วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ 100 วัน การเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ไร้ความจริง ไร้ความยุติธรรม!!!

 


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ 100 วัน การเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ไร้ความจริง ไร้ความยุติธรรม!!!


เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ระบุว่า 


แถลงการณ์ 100 วันการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ไร้ความจริง ไร้ความยุติธรรม!!!


การเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร จำเลยคดีมาตรา 112 กรณีการทำโพลขบวนเสด็จ เกิดขึ้นภายหลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้ถอนประกันเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งต่อมา บุ้ง เนติพร ได้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวและเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และได้ถูกนำตัวไปรักษาอยู่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนกระทั่ง บุ้ง เนติพร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นเวลา 100 วัน ของการเสียชีวิตข้อเท็จจริงยังคลุมเครือว่าสาเหตุการตายเนื่องจากสาเหตุใด แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้องตามมาตรฐานแล้วหรือไม่


การเสียชีวิตดังกล่าวเป็นการตายระหว่างการควบคุมตัวของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 และมาตรา 150 กำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพ และทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพภายในเวลา 30 วันและขยายได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน และโดยพนักงานอัยการมีหน้าที่ยื่นคำร้องให้ศาลทำการไต่สวนการตาย ว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย และใครเป็นผู้กระทำ อย่างไรก็ตามเป็นระยะเวลาหนึ่งร้อยวันแล้ว แต่ยังมิได้เริ่มกระบวนการในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการไต่สวนการตาย ทั้งสำนวนยังถูกจัดทำโดยสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงทั้งที่ความปรากฏว่า บุ้ง เนติพร เสียชีวิตตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้ว พื้นที่ความรับผิดชอบควรเป็นสถานที่เสียชีวิตคือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์


ทั้งนี้คู่ขนานไปกับกระบวนการทางกฎหมาย ภายหลังการเสียชีวิตของเนติพร กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรมได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของเนติพร แต่ตลอดระยะ 100 วันที่ผ่านมา ทางญาติและทนายความยังไม่ได้รับแจ้งถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า กระบวนการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่และมีข้อสรุปว่าอย่างไรทั้งที่กรมราชทัณฑ์นั้นเป็นผู้ที่มีข้อมูลอยู่ในมือ


ในด้านคดีทางการเมืองภายหลังการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเข้าเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสู้คดีอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ต้องขังคดีการเมืองกว่า 42 ราย โดยใน 42 รายเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 28 ราย และใน 42 ราย เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีถึง 20 ราย กระบวนการนิรโทษกรรมยังไม่เริ่มต้นและยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 หรือไม่


ในวาระครบรอบ 100 วัน ของการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความเสียใจและยืนหยัดเป็นกำลังใจให้ครอบครัวบุ้ง เนติพร และขอเรียกร้องให้


1. พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเร่งรัดกระบวนการจัดทำสำนวนชันสูตร พลิกศพ และยื่นคำร้องไต่สวนการตายต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ตายของเนติพรที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์


2. กรมราชทัณฑ์ เร่งเปิดเผยรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร ต่อญาติ ทนายความและสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และเพื่อป้องกันมิให้มีผู้ต้องขังคนใดต้องเสียชีวิตในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์อีก


3. รัฐบาล แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง โดยการสนับสนุนให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เร่งรัดการนิรโทษกรรมโดยรวมทุกฝ่ายของความขัดแย้ง และรวมถึงคดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา


ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #บุ้งเนติพร #บุ้งทะลุวัง #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม