วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

อัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง “ธนาธร” ปมถือหุ้นสื่อวี-ลัค หลังศาลรธน.วินิจฉัยขาดคุณสมบัติ!

 




อัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง “ธนาธร” ปมถือหุ้นสื่อวี-ลัค หลังศาลรธน.วินิจฉัยขาดคุณสมบัติ!


วันที่ 30 พ.ย.65 เวลา 11.00 น. นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายผดุงวิทย์ ผดุงสรรพ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นดำเนินคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 42 (3) ต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 467/2563


ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมีให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตน เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด (หุ้นสื่อ)


ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดีคือ สั่งไม่ฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ ผู้ต้องหา ในความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร์รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตน เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3), 151 วรรคหนึ่ง แล้วจึงส่งสำนวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1


ซึ่งภายหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นแย้งแล้วส่งสำนวนมายังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณชี้ขาดความเห็นแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 วรรคสอง


คดีนี้อัยการสูงสุด พิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าการดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาในความผิด ฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตน เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42(3), มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาจำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จริงหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ต้องหาได้ทำการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อที่ตนได้ถือหุ้นไว้ให้แก่ผู้เป็นมารดา และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 โดยมีบุคคล 3 คน เป็นพยานบุคคลและมีเอกสาร ตราสารโอนหุ้น ทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นพยานเอกสารมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัท และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129กล่าวคือ ต้องทำหลักฐานการโอนหุ้นเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว


ซึ่งตามกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 , 41 แม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวน พยานของผู้ต้องหาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญาโจทก์ต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่า ผู้ต้องหากระทำความผิด ตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง


ทั้งข้อพิรุธของผู้ต้องหา กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานฝ่ายผู้ต้องหาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมใดเกี่ยวข้องกับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ภายหลังจากวันที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหายังคงถือหุ้นอยู่ ในขณะเกิดเหตุหรือมิได้โอนหุ้นของตนให้แก่นางสมพรแต่อย่างใด ทั้งผู้ต้องหามิได้เป็นผู้มีอำนาจจัดการ แทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ตามแบบ บอจ.5 ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ทราบ


การที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพิ่งแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทล่าช้า จึงยังไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาได้ ประกอบกับคดีนี้มีผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา จึงเห็นว่าพยานหลักฐาน ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้


อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ต้องหา ความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 42 (3)


นายธรัมพ์ กล่าวว่า เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา นายธนาธรจึงไม่มีความผิดในข้อหาคดีอาญา คือ พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้ แต่ส่วนการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกไปแล้ว ผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องเรียนว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน อันนี้อัยการพิจารณาเฉพาะในส่วนของข้อหาคดีอาญา ซึ่งอัยการดูเรื่องเจตนาจากพยานหลักฐานทั้งหมดพบว่านายธนาธรน่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา และขอย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ท่านวินิจฉัยในเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามของนายธนาธรในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)


ที่มา : ข่าวสดออนไลน์


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธนาธร #ถือหุ้นสื่อ

"หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ" มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่าร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94

 


"หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ" มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่าร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94

 

วันนี้ (30 พ.ย. 2565) ตามที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 20/2565)

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวม 105 คน เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า (1) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และ (2) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 หรือไม่

 

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 132 และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94

 

ซึ่งส่งผลให้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อสูตรหาร 100 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญ ของ มาตรา 25 และ มาตรา 26 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกการคำนวณ ส.ส. พึงมี และ ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงได้รับ ตาม มาตรา 93 กรณีเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้งที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังประกาศผลไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง ตามมาตรา 94 กรณีภายใน 1 ปี หลังวันเลือกตั้งทั่วไป แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา 24 แกนนำนปช. คดีก่อการร้าย ปี 53 พรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 65) หลังศาลชั้นต้นพิพากษา “ยกฟ้อง” เมื่อ 14 ส.ค. 62

 


ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา 24 แกนนำนปช. คดีก่อการร้าย ปี 53 พรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 65) หลังศาลชั้นต้นพิพากษา “ยกฟ้อง” เมื่อ 14 ส.ค. 62


พรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 2565) เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก “ศาลอุทธรณ์” นัดอ่านคำพิพากษา คดีกล่าวหาแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ร่วมกันก่อการร้าย กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 20 พ.ค. 2553


ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิรากรร, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายยศวริศ ชูกล่อม, นายนิสิต สินธุไพร, นายการุณ โหสกุล, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง, นายสุกเสก พลตื้อ, นายจรัญ ลอยพูล, นายอำนาจ อินทโชติ, นายชยุต ใหลเจริญ, นายสมบัติ มากทอง, นายสุรชัย เทวรัตน์, นายรชต วงค์ยอด, นายยงยุทธ ท้วมมี, นายอร่าม แสงอรุณ, นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์, นายสมพงษ์ บางชม, นายมานพ ชาญช่างทอง, นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เป็นจำเลยที่ 1-24  


ซึ่งจำเลยทั้ง 24 คน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และระหว่างพิจารณาคดี นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อดีตคนสนิท เสธ.แดง ได้หลบหนีคดี ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวกลับมาดำเนินคดี ส่วนนายสมบัติ มากทอง หรือ ผู้กองแดง เสียชีวิตระหว่างพิจารณา โดยศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 16 ที่เสียชีวิต ออกจากสารบบความไปแล้ว


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 62 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยที่ 1-15 และ 18-24


อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่ ข่าวสด วันที่ 14 สิงหาคม 2562 คลิกลิ้งค์ https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2800807


ขอบคุณภาพ : ไทยรัฐ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แกนนำนปช #คดีก่อการร้าย #ศาลอุทธรณ์

ศาลยกฟ้อง “บอย ธัชพงศ์” คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีรวมชุมนุมม็อบ 18 ต.ค. 63 ศาลชี้! เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย

 


ศาลยกฟ้อง “บอย ธัชพงศ์” คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีรวมชุมนุมม็อบ 18 ต.ค. 63 ศาลชี้! เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย


เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง


นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเหตุการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ และสมบัติ ทองย้อย โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง


ในชั้นสอบสวน ทั้งสามคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล โดยฟ้องนักกิจกรรมทั้งสามคนแยกกันเป็นคนละคดี ซึ่งคดีของสมบัติ ทองย้อยเป็นคดีแรกที่ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาและยกฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ในขณะที่คดีของชลธิชา แจ้งเร็วยังคงอยู่ในระหว่างการสืบพยาน


ทั้งนี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ได้มีแกนนำชัดเจน เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำหลักที่ถูกจับกุมคุมขังในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อของการเคลื่อนไหว การชุมนุมมีเพียงการใช้ลำโพงขนาดเล็กหลายจุดในที่ชุมนุม และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมร่วมกันขึ้นพูด


