห่วง ประชาชนความเดือดร้อนรอไม่ได้


‘พิธา’ พบสภาหอการค้าไทย ชู 3F ปรับทิศทางเศรษฐกิจสู่อนาคต มุ่งส่งเสริม SME ให้เศรษฐกิจไทยแกร่งจากฐาน ด้านสภาหอการค้า ชี้ ภาคธุรกิจห่วงตั้งรัฐบาลช้า ทำประเทศเสียโอกาส 'พิธา' ย้ำช้าเร็วขึ้นอยู่กับ กกต. ห่วง ประชาชนความเดือดร้อนรอไม่ได้

 

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วย ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วรภพ วิริยะโรจน์ และ ศุภโชติ ไชยสัจ พบผู้บริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังข้อเสนอ โดยมี สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ

 

สนั่นกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจากการเลือกตั้ง ทำให้เห็นว่าแม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และขอให้การจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปโดยราบรื่น รวดเร็ว และมีเสถียรภาพ หน้าที่หลักของหอการค้าฯ มี 3 เรื่อง หนึ่งคือการประสานงาน (connect the dots) เชื่อมทุกภาคส่วนในประเทศไทยและเชื่อมไทยกับเวทีโลก สองคือส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และสร้างความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งเชื่อว่าใน 2 เรื่องหลัง ทั้งหอการค้าไทยและพรรคก้าวไกลน่าจะเห็นตรงกัน  พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

จากนั้น สภาหอการค้าไทยฯ ได้สะท้อนประเด็นปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยรวม 13 ด้าน อาทิ การแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) แนวทางการช่วยเหลือ SME การปรับโครงสร้างค่าต้นทุนพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ รวมทั้งสอบถามถึงนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

 

เมื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอจบ พิธาแจ้งที่ประชุมว่าขอลุกจากที่นั่งหัวโต๊ะ และนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลด้วยการยืนบรรยายหน้าจอมอนิเตอร์ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เริ่มต้นกล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition Team) ที่ปัจจุบันแบ่งเป็น 7 ทีมย่อย โดยมีวาระหลักที่ต้องบริหารจัดการร่วมกันยึดตามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจมีความราบรื่น บริหารความคาดหวังของสังคม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและภาคเอกชน เพราะความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

พิธากล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ไม่ว่าพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยหรือรายได้ต่อหัว ดังนั้น เป้าหมายของพรรคก้าวไกลในการบริหารเศรษฐกิจ คือทำให้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ไทยอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยโลก มีเศรษฐกิจที่เติบโตควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ

 

เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเน้นการส่งออก พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป เมื่อวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เช่น วิกฤติโควิด หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เมื่อดู SME ซึ่งถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ จะเห็นว่า SME ไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าช่วงก่อนโควิด จากช่วงก่อนโควิดปี 2562 สัดส่วนของ SME ต่อ GDP อยู่ที่ 35.3% ในปี 2565 ยังอยู่ที่ 34.9% แม้ตัวเลขดูไม่มาก แต่มูลค่าที่หายไปนั้นมหาศาล

 

พิธากล่าวว่า ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก หลังช่วงโควิด คือ 3F ประกอบด้วย Fast-Forward Growth เสริมเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ คือไฮเทค เช่น อุตสาหกรรมชิป และไฮทัช เช่น content economy, Fair game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ด้วยการทลายทุนผูกขาด เช่น สุราก้าวหน้า และกระจายอำนาจ, Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง ด้วยการส่งเสริมความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น ลดใบอนุญาตลง 50% ขยายพื้นที่ชลประทานและประปาคุณภาพ และพัฒนาทุนมนุษย์ เช่น คูปองเรียนเสริมทักษะ เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. รวมถึงอาจมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดึงดูด Digital Nomad เข้ามาในสาขาที่ประเทศไทยยังขาดแคลน เช่น data scientist

 

ส่วนนโยบายเพื่อส่งเสริม SME คือ 5ต ประกอบด้วย 1) แต้มต่อ เช่น หวยใบเสร็จ 2) เติมทุน เช่น ทุนสร้างตัว รายละ 100,000 บาท 3) ตัด cost เช่น SME นำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี 4) เติมตลาด เช่น กำหนดชั้นวางสินค้า SME ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5) ตั้งสภา SME ให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่

 

เสร็จจากวงประชุมหารือ สภาหอการค้าไทยฯ และทีมพรรคก้าวไกลได้ถ่ายภาพร่วมกัน โดยสนั่นกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการพบปะที่สร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกสบายใจ เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลมีความชัดเจนและจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จากการหารือพบว่าเห็นตรงกันหลายเรื่อง เช่น การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ การสร้างความยั่งยืน โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานพูดคุยกันต่อไป ส่วนความกังวลของบางฝ่ายเกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนั้น ตนเห็นว่าเรื่องเงินเฟ้อ ค่าไฟคือตัวร้ายที่สุด

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐบาลก้าวไกล #สภาหอการค้า




ลูกจ้างโรงพยาบาลรัฐร้องเพื่อไทย ดันบรรจุเป็นพนักงาน - ขึ้นเงินเดือน เหตุไม่พอยาไส้ พร้อมทวงค่าเสี่ยงภัยโควิดรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ค้างจ่าย 7 เดือน

 


ลูกจ้างโรงพยาบาลรัฐร้องเพื่อไทย ดันบรรจุเป็นพนักงาน - ขึ้นเงินเดือน เหตุไม่พอยาไส้ พร้อมทวงค่าเสี่ยงภัยโควิดรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ค้างจ่าย 7 เดือน 


วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 15.10 น.กลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค กระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพรรคเพื่อไทย ให้ช่วยผลักดันในการบรรจุให้ลูกจ้างรายวัน รายคาบ รายเดือน สายสนับสนุน 56 สายงาน  ปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และขอให้ช่วยผลักดันให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 56 สายงาน  ได้ปรับค่าจ้างและค่าตอบแทน และให้ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำในกรณีพิเศษ หรือพนักงานราชการ  รวมถึงการดูแลชีวิตในวัยเกษียณ และให้จ่ายค่าเสี่ยงภัยที่ค้างอยู่ 7 เดือน โดยมีนายแพทย์ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ารับข้อร้องเรียนดังกล่าว


นางสาวอภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค กระทรวงสาธารสุข  กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ลูกจ้างใน 56 สายงาน รวมจำนวน 140,000 คน ไม่ได้รับการนำเข้าสู่วาระการพิจารณาบรรจุตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคในระลอกแรก จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันกลุ่มที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ จำนวน 45,105 อัตรา  25 สายงาน แต่มีเพียงตำแหน่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร  และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เท่านั้น ทั้งที่ตำแหน่งมี 131 สายงาน  ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความท้อแท้ ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน บางคนปฏิบัติงานมายาวนาน 10-30 ปี มีรายได้ต่อเดือนเพียง 11,000 บาท  ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังถูกตัดสวัสดิการความมั่นคงในหน้าที่การงานด้วย


นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งริเริ่มโครงการนี้ไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ขอรับข้อเรียกร้องและข้อเสนอนี้ โดยเฉพาะข้อเสนอเร่งด่วน เช่น ค่าจ้าง ค่าเสี่ยงภัยโควิด จะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกราชการ  ส่วนข้อเสนอที่เหลือขอรับไว้พิจารณา และขอให้กำลังใจมดงานทุกคน แต่ขณะนี้สถานภาพของว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้รับการรับรองเป็น ส.ส. การแจ้งไปยังหน่วยงานมี่เกี่ยวข้องให้รับทราบปัญหา จะทำได้ทันทีในขั้นตอนต่อไป และอยากมีโอกาสได้ไปทำหน้าที่เป็นรัฐบาลดูแลพี่น้องประชาชน เพราะนโยบายทุกพรรคการเมืองมุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนทำงาน 


ทั้งนี้ในอดีตที่มีการยุบตำแหน่งลูกจ้างประจำของทุกหน่วยงานไป ซึ่งกระทบถึงลูกจ้างหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกฐานะ ยกศักดิ์ศรีทางอาชีพ เพื่อให้ได้รับโอกาสได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ โดยผู้ที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าว จะได้รับเงินค่าตอบแทนจากเงินนอกงบประมาณ  หรือมาจากเงินบำรุงที่สถานพยาบาลจัดเก็บได้จากการดำเนินกิจกรรมของสถานพยาบาล ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ต้องส่งเข้าคลัง และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง จึงมีความเห็นใจผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย การจ่ายในอัตราดังกล่าวเป็นการจ้างในอัตราขั้นต่ำของเงินค่าจ้างในสมัยเป็นลูกจ้างประจำเป็นตัวกำหนด   จ้างได้ไม่เกิน 4,100 บาท แม้ปรับขึ้นมาสูงสุดที่ 15,000 บาท แต่ต้องทำงานระยะยาว 27-28 ปี แม้ทำงานล่วงเวลา มีรายได้เพิ่มขึ้น 3,000-4,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #สาธารณสุข




📌 เสียงจาก "คนเสื้อแดง" เชียงใหม่ : สว่าง วงศ์วิลาศ (ลุงแก้ว) ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มายาวนาน

 


เสียงจาก "คนเสื้อแดง" เชียงใหม่ : สว่าง วงศ์วิลาศ (ลุงแก้ว) ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มายาวนาน

 

"ในฐานะคนฝ่ายประชาธิปไตย

ดีใจที่ก้าวไกล และเพื่อไทย ชนะมาที่ 1 และ 2

ตัดเรืองเชียร์พรรคใดพรรคหนึ่งออกไป

ถามเรื่องดราม่าอยู่ขณะนี้ เรื่องประธานสภา

ถ้าเพื่อไทยมาอันดับ 1 เกิน10เสียง เหมือนก้าวไกล

เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ได้นายก

ประธานสภาจะให้ก้าวไกล หรือเปล่า"

 

(อย่าตอบหรือคอมเม้นต์ ออกมา) ไม่อยากใด้ยิน

ให้ตอบในใจตนเองก็พอ น๊ะจ๊ะ คิด ๆ ๆ ดูให้ดี

 

สว่าง วงศ์วิลาศ (ลุงแก้ว)

แกนนำคนเสื้อแดง จ.เชียงใหม่

ประธานชมรมคนรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนเสื้อแดง #ประธานสภา

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

'พิธา' นำทีมพรรคจัดตั้งรัฐบาลแถลง ตั้ง ‘คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน’ เตรียมความพร้อมทำงานเพื่อประชาชนทันทีที่ได้รัฐบาลใหม่

 


'พิธา' นำทีมพรรคจัดตั้งรัฐบาลแถลง ตั้ง ‘คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน’ เตรียมความพร้อมทำงานเพื่อประชาชนทันทีที่ได้รัฐบาลใหม่

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลังมีการประชุมร่วมกันของหัวหน้าพรรคจัดตั้งรัฐบาล โดยพิธากล่าวว่า หัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรคได้ร่วมกันมีมติในการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งจะประกอบไปด้วยบุคลากรดังต่อไปนี้

 

1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานคณะกรรมการการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน

2. ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล

3. ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย

4. ทวี สอดส่อง ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ

5. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย

6. วิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย

7. กันต์วีร์ สืบแสง ตัวแทนจากพรรคเป็นธรรม

8. วสวรรธน์ พวงพรศรี ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยรวมพลัง

9. เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่

 

คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านจะประชุมครั้งต่อไปในการกำหนดวาระการประชุมในวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566

 

ที่ประชุมหัวหน้าพรรคจัดตั้งรัฐบาลยังตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้นมาทั้งหมด 7 คณะ เพื่อตอบสนองปัญหาของประชาชน ดังต่อไปนี้

 

คณะทำงานที่ 1 คณะทำงานด้านค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และราคาพลังงาน

คณะทำงานที่ 2 คณะทำงานด้านภัยแล้ง เอลนีโญ

คณะทำงานที่ 3 คณะทำงานด้านการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะทำงานที่ 4 คณะทำงานด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คณะทำงานที่ 5 คณะทำงานด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและ PM2.5

คณะทำงานที่ 6 คณะทำงานด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและ SME

