วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567

‘ประเสริฐ’ เตือน ‘ขายบัญชีม้า’ โทษหนัก จำคุก 3 ปี เผยในรอบ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.) จับแล้ว 2,900 ราย

 


‘ประเสริฐ’ เตือน ‘ขายบัญชีม้า’ โทษหนัก จำคุก 3 ปี เผยในรอบ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.) จับแล้ว 2,900 ราย 


วันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากมาตรการการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการตรวจสอบและปราบปรามบัญชีม้า ซึ่งเป็นช่องทางหลักการหลอกลวงรับเงินของมิจฉาชีพ  กระทรวงดีอี ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีสถิติการระงับบัญชีม้าจนถึง ตุลาคม 2567 รวมกว่า 1,100,000 บัญชี พร้อมกับการขยายผลดำเนินการจับกุมเจ้าของบัญชีม้าอย่างเข้มข้น


ทั้งนี้สถิติผลการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้าที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 (12 เดือน) มีจำนวนรวม 2,897 ราย เฉพาะในเดือนกันยายน 2567 มีจำนวน 497 ราย


ที่ผ่านมา อาจเห็นว่าการขายบัญชีธนาคารเป็นวิธีการที่ได้เงินมาง่าย และไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากบัญชีธนาคารดังกล่าวถูกนำไปใช้โดยกลุ่มมิจฉาชีพ ต่อมาเมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้กำหนดโทษของการยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากฯ หรือที่เรียกว่า บัญชีม้า จะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และยังอาจถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่มิจฉาชีพนำบัญชีนั้นไปใช้ ในฐานะเป็นตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้เสียหาย


นอกจากนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล เพื่อลดปัญหา พยายามหยุดการหลอกลวงที่สร้างความเสียหายจากบัญชีม้า ซึ่งต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พิจารณายกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยออกเป็นหนังสือเวียน เลขที่ ธปท.ฝตท. (01) ว. 384/2567 แจ้งต่อสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ทุกแห่ง ให้ถือเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นการจัดกลุ่มบัญชีม้า โดยยกระดับการจัดการ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” (ระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกบัญชี ทุกธนาคาร ถ้ามีชื่อว่าเป็นผู้ขายบัญชี ให้คนร้าย หรือ บัญชีม้า) และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่


“นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องปราบโจรออนไลน์ จึงขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การขายบัญชีธนาคารไม่ว่าจะในรูปแบบใด มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ทั้งนี้หากหลงเชื่อขายบัญชีธนาคารให้กับบุคคลอื่นไปแล้ว ให้รีบติดต่อกับธนาคารเพื่อขอปิดบัญชีธนาคารดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ว่าขายบัญชี และถูกระงับทุกบัญชีธนาคารของทุกธนาคารที่มี รวมทั้งไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่มิจฉาชีพนำบัญชีไปใช้ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #บัญชีม้า

นายกฯ “แพทองธาร” มอบรางวัลสุดยอด CEO หนุนสร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย ก้าวสู่ผู้นําในธุรกิจ New S-curve ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 


นายกฯ “แพทองธาร” มอบรางวัลสุดยอด CEO หนุนสร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย ก้าวสู่ผู้นําในธุรกิจ New S-curve ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน


วันนี้ (30 ตุลาคม 2567) เวลา 9.30 น. ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 “Thailand 2025 : Opportunities, Challenges and the Future” โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวดวงพร อุดมทิพย์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ คณะกรรมการสรรหาและคัดเลือก ภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานด้วย 


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กร (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2567 แบ่งเป็น 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1. รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่ 2. รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นกลาง 3. รางวัลสุดยอดซีอีโอเอสเอ็มอี 4. รางวัลสุดยอดซีอีโอรัฐวิสาหกิจ และ 5. รางวัลซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน รวม 18 รางวัล เพื่อยกย่องผู้บริหารภาคเอกชน ที่สามารถยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันองค์กรธุรกิจของประเทศไทย สู่ระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย สำหรับงานประกาศรางวัล CEO Econmass Awards 2024 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง และเชิดชูเกียรติผู้บริหารภาคเอกชน ที่สามารถนำพาองค์กรก้าวขึ้นสู่ธุรกิจชั้นนำของประเทศ


นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลสุดยอด CEO ในปีนี้  พร้อมกล่าวว่า สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจกับรัฐบาลมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน หน้าที่สำคัญของผู้สื่อข่าว คือการเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สะท้อนปัญหาของประชาชนและภาคธุรกิจมายังรัฐบาล ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวมีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่ข่าวสาร การทำงาน การออกนโยบาย และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลให้สาธารณชนรับรู้ ซึ่งต่างทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน คือการทำงานให้กับพี่น้องประชาชน


นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า CEO ทุกท่านที่ได้รับรางวัลในวันนี้ แต่ละท่านเป็นผู้บริหารของภาคธุรกิจที่มี Scale ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SMEs บริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทุกองค์กร ทุกบริษัท ทุกหน่วยงานมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงและเติบโต รางวัลนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความสำเร็จของการบริหารงานของ CEO ที่ได้นําพาบริษัทให้เติบโต และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นําองค์กรทุกท่าน ที่จะนําพาองค์กรของตัวเองให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการสร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยและสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น


ธุรกิจจำนวนมากกําลังเผชิญหน้ากับการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ แต่เชื่อมั่นว่าศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ไม่แพ้ใครในโลก และด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาลผ่านทางนโยบายต่าง ๆ  อาทิ ปรับหลักเกณฑ์สินเชื่อ soft loan  การลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นผู้นําในธุรกิจ New S-curve ของทั้งระดับภูมิภาค และระดับโลกได้ ขอส่งพลังใจให้ทุกท่าน ให้มีกําลังกายใจ เพื่อทำงานขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาให้องค์กรก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างโอกาสให้กับคนไทย รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกท่าน ทุกธุรกิจอย่างเต็มที่ พร้อมรับฟังข้อมูลดีๆ จากผู้สื่อข่าว รวมถึงข้อมูลจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน” นายกรัฐมนตรี ระบุ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกแพทองธาร




“พรรคประชาชน” เตรียมเดินสายช่วงปิดสภา นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รับฟังความเห็นวงการการศึกษา เน้นสร้างการมีส่วนร่วมก่อนยื่นสภาฯ ช่วงกลับมาเปิดสมัยประชุมปลายปีนี้

 


พรรคประชาชน” เตรียมเดินสายช่วงปิดสภา นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รับฟังความเห็นวงการการศึกษา เน้นสร้างการมีส่วนร่วมก่อนยื่นสภาฯ ช่วงกลับมาเปิดสมัยประชุมปลายปีนี้


วันที่ 30 ตุลาคม 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับพรรคประชาชน โดยระบุว่า พรรคประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้ในฐานะรากฐานของการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความเสมอภาคทางโอกาส และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองในสังคม


แม้การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ต้องอาศัยหลายมาตรการนอกเหนือจาก พ.ร.บ. การศึกษา แต่เราเห็นว่าการผลักดันกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ จะเป็นเสมือนการจัดทำ “ธรรมนูญการศึกษา” ที่วางหลักประกันเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศปัจจุบัน และสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอนาคตการศึกษาไทย


โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้พยายามผลักดัน พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับใหม่ ผ่าน 2 ช่องทางอย่างคู่ขนาน (1) จัดทำร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน ที่ได้ขึ้นโครงไว้ตอนจัดทำนโยบายด้านการศึกษาก่อนการเลือกตั้ง และได้มีการกลั่นกรองภายในพรรคตลอดการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน และ (2) แสวงหาความร่วมมือกับพรรคอื่น โดยพยายามนำเสนอประเด็นจากร่างของพรรคก้าวไกล เพื่อบรรจุเข้าไปใน “ร่างฉบับกลาง” ที่ถูกจัดทำผ่านกลไกคณะกรรมาธิการการศึกษา และอนุกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ที่มี โสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ เขต 5 พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน และมี สส. พรรคประชาชน เช่น ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมด้วย


ปัจจุบันสำหรับช่องทางที่ 2 ทาง กมธ. ได้จัดทำ “ร่างฉบับกลาง” เสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ทางพรรคผลักดันสำเร็จและหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกัน (เช่น การสร้างการศึกษาให้ยืดหยุ่นเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมต่อการเทียบโอนผลการเรียน การวางหลักการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นทักษะ-สมรรถนะ มากกว่าการท่องจำเนื้อหา) รวมถึงประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างกัน (เช่น ระดับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านการศึกษา แนวทางและรายละเอียดในการประกันสิทธิ-สวัสดิภาพของผู้เรียน) โดยเบื้องต้นนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายพรรคการเมืองได้นำเอาร่างดังกล่าวไปปรับปรุงตามจุดยืนของแต่ละพรรคเพื่อทยอยยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร


พริษฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับร่างของพรรคประชาชน ทางพรรคจะใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมนี้ (31 ต.ค. - 11 ธ.ค.) นำร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน ไปเดินสายรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน วางหลักการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง ก่อนจะยื่นอย่างเป็นทางการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อสภาฯ กลับมาเปิดสมัยประชุม


ตัวอย่างของหลักการสำคัญในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฉบับพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน ที่เราจะทยอยขยายความและรณรงค์เพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วย (1) รับประกันสิทธิผู้เรียนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสวัสดิการด้านการศึกษาที่ครอบคลุม (2) คุ้มครองสิทธิและอำนวยความสะดวกให้ผู้จัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างเสมอภาค (3) วางกลไกในการพัฒนาหลักสูตร-การประเมิน-การประกันคุณภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง (4) วางกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมและกลไกรับผิดรับชอบ


(5) ยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา (6) กระตุ้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (7) สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในสถานศึกษา (😎 ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย (9) ออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาให้ทำงานได้อย่างบูรณาการและคล่องตัว (10) สนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา (11) เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา (12) ปฎิรูปการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #พรบการศึกษา

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ศาลอาญาจำคุก “เก็ท” โสภณ คดี ม.112 เพิ่มอีก 2 ปี ปราศรัยชุมนุม #แจกน้ำยาให้หมามันกิน ด้านเก็ทถอดเสื้อแถลงต่อศาล ปรากฏรอยกรีดเลข 112 ที่หน้าอก

 


ศาลอาญาจำคุก “เก็ท” โสภณ คดี ม.112 เพิ่มอีก 2 ปี ปราศรัยชุมนุม #แจกน้ำยาให้หมามันกิน ด้านเก็ทถอดเสื้อแถลงต่อศาล ปรากฏรอยกรีดเลข 112 ที่หน้าอก


วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในข้อหา #มาตรา112 และ #พรบเครื่องขยายเสียงฯ เหตุปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล #แจกน้ำยาให้หมามันกิน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ แต่เนื่องจากทนายจำเลยคัดค้านการอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการนับโทษต่อหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ จำเลยยังยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนเมื่อถูกนำตัวมาที่ศาล ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยข้อคัดค้านและคำร้องดังกล่าวก่อน จึงให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกมา


ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และยกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ โดยให้นับโทษต่อในคดีส่วนของศาลอาญา ส่วนศาลอื่นนั้นไม่ได้นับโทษต่อ


ส่วนการใส่ชุดนักโทษและเครื่องพันธนาการ ศาลเห็นว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่มีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว


คดีนี้มี ร.ต.อ.ทองธาดา การะเกด รองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 โสภณถูกพนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ


หลังจากนั้นในวันที่ 3 มี.ค. 2566 โสภณเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และต่อมาในวันที่ 15 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งยื่นฟ้องโสภณต่อศาลอาญาในทั้งสองข้อหา


โสภณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 5 นัด ในระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย และ 2-3 ก.ค. 2567 ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ถ้อยคำปราศรัยของโสภณเป็นการใส่ร้ายต่อสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังรู้สึกเกลียดชัง และทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง


ส่วนฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่ปราศรัยล้วนเป็นข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงโควิด โดยมีเจตนาเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งการปราศรัยถึงเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีไม่ผิดมาตรา 112 เนื่องจากไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง นอกจากนี้ ประชาชนต้องวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจที่กษัตริย์ถือหุ้นได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน


หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2567 แต่ในวันดังกล่าว ทนายความได้แถลงคัดค้านการที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ ในส่วนของรายละเอียดหมายเลขคดีแดงในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว


อีกทั้งยังมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เป็นตัวแทนยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ของจำเลย,ครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 6 ฉบับ เพื่อขอให้ศาลยุติการกระทำการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยข้อคัดค้านและคำร้องดังกล่าว จึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้


ทั้งนี้ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 มีประชาชนและนักกิจกรรมเดินทางมารอให้กำลังใจ “เก็ท” โสภณ สำหรับการอ่านคำพิพากษา พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ องค์กรภาคประชาสังคม สื่อพลเมือง นักกิจกรรม ครอบครัว และประชาชนจำนวนมาก มานั่งจนเต็มห้องพิจารณาคดี และหน้าห้องมีตำรวจศาลดูแลความปลอดภัยประมาณ 2 คน ในเวลาต่อมาโสภณถูกนำตัวมาถึงห้องพิจารณาคดี จึงได้ทักทายกับผู้ที่มารอให้กำลังใจได้พักหนึ่ง


ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 09.36 น. และก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โสภณเดินเข้ามาบริเวณคอกพยาน และถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก เผยให้เห็นรอยกรีดที่บริเวณหน้าอก เป็นตัวเลข 112 ก่อนที่จะขออนุญาตศาลแถลงในประเด็นเกี่ยวกับความผิดปกติในกระบวนการพิจารณาคดีมาตรา 112


ตอนหนึ่งโสภณได้กล่าวว่า ในสิ่งที่ตนถอดเสื้อและใช้มีดกรีดอก อาจเป็นเรื่องผิดปกติ แต่สิ่งที่ผิดปกติยิ่งกว่าคือการที่มีคนถูกจับเข้าคุกไปดำเนินคดีมาตรา 112 สำนักพระราชวังหรือกษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดี บางคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว บางคนโดนถอนประกันตัว และอยากให้คำตัดสินของศาลในวันนี้สั่งสอนโสภณและรวมถึงประชาชนที่มาสังเกตการณ์ในวันนี้ด้วย


ในขณะที่โสภณกำลังแถลงต่อศาล ได้มีตำรวจศาล และ รปภ. ศาล จำนวน 5 คน มาดูแลความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี


กรณีจำเลยยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนออกศาล ศาลยกคำร้อง ชี้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลังจากนั้น ศาลจึงเริ่มอ่านคำร้องที่จำเลยยื่นขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวน ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ดังนี้


ในประเด็นที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ศาลยกคำร้อง โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่เรือนจำควบคุมจำเลยมาศาลด้วยชุดนักโทษพร้อมกุญแจเท้าที่ขาสองข้างขึ้นห้องพิจารณาคดี และในระหว่างพิจารณาคดี ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 บัญญัติห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ ใน (4) ผู้ต้องขังต้องถูกควบคุมตัวออกไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่ควบคุม เห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือป้องกันเหตุอื่นที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งกุญแจเท้าทั้งสองข้างก็ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะและขนาดแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และผู้ต้องขังอื่นก็มีการปฎิบัติลักษณะเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นตามสมควร ในการควบคุมดูแลและผู้ต้องขังภายนอกเรือนจำ ซึ่งมีจำนวนหลายคนที่มีการพิจารณาในแต่ละวัน


การใส่ชุดนักโทษและเครื่องพันธนาการ จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 (4) เมื่อการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว แต่ถ้าหากจำเลยเห็นว่ากฎหมายหรือการกระทำดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ให้ไปดำเนินการต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องดังกล่าว


ศาลเห็นว่าจำเลยกล่าวถึงชื่อ ร.10 เมื่อพิจารณาโดยรวมกับคำปราศรัยเห็นว่าเป็นการใส่ความกษัตริย์ ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือ 2 ปี


ในส่วนคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปศาลเห็นว่ามีเรื่องที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็นคือ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และ ข้อหามาตรา 112


ในข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ


เห็นว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ผู้ที่จะทำการโฆษณา (หรือผู้จัด) โดยใช้เครื่องขยายเสียงและกำลังไฟฟ้า จะต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานก่อน แต่ทางนำสืบโจทก์ได้ความเพียงว่ามีการใช้รถยนต์ที่มีเครื่องขยายเสียง ไม่มีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าบุคคลใดเป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีการโฆษณาและจัดหารถยนต์ติดเครื่องเสียง


อีกทั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยไม่ปรากฏว่าเป็นแกนนำหรือผู้มีส่วนสั่งการในกลุ่มดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง จึงให้ยกฟ้องในข้อหานี้


ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112


เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 2 บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และในมาตรา 6 วรรคแรก บัญญัติว่ากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ อันเป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องระบอบการปกครองของไทย


ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หากผู้ใดกระทำผิดต้องรับโทษตามกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และรองรับหลักการระบอบการปกครองของประเทศไทยปกครอง เพื่อรักษาเกียรติยศของกษัตริย์และรักษาคุณลักษณะสำคัญของระบอบการปกครอง ซึ่งมีที่มาทางประวัติศาสตร์ชาติไทย


สำหรับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ต้องตีความตามนัยยะเดียวกันกับข้อหา “หมิ่นประมาท” ตามมาตรา 326 และต้องตีความโดยเคร่งครัดตามหลักการทางอาญา การกระทำที่เป็นความผิดต้องเป็นการกระทำต่อกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ ส่วนรัชทายาท หมายถึงทายาทของกษัตริย์ที่จะสืบทอดราชสมบัติและสืบสันติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลฯ


เมื่อพิจารณาถ้อยคำปราศรัย จะเห็นได้ว่าจำเลยกล่าวถึงชื่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาโดยรวมกับที่ปราศรัยเรื่องวัคซีนที่ไม่เป็นธรรม และพาดพิงถึงบุคคลในราชวงศ์ ย่อมสื่อความหมายได้ว่ารัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่วัคซีน Aztrazeneca มีส่วนในการทำให้เครือข่ายได้รับวัคซีน ในขณะที่ประชาชนยังไม่ได้รับ เป็นการกล่าวหาหรือยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัชกาลที่ 10 ขโมยสวัสดิการและอำนาจอธิปไตยจากประชาชน


อีกทั้งยังเป็นการกล่าวปราศรัยต่อหน้าสาธารณชน ผู้ฟังอาจเชื่อและคล้อยตามว่ารัชกาลที่ 10 มีส่วนในการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ทั้งที่ความจริงไม่ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ประกอบกับในภายหลังก็ปรากฏว่ามีการจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนจนเกินไปและเกินความต้องการภายในประเทศ ลักษณะคำพูดของจำเลยจึงเป็นการแสดงความเห็นที่มีอคติ เป็นการใส่ความต่อรัชกาลที่ 10 ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย


ส่วนที่ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญของแต่ละรัฐมีการบัญญัติแตกต่างกันตามสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน และในประเทศไทยมีการบัญญัติให้กษัตริย์ทรงดำรงฐานะพิเศษต่างจากบุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นประมุขของรัฐ และศูนย์รวมทางจิตใจของคนไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาแตกต่างกันกับรัฐอื่น


ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงต้องได้รับความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป หากจำเลยประสงค์จะเรียกร้องสิทธิในการได้รับวัคซีนก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวในลักษณะเช่นนั้น การพูดของจำเลยเป็นการใส่ความต่อกษัตริย์ตามมาตรา 112 อีกทั้งบทบัญญัติไม่มีให้ยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษเหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป การปราศรัยของจำเลยจึงไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112


พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และยกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จำเลยให้การว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ในส่วนคดีของศาลอาญา หลังนำสำนวนมาตรวจสอบ เห็นว่าเป็นดุลพินิจที่จะนับโทษต่อได้ ส่วนในคดีของศาลอื่นไม่อาจนับโทษจำคุกต่อได้


หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว โสภณแถลงต่อศาลว่า “สักวันหนึ่งสังคมก็ต้องเปลี่ยน แต่มันไม่ได้เปลี่ยนเพราะเวลา มันเปลี่ยนเพราะคน” และหันหลังจากนั้นประชาชนที่มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ก็ร่วมกันร่วมให้กำลังใจ และมีการร้องเพลง “หัวใจเสรี” ของวงไททศมิตร


หลังจากนั้นโสภณถูกนำตัวลงไปคุมขังที่ห้องเวรชี้ ก่อนที่จะต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยโทษจำคุกใน 3 คดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วเป็น 8 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์ จนถึงวันนี้ (29 ต.ค. 2567) เขาถูกขังมาแล้วถึง 433 วัน


กรณีของโสภณนั้น ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 มาแล้วทั้งสิ้น 3 คดี

ในคดีแรก กรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และจำคุก 6 เดือน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์


ในคดีที่สอง กรณีปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และลงโทษปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 200 บาท และคดีที่สาม ในวันนี้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี


ทั้งนี้ ในวันที่ 12 พ.ย. 2567 นี้ เก็ทยังจะถูกเบิกตัวไปที่ศาลแขวงพระนครใต้เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีปรับพินัย ในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปงาน APEC2022 ยื่นจดหมายบอกให้ผู้นำโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในไทย


ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เก็ทโสภณ #มาตรา112

“รอมฎอน” ชี้ปลัดอำเภอท่าอุเทนหนีคดีตากใบกลับมาทำงานได้ปกติ ตอกย้ำวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล-ตบหน้ากระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ เรียกร้อง รมว.มหาดไทย-กลาโหม ตรวจสอบคลายข้อข้องใจประชาชน ย้ำจำเป็นเร่งแก้กฎหมายว่าด้วยอายุความ


รอมฎอน” ชี้ปลัดอำเภอท่าอุเทนหนีคดีตากใบกลับมาทำงานได้ปกติ ตอกย้ำวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล-ตบหน้ากระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ เรียกร้อง รมว.มหาดไทย-กลาโหม ตรวจสอบคลายข้อข้องใจประชาชน ย้ำจำเป็นเร่งแก้กฎหมายว่าด้วยอายุความ


วันที่ 29 ตุลาคม 2567 รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แสดงความเห็นต่อกรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีตากใบที่หลบหนีคดีจนคดีขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว


รอมฎอนระบุว่ากรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมาก ชนิดที่ว่าการหนีหมายจับคดีร้ายแรงของข้าราชการกลายเป็นเรื่องปกติ โดยไม่มีการต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ในอีกทางหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการกลับมาทำงานของข้าราชการรายนี้เป็นการตบหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมของไทยเอง เพราะที่ผ่านมาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การติดตามตัวตามหมายจับจะไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น การกลับมาเช่นนี้เป็นการยืนยันในข้อสงสัยว่าการหนีคดีเหล่านั้นจะมีการรู้เห็นเป็นใจของข้าราชการหรือไม่


ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการที่หลบหนีคดีไป ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ให้ตรวจสอบทางวินัยเพื่อพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดรู้เห็นเป็นใจในการช่วยหนีคดีหรือไม่ และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย เร่งตรวจสอบเพื่อคลายข้อข้องใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และญาติของผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการละเลยเพิกเฉยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


รอมฎอนกล่าวต่อไปว่ากรณีนี้ยังทำให้เห็นปัญหาของระบบยุติธรรมของไทยเรื่องอายุความในคดีอาญาที่เอื้อให้กับการลอยนวลพ้นผิด เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องอายุความในมาตรา 95 ซึ่งตนในฐานะ สส. ด้านหนึ่งจะเร่งนำไปหารือในอนุกรรมาธิการยุติธรรมตากใบ ที่เป็นผลจากมติสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่มอบหมายให้กรรมาธิการการกฎหมายฯ จัดตั้งขึ้นมา


ในอีกด้านหนึ่ง ตนเตรียมจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอายุความ ซึ่งปัจจุบันมีข้อถกเถียงอยู่ว่าควรเป็นการแก้ไขเฉพาะกรณีอายุความที่เกี่ยวกับฐานความผิดร้ายแรงให้ไม่มีอายุความเลย หรือจะเป็นการแก้ไขการนับอายุความในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จแล้วส่งให้อัยการก็เริ่มนับใหม่ เมื่ออัยการทำสำนวนถึงศาลก็นับใหม่ คือเริ่มนับใหม่ทุกครั้งที่มีความคืบหน้าของคดี ซึ่งทั้งหมดนี้คงต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันเพื่อทำข้อเสนอ กลั่นกรองกฎหมาย รับฟังความเห็น และพัฒนาร่างกฎหมายต่อไป


ที่สำคัญที่สุด กรณีนี้ปลัดท่าอุเทน ยืนยันว่าจำเป็นแล้วที่เราต้องแก้กฎหมาย ปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ พอขาดอายุความแล้วกลับมาโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแสดงว่าช่องโหว่ของกฎหมายเรา ทำให้ความรับผิดรับชอบของแม้กระทั่งข้าราชการไม่ต้องทำอะไรเลย ทำให้เรื่องที่ควรจะเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติแบบนี้ได้อย่างไร” รอมฎอนกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คดีตากใบ #20ปีคดีตากใบ

“แพทองธาร” เผย 12 ธ.ค. ชัดเจน “เพื่อไทย” เสนอร่างนิรโทษกรรมประกบหรือไม่ ยันไม่แตะ ม.112 แน่นอน

 


แพทองธาร” เผย 12 ธ.ค. ชัดเจน “เพื่อไทย” เสนอร่างนิรโทษกรรมประกบหรือไม่ ยันไม่แตะ ม.112 แน่นอน


เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พ.ศ. .... รอการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า พรรคเพื่อไทย (พท.) จะยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าไปประกบด้วยหรือไม่ ว่า เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกันก่อน ในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคว่าจะเป็นอย่างไร และขอให้ความมั่นใจว่า เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีข้อสรุปในเรื่องนี้


เมื่อถามว่า จะมีการวางแนวทางไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน ต้องไม่แตะมาตรา 112 เพราะเป็นสิ่งที่เราย้ำมาตลอด ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลเราก็เน้นย้ำเรื่องนี้ ทุกพรรคที่มาร่วมรัฐบาล ก็ตกลงว่าจะไม่มีการแตะหมวด 1 และหมวด 2 อันนี้ชัดเจน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรม #มาตรา112 #รัฐบาลแพทองธาร

กระทรวงพาณิชย์ รับลูก “นายกแพทองธาร-กกร.” แก้ปัญหาเป็นระบบ เร่งด่วน ทั้งปัญหาสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ-เร่งเจรจา FTA -อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล-ปิดบริษัทม้าที่เชื่อมบัญชีม้า

 


กระทรวงพาณิชย์ รับลูก “นายกแพทองธาร-กกร.” แก้ปัญหาเป็นระบบ เร่งด่วน ทั้งปัญหาสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ-เร่งเจรจา FTA -อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล-ปิดบริษัทม้าที่เชื่อมบัญชีม้า


วันนี้ (29 ตุลาคม 2567) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ตนได้มีโอกาสร่วมคณะของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในการรับมอบสมุดปกขาว ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ทำให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ได้รับข้อเสนอที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง


“ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้รับบัญชาจากท่านนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 4 เรื่อง มีทั้งเรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่ง และเรื่องที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ, การเร่งเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ, การอำนวยความสะดวกให้กับผู้กับผู้ประกอบการ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ 100% รวมถึงการปิดบัญชีบริษัทม้าที่เชื่อมโยงกับบัญชีม้า” นายพิชัย กล่าว


รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง และสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ผ่านกลไก “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” เพื่อดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และตั้งเป้าให้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนภายใน 3 เดือนและนัดแรกจะจัดประชุมในวันพรุ่งนี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567) เพื่อติดตามความคืบหน้าและพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป


นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เร่งรัดเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศใหม่ๆ และเร่งสรุปผลการเจรจาที่ยังคั่งค้างเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุน รวมถึงใช้ประโยชน์ด้านส่งออก-นำเข้า โดยการเจรจา FTA ที่ใกล้ปิดดีล เช่น ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ หากเจรจาสำเร็จในปีนี้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่ทำ FTA กับ EFTA นอกจากนั้น ยังมีการผลักดัน FTA อื่นๆ เช่น FTA กับสหภาพยุโรป(EU) ปากีสถาน ภูฏาน UAE และอินเดีย ทำให้ภายในรัฐบาลนี้ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้อีกหลายฉบับ รวมๆ มากกว่า 10 ประเทศ จากปัจจุบันไทยมี FTA 15 ฉบับกับเพียง 18 ประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด


ในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ตนได้ คิกออฟระบบการให้บริการส่งออกสินค้ามาตรฐาน “OCS Connect” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ 100% ตั้งแต่ในสัปดาห์แรกที่เข้ามารับตำแหน่ง โดยระบบดังกล่าว ครอบคลุมการให้บริการตั้งแต่การออกใบทะเบียน/ใบอนุญาต การตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จนกระทั่งการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อประกอบพิธีการศุลกากรขาออกผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเบ็ดเสร็จในแพลตฟอร์มเดียว โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาติดต่อ เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดเอกสารที่ซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และรองรับการชำระค่าธรรมเนียมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ e-Payment ได้ทันที


ในเรื่องสุดท้าย คือการปิดบัญชีบริษัทม้าที่เชื่อมโยงกับบัญชีม้า ตนได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หารือร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยได้รับทราบว่า มีนัดหมายกันในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคมนี้ ในเบื้องต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะได้ชะลอการจดทะเบียนนิติบุคคลให้กับบุคคลที่อยู่ในบัญชีความเสี่ยง มีการเพิ่มความเข้มงวดในการรับจดทะเบียนด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ให้บุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยตามประกาศรายชื่อ HR 03 ของ ปปง. ต้องมาแสดงตนต่อหน้านายทะเบียน เป็นต้น


“ขอเรียนย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์ พร้อมรับทุกข้อเสนอ เพื่อทำให้การค้าการลงทุนภายใต้รัฐบาลนี้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำข้อเสนอในสมุดปกขาวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มาปรับใช้ให้เข้ากับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สอดรับกันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนต่อไป” นายพิชัย กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงพาณิชย์




“พิชัย”’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ

 


“พิชัย”’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ


วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนางสาวปิง คิตนีกอน (H.E. Ms. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการทำงานร่วมกับแคนาดาอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างกัน


นายพิชัย กล่าวว่า ไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนจากแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ซึ่งสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับแคนดาด้าน AI และ Cybersecurity อีกทั้ง ไทยยังมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกได้นอกจากนี้ ไทยยังสามารถขยายโอกาสทางเศรษฐกิจกับแคนาดาเพื่อเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ G7 ที่แคนาดามีความตกลงการค้าเสรีครบทุกประเทศแล้ว


นายพิชัย เสริมว่า ตนได้ขอบคุณแคนาดาที่มีแผนจะนำคณะนักธุรกิจแคนาดาสาขาต่าง ๆ มายังไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 พร้อมทั้งได้เชิญชวนภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับภาคเอกชน เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA (27-31 พฤษภาคม 2568) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ของเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันด้วย  


นายพิชัย กล่าวต่ออีกว่า ไทยและแคนาดาเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ให้เสร็จตามเป้าหมายในปี 2568 ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน สามารถเชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และความตกลงดังกล่าวยังถือเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ


นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนยังได้พบกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา (นายจัสติน ทรูโด) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการส่งเสริมการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ของแคนาดา (นาง Mary Ng) และในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 35 กลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ที่จะถึงนี้ ตนจะมีโอกาสพบหารือกับ นาง Mary Ng อีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกระหว่างไทยและแคนาดาต่อไป


ในปี 2566 แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย โดยการค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดามูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดามูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์




“ทนายแจม” จี้รัฐบาลตอบให้ชัดทำไมกลับลำไม่รวมนิรโทษกรรม 112 ย้อนใน กมธ.นิรโทษกรรม ตัวแทนพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยนิรโทษกรรมรวม ม.112 แบบมีเงื่อนไข

 


ทนายแจม” จี้รัฐบาลตอบให้ชัดทำไมกลับลำไม่รวมนิรโทษกรรม 112 ย้อนใน กมธ.นิรโทษกรรม ตัวแทนพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยนิรโทษกรรมรวม ม.112 แบบมีเงื่อนไข


วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 11 พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวถึงกรณีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าสภาฯ ในสมัยประชุมหน้า ไม่รวมการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112


โดยศศินันท์กล่าวว่า หลังจากการโหวตรับร่างรายงานการศึกษาการนิรโทษกรรมในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่ประชาชนจับตามองคงไม่พ้นความไม่เป็นเอกภาพของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อร่างรายงานการศึกษาการนิรโทษกรรม สิ่งนี้จะเป็นตัวชี้วัดต่อหลักการของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความหวาดกลัวพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่กล้าทำอะไร แม้แต่รักษาสัจจะคำมั่นและหลักการให้เพื่อนร่วมงานพรรคตนเอง


ตนจึงคิดว่ามีอย่างน้อย 3 ประเด็น ที่รัฐบาลควรต้องตอบให้ชัดเจนและเอาจริงเอาจังกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม


(1) พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยโดยไร้มาตรา 112 จะยื่นเข้าสภาเมื่อไร เริ่มจากการที่รายงานนิรโทษกรรมถูกเลื่อนเข้าสภาครั้งแล้วครั้งเล่าจนต้องมีการทวงถามไปหลายครั้งกว่าจะถูกเข็นเข้าสภา และประธานเลือกปิดประชุมเร็วกว่าปกติจนทำให้กรรมาธิการที่จ่อคิวรอชี้แจงถูกเลื่อนให้ไปชี้แจงในการประชุมครั้งถัดไป ท่าทีของพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ แสดงถึงความลำบากใจในการถกเถียงประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม จึงไม่อาจทราบได้ว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมจริงหรือไม่ที่จะเป็นเจ้าภาพฝั่งรัฐบาลยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณาในสภาฯ


(2) ในชั้นกรรมาธิการนิรโทษกรรม กรรมาธิการสัดส่วนตัวแทนพรรคเพื่อไทยออกเสียงเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมรวมมาตรา112 ไว้แบบมีเงื่อนไข แต่เพราะเหตุใดวันนี้เพื่อไทยจึงกลับลำ ชักมาตรา112 ออกจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตนจึงคิดว่าหากพรรคเพื่อไทยถือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ไม่รวมเอาคดีความผิดมาตรา 112 อยู่จริง ไม่ว่าจะอ้างเรื่องสถิติหรือเหตุอื่นใดก็ตาม สิ่งนี้ไม่ต่างจากการบีบเอาคดีความผิดในมาตราอื่นเป็นตัวประกันหาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่สำเร็จ


(3) พรรคเพื่อไทยจะต้องตอบประชาชนให้ได้ หากพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเรื่องการนิรโทษกรรมและ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคเพื่อไทยผ่านจริง พรรคเพื่อไทยจะเอานักโทษคดีการเมืองมาตรา 112 เหล่านี้ไปไว้ตรงไหน?


ศศินันท์ทิ้งท้ายว่า นักโทษคดีการเมืองเป็นรอยแบ่งแยกของความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง หากคิดจะยุติความบาดหมางในอดีตแล้วเดินหน้า แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยควรเปิดใจให้กว้าง ใช้สติ และแสดงความเป็นผู้นำรัฐบาลให้สมศักดิ์ศรีเพื่อนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า เพราะนี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้การเมืองไทยกลับมาเข้ารูปเข้ารอย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #นิรโทษกรรม #รวม112 #กมธนิรโทษกรรม #กรรมาธิการ

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2567

นิสิตจุฬาฯ จัดงาน รำลึก 94 ปีชาตกาล “จิตร ภูมิศักดิ์” ตั้งวงเสวนา ฤๅจะเป็นการสิ้นสุดของ ”ยุคแสวงหา“ พร้อมมอบรางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์ 2567” ให้กับบุคคลขับเคลื่อนสังคม 4 ดัาน

 


นิสิตจุฬาฯ จัดงาน รำลึก 94 ปีชาตกาล “จิตร ภูมิศักดิ์” ตั้งวงเสวนา ฤๅจะเป็นการสิ้นสุดของ ”ยุคแสวงหา“ พร้อมมอบรางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์ 2567” ให้กับบุคคลขับเคลื่อนสังคม 4 ดัาน


เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 17.30 น. ที่ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, คณะกรรมการนิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, คณะกรรมการนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้จัดงาน “รำลึก 94 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ : ฤๅเป็นการสิ้นสุดของ ”ยุคแสวงหา“ ซึ่งในวันนี้เป็นวันครบรอบ กรณี "โยนบก" เมื่อครั้งที่จิตรเป็นสาราณียกรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นจิตรเปลี่ยนเนื้อหาของหนังสือโดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการสอบสวนจิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ จับโยนบกลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตรถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงดนตรีสดจากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ การประกาศและมอบรางวัล จิตร ภูมิศักดิ์ ประจำปี 2567 สำหรับ รางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์” นั้น มีผู้ได้รับรางวัลดังนี้ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านขับเคลื่อนสังคม, ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา ด้านศิลปะเพื่อประชาชน , นายณัฐพล เมฆโสภณ (เป้ ประชาไท) ด้านสื่อเพื่อเสรีภาพ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ด้านสิทธิมนุษยชน


ทั้งนี้ภายในงาน มีการเสวนาในหัวข้อ ฤๅจะเป็นการสิ้นสุดของยุคแสวงหา? โดย ผศ.ดร.ธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ทั้งยังมีการจัดบูธร้านอาหาร และร้านหนังสือจากร้านชนนิยมและสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน


บรรยากาศภายในงานรำลึก “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณทางเข้างาน มีการผูกป้ายผ้าที่มีข้อความว่า ‘ผนงรจตกม’ และป้ายไวนิลที่มีภาพใบหน้า จิตร เขียนข้อความว่า ‘ชอบมั้ยยุคสายลมแสงแดด ที่ประท้วงด้วยกันมาจบแล้วจริงหรือ?’ นอกจากนี้ ยังมีการทำโพลให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ‘เด็กจุฬาฯ เป็น Ignorant ?’ ซึ่งมีผู้ร่วมติดสติ๊กเกอร์ แสดงความเห็นในช่อง ‘เห็นด้วย’ มากกว่าช่อง ‘ไม่เห็นด้วย’ รวมไปถึงบอร์ดให้แสดงความคิดเห็น ‘เราเรียนรู้อะไรจากจิตร’ โดยมีผู้ร่วมเขียนข้อความ อาทิ จุฬาเป็นสถาบันศึกษา หรือบริษัททุนนิน, ผ่านมากี่ปี นิสิตจุฬาฯ ยังเหมือนเดิม, สรุปบทบาทของนิสิตนักศึกษาคืออะไร เป็นต้น


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จิตรภูมิศักดิ์ #94ปีชาตกาล #สภานิสิตจุฬาฯ




จดหมายจากแดน 4 “อานนท์” เขียน เมื่อดอกคูณหลงฤดู! ความขัดแย้ง หากบางทีจำเป็นต้องมี ก็ต้องมี ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความไม่อาจขัดแย้ง! การเปลี่ยนแปลง!