โดยศาลอ่านคำพิพากษาให้ฟังโดยสรุปว่า โจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว แต่ในระหว่างการชุมนุมไม่ปรากฏว่าเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ศาลจึงฟังไม่ได้ว่าการชุมนุมทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษ “ยกฟ้อง”


ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #พรกฉุกเฉินร้ายแรง

ศาลให้ประกัน “ไดโน่ ทะลุฟ้า” หลังอสส.มีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีร่วมชุมนุม “ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช” เมื่อปี 2564

 


ศาลให้ประกัน “ไดโน่ ทะลุฟ้า” หลังอสส.มีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีร่วมชุมนุม “ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช” เมื่อปี 2564


เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำสั่งประกันตัวในคดีของ “ไดโน่” หรือ นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า หลังพนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดี จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ร่วมชุมนุมและผู้ปราศรัยจากกลุ่มทะลุฟ้าร่วมกว่า 10 ราย (3 ราย ยังเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี) โดยทั้งหมดได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว โดยกรณี “ไดโน่ นวพล” ได้ถูกตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, มาตรา 360 ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย, มาตรา 220 ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้ จนอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น


ต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีของผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า 6 คน เฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงดุสิต ไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 แล้ว ขณะที่ “ไดโน่” เนื่องจากถูกกล่าวหาในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่า จึงได้ถูกแยกฟ้องมาที่ศาลอาญา


หลังการสั่งฟ้องต่อศาลในวันที่ 28 พ.ย. 2565 ศาลอาญากลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้จะขอยื่นประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ขอประกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย หากประสงค์จะขอประกัน ให้ผู้ขอประกันมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นญาติ และเป็นผู้กำกับดูแล เห็นควรกำหนดเงื่อนไขว่า หากจำเลยผิดเงื่อนไข ผู้ร้องประกัน ยินยอม ว่าเป็นการผิดสัญญา และยินยอมให้ปรับนายประกันได้ จึงจะพิจารณาสั่งต่อไป” ทำให้คืนที่ผ่านมา “ไดโน่” ถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที


ทั้งนี้ อัยการบรรยายฟ้อง โดยมีใจความสรุปได้ว่า จำเลยและพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช” โดยเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “ทรราชในคราบ (คนดี)” ไปแขวนบริเวณอนุสาวรีย์ และจำเลยกับพวกได้นำหุ่นฟางและภาพของคณะรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภามาวางรวมกันบนพื้นถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นกิจกรรมมั่วสุมของกลุ่มคนจำนวนมาก


อัยการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยและพวก เป็นการจัดกิจกรรมชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดต่ออันตรายได้


นอกจากนี้อัยการได้บรรยายฟ้องว่า “ไดโน่” และพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาหุ่นฟางและภาพคณะรัฐบาล และ สว. บนพื้นถนนจนเกิดเพลิงไหม้ เป็นการทำให้ถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะเสียหาย และมีค่าเสียหายรวมเป็นเงินประมาณ 157,000 บาท


ศาลอนุญาตให้ประกันตัว “ไดโน่” หลังยื่นผู้กำกับดูแลและนายประกันเป็นคนในครอบครัว วางเงินหลักทรัพย์กว่า 90,000 บาท


ต่อมา ในเวลา 13.00 น. ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัว “ไดโน่” เป็นครั้งที่ 2 โดยขอให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแลและนายประกันเป็นบุคคลในครอบครัว


ก่อนที่ในเวลา 14.46 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้


ให้ติดอุปกรณ์กำไล EM และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00 น. - 06.00 น. ของวันถัดไป


1. ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง

2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่มีปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อทรัพย์สินสาธารณะ และทรัพย์ราชการ

3. ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

4. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร


ศาลกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 30 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น.


ข้อสังเกตที่น่าสนใจในคดีนี้ พบว่าการตั้งเงื่อนไขประกันของศาลอาญา มีลักษณะของคำสั่งที่คล้ายคลึงกับคดีของแซม, แม็ก และมิกกี้บัง นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ที่เพิ่งได้รับการประกันเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 โดยในคดีดังกล่าวของแซมและพวก ศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้เปลี่ยนแปลงผู้กำกับดูแลจำเลยทั้งสามคนเป็นบุคคลในครอบครัว และให้ใช้หลักทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล


ส่วนของไดโน่ ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในครั้งแรก และปฏิเสธเงื่อนไขที่ทนายความยื่นคำร้องขอใช้นายประกันเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว แต่ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องหลักทรัพย์ ว่าจะต้องเป็นเงินของครอบครัวและญาติเท่านั้น


ขณะเดียวกันคดีนี้ยังไม่ได้มีข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งตัว “ไดโน่” เองก็ไม่เคยถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์มาก่อนทั้งในคดีนี้และคดีอื่นๆ แต่ศาลกลับกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”


ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


ภาพ : มติชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #ทะลุฟ้า 

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

"ราษฏรหยุดเอเปค" แถลงกรณีเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม 18 พ.ย. 65 ที่ถนนดินสอ ชวนประชาชนเข้าชื่อ "ปฏิรูปคฝ." ลั่นฟ้องกลับแน่นอนเพื่อไม่ให้พ้นผิดลอยนวล จี้ประเทศร่วมลงนาม BCG ให้ทบทวนข้อตกลงร่วม

 



"ราษฏรหยุดเอเปค" แถลงกรณีเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม 18 พ.ย. 65 ที่ถนนดินสอ ชวนประชาชนเข้าชื่อ "ปฏิรูปคฝ." ลั่นฟ้องกลับแน่นอนเพื่อไม่ให้พ้นผิดลอยนวล จี้ประเทศร่วมลงนาม BCG ให้ทบทวนข้อตกลงร่วม

 

วานนี้ (28 พ.ย. 65) เวลา 19.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค2022 นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์, นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า, นายนิติกร ค้ำชู หรือ ตอง ดาวดิน และนายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มแนวร่วมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมกันแถลงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน บริเวณถนนดินสอ รวมถึงข้อเรียกร้องและแนวทางการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ โดยมี นายเยี่ยมยุทธ์ สุทธิฉายา สำนักข่าวประชา เป็นผู้ดำเนินรายการ อีกทั้งช่วงหนึ่งได้วิดีโอคอล น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ บก.สื่อออนไลน์เดอะอีสานเรคคอร์ด เล่าถึงเหตุการณ์กรณีผู้สื่อข่าวอิสระในสังกัดถูกจับกุมและถูกทำร้ายด้วย

 

นายนิติกร กล่าวว่า ในเหตุการณ์วันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น มีความพยายามของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในการสลายชุมนุมถึง 2 ครั้ง และเกิดประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง และไม่เป็นไปตามกฎหมายพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพราะไม่มีการขอหมายศาลในการเข้าสลายชุมนุม มีการใช้ความรุนแรงที่ไม่เป็นไปตามสัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุ ไม่มีมาตราการจากเบาไปหาหนัก และไม่มีการแจ้งในการใช้กระสุนยาง ไม่ได้ใช้ตามหลักสากล เพราะมีการยิงเข้าจุดสำคัญ ทั้งบริเวณตัว และใบหน้า

 

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในวันนั้นมีการใช้โล่ที่มีผ้าสีดำคลุมไว้ เหมือนมีเจตนาปิดบังตัวตน และก่อนที่จะมีการประชุมเอเปก มีเจ้าหน้าที่ไปคุกคามนักกิจกรรมทั้งในกทม.และในต่างจังหวัด อาทิ ไปหาที่บ้าน ไปถามว่าจะไปชุมนุมหรือไม่ ฯลฯ โดยเฉพาะนักศึกษารามคำแหงถึงกับถูกเจ้าหน้าที่ถูกบุกจับตัวถึงที่บ้าน

 

นิติกร ได้เชิญชวนประชาชน เข้าร่วมลงรายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิรูปตำรวจควบคุมฝูงชนเพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยสากล

 

สำหรับการสรุปบทเรียนเหตุการณ์สลายชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน นิติกรระบุว่า ไม่ได้ประเมินว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เป็นความผิดพลาดของพวกเราที่ประเมินเขาต่ำไป ได้บทเรียนว่าประเทศนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ในครั้งหน้าต้องประเมินความปลอดภัยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเครื่องมือป้องกันยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ประเด็นเปิดชื่อเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรง ได้ใช้กลไกรัฐสภาคือการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 2 ชุด คือ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ และกมธ. กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีอำนาจในการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาให้ข้อมูล นอกจากนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็น่าจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

จากนั้นนายนิติกร ได้ระบุว่า ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้จะเป็นนัดแรกสำหรับผู้ต้องหา 25 รายที่ถูกแจ้งข้อหาจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อ 18 พฤศจิกายนในการส่งตัวอัยการ จึงขอชวนประชาชนให้ร่วมจับตาการเคลื่อนไหวต่อไปด้วย

 

ด้านนายจำนงค์ กล่าวว่า การประชุมเอเปค ไม่ได้มีประชาชนมีส่วนร่วม และไม่ได้รับประโยชน์ แต่มองว่าการประชุมนั้นจัดเพื่อให้ประโยชน์กับนายทุน จึงจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องและเคลื่อนขบวนจนเกิดการสลาย ซึ่งไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะกล้าสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่ต้องหาผู้ที่มารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง

 

ขณะที่ ภัสราวลี ระบุว่า จุดประสงค์หลักของราษฎรหยุดเอเปค2022 คือการให้ข้อมูลเชิงทรัพยากรที่เกี่ยวกับ นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ว่าหากผ่านไปได้ ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากเรื่องที่ดินอย่างไรบ้าง อีกทั้ง การจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ประเทศที่ลงนามในนโยบาย BCG ทบทวนถึงความถูกต้อง และความเป็นธรรมของประชาชน เพราะการประชุมเอเปคครั้งนี้ ไม่ได้มีประชาชนเข้าเป็นส่วนร่วมด้วยเลย จึงอยากให้สถานทูตที่เข้าร่วมประชุม ได้ทบทวนอีกครั้ง

 

วันนี้ (28 พ.ย.) ทางกลุ่มได้ไปยื่นข้อเรียกร้องกับสถานทูต 8 ประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปก ให้ทบทวนการลงนาม BCG เพราะนโยบายนี้ทางกลุ่มมองว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชนระดับรากหญ้า รวมถึงได้เรียกร้องให้ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม และลงนามข้อตกลงรับผิดชอบร่วมกันกดดันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาขอโทษและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาตัวผู้กระทำผิด หรือใช้กำลังเกินกว่าเหตุ มาลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา และรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมอีกในอนาคต และเปิดชื่อของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

 

สำหรับคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุม อาทิ พระสงฆ์ที่กระโดดถีบคฝ. และภาพผู้ชุมนุมใช้ไม้ตีตำรวจนั้น น.ส.ภัสราวลี ตอบว่า วันนั้นหลวงพ่อไม่มีอาวุธและถูกยิงที่ท้ายทอยด้วย ส่วนภาพผู้ชุมนุมใช้ไม้หน้าสาม ทราบว่าเป็นการพยายามช่วยไม่ให้ผู้ชุมนุมคนอื่นถูกเจ้าหน้าที่จับ

 

ภัสราวลี มองว่า ไม่ว่าจะมีบุคคลใดในที่ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง หน้าที่ของตำรวจคือการนำตัวออกมาไม่ใช่การสลายการชุมนุม และไม่ถือเป็นความชอบธรรมที่จะเอากระบองมาตีประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีการฟ้องกลับอย่างแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน และพยาน โดยจะทำอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการพ้นผิดลอยนวลอีกต่อไป

 

ด้าน ธนพัฒน์ ปูน ทะลุฟ้า กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค2022 ในครั้งนี้ คือการการเปิดเวทีคู่ขนานกัน เพื่อถ่ายทอดข้อมูล และไปยื่นเรื่องร้องต่อผู้นำต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งในเหตุการณ์วันที่ 18 พ.ย. มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 21 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 รายคือ “พายุ ดาวดิน” ด้วยการต้องสูญเสียดวงตาข้างขวา ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุมาก ๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการก็ไม่มีชื่อและไม่เปิดเผยว่ามาจากหน่วยงานไหน เมื่อเกิดสภาวะไร้หน้าไร้ชื่อ เจ้าหน้าที่ก็เหมือนจะไร้ความเป็นมนุษย์ไปด้วย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ปฏิบัติตามกรอบกติกาของสากล สะท้อนให้เห็นถึงการลิดรอนสิทธิในประเทศไทย

 

ธนพัฒน์ ยังได้เชิญชวนประชาชน ช่วยกันจับตา ในวันที่ 7 ธ.ค. จะมีการไต่สวนถอนประกัน “โจเซฟ” และ 15 ธ.ค. ไต่สวนถอนประกัน “เก็ท โมกหลวงริมน้ำ” และ “ใบปอ ทะลุวัง” รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปค และมีกลุ่ม ศปปส.ไปยื่นถอนประกันไว้แล้ว

 

ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิรูปตำรวจควบคุมฝูงชน ได้ที่ https://bit.ly/3XCMeoW โดย ดาวดิน สามัญชน ระบุว่า เพื่อแสดงพลังของจริง ประชาชนตัวจริงเปิดชื่อแล้ว รบกวนพวกที่บอกตัวเองว่าของจริง กล้าเปิดชื่อหน่อย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ราษฎรหยุดAPEC2022

