ความเท็จที่ทำให้สังคมเชื่อว่าเป็นความจริง
โดยทั่วไปผู้รักประชาธิปไตย
รักสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และอำนาจประชาชน
จะไม่ใช่คนที่เอาเรื่องเอาราวไปฟ้องร้องใครทางการเมืองให้ติดคุก หรือให้ติดคุกนาน
ๆ นี่เป็นความจริงที่ปรากฏมาตลอด นอกจากคู่กรณีบางคนที่จำเป็นต้องฟ้องร้องเพื่อปกป้องชื่อเสียง
เกียรติยศ
แต่โดยภาพรวมของการต่อสู้ทางการเมือง
เราถูกกระทำในฐานะเป็นฝ่ายรับ ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเท็จ
ข้อหา...มีชายชุดดำที่เป็นกองกำลังอาวุธ ใช้ความรุนแรง
ข้อหา...มีเครือข่ายล้มเจ้า
ข้อหา...เผาบ้านเผาเมือง
สามข้อหานี้ถูกป่าวประกาศ
เผยแพร่ ใส่ความซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้แต่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล มาออกรายการเล่าเรื่องยังอ้างถึงรถแก๊ส
ชายชุดดำของ นปช. คนเสื้อแดง ทั้งสามเรื่องนี้นอกจากทำให้สังคมหลงผิด
ยังมีผลต่อคดีความของคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช.
ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งตราบเท่าทุกวันนี้
ข้อเขียนย้อนรอยเหตุการณ์เมื่อพ.ศ.
2552 เราได้เล่าให้ฟังแล้วว่า การชุมนุมของ นปช. นั้น
ต่างกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(กปปส.) ชัดแจ้ง อย่างหนึ่งคือ
เราไม่เคยบุกรุกเข้าหน่วยงานราชการไปเล่นงานเจ้าหน้าที่รัฐใด ๆ อาจมีกรณีเดียวที่บุกรุกกระทรวงมหาดไทยโดยการนำของ
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ทราบว่าถูกฟ้องร้อง แต่คงอยู่ในระยะต้น และอาจหลุดคดีอีก
เพราะเขา “อยู่เป็น” ทางการเมืองเรื่องอำนาจรัฐ แต่เท่าที่ทราบ
พวกเขาก็อยู่ข้างหน้าบริเวณประตูทางเข้า ไม่ได้เข้าไปในกระทรวง มีพวกแหกคอก (ที่รัฐไม่ยอมจับ
ขนาดเห็นหน้าโทนโท่ หรือเป็นพวกเดียวกันสร้างสถานการณ์)
ไปทุบรถที่แล่นออกมาจำนวนหนึ่ง แต่แกนนำ นปช. นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ก็ห้ามปราบไว้
ข้อหาบุกรุกหน่วยงานรัฐนี้
โปรดสังเกตว่า กปปส. และ พธม. ทำเหมือนกัน คือพยายามยึดหน่วยงานสำคัญ เช่น
ทำเนียบรัฐบาล, กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สถานีโทรทัศน์ NBT,
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), ท่าอากาศยาน ฯลฯ
รุกไล่เจ้าหน้าที่รัฐ แม้แต่ในลิฟท์ เพราะม็อบ พธม., กปปส. คิดว่าตนเองจะยึดอำนาจรัฐได้โดยมวลชน
จึงต้องยึดสถานที่สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ
แต่การชุมนุม
นปช. ไม่ได้คิดในการยึดอำนาจรัฐ เป็นเพียงการชุมนุมประท้วง
เรียกร้องให้ดำเนินตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ยุบสภา, เลือกตั้งใหม่คืนอำนาจให้ประชาชน
เป็นต้น เพราะเรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน
ไม่ใช่ของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมหรือกองทัพ
ประการสำคัญต่อมาที่จะพูดต่อไปนี้คือ ปัญหา นปช. มีหรือไม่มีกองกำลังอาวุธ
ผู้มาชุมนุมส่วนมากเปิดเผยตัวตนชัดเจน
ใส่เสื้อสีแดงด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นพลเมืองดี
เป็นการต่อสู้สันติวิธีตามรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ไม่มีปัญหากับความมั่นคง เพราะไม่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบอบแต่อย่างใด
แต่เรียกร้องให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้ประชาชน
ถามว่ามีคนใส่เสื้อสีดำบ้างไหม?