คณะทำงานที่ 7 คณะทำงานด้านการแก้ปัญหายาเสพติด

 

ทุกคณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนจากแต่ละพรรค และจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อแจ้งความคืบหน้าต่อคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำจะไปสู่การหาทางออกร่วมกันของทุกพรรคในการแก้ปัญหาของประเทศ เพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบายร่วมกันในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และนำไปปฏิบัติในฐานะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

 

การทำงานของเราเป็นไปด้วยดีและเราจะสามัคคีกันเพื่อทำงานแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการจัดสรรตำแหน่งในฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำงานร่วมกันโดยยึดการทำงานเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง

ส่วนตำแหน่งประธานสภาพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะพิจารณาร่วมกันโดยยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล”

 

“พวกเราพูดคุยในจุดประสงค์เดียวกันว่าสิ่งที่สำคัญคือการเตรียมพร้อมบริหารราชการแผ่นดินเพื่อพี่น้องประชาชน ขณะนี้ กกต. มีการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว เหลือเพียงการรับรอง ส.ส. อย่างเป็นทางการเพื่อสามารถเปิดประชุมสภาได้ ประชาชนหวังว่า กกต. จะใช้เวลาไม่นานในการรับรอง ส.ส. เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้เข้าไปบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด” พิธากล่าวทิ้งท้าย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #MOU8พรรคร่วมรัฐบาล #จัดตั้งรัฐบาล #รัฐบาลก้าวไกล




‘พิธา’ กล่าวหลังประชุมเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม ถึงกรณีกระแสข่าวช่วงนี้ระหว่าง ‘พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย’ ลดทอนความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน

 


พิธา กล่าวหลังประชุมเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม ถึงกรณีกระแสข่าวช่วงนี้ระหว่าง พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ลดทอนความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน


วันนี้ (30 พฤษภาคม 2566) หลังการประชุมร่วม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ สำนักงานพรรคประชาชาติ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าภายในของทุกพรรคไม่ได้รู้สึกสั่นคลอน แต่เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งที่เราทำน้อยไปและเพิ่งเริ่มทำอย่างเป็นรูปธรรมคือ เอาปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มีชุดคำตอบในคความท้าท้ายต่าง ๆ ที่กำลุงอยู่จุดนี้ และตนเชื่อว่าพี่น้องสื่อมวลชนจะเห็นด้วยและให้ความร่วมมือ ในการที่จะมีคำตอบที่ดีเกี่ยวกับราคาดีเซล ที่ 32-37 น่าจะเป็นการเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ให้กับประชาชนได้มีคำตอบที่ดีด้วย ซุปเปอร์สิ่งที่เราทำน้อยไปและจริงจังที่จะทำให้มากขึ้น


ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวยืนยันด้วยความเคารพ ถึงความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน ตกเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล ฝั่งเพื่อไทยพูดมาตลอดว่า เราได้รับมอบจากพี่น้องประชาชนเป็นอาณัติที่พี่น้องประชาชนมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกว่า 25 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นบิดเจตจำนงของพี่น้องประชาชนแบบนี้แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำความฝันของพี่น้องประชาชนให้บรรลุในสิ่งที่เขาต้องการ คือรัฐบาลจากฝั่งเสรีประชาธิปไตย ที่เขาต้องการที่จะปิดกั้นในอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวง นี่คือภารกิจที่เราเห็นตรงกัน มันเป็นการมัดที่แน่นกว่าการมัดอย่างอื่นเป็นข้อผูกมัด ที่เราเองต้องคำนึงถึงอย่างมาก  เพราะฉะนั้นของให้ความมั่นใจว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป


จากนั้นทั้งนายพิธาและนพ.ชลน่านหันมายิ้มและจับมือกันโชว์สื่อ และนพ.ชลน่าน ได้ถามกับสื่อว่า “หวานมั้ย หวานมั้ย” ก่อนที่ทั้งสองจะโอบไหล่ และสวมกอดกันพร้อมกับชูสัญลักษณ์ 1 นิ้ว


จากนั้น นพ.ชลน่าน เน้นย้ำ อีกรอบว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะอยู่ด้วยกันตลอดไปเพื่อเป็นรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้ได้


นักข่าวถามย้ำ นพ.ชลน่าน หลังจากระบุว่า “อยู่ด้วยกันตลอดไป” และหากสมมุติว่านายพิธา เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นพ.ชลน่าน ยังคงยืนยันว่า 8 พรรคเดินหน้าต่อใช่หรือไม่


นพ.ชลน่าน ระบุว่า ไม่อยากให้สมมุติ เพราะมันจะไม่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ยืนยันและให้ความมั่นใจว่า ทั้ง 8 พรรคจะยังอยู่ด้วยกัน โดยพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยจะเป็นพรรคหลักในการทำเรื่องนี้

 

ช่วงท้าย นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในนามพรรคเพื่อไทยมี 3 ประเด็นสั้น ๆ เพื่อยืนยันกับพี่น้องประชาชนเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับการทำหน้าที่ของพวกเราที่จะจัดตั้งรัฐบาล


1. พรรคเพื่อไทยจะสนับสนุน จะจัดบุคลากรและทรัพยากรทุกอย่างที่จะสนับสนุนภารกิจที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ในช่วงคกก.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่คาดหวังคือนโยบายที่ดีที่สุดของรัฐบาล ของพวกเราที่เป็นรัฐบาลของประชาชน


2. การจัดสรรตำแหน่งต่าง ๆ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เป็นการแบ่งงานกันทำตามวาระงานที่นายพิธาได้กล่าวไป คือเราจะใช้วาระงานเป็นหลักตามความรู้ความสามารถตามสิ่งที่เราได้เสนอร่วมกันใน MOU ไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็แล้วแต่


3. ดีลล้วง ดีลลับต่าง ๆ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเราจะเปลี่ยนเป็นดีลรักให้หมด เราจะเปลี่ยนเป็นดีลรักให้หมดเพื่อรัฐบาลของพี่น้องประชาชน