#คฝยิงพายุ #ปฏิรูปคฝ




วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ศาลแขวงดุสิต พิพากษายกฟ้อง คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม็อบแฮร์รี่พ็อตเตอร์ 1 “มายด์ ภัสราวลี” เผย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการชุมนุมรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ประชาชนสามารถทำได้

 


ศาลแขวงดุสิต พิพากษายกฟ้อง คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม็อบแฮร์รี่พ็อตเตอร์ 1 “มายด์ ภัสราวลี” เผย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการชุมนุมรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ประชาชนสามารถทำได้


วันนี้ (28 พ.ย. 2565) เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาในคดีการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในชื่อ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแขวงดุสิตพิพากษา “ยกฟ้อง” ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเจ้าพนักงานชุมนุมสาธารณะ คดีผู้ชุมนุมแฮรี่พอตเตอร์ 1 แต่ให้ลงโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยทั้ง 6 คนละ 200 บาท


โดยในคดีนี้ มีนักกิจกรรมทางการเมือง 6 ราย ได้แก่ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ณรงค์ ดวงแก้ว, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูรณ์ผล และ “บอย” ชาติชาย แกดำ ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต


เหตุการณ์ชุมนุมในคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ “อานนท์ นำภา” นักกิจกรรมทางการเมืองและทนายความสิทธิมนุษยชน ปราศรัยในประเด็นสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ทำให้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาลอาญา ในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 อีก 2 ข้อหา เพิ่มเติมจากข้อหาที่มีการดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้ ซึ่งสองข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกิน 3 ปี เกินอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง อัยการจึงแยกสำนวนของ “อานนท์” ออกเป็นอีกสำนวนและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาแทน


ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จแล้ว “มายด์” กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดี เพราะว่าคำพิพากษาที่ศาลว่าการชุมนุมแบบที่พวกเรากระทำนั้น ประชาชนสามารถทำได้รับรองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นเหตุทำให้พวกเราต้องออกมาพูดปัญหาบ้านเมืองได้


ด้าน ธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย กล่าวว่า ตนชอบคำว่าการชุมนุมถือเป็นบรรทัดฐานโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ และวันนี้ก็เสียค่าปรับไปคนละ 200 บาทค่าเครื่องขยายเสียง เพราะเราไม่ได้ขออนุญาต ตรงนี้ก็เสียค่าปรับไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบแฮร์รี่พ็อตเตอร์1




“สายน้ำ” สวมชุดหมีพูห์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ทำร้าย-ขัดคำสั่ง เจ้าพนักงาน” จากกรณีร่วมชุมนุมหยุดเอเปค 2022

 


“สายน้ำ” สวมชุดหมีพูห์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ทำร้าย-ขัดคำสั่ง เจ้าพนักงาน” จากกรณีร่วมชุมนุมหยุดเอเปค 2022


วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2565) เวลา 13.30 น. ที่ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมทางการเมือง อายุ 18 ปี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกฯ


นายนภสินธุ์ หรือ สายน้ำ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานและข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยตำรวจได้ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 โดยในวันนี้ตนมารับทราบข้อกล่าวหาเพียงคนเดียว เพราะว่าในหมายระบุหนึ่งคน ตนก็หวังว่าจะไม่มีใครที่โดนคดีเพิ่ม


นายนภสินธุ์ หรือ สายน้ำ กล่าวต่อว่า คดีนี้เป็นคดีแรกที่พ้นจากเกณฑ์เยาวชน สำหรับในคดีก่อนอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนตนไม่ได้ถูกตั้งเงื่อนไขอะไร ก็ต้องมาดูกันว่าในอนาคตจะเป็นกันอย่างไร สำหรับการเคลื่อนไหวช่วงเอเปค 2022 ที่ผ่านมาตนก็เหนื่อยมาก เพราะว่าออกไปเคลื่อนไหวทุกวัน ตอนนี้ก็ต้องมาดูกันว่าจะมีกี่คดี หรือ มีหมายเรียกมาที่บ้านอีกกี่ใบ


“การที่พวกเราไปเคลื่อนไหวช่วงเอเปค เราเพียงต้องการที่อยากจะสื่อสารไปถึงผู้นำต่างประเทศ เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของภาคประชาชน แต่กลับโดนกระทำด้วยความรุนแรงจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการถูกดำเนินคดีความ ฯลฯ” สายน้ำ กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหา นายนภสินธุ์ หรือ สายน้ำ  4 ข้อหา ประกอบด้วย

 

มาตรา 138  ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 296  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ถ้าการสั่งเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งให้ช่วยทำกิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้สั่งให้ช่วยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ต่อมาเวลา 15.00 น. “สายน้ำ” ได้ออกมาพบกับผู้สื่อข่าวโดยกล่าวว่า ตนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แล้วยื่นเอกสารหลักฐานชี้แจงภายใน 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์  #ราษฎรหยุดAPEC2022

เปิดตัว ‘โด่ง อรรถชัย - ก่อแก้ว’ เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมเป็นกำลังเสริมชนะแลนด์สไลด์ ประเทศไทยต้องออกจากระบอบ ‘ประยุทธ์’ โดยเร็ว

 


เปิดตัว ‘โด่ง อรรถชัย - ก่อแก้ว’  เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมเป็นกำลังเสริมชนะแลนด์สไลด์ ประเทศไทยต้องออกจากระบอบ ‘ประยุทธ์’ โดยเร็ว


วันนี้ (28 พ.ย. 2565) ที่ทำการพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย  นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย  ร่วมแถลงข่าวต้อนรับนายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายอรรถชัย อนันตเมฆ เข้าสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า ขอต้อนรับบุคลากรทั้งสองคนผู้ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เข้าเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองคนเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย  และพรรคพลังประชาชน จึงมีความเชื่อมั่นว่าบุคลากรทั้งสองคนจะเข้ามาสร้างเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยเพื่อโอกาสในการสร้างความแข็งแกร่งให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยต่อไป


ทั้งนี้  นายอรรถชัย มีความโดดเด่นในการเป็นสื่อมวลชนและนักแสดง มีความเชี่ยวชาญในการนำเสนอเนื้อหา สื่อสารอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่นายก่อแก้ว  เป็นอดีต ส.ส.เพื่อไทย มีผลงานในสภาเป็นที่ประจักษ์  จึงขอขอบคุณทั้งสองคน  และผู้สนับสนุนทั้งสองคนทั่วประเทศ  เรายืนยันจะร่วมกันทำงานร่วมกันเพื่อพี่น้องประชาชน


นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า นายก่อแก้ว มีผลงานด้านสภาและการอภิปรายที่ดุเดือด โดดเด่น ขณะที่นายอรรถชัย ที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสติดตามการนำเสนอแนวความคิดการเมือง การปกครอง และการเรียกร้องความยุติธรรมให้พี่น้องประชาชน  ทั้งสองคนหากเข้ามาทำงานร่วมกันกับพรรคเพื่อไทย จะเป็นบุคลากรที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องประชาชน  เสียงของพวกเขาจะมีความหมายมากขึ้น  การสานต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยจะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า การที่บุคลากรทั้งสองคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย  จะทำให้เป้าหมายการชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ของพรรคเป็นความจริง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเดินทางมาสู่ถนนของพรรคเพื่อไทย และความหวังที่พี่น้องประชาชนตั้งความหวังไว้จะกลายเป็นความจริงตามไปด้วย  ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหาเข้ามาว่า ความลำบากยากแค้นในการทำการเกษตร ราคาข้าวที่ตกต่ำ น้ำท่วม และการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติของรัฐบาลที่ไม่ทันท่วงที ได้สร้างความยากลำบากให้กับพี่น้องประชาชน  พรรคการเมืองที่อยู่ในใจประชาชนในพื้นที่คือพรรคเพื่อไทย การเข้ามาของบุคลากรทั้งสองคนจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี ด้วยวิสัยทัศน์หัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน จะนำธงพรรคเพื่อไทยเข้าไปแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชนได้สำเร็จ


นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณ นพ.ชลน่านและคณะที่ให้เกียรติต้อนรับการเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคอย่างอบอุ่น ตนพร้อมนายอรรถชัยกลับมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังเดิมที่เคยอยู่ ด้วยความรู้สึกเชื่อมั่น  ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายในขณะนี้ มีเพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชนได้ ส่วนตัวรู้จักคนในพรรคทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  มีความเชื่อมั่นว่าบุคคลเหล่านี้กำลังทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในวันข้างหน้าได้  ตนจึงกลับเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ยังศรัทธาฝีมือในการบริหาร และเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยของพรรตที่ไม่มีวันสั่นคลอน แม้จะถูกกระทำกี่ครั้ง  แต่ยังไม่หวั่นไหว ยังต่อสู้ยืนหยัด


นายก่อแก้ว กล่าวอีกว่า ตนเป็นแกนนำคนเสื้อแดง  ร่วมกับแกนนำหลายคนทั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง  พัฒนภูมิไท นายวรชัย เหมะ นายชินวัตร หาบุญพาด นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์  เป็นแกนนำคนเสื้อแดงที่ต่อสู้ยาวนาน วันนี้ทุกคนมาประกาศตัวช่วยกันขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทย  เพื่อให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ แม้แต่ละคนต้องคดีความทางการเมือง ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไม่สามารถสมัครสมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ได้มาช่วยพรรคทำงาน  ตนเองแม้มีคดีความ แต่คดีไม่ถึงที่สุด จึงตัดสินใจกลับมาช่วยพรรคเพื่อไทย เพื่อให้แลนด์สไลด์ให้ได้


นายอรรถชัย อนันตเมฆ สมาชิกพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า  แม้ไม่ได้สมัครหรือไม่มีการแถลงข่าวก็เป็นสมาชิกมาโดยตลอด แต่เราผูกพันกันในเรื่องของชะตากรรมที่พรรคเพื่อไทย มีร่วมกับประชาชนคนไทยและพี่น้องชาวเสื้อแดงที่ร่วมต่อสู้ประชาธิปไตยมาโดยตลอด   การเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคในวันนี้จะเข้ามาร่วมเป็นกำลังเสริมเพื่อให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์เกิดขึ้นได้  เพื่ออนาคตของประเทศ 


ในวันนี้ประเทศกำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะที่เลวร้ายถึง 60% ทะลุตัวเลขแห่งความปลอดภัย และหนี้ครัวเรือนที่ 89% ของจีดีพี  ประชาชนมีหนี้เฉลี่ย 500,000 บาทต่อครัวเรือน หนี้ที่ทวีคูณขึ้นไปเรื่อย ๆ ในเวลาที่ระบอบประยุทธ์ดำรงอยู่  และปี 2565 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทะลุ 50,000  กว่าล้านบาท  คาดว่าทั้งปีอาจจะพุ่งสูงถึงแสนล้านบาท  ทั้งหมดสะท้อนความเหนื่อยยากแร้นแค้นของพี่น้องประชาชน  เราจะจัดการตัวเลขเหล่านี้ได้อย่างไร หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่  ทางออกคือเพื่อไทยแลนด์สไลด์เท่านั้น


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย 







“ราษฎรหยุดเอเปค” ยื่นหนังสือสถานทูตฝรั่งเศส เรียกร้องกดดันรัฐบาลไทยรับผิดชอบเหตุสลายการชุมนุม ยกเลิกข้อตกลง BCG กับไทยทั้งหมด

 


“ราษฎรหยุดเอเปค” ยื่นหนังสือสถานทูตฝรั่งเศส เรียกร้องกดดันรัฐบาลไทยรับผิดชอบเหตุสลายการชุมนุม ยกเลิกข้อตกลง BCG กับไทยทั้งหมด


นายนิติกร ค้ำชู สมาชิกกลุ่มดาวดิน ตัวแทนกลุ่มมวลชนราษฎรหยุดเอเปค 2022 พร้อมสมาชิกประมาณ 15 คน เดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อเข้ายื่นจดหมายรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา


ซึ่งทางกลุ่มมองว่าไม่เป็นไปตาม พรบ.การชุมนุม, มีการใช้ความรุนแรงไม่ได้สัดส่วน, การใช้กระสุนยางไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติงาน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งสารข้อเรียกร้องให้แสดงจุดยืนต่อกรณีที่เกิดขึ้น  โดยขอให้ร่วมกดดันให้รัฐบาลไทยออกมารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยุติข้อตกลงระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยซึ่งเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG ที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมเอเปก 2022 ที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าเป็นการยื้อแย่งทรัพยากรไปทำประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน โดยกลุ่มตัวแทนได้ยื่นหนังสือผ่านช่องทางด้านหน้าประตูสถานทูต  เหตุการณ์เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลสถานการณ์โดยรอบ 


นายนิติกรกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะไปยื่นหนังสือถึงอีก 7 สถานทูตที่เข้าร่วมประชุมเอเปคที่ผ่านมา คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  ชิลี แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเดียวกัน  โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณช่วงบ่ายของวันนี้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ราษฎรหยุดAPEC2022


สถานทูตฝรั่งเศส 





สถานทูตมาเลเซีย





วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

เดี่ยวไมโครโฟน "มายด์ ภัสราวลี" "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" เก็บความโกรธแค้น เศร้าโศก เสียใจ แปรเปลี่ยนเป็นพลัง พร้อมหยัดตรงต่อหน้าผู้กดขี่ อย่าละทิ้งความเชื่อว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" และเราคือเจ้าของอำนาจนั้น


เดี่ยวไมโครโฟน "มายด์ ภัสราวลี" "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" เก็บความโกรธแค้น เศร้าโศก เสียใจ แปรเปลี่ยนเป็นพลัง พร้อมหยัดตรงต่อหน้าผู้กดขี่ อย่าละทิ้งความเชื่อว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" และเราคือเจ้าของอำนาจนั้น

 

วานนี้ ( 26 พ.ย. 2565) ที่สวนเงินมีมา คลองสาน ได้มีการจัดมหกรรมดนตรี กวี การเมือง เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ โดยภายหลังที่ นายบารมี ชัยรัตน์ กล่าวเปิดงาน ทนายอานนท์ นำภา ได้ร่ายกวีและเป่าขลุ่ย พร้อมทั้งมีการแนะนำสินค้าจากนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการเดี่ยวไมโครโฟน โดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์

 

ภัสราวลี ได้เริ่มต้นว่า ประเด็นที่จะมาเดี่ยวไมโครโฟนในวันนี้ นั่นก็คือ "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" โดยระบุว่า การต่อสู้ของเรามันเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จริง ๆ ไหมหลาย ๆ คนอาจตั้งคำถาม

 

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่มีการเริ่มก่อตัวขึ้นของนักศึกษาได้ออกมาเพราะไม่พอใจที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แต่ละสถาบันก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ช่วงนั้นสิ่งที่สนุกมากคือการแข่งขันการคิดแฮชแท็ก แต่ละมหาลัยจะมีแฮชแท็กเป็นของตัวเองที่แสดงถึงความสร้างสรรค์ของกลุ่มตัวเอง และแฮชแท็กแต่ละมหาลัยก็ถูกรวบรวมให้มาอยู่รวมกัน ความรู้สึกที่ได้เห็นแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่าการที่บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และนี่เป็นจุดก่อเกิดอะไรบางอย่างที่ทำให้เราตื่นตัวตื่นเต้น อยากติดตาม อยากรู้ว่าแฮชแท็กนี้ของมหาลัยไหนหรอ ก็เลยทำให้รู้จักกลุ่มเพื่อนที่มากขึ้น

 

ภัสราวลี กล่าวต่อว่า ในช่วงแรกก็ร่วมจัดม็อบของม.เกษตรด้วย และขณะนั้นในมหาวิทยาลัยเอง ทุกการเขียนป้าย ทุกการขอพื้นที่ในการจัดกิจกรรมมักจะไม่ได้รับอนุญาต ครั้งหนึ่งในปี 2562 เคยไปเดินแจกใบปลิวในม.เกษตร เป็นรูปหน้าประยุทธ์ที่เป็น "พินอคคิโอ" ภาพจำในตอนนั้นคือเวลาเดินแจกใบปลิวไป มีคนรับแล้วเขาก็โยนทิ้ง และบางคนก็ไม่รับเลยและเมินหน้าหนีไปเฉย ๆ ก็ถูกมองว่าพวกนี้คือพวกบ้าการเมือง ตอนนั้นมีความรู้สึกช้ำใจ

 

แต่พอปี 2563 การเมืองกลายเป็นเทรน กลายเป็นเรื่องที่เป็นกระแส นี่แหละคือจุดเปลี่ยนสำคัญ ใครก็ตามที่อยากอินเทรนด์ก็จะแหย่ขาเข้ามา เพื่อแสดงออกถึงความเข้าใจกับการเป็นประชาธิปไตย ความเข้าใจกับการเป็นการเมือง หรือการที่จะทำความเข้าใจกับการที่จะด่าประยุทธ์

 

เทรนครั้งนั้นที่มันเกิดขึ้นนอกจากจะเป็นการรวมกำลังพลในการต่อสู้แล้ว อีกความรู้สึกหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาก็คือว่านี่คือความหวังจริง ๆ อุโมงค์ที่เราอยู่ภายใต้การกดขี่ของชนชั้นนำ ของนายทุน ของรัฐเผด็จการ มีความรู้สึกว่าอยู่ ๆ ก็มีคนมาจุดเทียน เปิดไฟฉาย ส่องไฟฉายอยู่ที่ปลายอุโมงค์ไกล ๆ ลิบ ๆ และพอตื่นตัวมากขึ้นเป็นเทรนกันมากขึ้นวงขยายมากขึ้น อยู่ ๆ ดวงไฟเหล่านั้นไม่ได้สว่างขึ้นจากดวงเดียว อยู่ ๆ ก็กระจายเหมือนดาว สว่างขึ้นอยู่ที่ปลายอุโมงค์ เพิ่มขึ้นหลายจุดเล็ก ๆ จนมันรวม เป็นแสงวงใหญ่

 

ภัสราวลี เผยว่า คือคนนึงที่ตื่นตัวทางการเมืองเมื่อปี 58 เคยถูกมองเป็นพวกบ้าการเมือง อยู่ในจุดที่แจกใบปลิวแล้วไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครอยากฟังเรา วันหนึ่งเราเห็นแสงสว่างแบบนี้จริง ๆ มันรู้สึกดีใจ มันเกิดความสุขที่ว่าสิ่งที่เราคิดเรายึดมั่นมา ช่วง 2-3 ปี นี้มีคนไปกับเราแล้ว มีคนเห็นเหมือนเราแล้วว่าสังคมมันบิดเบี้ยวแค่ไหน แท้จริงแล้วตัวเรานั้นมีอำนาจมาก มากเกินกว่าที่เราเข้าใจมันอีก

 

เมื่อปี 2563 ก็คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และแสงสว่างนั้นมันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2564 ไม่มีม็อบมากก็จริง การชุมนุมทางกายภาพฝ่อตัวลงไป ซาไป ดูไม่เห่อเหมือนปี 2563 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้คนไม่เคยหยุดพูดถึงเรื่องการเมืองเลย ไม่เคยหยุดพูดถึงเรื่องความไม่ถูกต้องที่ชนชั้นนำทำ ผู้คนไม่เคยหยุดตั้งคำถามถึงภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายไป ไม่หยุดตั้งคำถามแม้กระทั่งเรื่องขบวนเสด็จที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมง ๆ นี่แหละคือตัวชี้วัด ว่าเราไม่ยอมก้มหัวให้กับโครงสร้างอำนาจแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เราไม่เคยหยุดเลยกับการที่จะตั้งคำถามกับภาพมายาเหล่านั้น ที่เขาพยายามครอบเรามาหลาย ๆ ปี ว่า ณ ตอนนี้มันดีกับเราจริง ๆ หรือมันถูกต้องจริง ๆ หรือ