 


จดหมายจากแดน 4 “อานนท์” เขียน เมื่อดอกคูณหลงฤดู! ความขัดแย้ง หากบางทีจำเป็นต้องมี ก็ต้องมี ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความไม่อาจขัดแย้ง! การเปลี่ยนแปลง!


วันที่ 28 ตุลาคม 2567 เพจเฟสบุ๊ค “อานนท์ นำภา” โพส ข้อความพร้อมจดหมายโดยมีใจความว่า


ที่แดน 4 มีต้นคูณ

มีต้นคูณ ย่อมมีดอกคูณ

หากแต่ดอกคูณมักบานในหน้าร้อน

วันนี้ย่อมมิใช่หน้าร้อน 

วันนี้มีดอกคูณบานช่อหนึ่ง

เป็นดอกคูณหลงฤดู!


ร้อน ฝน หนาว ล้วนขัดแย้ง

ความขัดแย้ง หากบางทีจำเป็นต้องมี ก็ต้องมี

ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความไม่อาจขัดแย้ง!

การเปลี่ยนแปลง!


เช้านี้เมฆหมอกลอยต่ำ บดบังแสงอาทิตย์

ลมหนาวทารก เริ่มตั้งไข่

ดอกคูณหลงฤดูเบ่งบาน ฯลฯ


ถึงปราณ ขาล และ ลูกหว้าที่รัก

เช้านี้อาการป่วยของพ่อเริ่มคลี่คลายแล้ว 

จิบกาแฟมองคูณหลงฤดู 

คิดถึงทุกคนจับใจ…


อานนท์ นำภา

28 ต.ค. 67


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 คดีแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 (เป็นคดีที่ 2) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ปี ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ต่อมา 25 ก.ค. 67 ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดี #ม112 คดีที่ 4 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10


ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1), (3) ให้ลงโทษฐาน 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี


ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ


ทั้งนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี ทำให้อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #อานนท์นำภา #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน

“สุรเชษฐ์” ชวนจับตาโหวตร่าง พ.ร.บ.รางฯ วันพุธนี้ คาดร่างเพื่อไทยน่าจะถอย เปิดทางร่าง ครม.เข้าแทน หลังถูกจับโป๊ะแอบแก้-ตัดหลายมาตราเอื้อประโยชน์นายทุน แนะใช้ร่างของ ปชน.ประชาชนได้ประโยชน์เต็ม ๆ ไม่ต้องเสียเวลา 3 ปี แบบเปล่าประโยชน์

 


“สุรเชษฐ์” ชวนจับตาโหวตร่าง พ.ร.บ.รางฯ วันพุธนี้ คาดร่างเพื่อไทยน่าจะถอย เปิดทางร่าง ครม.เข้าแทน หลังถูกจับโป๊ะแอบแก้-ตัดหลายมาตราเอื้อประโยชน์นายทุน แนะใช้ร่างของ ปชน.ประชาชนได้ประโยชน์เต็ม ๆ ไม่ต้องเสียเวลา 3 ปี แบบเปล่าประโยชน์


วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าว Policy Watch หัวข้อ “จับตาศึกชิงร่าง พ.ร.บ.ราง ร่างไหนได้ไปต่อ” ซึ่งเป็นความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะมีการลงมติรับหลักการในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 30 ตุลาคมนี้ โดยพิจารณาจาก 3 ร่างที่มีอยู่ คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี, พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน


สุรเชษฐ์ ระบุว่า พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เป็น พ.ร.บ. ใหม่ เพื่อนำมาจัดสรรอำนาจให้กับกรมการขนส่งทางรางที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังไม่มีอำนาจรองรับทางกฎหมาย ดังนั้นโครงร้างอำนาจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ. ใหม่ฉบับนี้ โดยทั้ง 3 ร่างที่เป็นตัวเลือกประกอบด้วย 1) ร่างของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นร่างดั้งเดิมเสนอโดยคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านวาระแรกจนมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา นำความเห็นของภาคการเมือง ภาคประชาชน และฝ่ายราชการมาพิจารณาจนถูกแปลงร่างมาเป็น “ร่างประนีประนอม”


ซึ่งวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านในเวลานั้นต่างเห็นตรงกันและเตรียมผ่านเป็น พ.ร.บ. แล้ว แต่ดันเกิดศึกกัญชาขึ้นทำให้เสียเวลาสภาจนร่างดังกล่าวพิจารณาไม่ทันและตกไป ซึ่งตอนนี้คณะรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ยื่นร่างที่มีเนื้อหาเดียวกันกับร่างของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เข้ามาเหมือนเดิม จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ไปทำไม


นอกจากนี้ ยังมี 2) ร่างของพรรคเพื่อไทย ที่นำเสนอโดย มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการนำร่างประนีประนอมไปยัดไส้นอกรอบ โดยร่างทรงของใครก็ไม่ทราบที่นำมาใส่มือให้มนพรเป็นคนยื่นเข้าสภาในฐานะร่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งร่างนี้มีความอันตรายเป็นอย่างยิ่งหากจะนำมาใช้เป็นร่างหลัก และ 3) ร่างของพรรคประชาชนที่มีที่มาจากร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้ว เพียงแต่มีการแก้ไขใน 3 ประเด็น ตามรายงานการสงวนความเห็นที่มีการนำเสนออย่างเปิดเผยบนโต๊ะกรรมาธิการมาผนวกกัน


สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากให้จับตาดูกัน คือ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน วิปรัฐบาลได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติให้ใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก ทำให้เกิดคำถามว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยไว้ใจได้หรือไม่ ตนจึงไปศึกษาเทียบกับร่างของคณะรัฐมนตรีและพรรคประชาชน จนพบว่า มีความน่ากังวลหลายประการ ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทั้ง 3 ร่างได้ถูกนำเสนอและมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง 


ประเด็นคำถามสำคัญที่ตนได้ถามในวันนั้น คือ ใครเป็นคนส่งร่างให้มนพรมาแปะป้ายเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย แต่มนพรก็ไม่ได้ตอบคำถามและไม่ได้ใช้สิทธิในการอภิปรายสรุปด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้น คือประธานสภาได้ชิงปิดสภาก่อนที่จะมีการลงมติซึ่งปิดสภาเร็วกว่าปกติอย่างชัดเจน ทั้งที่ตามมติวิปก็มีวาระการประชุมอื่นที่รออยู่ โดยก่อนปิดสภาก็มีสัญญาณมาว่า อาจจะมีการล้มร่างทรงของใครก็ไม่ทราบนี้ หลังจากที่ได้มีการอภิปรายถึงความเป็นร่างทรง นับว่า เป็นสัญญาณเชิงบวกว่า มติวิปฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เปลี่ยนจากร่างที่ไม่น่าไว้ใจของพรรคเพื่อไทย


สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนขอความกระจ่างว่า ใครเป็นคนยัดไส้ให้ท่านมนพร เพราะร่างของพรรคเพื่อไทยลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ และลดอำนาจรัฐในการเข้าตรวจสอบ มีเงื่อนงำที่น่าสนใจหลายประการ นำไปสู่การตัด 25 มาตรา และยัดเพิ่ม 6 มาตรา แอบแก้ไขเนื้อความในหลายมาตราที่ส่อไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการมากขึ้นเมื่อเทียบกับร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้ว เช่น


๐ ลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยแอบตัดมาตรา 121 ให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้ผู้โดยสารหากเดินรถล่าช้าหรือยกเลิกการเดินรถ 

๐ เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยแก้มาตรา 31 ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจสามารถเป็นเจ้าของรางได้ ทั้งที่กรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านรางควรต้องเป็นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 

๐ เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ โดยแก้ไขมาตรา 53 จากร่างประนีประนอม โดยแอบตัดข้อความใน (4) ที่เขียนไว้ว่า ผู้ประกอบการต้อง “จัดส่งรายงานการประกอบกิจการและงบกระแสเงินสดทุก 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มประกอบกิจการ” ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแสดงผลประกอบการ 

๐ แอบยัดวรรค 2 ลงไปในมาตรา 53 ว่า “ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการกำหนดข้อกำหนดตามวรรค 1 (6) และการกำหนดหน้าที่อื่นตามวรรค 1 (7) ก่อให้เกิดภาระและผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาต ให้กรมการขนส่งทางรางกำหนดการชดเชยและเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นธรรมด้วย” ส่งผลให้รัฐขยับยากขึ้นในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะต้องระแวงกับเรื่องของการชดเชยนายทุนให้มากขึ้น 

๐ แอบตัดมาตรา 58 ทิ้งจากร่างประนีประนอม ที่เขียนไว้ว่า “ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องส่งบัญชีแสดงฐานะทางการเงินและงบการเงินให้กับอธิบดีทราบ” เห็นได้ชัดว่า เป็นความอยากซ่อนตัวเลขผลประกอบการ และเห็นได้ชัดว่า ร่างทรงนี้ต้องมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างแน่นอน ที่ต้องการซ่อนตัวเลขผลประกอบการ ซึ่งเป็นตัวเลขในรายละเอียดอย่างต้นทุนการเดินรถต่อผู้โดยสาร 1 คน ที่เป็นข้อมูลทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับรัฐในการพิจารณา โดยเฉพาะในการพิจารณาสัมปทาน

๐ ลดอำนาจรัฐในการเข้าไปตรวจสอบ โดยตัดมาตรา 87 จากร่างประนีประนอม ทำให้รัฐไปตรวจสอบเชิงเทคนิค (Accident Investigation) ได้ยากขึ้น เช่น กรณีรถไฟชนกัน หากไม่มีมาตรานี้ เอกชนสามารถไปแอบปกปิดทำลายหลักฐานบางอย่างก่อนรัฐเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย


สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า แม้ร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรีแพทองธาร ที่เหมือนกับร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เลวร้ายแบบร่างของพรรคเพื่อไทย แต่หากเริ่มจากร่างของพรรคประชาชนจะเป็นการเร็วกว่าและดีกว่า เพราะหากกลับไปใช้ร่างดั้งเดิมก็จะเท่ากับประเทศเสียเวลาไปฟรี 3 ปี เป็นการกลับไปเริ่มใหม่ที่จุดเดิม 


“คำถาม คือ แล้วทำไมไม่ใช้ร่างประนีประนอมที่ผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของทุกพรรคการเมืองมาแล้ว อีกทั้งการกลับไปเริ่มต้นใหม่จากจุดเดิมมีความเสี่ยงที่จะถูกแปลงร่างให้ไปคล้ายกับร่างของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นร่างทรงของใครก็ไม่ทราบ”


นอกจากนี้ร่างของพรรคประชาชนยังเหมาะสมกว่าที่จะเป็นร่างหลัก เพราะเป็นร่างที่มีพื้นฐานมาจากร่างที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญจากสภาชุดที่แล้วมาแล้ว เป็นร่างประนีประนอมที่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ควรให้อำนาจไปสู่กรมการขนส่งทางรางเท่าไหร่ รักษาสิทธิของประชาชน ไม่ได้เอาเปรียบผู้ประกอบการเกินไป รัฐมีอำนาจพอที่จะตรวจสอบ และยังมีการแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมาตามรายงานการสงวนความเห็นใน 3 ประเด็น คือ


1) แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวในมาตรา 5 โดยยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องเป็นประธาน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปทำให้โครงสร้างอำนาจทางรางบิดเบี้ยวแตกต่างไปจากทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

2) การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ในมาตรา 14 วรรค 2 ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมจัดทำแผนในเขตภูมิภาค

3) มาตรา 64 เพิ่มเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ว่าต้องคำนึงถึงค่าแรงขึ้นต่ำและค่าครองชีพด้วย


สุรเชษฐ์ ยังกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเป็นผู้ถือเสียงข้างมากอยู่แล้ว จะไปปรับเปลี่ยนในกรรมาธิการรอบใหม่ก็ได้ แต่สิ่งที่พรรคประชาชนเสนอนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจริง ๆ พรรคประชาชนไม่ได้สุดโต่งแต่ใช้ร่างประนีประนอมและแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ขอแค่รัฐบาลอย่ากลัวเสียหน้าเพียงเพราะเป็นร่างจากฝ่ายค้านเลยจะไม่ใช้เป็นร่างหลัก


“สิ่งที่ต้องจับตา คือ วิปรัฐบาลน่าจะกลับลำ พลิกมติจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นหลักมาใช้ร่างคณะรัฐมนตรีแทน การไม่ใช้ร่างเพื่อไทยเป็นหลักนั้น ผมเห็นด้วยว่า สมควรแล้ว เพราะมีการยัดไส้นอกรอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอย่างชัดเจน แต่คำถาม คือ ทำไมไม่ใช้ร่างพรรคประชาชน พ.ร.บ.รางฯ กับผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่มหาศาล เมกะดีลสัมปทานทีเป็นแสนล้านแต่พรรครัฐบาลไม่น่าไว้ใจ ประชาชนต้องช่วยกันจับตาการลงมติวันที่ 30 ตุลาคมนี้ 11:00” สุรเชษฐ์ กล่าว


#UDDnews  #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน