วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : "ป.ป.ช." องค์กรสุดยอดของฝ่าย "จารีตนิยม"

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : “ไฟ” ยังเผา “สังคมไทย” อย่างรุนแรง แม้ “ไฟ” ที่เผาอาคารดับไปแล้ว

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : 'ธิดา' ชี้ เปิดตัวประธานยุทธศาสตร์ พปชร. นั่นคือ ยุทธศาสตร์คสช.และจารีตนิยมไทย !


ยูดีดีนิวส์ : 21 ส.ค. 62 วันนี้มีที่เฟสบุ๊คเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์ถึงการเปิดตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อน โดยอ.ธิดาได้ให้ความสนใจถึงบทบาทใหม่ของคสช. ในการตั้งพรรคการเมืองนี้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และได้แสดงทัศนะว่า

เปิดตัวประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ คือ “ยุทธศาสตร์คสช.และจารีตนิยมไทย”

คสช. ไม่ใช่คณะรัฐประหารแบบในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำรัฐประหารแล้วมอบให้คณะอื่นเป็นรัฐบาล แต่หมุดหมายไปถึงรุ่นใหญ่คือ 2500–2502 เป็นคนจารีตนิยม+อำนาจนิยม และต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งรวม ๆ มีอายุยาวนานถึง 15 ปี ส่วนยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้นเป็นการปรับตัวของกองทัพหลังปี 2516–2519 และหลังจากนั้น ทั้งยังเป็นช่วงสงครามเย็นต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคณะรัฐประหารในอดีตจาก 2500 จนถึง 2526 จึงมีข้ออ้างต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในการยึดอำนาจ ครองอำนาจ เพื่อความมั่นคงต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้กับพรรคการเมืองนายทุนที่ถูกขนานนามเป็น “ทุนสามานย์” ที่สามารถยึดครองใจประชาชน ชนะเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า  การทำรัฐประหารครั้งนี้ 2557 จึงเป็นการทำรัฐประหารที่มียุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ เพื่อขจัดอำนาจพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองของฝ่ายจารีตนิยมให้หมดสิ้นไป

เราจึงเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ, บทเฉพาะกาล และกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองใหญ่ และตามมาด้วยการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ของคสช. คือพรรคพลังประชารัฐ และสามัคคีกับพรรคสายอนุรักษ์นิยมและพรรคอื่น ๆ เพื่อเป็นรัฐบาลให้ได้ตอนนี้ก็เปิดหน้าประธานยุทธศาสตร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนักการเมืองเต็มตัว ทั้งหมดนี้เพื่อชัยชนะทางการเมืองของฝ่ายอำนาจนิยม+จารีตนิยม โดยไม่ต้องทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังจากแพ้การเลือกตั้งซ้ำซาก

น่าสนใจว่าบทบาทใหม่ของคสช.ในการตั้งพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จหรือไม่? 

มีการตั้งเป้าส.ส.ในการเลือกตั้งคราวหน้าเป็น 150 คน มีการก๊อบปี้นโยบายเก่า ๆ ของพรรคเพื่อไทยมาเป็นนโยบายใหม่ และยังทำต่อนโยบายเดิม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค แล้วมาเพิ่มบัตรสวัสดิการคนจน โดยทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งแบบวางแผน (ซึ่งยังทำแบบเดิมของพรรคเพื่อไทย) และแบบเสรีนิยมใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์และ TDRI

มองไปข้างหน้าพรรคพปชร.ต้องเผชิญความท้าทาย
1)   ความชอบธรรมในฐานะเป็นพรรคสืบทอดอำนาจคสช.
2)   ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ทั้งตัวนายกฯ  
     (ซึ่งมีคุณสมบัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปัญหาการถวาย
     สัตย์ไม่ครบถ้วน ฯลฯ), ปัญหาการสรรหาวุฒิสมาชิก, การได้มา
     ซึ่งส.ส.โดยการคำนวณตามแบบกกต., การแถลงนโยบายที่ไม่
     แจงที่มาของเงินที่ใช้
3)   ผลการเลือกตั้งที่คะแนนเสียงปริ่มน้ำ ต้องแก้ปัญหาไปตลอด
     อายุรัฐบาล จะทนไหวไหม? 
     ***ถ้าต้องจ่ายต้องง้อไม่สิ้นสุด***
4)   จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังทรุดทั้งภายในและภายนอกได้
     ไหม?
5)   จะเจอศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขยายจากพรรคการเมืองใน
      รัฐสภาสู่ประชาชน ที่คนส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่
      ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่คณะของพวกอำนาจนิยม 
      จารีตนิยม เขียนมาเพื่อสู้กับอำนาจประชาชน