 

เราไม่ต้องการการอุปถัมภ์จากใคร เราไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์จากใคร เราไม่ได้ต้องการการพระราชทานการมีน้ำใจ สิ่งที่เราต้องการอย่างเดียวนะตอนนี้คือ เราต้องการอำนาจอธิปไตยคืนมา เพื่อที่เราจะได้กำหนดทิศทางของตัวเองได้จริง ภัสราวลี กล่าว

 

ในสภาวะที่ถูกจำกัดกรอบเราเองพยายามจะตั้งคำถาม มันเป็นสัญญาณว่าแม้เราจะถูกกด ถูกครอบ ถูกกดขี่มากแค่ไหน แต่เราก็ไม่หยุดสงสัย ซึ่งเราก็เริ่มเข้าใจว่า เราสงสัยได้ เราถามได้ เราจะตั้งคำถามภายใต้กรอบ มาตรา 112 แบบนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่เราพูดได้อย่างง่ายที่สุดเลยตอนนี้คือการพูดถึงโครงสร้างที่มันเป็นอยู่พูดถึงหลักการทางกฎหมาย พูดถึงสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าทรัพย์สินนี้เป็นของใคร อำนาจนี้เป็นของใคร กองทัพควรเป็นกองทัพเดียวไหม นั่นคือสิ่งที่เราพูดได้ภายใต้มาตรา 112

 

หลายคนสงสัยว่าก็พูดแล้วก็โดนดำเนินคดี 112 ไง หลายคนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพราะ 112 นั่นเป็นเพียงการถูกกล่าวหายังไม่ได้พิสูจน์ว่าผิดจริง ยังไม่ได้พิสูจน์เลยว่าการพูดถึงข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายหรือเปล่า คำพูดเหล่านั้นเป็นสิทธิ์ที่พวกเราในฐานะเจ้าของอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย ต้องพูดถึงให้ได้

 

ภัสราวลี มองว่าสิ่งที่จะรับมือกับมาตรา 112 เพียงอย่างเดียว คือการต่อต้านกฎหมายนี้และให้ยกเลิกกฎหมายนี้ กฎหมายที่ทำให้เราพูดไม่ได้ สงสัยไม่ได้ และทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องสูญเสียอะไรไปหลาย ๆ อย่าง

 

ตอนนี้กฎหมายต่าง ๆ รัฐบาลที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาไม่ได้เปิดโอกาสให้เราพูดได้ขนาดนั้น ไม่เปิดโอกาสให้เราได้ตั้งคำถามตามหลักที่เราได้มีอำนาจ แต่เราก็มีวิธีการสื่อสารช่องทางอื่น มีวิธีการเปิดพื้นที่ถกเถียงพูดคุยกันในช่องการทางอื่นอีกที่ไม่ใช่แค่การปราศรัย พบเจอหน้ากันแบบนี้

 

ปี 2564 แม้ว่าการชุมนุมทางกายภาพจะซาไป แต่ประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างโดยตรง เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างที่มันซับซ้อนมาก ๆ ยังคงอยู่ ยังมีการตั้งคำถาม สงสัยเกี่ยวกับงบประมาณ ทำไมส่วนนี้ถึงได้เยอะ ตรวจสอบก็ไม่ได้ มาอีกส่วนหนึ่งถึงได้น้อยจังเลย คำถามและประเด็นเหล่านี้ถูกพูดคุย และถูกสร้างขึ้นในโลกออนไลน์

 

คนบอกว่าม็อบคงจุดไม่ติดแล้ว หายไปแล้วแต่ตนกลับมองต่างกัน ถึงได้มาพูดในประเด็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เพราะเห็นว่าทุกคนตื่นรู้หมดแล้ว เราต่างตาสว่างจากการส่องไฟจ่อไฟหาซึ่งกันและกัน คอยจับมือกันไว้และโอบกอดกันอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะถูกกดขี่มากขนาดไหน หรือเราต้องถูกต่อสู้กับสิ่งที่มันเลวร้ายมากขนาดไหน ใครจะถูกขัง ใครจะหายไป เรายังพยายามย้ำเตือนอยู่เสมอว่าเรายังมีกันและกัน

 

การชุมนุมมีช่วงขึ้นและช่วงลง แต่ที่เห็นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงขนาดนี้คือการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของวงสนทนา เพิ่มจำนวนมากขึ้นของการค้นหาความจริงในประวัติศาสตร์ ประเด็นใหม่ ๆ ในทางการเมืองที่เราพยายามขุดคุ้ย มันเกิดขึ้นต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ

 

ภัสราวลี ได้กล่าวอีกว่า การต่อสู้ทุกครั้งย่อมมีการสูญเสีย มีบางสิ่งที่เราถูกพรากไปเกินกว่าที่เราจะยอมรับได้ มีใครหลาย ๆ คนต้องหายไป ลี้ภัยไป ต้องตายจากไป จากการออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่ออำนาจที่มันต้องเป็นของประชาชน สิ่งที่เราต้องทำอยู่เสมอคือการย้ำเตือนว่าพวกเขาเสียสละแค่ไหน ในช่วงที่มันบีบคั้นมาก ๆ เขากล้าหาญ แค่ไหนที่จะพูดถึงความจริง ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมเมื่อปี 63 ก็มีการสูญเสียมาอยู่ก่อนแล้ว เยอะมากจนเราต้องกลับไปค้นหาว่าเราตกหล่นในเหตุการณ์ใดบ้างหรือเปล่า

 

จากเหตุการณ์ออกมาเคลื่อนไหวปี 63 ที่ผ่านมา เราสูญเสียเด็กไฟแรงคนนึง "วาฤทธิ์ สมน้อย" จากเหยื่อกระสุนยาง และอีกหลาย ๆ คนเขาจะต้องมีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของเขา หลาย ๆ คนต้องไปอยู่ต่างถิ่น

 

เพื่อนเราคนหนึ่งต้องเสียดวงตา เพื่อนเราคนที่เขาไม่ใช่แค่ออกมาพูดถึงโครงสร้างเพียงอย่างเดียว ยังเป็นคนที่เห็นความสำคัญของพื้นที่ดิน ทรัพยากร สิ่งที่พี่น้องชาวบ้านสู้มาตลอด ก็คือ พายุ ดาวดิน

 

การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หน้าที่ของเขาในการเดินขบวนวันนั้นก็คือ จัดระเบียบผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ควบคุมไม่ให้เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น คอยบอกให้การ์ดคล้องแขนกันไว้ จะได้เป็นแนวเดียวกันแล้วเห็นชัดเจนว่าการ์ดวันนั้นมีใครบ้าง ห้ามปรามอารมณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจชุดควบคุมฝูงชน สิ่งที่พายุโดนวันนั้นคือการที่ กระสุนยางยิงที่เบ้าตาขวาและเขาต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาไป

 

ภัสราวลี กล่าวต่ออีกว่า ภายหลังพายุโดนยิง เห็นคลิปว่าเขายังมีสติในการตอบโต้กับพยาบาลทั้งที่เลือดอาบหน้า ในเวลาต่อมาไม่ถึง 4 ชั่วโมงได้ข่าวว่าพายุอาการโคม่าไม่รู้สึกตัว ตอนนั้นในใจรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอและกังวลมาก ว่าจะต้องเสียพี่ชายคนนี้ไป กระทั่งพายุฟื้นขึ้นมาก็ใจชื้นขึ้น และตอนนี้พายุเสียดวงตาไป 1 ข้าง รอดูแผลว่าจะติดเชื้อไหม ถ้าติดเชื้อก็น่ากังวลมากเพราะจะส่งผลต่อระบบประสาทดวงตาข้างซ้าย สิ่งที่เพื่อน ๆ ช่วยกันทำคือการพูดคุยให้กำลังใจ แม้เพื่อนจะเข้าไปเยี่ยมได้ไม่เยอะ ใช้วิธีการผลัดเปลี่ยนกันเข้าไป พูดคุยกับเขาให้เขารู้ว่าเรายังอยู่ตรงนี้ ซึ่งพายุใจสู้มาก 2-3 วันนี้ก็ได้พูดคุยกันมากขึ้น

 

เราทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังสู้อยู่ มันน่ากลัวมาก มันมีอำนาจมาก มันมีปืน มันมีทรัพยากรมากกว่าเรา แต่เมื่อเรารวมตัวกันแล้วเราต่างมองหน้ากัน และเราต่างบอกกันว่าไม่เป็นไรไม่กลัว ช่างมัน เพราะวันหนึ่งคนเหล่านั้นนั่นแหละที่ต้องกลัวพวกเรา

 

พวกเขาไม่มีความชอบธรรม ในสังคมประชาธิปไตยแบบนี้ ซึ่งในระบอบนี้ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด คนที่มาสร้างภาพมายาว่ามีอำนาจเหนือประชาชนเขาจะอยู่นานได้อย่างไร

 

ภัสราวลี เชื่อว่ามันอาจจะใช้เวลาสักหน่อย สุดท้ายแล้วเวลาไม่เดินย้อนกลับ มีแต่จะเดินไปข้างหน้า เราคือสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าขณะที่กำลังของเขา ชนชั้นนำก็จะถดถอยลง ถูกลดทอนไปด้วยความศรัทธาอะไรบางอย่างที่มันหล่นหายไป หลาย ๆกระบวนการในหลาย ๆ หน่วยงาน ผู้คนก็หมดศรัทธาไปกันหมดแล้ว

 

เหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภัสราวลี ระบุว่า เก็บกระสุนยางไว้กับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าไปไหนจะพกไปด้วย เป็นหลักฐานในการต่อสู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจและแรงผลักดันให้เราจะต้องทำอะไรหลังจากตอนนี้ไป เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าวันนั้นเพื่อนเราโดนอะไรบ้าง น้องเราโดนอะไรบ้าง เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าในขณะที่เราตั้งใจเป็นอย่างมากในการใช้เสรีภาพของเรา พูดถึงความหวัง ความฝัน ความจริง เราโดนอะไรบ้าง เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าเราถอยหลังกลับไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องเดินไปข้างหน้าเท่านั้น มันมีเรื่องราวที่เราต้องชำระเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรมให้ได้ มีความโกรธแค้นที่แปรเปลี่ยนมาเป็นกำลัง ตอนนี้เรายังคงมีแรง ยืนตัวตรงต่อหน้าคนเหล่านั้นที่มันกดขี่เรา เชิดหน้าเข้าไว้ ทำหน้าให้ดูมีพลังที่สุดเข้าไว้ เพราะนี่คือสัญญาณหนึ่งที่เราจะบอกเขาว่าต่อให้เราเจออะไรที่หนักแค่ไหน ระวังไว้เถอะค่ะพวกเรากำลังมา เรามาแบบขับเคลื่อนด้วยความแค้น (พร้อมชูกระสุนยาง) เรามีแค้นที่ต้องชำระ ความแค้นครั้งนี้อาจทำให้ใครได้หลายคนใจฝ่อไปบ้าง เสียใจไปบ้าง อาจจะต้องเว้นระยะให้กับการรักษาใจตัวเอง และกลับไปเก็บเกี่ยวกำลังใจของตัวเอง และสุดท้ายเราต้องกลับมาคิดให้ได้ว่า เรายึดมั่นในอำนาจอธิปไตยที่เราพึงมี ที่ระบอบประชาธิปไตยกำหนดให้เป็นแบบนั้น อย่าได้ละทิ้งความเชื่อนี้ ความเชื่อที่เราต้องยึดมั่นไว้ให้ได้ เตือนตัวเองเข้าไว้ว่าเราคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่สถาบันไหน

 

คุณค่าของความเป็นมนุษย์จะลุกขึ้นมาปลดแอกตัวเอง เราประชาชนต่างติดอาวุธทางปัญญาให้กันและกัน บางคนอาจท้อ รู้สึกแย่กับการสลายการชุมนุมครั้งล่าสุด ไม่มีจิตใจกลับมาทำอะไรอีกแล้วนั้น ภัสราวลีกล่าวว่า เราท้อได้ เราเหนื่อยได้ แต่คำถาม ที่ต้องถามกับตัวเองก็คือว่า จะทนอยู่แบบนี้ต่อไปได้อีกหรือ แม้ว่าเราจะท้อเราจะเหนื่อยเราจะกลัวแต่เรายังจะทนกับการปกครองแบบนี้อีกหรือ เราจะส่งต่อสังคมแบบนี้ที่บิดเบี้ยวให้กับคนรุ่นต่อต่อไปหรือ

 

ภัสราวลี เน้นย้ำว่า จะยืนหยัดไปต่อจนกว่าอำนาจอธิปไตยจะกลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง วันนั้นมันถึงจะจบเรื่องจบราวเราถึงจะสบายใจได้ เราจะได้ไม่ต้องมากังวลถึงการที่จะมีการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกแล้ว ขอให้ทุกคนยังมีความหวังกับการสร้างสรรค์สังคมให้ยังดีกว่านี้ ขอให้ทุกคนยังมีกำลังใจและเอาความโกรธแค้น โศกเศร้าเสียใจทุกอย่างนั้น แปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้สังคมเราเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่น่าอยู่ เพื่อให้การเสียสละของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อให้การสูญเสียทุกอย่างนั้นไม่สูญเปล่าประชาชนต้องไปต่อเพราะประเทศนี้เป็นของประชาชน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มายด์ภัสราวลี