วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567

“ณัฐพงษ์” ย้อนนิติสงคราม ยุบพรรค-ตัดสิทธิ ผลพวงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญล้นเกินรุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร รธน.60 กลายเป็นเครื่องมือชนชั้นนำถือ ‘ใบอนุญาต’ ทุบทำลายเสียงที่มาจากประชาชน ย้ำจุดยืนไม่โหวตนายกฯ ผสมข้ามขั้ว เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแท้จริง

 


ณัฐพงษ์” ย้อนนิติสงคราม ยุบพรรค-ตัดสิทธิ ผลพวงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญล้นเกินรุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร รธน.60 กลายเป็นเครื่องมือชนชั้นนำถือ ‘ใบอนุญาต’ ทุบทำลายเสียงที่มาจากประชาชน ย้ำจุดยืนไม่โหวตนายกฯ ผสมข้ามขั้ว เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแท้จริง


วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายระบุว่า วันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการยืนยันอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชนให้กลับมายืนหยัดสง่างามอีกครั้ง วันนี้พรรคประชาชนเลยจะยังไม่ใช้เวทีนี้ในการอภิปรายคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อหรืออภิปรายถึงความเหมาะสมของนโยบายรัฐบาล


แต่วันนี้ในฐานะพรรคประชาชน จะอภิปรายเพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่จะอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนิติสงครามที่ดำเนินการโดยกลุ่มชนชั้นนำที่ทุบทำลายอำนาจที่มาจากพี่น้องประชาชน วันนี้ไม่ว่าเพื่อนสมาชิกจะลงมติอย่างไร ตนเชื่อว่าภารกิจของพวกเราในฐานะ สส. รวมถึงภารกิจของนายกรัฐมนตรีคนถัดไป คือการกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ที่ทำให้พวกเราต้องมานั่งอยู่ในสภาฯ วันนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตน ของ สส. คนใดคนหนึ่ง หรือของพรรคการเมืองใด แต่เป็นเรื่องของทุกคน


ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า นับแต่ พ.ศ.2541 ที่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีการยุบพรรคการเมืองไปแล้ว 111 พรรค รวมถึงพรรคก้าวไกล หลายคนอาจบอกว่า 111 พรรคเป็นตัวเลขจากการยุบพรรคที่นับรวมกรณีที่พรรคขาดหลักเกณฑ์ขาดคุณสมบัติด้วย แต่หากนับเฉพาะคดียุบพรรคซึ่งเป็นคดีทางการเมือง ก็มีหลายกรณี อาทิ การยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และการยุบพรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อน สส. หลายคนในห้องประชุมนี้ ล้วนเป็นเหยื่อจากคำตัดสินทางการเมืองและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากระบบที่ให้อำนาจล้นเกินกับศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณายุบพรรคการเมือง


นอกจากการยุบพรรค ยังมีกรณีอื่นที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีการถือหุ้นสื่อที่ส่งผลให้เพื่อน สส. บางคนต้องพ้นสมาชิกภาพ ไม่ว่าจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ โดยในบางกรณี ศาลวินิจฉัยว่าเพียงแค่มีวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิและถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็มีความผิด ทั้งที่เราทราบดีว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำกิจการเกี่ยวกับสื่อแล้ว


นอกจากกรณียุบพรรคและกรณีถือหุ้นสื่อ ที่มีผลกระทบต่อผู้แทนราษฎรฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ยังมีกรณีที่นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายบริหารถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น สมัคร สุนทรเวช หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุดที่ทำให้เราต้องมาอภิปรายในวันนี้คือกรณีเศรษฐา ทวีสิน ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่จะทำอย่างไรไม่ให้รุกล้ำเขตแดนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนล้นเกิน


เรายังมีอีกหลายกรณีการถูกประหารชีวิตทางการเมืองตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น พรรณิการ์ วานิช อดีต สส. พรรคอนาคตใหม่, ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ, กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต สส. พรรคภูมิใจไทย และ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ


ตนคิดว่า สส. ทุกคนที่นั่งในห้องนี้ น่าจะเห็นปัญหาแบบเดียวกัน ในฐานะที่หลายคนอยู่ในโลกการเมืองมาก่อนตนนานนัก มีใครที่คิดว่าคนที่ตนเอ่ยชื่อสมควรถูกประหารชีวิตทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าเขาจะถูกหรือผิดอย่างไร เรามีกลไกตรวจสอบ มีโทษอาญา มีคดีการทุจริตคอร์รัปชันในการตรวจสอบอยู่แล้ว


มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นมาตรวัดที่ปัจเจกแต่ละคนมองเห็นแตกต่างกัน จึงควรเป็นกฎกติกา กระบวนการที่พวกเราตรวจสอบกันในลักษณะ Code of Conduct ไม่ใช่กฎกติกาที่ให้องค์กรอื่นเช่นองค์กรตุลาการมาผูกขาดการนิยามและการวินิจฉัย ดังนั้น หากจะมีใครตัดสินจริยธรรมของนักการเมืองในฐานะที่นักการเมืองมาจากพี่น้องประชาชน ตนคิดว่าควรต้องใช้ความรับผิดรับชอบทางการเมือง ใช้เสียงของพี่น้องประชาชนมาเป็นคนตัดสินเป็นหลัก


หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวต่อว่า จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยย่อที่ตนกล่าวมา จะมีช่วงเวลาไหนที่รองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง และประมุขของฝ่ายบริหารต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปพร้อมๆ กันภายในเวลาไม่กี่วัน ทำให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ผ่านมาเราเห็นเมื่อเกิดปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เรากำลังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบอีกรูปแบบหนึ่ง


การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของตน แต่ผลการเลือกตั้งวันนั้นต้องเป็นโมฆะ ทำลายเสียงที่ตนออกไปใช้สิทธิ เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ที่บอกว่าคูหาเลือกตั้งหันออกนอกหน่วย ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยตรงและลับ คำวินิจฉัยแบบนี้เองที่ทำร้ายจิตใจ สร้างแผลลึกให้ประชาชนคนไทยทุกคน นี่เป็นความจริงที่เราประสบมาร่วมกัน


ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคณะผู้ยกร่างมีแนวคิดว่านักการเมืองเป็นสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาต้องฉกฉวยโอกาสจากอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร โดยการฉีกรัฐธรรมนูญ มาออกแบบกติกาบนพื้นฐานรัฐธรรมนูญที่พยายามนำเสนอว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ได้พิสูจน์แล้วว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย


ซ้ำร้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งของกลุ่มชนชั้นนำผู้ถือ “ใบอนุญาต” อีกหนึ่งใบ ที่ใช้อำนาจเหล่านั้นมาทุบทำลายผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน โจทย์ใหญ่สำคัญของพรรคประชาชนในขณะนี้ คือการสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ ทำอย่างไรให้เรามีนายกรัฐมนตรีคนถัดไปมาทำหน้าที่เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ประเทศเราต้องเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือสุญญากาศในการบริหารราชการแผ่นดิน


ณัฐพงษ์กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญของพวกเราทุกคนในสภาชุดนี้ ตนอยากเชิญชวนให้สานต่อภารกิจ 3 ข้อนี้ด้วยกัน ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือ พ.ร.ป. ฉบับใดก็ตามที่เกี่ยวข้อง (1) เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ ให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามหลักสากล (2) ปรับปรุงโทษยุบพรรค กติกาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นง่ายแต่ตายยาก และมีความยึดโยงกับฐานสมาชิกพรรค เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ (3) ทบทวนมาตรฐานทางจริยธรรม ให้เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองของนักการเมือง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่องค์คณะกลุ่มคนไม่กี่คนตัดสิน


ตนเชื่อว่าเราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีในรัฐสภาชุดนี้ ในวาระที่เรามีร่วมกัน เราสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ในการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าพรรคใดชนะการเลือกตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนนำเสนอ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้กับระบอบประชาธิปไตย ให้กับพรรคการเมือง ให้กับนักการเมือง ผู้ได้รับฉันทามติจากการเลือกตั้งจากอำนาจสูงสุดของพี่น้องประชาชน ให้พวกเราสามารถดำเนินนโยบาย แก้ไขกฎหมาย บริหารประเทศ เพื่อตอบสนองประชาชนที่เลือกเรามาอย่างดีที่สุด


สุดท้าย การลงมติของพรรคประชาชนต่อจากนี้ ตนขอพูดชัดๆ ว่าเราลงมติไม่เห็นชอบโดยใช้หลักการเดียวกันกับกรณีเศรษฐา ทวีสิน เมื่อปีที่แล้ว ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ ส่วนในเรื่องที่เป็นวาระร่วม ตนอยากให้ทุกคนช่วยกันเดินหน้าภารกิจ ปรับปรุงกติกาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ให้นักการเมืองที่มาจากประชาชน ได้ใช้อำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #โหวตนายก #ศาลรัฐธรรมนูญ #แก้รัฐธรรมนูญ