ดิฉันบอกได้ว่าเหนื่อยแน่ ๆ

ไม่มีมาตรา 44 แล้วจะทนไหวไหม???

อย่าเลือกทำรัฐประหารใหม่ก็แล้วกัน!!!

ธิดา ถาวรเศรษฐ
21 ส.ค. 62

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ชะตากรรมแกนนำประชาชนฝั่งตรงข้ามอนุรักษ์นิยมไทย

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : การถวายสัตย์กับปัญหารัฐธรรมนูญไทย



ยูดีดีนิวส์ : 16 ส.ค. 62 ในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ วันนี้อันเนื่องมาจากการที่ท่านนายกฯ ถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์ แต่เว้นไม่กล่าวในเรื่องพิทักษ์และการปฏิบัติต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหานี้มันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและปัญหารัฐธรรมนูญในประเทศไทย

อ.ธิดากล่าวว่า ปัญหาการถวายสัตย์ทุกคนรู้แล้วว่าท่านจะตั้งใจหรือเปล่าก็ตาม แต่การที่ท่านหยิบกระดาษแล้วมีงานเขียนซึ่งตัดประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญออกไป บางคนอาจบอกว่าท่านพลั้งเผลอ แต่ดิฉันว่าไม่พลั้งเผลอ ดิฉันว่าท่านตั้งใจที่จะพูดเฉพาะตามที่ตัวท่านคิดว่าพอแล้ว ก็คือถวายความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์และผลประโยชน์ประเทศชาติประชาชน เพราะท่านบอกว่านั่นครอบคลุมแล้ว

แต่ดังที่เราได้รู้กันว่าการถวายสัตย์นั้นรัฐธรรมนูญได้เขียนเอาไว้เฉพาะเจาะจงเลยว่าจะต้องพูดตามนั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าท่านได้คิดของท่านเอาเองเหมือนกับที่ท่านเข้าประชุมรัฐสภา แล้วท่านก็บอกว่าใคร ๆ ก็เห็นเอกสารแล้ว ท่านก็เลยจะแถลงนโยบายตามสไตล์ของท่าน จนหลายคนบอกว่า "ไม่ได้" ต้องแถลงตามที่เขียนไว้เป็นเรื่องเป็นราว

ท่านคิดว่าแค่ 2 ประเด็นเพียงพอ ตรงนี้มันอยู่ที่การตีความ บางคนตีความว่าการถวายสัตย์เป็นเพียงพิธีกรรม และการที่ไม่พูดให้ครบ บางคนพูดเฉพาะประเด็นว่าอันนี้ไม่น่าจะเหมาะ แต่ความความคิดของท่านมันจบไปแล้ว

แต่สำหรับคนที่มอง 1) มองในแง่พิธีกรรม 2) มองในแง่ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ  มองว่าสิ่งที่ท่านทำมันขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?

สำหรับดิฉันเติมสิ่งที่ 3) ก็คือว่า เป็นมุมมองและทัศนะของนายกฯ และคนจำนวนหนึ่งต่อรัฐธรรมนูญไทย

ขณะนี้ดูเหมือนว่าปัญหาการถวายสัตย์นั้นจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง? แต่เรื่องของตัวหนังสือ เรื่องของกฎหมาย กับเรื่องของความชอบธรรมและความเป็นจริง บางทีมันไม่ได้ไปด้วยกัน ถ้าคนที่คิดว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ก็จบ!

แต่ดิฉันข้องใจว่าท่านนายกฯ คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ จึงจงใจตัดประเด็นนี้ออกไป! ดิฉันสนใจแนวความคิด เพราะว่าแนวความคิดของท่านมันจะบ่งบอกเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย เพราะนี่คือแนวความคิด เพราะฉะนั้นในทัศนะของดิฉันคิดว่าท่านนายกฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ

แต่ตอนนี้นายกฯ คงเข้าใจแล้วว่าทำไมอดีตนายกฯ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ท่านบอกว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ 50 ท่านออกไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีว่ารักษาการแล้วก็แต่งตั้งคนใหม่ และคนที่มารักษาการนั้นก็ลาออกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุ 

แล้วว่าที่จริงก็ไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ด้วยนะ คือตัวนายกฯ ได้ถวายสัตย์ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นคิดเอาตลก ๆ ง่าย ๆ ก็คือว่าท่านไม่ได้สนใจ ไม่ได้แยแสให้ความสำคัญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญเก่าก็ฉีกมาแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีแล้ว จบไปแล้ว ขณะนี้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ ก็แปลว่าท่านอยู่สามรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นท่านก็อาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 

แต่ว่าประวัติศาสตร์ของการเมืองการปกครองไทย ปัญหารัฐธรรมนูญกับการเมืองการปกครองไทย เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่คณะราษฎรนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ในช่วงแรก ถ้ามองในแง่มุมจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute monarchy ก็มาเป็น Constitutional monarchy หมายความว่าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมาก 

เพื่อให้ย่นย่อ แน่นอนเรามีประวัติศาสตร์ของการที่เราทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญอีก แล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การเปลี่ยนแปลงโดยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในปี 2489 (เท่าที่ดิฉันจำได้) อีกทีก็ปี 2516 เมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้ อีกทีก็ปี 2535 ที่มีประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้แล้วเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่การทำรัฐประหารมันจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ปกครองมีลักษณะก้าวหน้า 2489 นั้นเป็นตอนปลายของคณะราษฎรซึ่งได้ระบุเลยว่า ส.ส.ประเภทสองพวกที่มีการแต่งตั้งนั้นต้องจบ วุฒิสภาหรือพฤฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 2489 จัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า มาอีกทีก็ 2516 กับ 2535

ในทัศนะดิฉันนั้นไม่ได้มองว่าท่านนายกฯ เป็นฝ่ายก้าวหน้านะ ดิฉันยังถือว่าท่านอยู่ในกลุ่มของพวกอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมหรือจะเรียกว่าจารีตนิยมเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นท่านก็เลยไม่เห็นจำเป็นที่จะเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามันเขียนใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมของประชาชน หรือว่ารัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ดังนั้นการถวายสัตย์ครั้งนี้ ลึก ๆ มันได้เปิดเผยแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมระดับหนึ่งว่า ต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองใหม่ก็ยังมีปัญหา จริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ฉีกแล้ว เขียนใหม่แล้ว เขียนเพื่อจะสกัดคนอื่น แต่ตัวเองก็มีปัญหาเอง เพราะครั้งนี้เจอทั้ง 2 ประเด็น 1) ประเด็นถวายสัตย์ไม่ครบตามมาตรา 161 2) ประเด็นแถลงนโยบายโดยไม่ได้บอกที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เขียนเอาไว้เพราะต้องการจะจัดการกับพรรคการเมืองที่มาเป็นฝ่ายบริหาร ที่มีการเสนอนโยบายและเกรงว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม เกรงว่าจะเป็นนโยบายที่มีการใช้เงินมากเกินไป เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญหรือแม้กระทั่งยุทธศาสตร์ที่เขียนในรัฐธรรมนูญก็จะมาเป็น "บ่วง" ดักเองว่าตัวนายกฯ และพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจก็จะต้องเจอปัญหารัฐธรรมนูญนี้เอง

เพราะฉะนั้นคนจะมองรัฐธรรมนูญนี้
1) พวกที่เรียกตัวเองว่า "ลัทธิประชาธิปไตย" ที่มีประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ซึ่งเขาจะเป็นครูอาจารย์ของพวกกลุ่มนายทหารจำนวนหนึ่ง เขาก็จะวิจารณ์ว่าคณะราษฎรและประชาชนส่วนมากนั้นเป็น "ลัทธิรัฐธรรมนูญ" แต่เขาเป็นลัทธิประชาธิปไตย พูดง่าย ๆ ว่าไม่อยากให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ 

2) พวกจารีตนิยม ซึ่งดิฉันหมายถึงกลุ่มท่านนั่นแหละ คนเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับบุคคล คนดี และคิดเอาว่า จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติประชาชน...พอแล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะดูเบาไป แต่ว่าเป็นส่วนลึกในหัวใจหรือเปล่า?

ตัวดิฉันไม่ได้สนใจในเรื่องพิธีกรรมที่บอกว่าต้องทำให้ครบ ไม่อย่างนั้นเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งก็แล้วแต่มุมมอง แต่ดิฉันสนใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ตีความและมีทัศนะต่อการเมืองการปกครองอย่างไร? ซึ่งน่าจะตอบได้ว่าไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้ค่าพอที่จะต้องปฏิญาณ กระทั่งไม่อีกกี่วินาทีถ้าพูดต่อมันก็จบ แต่ไม่ให้ค่าเพราะเขียนเอง ตั้งใจขนาดนั้น ก็แปลว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้รัฐธรรมนูญนี้

แต่คำถามว่า...คุณจะปกครองประเทศโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า?  

ถ้าคุณไม่เอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด...คุณจะปกครองระบอบอะไร?

และคำว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นลายลักษณ์อักษร แปลว่า อยู่เหนือบุคคล อยู่เหนือคณะทุกคณะ ไม่ว่าอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แม้กระทั่งตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ก็ทรงยินยอม ก็กลายเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยความเต็มพระทัย ก็คือ Constitutional monarchy 

เมื่อท่านไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องพิทักษ์รักษา ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม นี่คือการปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ ไม่ใช่เป็นการปฏิญาณเฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการปฏิญาณต่อสังคมไทย ดังนั้นเรื่องถวายสัตย์มันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แต่เพียงพิธีกรรม แต่เป็นสิ่งที่บอกว่าคุณจะเอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า? และเมื่อคุณไม่เอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่คุณต้องปฏิบัติตามลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญนั้น การเมืองการปกครองประเทศไทยขณะนี้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ...หรือเปล่า? เป็นประชาธิปไตยแบบไม่ต้องสนใจรัฐธรรมนูญ...หรือเปล่า?

ดูสิว่าเราจะเรียกการปกครองนี้ว่าอะไร?

เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย "คนดี" ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นจุดสำคัญ เป็นสรณะ ทั้ง ๆ ที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ 2475 เราถือว่าเรามีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรมา 80 กว่าปี ต่อให้คุณทำรัฐประหารคุณก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ

ดิฉันไม่ได้นึกถึงว่ามันเป็นเพียงพิธีการ แต่มันเป็นการยืนยันและเป็นการปฏิญาณต่อสังคมว่านายกฯ จะเคารพปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญนี้ตัวดิฉันจะไม่เห็นด้วยก็ตาม และต้องการจะแก้ไขทั้งฉบับ แต่อย่างไรก็ตามหลักของมันก็คือว่ามันยังเป็นการปกครองในระบอบรัฐสภาที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแบบไทย ๆ 

สุดท้ายอ.ธิดาต้องการตั้งคำถามต่อนายกฯ ว่า...ตกลงท่านนายกฯ จะเปิดเผยความจริงว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ...ใช่หรือเปล่า?

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ผบ.ทบ.นำกองทัพไทยสู้กับประชาชน...เช่นนั้นหรือ?

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ย้อนรอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช. เมื่อปี 2555


ยูดีดีนิวส์ : 8 ส.ค. 62 ในทางการเมือง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจติดตามความเคลื่อนไหวท่าทีของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ล่าสุดทางพรรคเพื่อไทยได้แถลงชี้แจงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายละเอียดตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดในเฟสบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นและย้อนรอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช. เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีความว่า

ย้อนรอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช. เมื่อปี 2555



ธิดา ถาวรเศรษฐ

8 ส.ค. 62

รัฐธรรมนูญ 2550 หลังรัฐประหาร 2549 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตยที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 2540 อันเป็นฉบับที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยมากที่สุด

รัฐธรรมนูญ 2550 มี ส.ว.เลือกตั้ง ผสมกับ ส.ว.แต่งตั้ง 50:50 (ยังไม่กล้าเท่ารัฐธรรมนูญ 2560) เราจะไม่ลงรายละเอียดการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 แต่กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 บวกกับบทเฉพาะกาลนั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ลดทอนอำนาจประชาชน ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ลดทอนอำนาจพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและกลายเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย รัฐไทยจะมีรัฐข้าราชการ ทหาร พลเรือน เป็นใหญ่  พรรคการเมืองต้องขึ้นต่อและปฏิบัติตาม  ผลพวงการทำรัฐประหารทั้งทางกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และส่วนต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมและชนชั้นนำ ความรุ่นแรงเช่นนี้มีในรัฐธรรมนูญ 2560 มากกว่า 2550 เสียอีก

9 ก.พ. 55 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐและคณะยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

นปช.ในยุคนั้นที่ดิฉันเป็นประธานตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2553 ได้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน โดยมีหลักใหญ่ ๆ คือ ได้เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100 คน เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้จำนวนสสร.แต่ละจังหวัดขึ้นกับจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดเป็นสัดส่วนกันโดยตรง

เมื่อได้ สสร. จากการเลือกตั้งทั่วประเทศ เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แยกจากสภาผู้แทนราษฎร สสร. ก็จะมาตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมาจากบุคลากร นักวิชาการภายนอก ร่วมกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้

เราทำการรณรงค์ มีประชาชนร่วมลงชื่อประมาณ 1 แสนคน ผ่านการตรวจสอบถูกต้อง 71,543 รายชื่อ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ร่างนี้ต่างกับร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ที่กำหนดให้มี สสร. 99 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาโดยรัฐสภา 22 คน (อ้างถึง : เปิดร่างแก้รธน.ฉบับ “นปช.” https://www.ombudsman.go.th/10/con550209_01.html)

ภาพรายชื่อประชาชนผู้เข้าร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรวบรวมโดย นปช. (ขอบคุณภาพจาก innnews.com)

พูดง่าย ๆ คือพรรคเพื่อไทยต้องการใช้เวทีรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญโดยตรง ผ่านการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  ในขณะที่ นปช. ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและ สสร. ต่างหาก รับผิดชอบเรื่องนี้ไปเลย

1)   เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยตรง โดยเริ่มต้น
     เปรียบเทียบจากรัฐธรรมนูญเดิมฉบับปี 2516, 2540 หรือ    
     2550 ก็ได้
2)   เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ในรัฐสภา 
     และ/หรือ ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายอนุรักษ์  
     นิยมอำนาจนิยม
3)   ผลจากการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. จะได้รับการยอมรับจาก
     สังคมทุกฝ่าย เพราะมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ขึ้นกับ
     พรรคการเมืองใด ๆ

เหตุการณ์ผ่านไปจนบัดนี้ ความล้มเหลวอันเนื่องมาจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อมาจนถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (สุดซอย) ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าจะมีผลต่อการเมืองการปกครองที่ช่วงชิงอำนาจ ทั้งจากชนชั้นนำ สองระบอบ และประชาชนที่สนับสนุนสองระบอบ

ถ้าเราจะหวังให้ได้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีจิตสำนึกมากที่สุด แต่ถ้าพรรคการเมืองคิดแต่เฉพาะเสียงและมือในรัฐสภาเป็นที่ตั้ง ต่อให้มีเสียงข้างมากในรัฐสภาก็ถูกพลังอำนาจอนุรักษ์นิยมจัดการให้พ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าได้  ทำให้การเมืองไทยถอยหลังห่างจากระบอบประชาธิปไตยของประชาชนมากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตามข้อเสนอฝ่ายค้านปัจจุบันที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและเป็นผู้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพรรคฝ่ายค้านไม่ต้องตั้งธงว่าแก้ประเด็นอะไรบ้างก่อน ให้เป็นการระดมความคิดของประชาชนและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นแนวเดียวกันกับ นปช. ที่เสนอไว้เมื่อปี 2555 นั่นเอง

ดิฉันสนับสนุนและเห็นด้วยค่ะ

ผ่านมา 7 ปี พรรคเพื่อไทยเพิ่งจะคิดได้ตรงกัน!