จากนั้นนายพิธาและนพ.ชลน่าน ยังได้ทำสัญลักษณ์มือเป็นรูปหัวใจ และมินิฮาร์ทโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จัดตั้งรัฐบาล2566 #รัฐบาลก้าวไกล









“ชลน่าน-พิธา” ประสานเสียง ถกตำแหน่งประธานสภา-ตำแหน่งการเมือง ไม่อยู่ในวาระพูดคุยวันนี้ 'พิธา' ยัน! การเปลี่ยนผ่านไม่ละลาบละล้วงข้าราชการ

 


“ชลน่าน-พิธา” ประสานเสียง ถกตำแหน่งประธานสภา-ตำแหน่งการเมือง ไม่อยู่ในวาระพูดคุยวันนี้ พิธา ยัน การเปลี่ยนผ่านไม่ละลาบละล้วงข้าราชการ


วันนี้ (30 พฤษภาคม 2566) ที่พรรคประชาชาติ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวก่อนเริ่มประชุมพรรคร่วมรัฐบาลว่าวันนี้ ต้องขอบคุณพรรคประชาชาติ ที่ให้การต้อนรับดูแลเป็นอย่างดี ส่วนวาระการประชุมนั้นมี 3 เรื่องหลัก คือเรื่องติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย-เรื่องการกำหนดจัดทำนโยบาย หมายถึงรัฐบาลที่จะทำร่วมกัน-การตั้งคณะทำงานระยะเปลี่ยนผ่าน


เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภา จะมีการหารือในวงประชุมด้วยหรือไม่ นายแพทย์ชลน่าน บอกว่าที่ประชุมวันนี้ไม่ได้กำหนด แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลมีข้อเสนอก็สามารถยกมาพิจารณาได้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะระหว่างพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าใจว่าก็จะมีคณะเจรจาพูดคุยกันเรื่องนี้อยู่แล้ว ต้องสรุปร่วมกัน


ถามต่อถึงการประชุมจะมีการพูดคุยถึงตำแหน่งทางการเมือง โควตารัฐมนตรี แบ่งกระทรวง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในวาระพูดคุย แต่คงมีการพูดคุยกันหลังมอบภารกิจร่วมกันแล้ว


ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้ประชาชนต้องการคำตอบอยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องภัยแล้งในปีนี้ น้ำท่วมของหน้าฝนที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องราคาพลังงาน เรือดำน้ำ และ เรื่องการร่วมประชุมสหประชาชาติครั้งแรกของรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนกันยายนนี้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนอาจจะถามหรือพี่น้องข้าราชการ และ เอกชน ก็อาจจะถามด้วย แล้ววันนี้เรามีเป้าหมายที่ชัดแล้วจาก MOU ที่ได้ร่วมลงนามกันไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566


โดยส่วนวันนี้จะคุยเรื่องของกระบวนการ ที่จะพาไปสู่เป้าหมายตรงนั้นจึงได้นัดประชุมในวันนี้ และเราจะนัดเรื่อย ๆ ในทุกสัปดาห์ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ และฟังจากที่ได้ร่วมพูดคุยกัน เราจะเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาโควต้า หรือ ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นตัวตั้ง และเพื่อวางแผนต่อไปว่า หากมีการประชุม ครม.นัดแรก เราจะได้จัดลำดับความสำคัญ ที่จะบรรจุในวาระการประชุม ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ตนเตรียมมาคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 7 พรรคในวันนี้


เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวหาว่า คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เป็นการละลาบละล้วงข้าราชการใช่หรือไม่ พิธา ตอบว่า ไม่มี เราทำงานเป็นคณะเปลี่ยนผ่านพูดคุยกับทุกฝ่าย แล้วถ้าข้าราชการจะคุยกับนักการเมืองก็เป็นสิทธิ์ของข้าราชการ แต่เราไม่เคยไปละลาบละล้วงข้อมูล หรือแม้กระทั่งการขอดูงบประมาณ และหน่วยงานราชการเป็นคนเชิญเรามาเอง และเชิญในฐานะพรรคการเมืองมากกว่า ซึ่งเขามีความกังวลใจในหลายๆเรื่องทั้งเรื่องโครงการที่ค้างอยู่ใน ครม.ชุดที่แล้ว ยังไม่ได้รับการผลักดัน และเรามีกรอบการทำงานว่าเราไม่จะไม่ไปสั่ง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการทำงาน และทำตามหลักสากลในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ และทำให้ประชาชนมีความหวัง และให้ข้าราชการมีภาระน้อยที่สุด


สำหรับบรรยากาศการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มมีแกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้ามายังที่ทำการพรรคแล้ว อาทิ สำหรับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ทยอยเดินทางมา อาทิ พรรคไทยสร้างไทย สุพันธ์ มงคลสุธี แคนดิเดตนายกฯ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรค นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรค


พรรคประชาชาติ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค วรวีร์ มะกูดี อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ปิติพงษ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค


พรรคเสรีรวมไทย วิรัตน์ วรศริน เลขาธิการพรรค และ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรค และพรรคพลังสังคมใหม่ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรค พรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ศิริกัญญา ตันสกุล รองหน้าหน้าพรรค พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรค นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานนโยบายพรรค


โดยมีรายงานว่า มีการเตรียมห้องประชุมใหญ่ไว้หารือ 3 วาระ วาระ 1 คือ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ วาระ 2 เรื่องพิจารณา ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล, การจัดทำนโยบายบริหารประเทศ, การมอบหมายภารกิจให้คณะทำงาน และวาระที่ 3 เรื่องอื่น ๆ ที่มีการจับตาว่าจะมีการพูดคุยถึงตำแหน่งประธานสภา ที่ยังจัดสรรกันไม่ลงตัว ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ รวมถึงการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีอย่างไรหรือไม่ ซึ่งน่าจับตา แม้ว่าแหล่งข่าวจากพรรคประชาชาติจะยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยประเด็นดังกล่าวในวันนี้ก็ตาม


นอกจากนี้ยังเตรียมห้องรับรองที่ชั้น 3 ในกรณีที่พรรคร่วมใดอยากหารือเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ที่จะทำความเข้าใจกันหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมา โดยหลังจากการประชุมเสร็จแล้วจะมีการแถลงหลังการประชุมในเวลา 16.30 นาทีเป็นต้นไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จัดตั้งรัฐบาล2566 #รัฐบาลก้าวไกล





วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

‘พิธา’ ร่วมงาน Pride เผยเตรียมยื่นสมรสเท่าเทียม-รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เข้าสภาทันที - พร้อมชูกรุงเทพเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028

 


พิธา’ ร่วมงาน Pride เผยเตรียมยื่นสมรสเท่าเทียม-รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เข้าสภาทันที - พร้อมชูกรุงเทพเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028

 

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 เวลา 16.00 น. ที่สกายวอล์กหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ร่วมแคมเปญ The Road to Bangkok Pride 2023 โดยในกิจกรรมดังกล่าวมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

 

โดยพิธากล่าวว่า ในฐานะผู้จัดตั้งรัฐบาล และในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตนมองเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ Pride Month แต่คือ Pride Always แน่นอนว่าวันนี้เรามาเฉลิมฉลอง มีศิลปินมามากกว่า 80 ท่าน สร้างความตระหนักความตื่นรู้ในสังคมไทย เรามาสื่อสารกับพี่น้องประชาชนว่าจะมีงาน Bangkok Pride วันที่ 4 มิถุนายน 2566

 

วันนี้เรามาร่วมมือร่วมใจระหว่างรัฐบาลชุดใหม่กับทางกรุงเทพมหานคร นำกิจกรรมระดับโลก World Pride มาจัดที่กรุงเทพมหานครในปี 2028 ต่อจากซิดนีย์, วอชิงตัน ดีซี และอัมสเตอร์ดัม ให้จงได้” ว่าที่น่ายกรัฐมนตรีกล่าว

 

พิธากล่าวขยายความเพิ่มเติมว่าความสำคัญของงานนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว แต่คือการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ความเป็นคนเท่ากัน ศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทุกคนต้องเท่ากัน

 

โดยใน MOU จัดตั้งรัฐบาลก็มีเนื้อหาดังกล่าว และใน 45 ร่างกฎหมายที่เราเตรียมเสนอเข้าสภาทันที มีอย่างน้อย 2 ร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ได้แก่

- กฎหมายสมรสเท่าเทียม

- กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ

 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องผลักดันให้ได้ก่อนจะมีการจัดงาน World Pride หรืองานใดๆ ก็แล้วแต่ ก็เพื่อแสดงให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าการยอมรับในความหลากหลายคือจุดแข็งของประเทศนี้

 

มันคือทั้ง Soft Power และ Hard Value ด้วย มันคือความเชื่ออันหนักแน่นของสังคมไทยว่า “คนเท่ากัน” ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ ศาสนา สถานะทางร่างกาย ฯลฯ ถ้าเราทำได้สำเร็จในประเด็นเหล่านี้ การจัดงาน World Pride ที่กรุงเทพก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย” ว่าที่นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #Bangkokpride2023 #บางกอกไพรด2023 #BeyondGender




เพื่อไทยโต้ดีลลับไม่มีจริง ‘ชลน่าน’ ยันไม่มีวันทรยศประชาชน เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลร่วมไม่หวั่นข่าวลือ ทำสังคมสับสน


เพื่อไทยโต้ดีลลับไม่มีจริง ‘ชลน่าน’ ยันไม่มีวันทรยศประชาชน เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลร่วมไม่หวั่นข่าวลือ ทำสังคมสับสน


วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 เวลา 15.30 น. พรรคเพื่อไทยนำโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ดังนี้


1. กรณีข้อเสนอของเสื้อแดง FC ยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทย ในข้อเสนอที่ 1 ที่ขอให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล  คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติและได้เคยประกาศชัดเจนว่า เรายืนยันเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลรวม 8 พรรคที่ได้ทำ MOU ร่วมกัน


นายแพทย์ชลน่าน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยน้อมรับความต้องการของพี่น้องประชาชนที่มีมติมหาชน 25 ล้านเสียง  ที่เลือกพรรคก้าวไกล 14 ล้านเสียงและเลือกพรรคเพื่อไทย 10.8 ล้านเสียง ที่มุ่งหวังให้รัฐบาลที่เกิดจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตยปิดกั้นการสืบทอดอำนาจจากรัฐบาลชุดเดิมและเรายึดถือเจตจำนงนี้เป็นหลัก และจะสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ ส่วนข้อเสนออื่นๆ เราดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนข้อ เสนอข้อที่ 5 ว่ากรณีพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้  และให้พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิพรรคอันดับ 2 รวมเสียงพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายมาผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป หรือแล้วแต่พรรคจะใช้ดุลยพินิจ เรายืนยันว่าเรายังมีเจตจำนงยึดมั่นจัดตั้งรัฐบาลร่วม 8 พรรค ให้สำเร็จลุล่วงให้ได้  และไม่ได้คาดหวังว่าพรรคก้าวไกลจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สถานการณ์ขณะนี้เรามีความมุ่งมั่นจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ขอขอบคุณที่เสื้อแดง FC เพื่อไทยที่ห่วงใยและกังวลการทำงานร่วมกันกับ 8 พรรค


2. พรรคเพื่อไทยปฏิเสธข่าวดีลลับเตรียมจับมือกับพรรคอีกซีกหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลและผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน


นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งแล้วเสร็จ พรรคเพื่อไทยไม่เคยมีดีลลับกับใคร มีดีลที่เปิดเผยคือดีลกับ 8 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน การเสนอข่าวดีลลับ  ต้องถามคนที่นำเสนอจะได้รับคำตอบ หากเป็นดีลลับจริง เหตุใดเขาจึงรู้ได้ เรื่องนี้เราจนใจที่จะตอบเพราะเราไม่รู้จริงๆ


3. พรรคเพื่อไทยปฏิเสธดีลลับที่ถูกตีความจากภาพนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยไปดูฟุตบอลที่อังกฤษแมตสุดท้าย และมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล ปรากฎในภาพ


นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า นายเศรษฐาไปให้กำลังใจเจ้าของทีมฟุตบอลซึ่งมีความสนิทสนมกัน มีการนำเสนอข้อมูลไปโยงกับกรณีที่ 2 ว่ามีดีลลับ เสมือนว่ามีดีลลับจริง ทั้งที่นายเศรษฐา มีการประกาศล่วงหน้าเป็นเดือน การดูฟุตบอลเป็นสิทธิเสรีภาพ ยืนยันไม่มีดีลลับระหว่างนายเศรษฐาและนายอนุทิน หากมีดีลลับจริง ไม่จำเป็นต้องบินไปที่อังกฤษ


ทั้งนี้ นายเศรษฐาได้ชี้แจงในทวิตเตอร์ส่วนตัว ข้อความว่า “ผมกับครอบครัว คุณวิชัย สนิทกันมานานหลายปี เมื่อ 7-8 ที่แล้วตอนที่เลสเตอร์ ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกผมก็มาร่วมฉลอง วันนี้ เลสเตอร์ แข่งนัดสุดท้ายเพื่อหนีตกชั้น ผมก็ต้องมาให้กำลังใจกัน ในฐานะคนบ้าบอล เรื่องนี้ผมแพลนไว้ก่อนหน้าแล้วเป็นเดือน ส่วนคุณหนู (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ผมรู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว และบังเอิญเจอกันก็ยิ้ม ทักทายกันตามประสาคนรู้จัก เท่านั้น ไม่มีคุยหรือดีลเรื่องการเมืองใดๆทั้งสิ้น ถ้าจะคุยกันคงไม่ต้องมาถึงอังกฤษมั้งครับ”


4. พรรคเพื่อไทยปฏิเสธดีลลับลังกาวีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กล่าวถึง  นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า อยากให้ผู้สื่อข่าวสอบถามที่นายชูวิทย์ซึ่งเป็นผู้เปิดเผย ในนามของพรรคไม่มีที่จะไปดีลแบบนั้น


ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงมีข่าวดีลลับออกมาในช่วงนี้ นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า เราพยายามดูทุกประเด็น สถานการณ์การเมืองแบบนี้ ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย จะมีข้อเท็จจริงหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนไหนเป็นบวก ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ในนามพรรคเพื่อไทยที่ถูกกล่าวถึงโดยตรง สิ่งที่เขาพูดมาไม่มีข้อเท็จจริง เราไม่มีพฤติการณ์ พฤติกรรมอย่างนั้นแน่นอน  ประชาชน 25 ล้านเสียงเป็นสัญญาณและภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่า ประชาชนตัดสินชัดเจนว่าไม่เอาเผด็จการ ต้องการรัฐบาลประชาธฺปไตย พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เราสองพรรค ตนเชื่อว่ามีจิตสำนึกเรื่องนี้ถึงอาณัติที่พี่น้องประชาชนมอบให้  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เจตจำนงของพี่น้องประชาชนบรรลุ ซึ่งเขามุ่งหวังเอาไว้และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่อยากเห็นรัฐบาลจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตย จึงมาคืนความสุข คืนโอกาส ที่เคยทุกข์ทรมานมา 9 ปี การออกมาใช้สิทธิ 75% ถือว่ามากล้น และมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการลงคะแนนเสียง สรุปได้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงท่วมท้น เรามองตรงนั้นมากกว่า ข้อกังวล ความกริ่งเกรง ข่าวลอย ข่าวลือ ดีลลับ หักล้างเจตจำนงของพี่น้องประชาชนไม่ได้ เพื่อไทยยืนยันไม่มีวันทรยศพี่น้องประชาชน


ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดเพื่อไทยทำอะไรก็ถูกพุ่งเป้าโจมตีตลอดเวลา นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ตนมองเป็นเรื่องธรรมดาปกติของการแข่งขัน การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจจากพี่น้องประชาชนจะมีเหตุการณ์แบบนี้ตลอดเวลา ไม่แปลก ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และแม้แต่จะเป็นรัฐบาลไปแล้วจะมีประเด็นนี้เกิดขึ้นตลอดไป เป็นเรื่องธรรมดาของระบบสังคมประชาธิปไตย ความหลากหลายสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะนำเอาความเห็นมาเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้อย่างไร


สำหรับการหารือในเวที 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นการพูดคุยในกรอบการทำงานขับเคลื่อนภารกิจที่เรามองไว้ในอนาคตแบบไร้รอยต่อ ดูกรอบการทำงานและจะได้คุยในรายละเอียดพรุ่งนี้ เวลา 14.30 น.


ส่วนจะมีการพูดคุยตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควต้า ส.ส.หรือไม่นั้น นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า หัวข้อเป็นไปในทิศทางการทำงานร่วมกัน มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน ที่จะทำหน้าที่ดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดเดิม กรณีที่ได้รับคำแหน่งหน้าที่แล้วให้เป็นไปอย่างรวดเร็วเป็นหลัก


ส่วนการคุยเรื่องตำแหน่ง นายแพทย์ชลน่าน มองว่า ไม่ควรพูดคุยในเวทีพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค เนื่องจากการเจรจาเรื่องของการแบ่งงาน ลักษณะงาน 8 พรรคมีกรอบมาแล้วอยู่ใน MOU เป็นหน้าที่ของพรรคแกนนำและพรรคร่วมไปพูดคุยกันในรายละเอียดว่าจะแบ่งงานอย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปจึงพูดคุยใน 8 พรรคร่วม เรื่องตำแหน่งต่างๆ ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความหลากหลายเนื่องจากคุยกันไม่จบ ในภาวะที่สังคมรอฟังเช่นนี้ หากแปลงข้อเท็จจริงไปในมุมลบ จะกลายเป็นลบ เราพยายามลดข้อกังวลให้กับพี่น้องประชาชน อะไรที่คุยได้จบแล้ว นำมาเสนอเป็นข้อยุติ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ควรพูดคุยบนโต๊ะที่ยังไม่จบรวมทั้งการพูดคุยผ่านสื่อที่ยังไม่จบ จะทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความกังวล


ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำแหน่งประธานสภา  จะมีการพูดคุยกันระหว่างสองพรรคหรือไม่ นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า คณะทำงานทั้งสองพรรคกำลังประสานงานเพื่อพูดคุยกันอยู่ เหมือนตำแหน่งอื่นๆที่จะพูดคุยระหว่างสองพรรค ทีมเจรจาของพรรคเมื่อเข้าไปพูดคุยได้เสนอแล้ว รับได้หรือไม่อย่างไร จึงนำเข้าสู่คณะกรรมการบริหาร เพื่อประกอบการตัดสินใจแล้วตอบ เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างนานา หากรีบคุยกันให้จบและมีคำตอบ จะดีที่สุด ซึ่งทีมเจรจาพยายามดำเนินการอยู่ มั่นใจว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #จัดตั้งรัฐบาล2566

 

คนเสื้อแดง VS คนใส่เสื้อสีแดง : ศักดิ์ศรีของคนเสื้อแดงที่ไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อสีแดง

 


ธิดา ถาวรเศรษฐ : คนเสื้อแดง VS คนใส่เสื้อสีแดง


คนเสื้อแดง เป้าหมายการต่อสู้


1. การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจเป็นของประชาชนแท้จริง

2. ต่อสู้ด้วยสันติวิธี ไม่ได้จับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ

3. ต่อสู้ทั้งวิถีทางในรัฐสภาและนอกรัฐสภา

4. ต่อสู้เพื่อนิติรัฐนิติธรรม รัฐธรรมนูญ และกฎหมายโดยประชาชนเพื่อประชาชน


หลักการของคนเสื้อแดงของนปช.ก็มีอย่างนี้ และเมื่อผ่านการต่อสู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยนับพัน ก็จะเข้มข้นด้วยความต้องการคือทวงความยุติธรรมให้ประชาชน ให้ผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะบาดเจ็บ ล้มตายกลางถนน หรือถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่ถูกต้อง หรือถูกอุ้มฆ่า ทั้งในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน


ดังนั้น ในวิถีทางรัสภา คนเสื้อแดงก็จะถือเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ด้วย มิใช่มีแต่ถือการต่อสู้เฉพาะบนท้องถนน ในอดีต คนเสื้อแดงทั้งหมดก็ถือเป็น Fc พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เพราะมีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยพรรคเดียว เวลาผ่านจากปี 2550 ถึง 2566 ผ่านมา 16 ปี เกิดสถานการณ์ใหม่ มีการทำรัฐประหารซ้ำ 2 ครั้ง มีการฆ่าคนกลางถนน โดยผู้กระทำลอยนวลพ้นผิด ประเทศชาติพังพินาศทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เกิดพรรคการเมืองใหม่ คนเสื้อแดงและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความยุติธรรมก็แยกกันสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก็เกิด Fc พรรคเพื่อไทย, Fc พรรคก้าวไกล, Fcพรรคไทยสร้างไทย, Fc พรรคประชาชาติ หรือ Fc พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีดีกรีความเข้มข้นหนักเบาของ Fc เหล่านี้ต่างกัน ในทัศนะดิฉัน คนเสื้อแดงจริงจะมีจุดยืนและผลประโยชน์ของประชาชนไทยโดยรวมเป็นหลัก และสนับสนุนพรรคการเมืองเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยพรรคใดก็ได้


ดังนั้น Fc ของพรรคต่าง ๆ ถ้ายึดผลประโยชน์หรือชัยชนะของพรรคที่ตัวเองสนับสนุนเป็นหลักอย่างเดียว หมายความว่า เขาจะเป็นคนใส่เสื้อสีแดงที่เป็น Fc พรรคการเมืองเท่านั้น ยังไม่ใช่คนเสื้อแดงตัวจริง แต่การเป็น Fc ของพรรคใดพรรคหนึ่งฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังถือเป็นหมู่มิตร แม้นจะขาดหรืออ่อนไปในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชัยชนะของประชาชน ก็ควรจะใช้ท่าทีต่อกันแบบ มิตร มิใช่ศัตรู ไม่ใช่ใช้ภาษาต่อว่าต่อขานรุนแรงที่หนุนพรรคประชาธิปไตยต่างกัน หรือดูหมิ่นดูถูกกันและกัน แม้จะสนับสนุนพรรคต่างกัน


ในสถานการณ์นี้ต้องสามัคคีกันตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนให้ได้ และเป็นไปได้ว่า อาจตั้งรัฐบาลของประชาชนไม่ได้! ต้องสามัคคีกันต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ยังไม่วางมือจากการเมือง โดยมีองค์กรอิสระ, วุฒิสมาชิก เป็นตัวช่วย แม้ผลการเลือกตั้งประชาชนจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเหนือพรรคจารีตอำนาจนิยม แต่นี่เพียงบันไดขั้นแรกเท่านั้น อาจถูกฟันฉับ ๆ ทีละพรรคก็เป็นได้


อย่าเป็นเพียงคนใส่เสื้อสีอะไรก็ได้ที่เป็นเพียง Fc พรรคการเมือง เพราะถ้าเราเป็นนักต่อสู้ ต้องยึดฝ่ายประชาธิปไตยและชัยชนะของประชาชนเป็นหลักยิ่งกว่าพรรคการเมือง นี่คือศักดิ์ศรีของคนเสื้อแดงที่ไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อสีแดง ในทำนองเดียวกัน คนที่สวมเสื้อสีแดงก็อาจไม่ใช่คนเสื้อแดงจริง!


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนเสื้อแดง #ธิดาถาวรเศรษฐ

‘เรืองไกร’ อดีตสมาชิก พปชร. ให้ข้อมูล กกต. ปม พิธา ถือหุ้นไอทีวี อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อ ผิดมาตรา 98(3) ชี้แม้จะได้ถึง 376 เสียงก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ ต่อให้เป็นนายกฯ ก็จะร้องให้พ้นทั้ง ครม.

 


‘เรืองไกร’ อดีตสมาชิก พปชร. ให้ข้อมูล กกต. ปม พิธา ถือหุ้นไอทีวี อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อ ผิดมาตรา 98(3) ชี้แม้จะได้ถึง 376 เสียงก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ ต่อให้เป็นนายกฯ ก็จะร้องให้พ้นทั้ง ครม.


วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเดินทางให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อ ITV จำนวน 42,000 หุ้น ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่า เป็นการกระทำผิดขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบ พิธา ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มาตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 หรือไม่


โดย เรืองไกร ยังได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2563 ที่มีการวินิจฉัยให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่นจำกัดอและบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด มีความผิดตามมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสิ้นสุดลง และคำวินิจฉัย กกต.ครั้งที่ 1/2564, 2/2564, 3/2564 และ 9/2564 มายื่นประกอบด้วย


ทั้งนี้ เรืองไกร ยืนยันว่า ตนไม่ใช่นักกฎหมายแต่เป็นผู้ตรวจสอบนักกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง จึงจำเป็นต้องขอให้ กกต. ตรวจสอบย้อนหลังว่า พิธา สิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ส่วนกรณีที่ระบุว่า หาก พิธา ขายหุ้นทั้งหมดก็พ้นผิด เป็นกรณีที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด หากมีความผิดก็ต้องผิดตั้งแต่วันที่สมัครจะแก้ด้วยการโอนหุ้นเพื่อพ้นผิดไม่ได้ และเป็นการวินิจฉัยแบบไม่เข้าใจกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2566 ซึ่งครอบคลุมถึงบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย พร้อมย้ำว่า แม้จะได้ถึง 376 เสียงก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ ต่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะร้องอีกครั้งซึ่งอาจจะทำให้พ้นสมาชิกภาพทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.)


เรืองไกร กล่าวอีกว่า กกต. จำเป็นต้องเร่งรัดตรวจสอบ  ในส่วนที่หลายคนมองว่าประเทศกำลังเดินหน้า เหตุใดจึงถึงมาร้องเช่นนี้ เรืองไกร กล่าวว่า ประเทศก็เดินหน้าไป คนกระทำความผิดหรือเข้าข่ายถูกตรวจสอบ ก็ต้องทำ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กกต #พิธา #หุ้นไอทีวี




วาสนา นาน่วม' เผย 'ประยุทธ์' บอกลูกพรรค นิ่งยิ้มรอเวลา มั่นใจเป็นรัฐบาล

 


วาสนา นาน่วม' เผย 'ประยุทธ์' บอกลูกพรรค นิ่งยิ้มรอเวลา มั่นใจเป็นรัฐบาล


จากคำพูดของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ในรายการ Ringside X ลับ ลวง พราง ดำเนินรายการโดย ตรีณปรางศ์ มณีชาตรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2566


“วาสนา นาน่วม” เผยว่า “คือตอนนี้เริ่มจะเห็นร่อยรอยที่เขาใช้คำว่าตามแผน ดังที่คุยกันมาตลอดว่าให้น้ำหนักกับการที่ก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จนั้นน้อย (ที่เรียกว่าสูตร 1) คืออย่างน้อย “ก้าวไกล” ก็อาจจะไปสุดทาง ไม่ว่าจะสุดทางด้วยส.ว.ไปต่อไม่ได้ หรือจะโดนศาลรัฐธรรมนูญ หรือด้วยวิธีการอื่นก็ตาม


ในกรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีของส.ว. “วาสนา” กล่าวว่า “เข้าใจว่าไม่มีใครอยากบันทึกประวัติศาสตร์ตัวเองว่าตัวเองทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล ถ้าส.ว.โหวตให้ไม่ผ่านในตำแหน่งนายกฯ หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเริ่มมีเสียงจากส.ว.ว่าทำไมกกต.ไม่เดินหน้าเรื่องคุณสมบัติของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กรณีถือครองหุ้นสื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร็ว ๆ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องถึงมือส.ว.เข้าไปโหวตกันในรัฐสภา แต่อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าส.ว.ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ให้คุณพิธาผ่าน แต่จะออกมาในรูปแบบงดออกเสียงบ้าง คัดค้านบ้าง และจะมีส่วนน้อยที่จะยอมโหวตให้คุณพิธา”


นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวสายทหาร ยังกล่าวด้วยว่า “ถ้าดูโดยภาระหน้าที่ของส.ว.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาในยุคคสช. คือพล.อ.ประยุทธ์คงมานั่งคิดว่าดีนะที่วางแผนให้มีส.ว.แบบนี้ พร้อมทั้งบทเฉพาะกาลของการโหวตนายกฯ ซึ่งถือว่าเป็นแผนที่รอบคอบ รัดกุมของคสช.”


วาสนา กล่าวว่า สิ่งที่มีนัยยะก็คือเมื่อวันจันทร์สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคและพบปะ 36 ว่าที่ส.ส.ของพรรค มีช่วงหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์บอกกับลูกพรรคว่าช่วงนี้ให้นิ่งไว้ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องให้สัมภาษณ์อะไร แล้วก็ยิ้มสู้อย่างเดียว รอเวลาเท่านั้น และประโยคสำคัญคือ “ผมเชื่อว่ายังไงเราก็เป็นรัฐบาล” ที่มันเป็นประเด็นก็คือว่า แกนนำพรรคหลายคนคิดหรือตีความตรงกันจากคำพูดและท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ในช่วงหลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา ทุกคนเชื่อว่าไม่ใช่แค่เป็นรัฐบาล แต่พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ อีกสมัย


เราก็เริ่มคิดว่ามันจะมายังไง? จะเป็นไปได้ยังไง? คือลูกพรรค/สมาชิกพรรค/แกนนำพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ไม่มีใครรู้ คนที่รู้จะมีแค่คุณพีระพันธุ์ แต่เขามั่นใจในท่าที, น้ำเสียงและทุกอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์แสดงออก ซึ่งตนมาก็คิดในฐานะที่ตามข่าวตั้งแต่วันเลือกตั้ง ผลคะแนนออกมา พล.อ.ประยุทธ์นิ่ง หน้าไม่ดี คือแพ้นั่นแหละ แต่มันยังไม่ได้แพ้แบบราบคาบ คือตราบใดที่ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล ยังไม่มีนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์พูดว่า เราเป็นพรรคใหม่ เราได้ 36 ถือว่าไม่น้อยและถือว่าเราไม่ได้เดินลำพัง มีประชาชน 4.7 ล้านเดินเคียงข้าง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประยุทธ์ #จัดตั้งรัฐบาล2566