ตอบได้ว่าก็มีสิ
เพราะคนจำนวนหนึ่งชอบเสื้อดำ เพราะดูเท่ดี และอยากแสดงตัวเป็นการ์ด นปช. ซึ่งทำหน้าที่เพียงดูแลความเรียบร้อยและตรวจจับอาวุธคนที่เข้ามาในที่ชุมนุม
แต่ดังได้กล่าวมาก่อนนี้ว่า
ในปี 2552 เราประกาศนโยบาย 6 ข้อชัดเจน
เรื่องเป้าหมายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
และใช้หนทางสันติวิธี ทั้งองค์กร นปช. และสมาชิก นปช.
ต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด ใครที่คุยโม้โอ้อวดเรื่องต่อสู้ด้วยอาวุธหรือใช้ความรุนแรงเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว
และโดยหลักถือว่าเขาไม่ใช่ นปช. อาจเป็นปัญหาส่วนตัวที่ชอบแสดงออก
หรือเป็นกลุ่มแดงอิสระบางกลุ่มที่ไม่ยอมรับแนวทาง นปช. ใน 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้นการกล่าวหาเรื่องรถแก๊ส เรื่องชายชุดดำที่ใช้อาวุธ
ขอยืนยันว่าไม่ใช่การตัดสินใจของ นปช. และแกนนำ นปช. เด็ดขาด
เราพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่องหนทางสันติวิธีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและเป้าหมายทางการเมืองการปกครอง
ในโรงเรียน นปช. ทั่วประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกเวทีปราศรัยและการแถลงข่าว
แต่ก็ยังถูกกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ความจริงจนบัดนี้ยังไม่สามารถจับชายชุดดำที่ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารได้เลย
ได้แต่มีข้อกล่าวหาคนบางส่วนที่อยู่กับอาวุธและคดียังไม่สิ้นสุด มิพักต้องกล่าวถึงว่า
ไม่สามารถโยงมาถึง นปช. จริงแต่อย่างใด ดังคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวันที่ 14 ส.ค.
62 ในคดีข้อกล่าวหาก่อการร้ายต่อแกนนำ นปช.
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ว
เห็นว่าการกระทำในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงโต้แย้งหรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
และมีคำตัดสินว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
จากพยานหลักฐานทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานปากใดที่เข้ามาเบิกความยืนยันว่ามีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม
นปช.
ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
135/1 (1) ถึง (3) แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม
นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง
แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด
และไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่
และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมของ นปช.
เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา
แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม
โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553
ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม นปช.
การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคมก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล
ชาเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไปก่อนหน้านั้น
ชายชุดดำ
ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด และไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้น
ทั้ง ๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก จึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที
การที่แกนนำกลุ่ม นปช.
ปราศรัยบนเวทีที่ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุมหรือทำรัฐประหารให้ประชาชนนำน้ำมันและให้มีการเผานั้น
เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด
ดังนั้น
การไม่ยอมยุติข้อกล่าวหาเรื่องชายชุดดำ, เรื่องรถแก๊ส ที่เป็นคดีในปี 2552 ถามว่า
นปช. สั่งให้เอารถแก๊สไปจอดที่แฟลตดินแดงเพื่ออะไร? นปช. คนเสื้อแดงได้อะไร? มีแต่เสียหาย
มีแต่คนที่จงใจสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายป้ายสี นปช. เท่านั้นที่จะทำ
ซึ่งอาจเทียบได้กับการเผาตึก ร้านค้า ในกรุงเทพมหานครและศาลาว่าการในต่างจังหวัด
ซึ่งคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 62 ศาลฎีกาคดีประกันภัยที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นโจทก์
ฟ้องเรียกค่าเสียหายในความผิดเรื่องประกันภัยต่อ 6 บริษัทประกันภัย โดยในคำพิพากษาระบุชัดว่า
ขณะที่ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่า
เหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นตอน 15.00 น. ภายหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมตอน 13.00 น.
ตลอดจนผู้ก่อเหตุทุบทำลายและเผาอาคารก็มีประมาณ 10 คน ทั้งเป็นกลุ่มคนที่ปิดบังอำพรางใบหน้า
และกลุ่มที่ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที
โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ
พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
และเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหก
ดังนั้นจำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฏีกาฯ
ไม่เห็นพ้องด้วย ฏีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1-6 ชดใช้ให้
“ตลาดหลักทรัพย์” พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อไป
หรือคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์
ที่มีคำพิพากษายกฟ้อง 2 นปช. โดยระบุว่า
ศาลเห็นว่า
แม้โจทก์มีพยานเป็นรปภ.ซึ่งถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ได้ในที่เกิดเหตุ แต่ตามคำเบิกความของรปภ.
พยานโจทก์ ระบุว่าอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 30 เมตร โดยเห็นเพียงว่าจำเลยที่ 1
ถือถังดับเพลิงเท่านั้น แต่ถังดับเพลิงดังกล่าวก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะใช้ในการวางเพลิง
ประกอบกับพยานโจทก์ไม่สามารถตอบทนายจำเลยได้ว่าเห็นจำเลยที่ 1
เป็นผู้วางเพลิงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
สำหรับจำเลยที่
2 แม้โจทก์จะมีพนักงานห้างที่อยู่ที่เกิดเหตุ 4
คนเบิกความทำนองเดียวกันว่าเห็นคนร้าย 40-50 คน ที่มีชาย 4-5
คนเดินนำหน้าแล้วใช้หนังสติ๊กยิงใส่ต่อเนื่อง กลุ่มพนักงานจึงหลบหาที่กำบัง
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายภายในห้างได้ 9 คน มีจำเลยที่ 2
รวมอยู่ด้วย
ศาลเห็นว่ามีข้อน่าสงสัยตามคำเบิกความของพยานโจทก์กลุ่มนี้สามารถจำจำรูปพรรณสัณฐานจำเลยที่
2 ได้ตรงกันหมด แต่โจทก์ไม่นำเจ้าหน้าที่ที่จับกุมจำเลยที่ 2 มาเบิกความถึงรายละเอียดการจับกุม
ยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะกระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่
จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
แม้กระทั่งการเผาศาลากลางต่างจังหวัด
มีข้อสงสัยตั้งแต่การทำสำนวนต้นทางจากพนักงานสอบสวน
ซึ่งพยายามให้คนที่มีภาพว่าไปศาลากลางจังหวัด (ไปดู, ไปช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟ)
รับว่าได้ทำการและข้อสมมุติฐานอื่น ๆ
ซึ่งยังไม่ได้ยกประโยชน์แห่งความน่าสงสัยในหลักฐานให้กับผู้ถูกกล่าวหา
สิ่งซึ่งขาดหายไปในการพิจารณาคือ
การสร้างสถานการณ์โดยฝ่ายคนของรัฐหรือมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวาจากองค์กรรัฐ
เพื่อทำให้ดูราวกับว่าผู้ชุมนุมเมื่อเลิกชุมนุมก็ก่อความวุ่นวาย
ทั้งที่แกนนำยุติการชุมนุมไปแล้ว และสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ
รวมทั้งต่างจังหวัดอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ
ถ้าสังคมใช้ตรรกะว่า
ความวุ่นวายต้องเกิดจากผู้ชุมนุม การยุติการชุมนุมที่มีไม่ใช่เกิดจากการจงใจสร้างสถานการณ์ของฝ่ายผู้ปราบปราม
ผู้ชุมนุมก็กลายเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งจากการปราบปรามโดยอาวุธจริง
และจากการใช้กลไกรัฐทางกฎหมายจับกุมคุมขังนับจากปี 2553
จำนวนมากถูกดำเนินคดีในขั้นต่าง
ๆ
หลายคนไม่ได้ประกันตัว
ตั้งแต่วันยุติการชุมนุม
หลายคนได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว
หลังผ่านไป 7-8 ปี
หลายคนยังอยู่ในที่คุมขัง
หลายคนกำลังจะถูกคุมขังอีก
ดิฉันผ่านการชุมนุมมาตั้งแต่
14 ตุลา 16 พบว่า การที่ผู้ชุมนุมจะเผาอาคารสถานที่นั้น
ต้องมีเป้าหมายว่าเป็นหน่วยงานรัฐที่มีปัญหากับประชาชน
แล้วฝูงชนทำอย่างเปิดเผยขณะเคลื่อนไหวจลาจล ไม่ใช่แอบงุบงิบทำ และที่สำคัญ
กรณีที่เป็นสถานที่เอกชน ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐที่ปราบปรามประชาชน
โดยทั่วไปผู้ชุมนุมจะไม่ทำให้เอกชนเดือดร้อนถึงขนาดเผาตึก
เพราะไม่เกี่ยวกับการเอาชนะอำนาจรัฐ
นี่คือวิธีคิดของฝ่ายประชาชน
ไม่มีการแอบงุบงิบทำไม่ให้ใครเห็น
เพิ่งจะเห็นว่าในยุค
2553 นี่แหละที่มีการแอบเผาตึกเอกชนที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ
ถามว่าผู้ชุมนุมจะทำทำไม?
ให้เอกชนเดือดร้อนและผู้ชุมนุมเดือดร้อน
แต่ผู้ปราบปรามและมวลชนจัดตั้งต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อกล่าวโทษผู้ชุมนุม
2553 หรือเปล่า?
น่าสงสัยอยู่ ???
ธิดา
ถาวรเศรษฐ
13
พ.ย. 62