วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

“จุลพงศ์” แถลง ผิดหวังต่อวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล

 


“จุลพงศ์” แถลง ผิดหวังต่อวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล


วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวเกี่ยวกับวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล ทั้งนี้ ตามที่ตนได้ฟังและติดตามข่าวการแถลงวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของ รมว.การต่างประเทศนั้น ในฐานะที่ตนเป็นรองประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ คนที่หนึ่ง ขอแสดงความเห็นส่วนตัวที่ผิดหวังต่อคำแถลงของรัฐมนตรี เพราะ 10 กว่าเรื่องที่แถลงนั้น ควรจะเป็นพันธกิจมากกว่าเป็นวิสัยทัศน์ เพราะพันธกิจเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติงานหรือข้าราชการประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ตนเรียกว่าพันธกิจใน 10 กว่าเรื่องที่รัฐมนตรีแถลงนั้น ตนขอยกมาแสดงความเห็น 4 เรื่อง ดังนี้


1. รัฐมนตรีขึ้นต้นการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นจากผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงขอให้รัฐมนตรีพิสูจน์งานแรกว่านานาชาติยอมรับการเมืองของไทยมากขึ้นหรือไม่ คือผลการเสนอตัวแทนของประเทศไทยเข้าชิงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กำลังจะมีการลงคะแนนจากชาติสมาชิกในปลายเดือน ต.ค. นี้ ตนทราบมาว่าประเทศไทยกำลังจะหมดหวังในตำแหน่งนี้ เพราะการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลของประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าแข่งขันกับประเทศไทย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากำลังจะออกรายงานประจำปีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยใหม่ ซึ่งตนทราบมาว่า รายงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยฉบับใหม่นั้นยังไม่ดีกว่าปีก่อน เพราะเรายังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการที่รุนแรง เป็นต้น อีกทั้งการไม่ประกาศให้ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ ถึงนโยบายการจัดตั้งระเบียงสิทธิมนุษยชนตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา ที่ริเริ่มในสมัยของอดีตรมว.การต่างประเทศ คนก่อน ทำให้ไม่มีความชัดเจนในด้านการดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในมุมมองของนานาชาติ


2. รัฐมนตรีได้แถลงนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งตนได้ยินเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับประเทศมาเลเซีย แต่ตนไม่เห็นว่ารัฐมนตรีได้กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเจรจากับกัมพูชาในเรื่องนี้ ตนหวังว่ารัฐมนตรีจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ


3. การที่รัฐมนตรีกล่าวว่าการบริหารจัดการแม่น้ำโขงและปัญหาการเอ่อล้นของน้ำทำให้น้ำท่วมฝั่งไทยนั้น ตนเห็นว่า ไทยยังมีแม่น้ำกั้นเขตแดนกับเมียนมาคือแม่น้ำสาย การที่น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อย่างรุนแรงในปีนี้ เกิดจากการไหลบ่าของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำสาย แม่น้ำรวกที่มาบรรจบกับแม่น้ำโขง เราไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า และไม่มีข้อมูลว่าน้ำส่วนของแม่น้ำสายที่กั้นพรมแดนไทย-เมียนมา ที่มีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมานั้น จะมีการปนเปื้อนสารพิษจากการทำเหมืองแร่ในเขตประเทศเมียนมาหรือไม่ เพราะเขตพื้นที่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทยอยู่ในเขตปกครองของชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมาอยู่แล้ว ซึ่งการใช้การพูดคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่เกิดประโยชน์เลย


4. วีซ่าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 - 4 ประเทศรอบ ๆ ประเทศไทย ซึ่งพันธกิจนี้ขัดกับการให้วีซ่าฟรีแก่หลายประเทศที่รัฐบาลไทยประกาศไปแล้ว ในเมื่อนักท่องเที่ยวจากกว่า 10 ประเทศ มาประเทศไทย โดยไม่ต้องมีวีซ่าแล้ว เหตุใดเขาต้องการวีซ่าเพื่อเข้าได้อีก 3 - 4 ประเทศ และปัญหาอีกประการหนึ่งคือ มาตรฐานที่แตกต่างกันของการออกวีซ่าของแต่ละประเทศที่เราจะทำวีซ่าร่วมกัน โดยบางประเทศต้องการเงินตราต่างประเทศ จึงอาจมีการผ่อนปรนการออกวีซ่ามากกว่าประเทศไทย และจะทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพไหลทะลักเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น และอีกประการหนึ่งคือ เหตุใดในคำแถลงของรัฐมนตรีจึงไม่มีเรื่องวีซ่าฟรีกับสหภาพยุโรปหรือวีซ่าเซงเก้น ทั้งที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดก่อนได้พูดไว้บ่อยครั้งและรัฐมนตรีกล่าวว่า จะสานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้น ตนจึงรู้สึกผิดหวังต่อวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐมนตรีมีความกล้าที่จะกำหนดวิสัยทัศน์การต่างประเทศของไทยให้โดดเด่นในระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีเสียงดังบนเวทีโลก และหากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะทำให้พันธกิจต่าง ๆ ที่ได้แถลงไว้ประสบความสำเร็จ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

เครือข่าย #conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล "ทำประชามติสองครั้ง - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที"

 


เครือข่าย #conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล "ทำประชามติสองครั้ง - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที"


วันที่ 19 กันยายน 2567 เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร. เลือกตั้ง” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเสวนา เสียงจากภาคประชาชน-นักวิชาการ เสียงจากสมาชิกรัฐสภาต่อประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับรวมถึงการจัดทำประชามติตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัฐบาลมีแนวทางจะจัดทำประชามติถึงสามครั้ง ได้แก่ 1) การจัดทำประชาก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2) ประชามติหลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผ่านวาระสาม ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) และ 3) ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแถลงจากภาคประชาชนเครือข่าย Conforall เรียกร้องให้รัฐบาลข้ามขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและเร่งเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่


ตามกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติถึงสามครั้ง ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าทำประชามติเพียงสองครั้งก็เพียงพอ หากรัฐบาลยืนยันเดินหน้าทำประชามติถึงสามครั้ง ก็จะทำให้กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ล่าช้า” และมีโอกาศไม่แล้วเสร็จภายในรัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร


เครือข่ายภาคประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลข้ามประชามติครั้งแรก และเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. โดยไว เพื่อให้กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า


โดยคำประกาศเครือข่าย Conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน มีใจความว่า "เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่เรามีรัฐบาลใหม่นำโดยพรรคเพื่อไทย พร้อมคำมั่นสัญญาอย่างมั่นคงที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาแนวทางการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไปสามเดือน จากนั้นรัฐสภาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความจำเป็นในการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไปอีกสี่เดือน และคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วก็เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งใช้เวลามาอีกห้าเดือนแล้ว ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งที่ทั้งสามกระบวนการทำไปพร้อมกันได้ แต่กลับถูกเลือกทำทีละอย่าง แสดงถึงความ “ไม่จริงใจ” ที่จะ “เร่ง” การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นจริง


มาถึงเดือนกันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนหน้าไป และเหลือเวลาอีกเพียงสองปีแปดเดือนอายุของรัฐบาลชุดนี้ก็จะหมดลง หากเดินตามแนวทางเดิมที่จะต้องทำประชามติสามครั้ง และใช้คำถามที่ติดเงื่อนไขไม่ให้แก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา “ไม่มีทาง” ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเสร็จทันมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า


หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องการจะแก้ไขความล่าช้านี้ ก็ยังพอจะ “เป็นไปได้” ที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หนทางที่จะเป็นไปได้เหลือวิธีการเดียวเท่านั้น คือ


หนึ่ง ไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก ที่เปลืองเวลา และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทำ


สอง เริ่มกระบวนการเปิดสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. โดยทันที ซึ่งทำได้ทันที


สาม คณะรัฐมนตรีเร่งรัดกระบวนการได้โดยการเสนอร่าง “จัดตั้งสสร.” ฉบับของคณะรัฐมนตรีเอง ซึ่งทำได้ทันที


รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจมาพร้อมกับกลไกของวุฒิสภาจากการแต่งตั้งและศาลรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหาร หนทางเดียวที่จะยืนหยัดถึงความเป็นรัฐบาลเพื่อประชาธิปไตย คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน เพื่อรื้อถอนกลไกที่มีปัญหาทั้งหมดเท่านั้น หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า ก็เท่ากับท่านทราบอยู่แล้ว และ “จงใจ” ที่จะ “ไม่” พยายามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จตามที่เคยประกาศไว้ 


ทั้งนี้ ขั้นตอนที่สองและสามที่จะเริ่มการ “จัดตั้งสสร.” ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่สามารถเริ่มต้นโดยประชาชนได้ หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ริเริ่มด้วยตัวเอง เราอาจต้องเข้าชื่อของประชาชน 50,000 ชื่อเพื่อเสนอกระบวนการที่เป็นไปได้นี้ด้วยมือของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง"


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญใหม่ #เขียนรัฐธรรมนูญ

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” แถลงสู้คดี หลังถูกแจ้งข้อหา ม.116 กรณีกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน กล่าวหาไกลถึงพัทลุง เหตุแชร์คลิป iLaw ด้านทนาย เตรียมยื่นหนังสือถึง ผบ. ตร. ให้โอนคดีมาส่วนกลาง-เรียกร้องอัยการควรมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง


สุชาติ สวัสดิ์ศรี” แถลงสู้คดี หลังถูกแจ้งข้อหา ม.116 กรณีกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน กล่าวหาไกลถึงพัทลุง เหตุแชร์คลิป iLaw ด้านทนาย เตรียมยื่นหนังสือถึง ผบ. ตร. ให้โอนคดีมาส่วนกลาง-เรียกร้องอัยการควรมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ “สิงห์สนามหลวง” บรรณาธิการ-นักคิดนักเขียน-อดีตศิลปินแห่งชาติ พร้อมทีมทนายความ แถลงข่าวถึงกรณีถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่สถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง หลังจากสมาชิกของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันไปแจ้งความกล่าวหาไว้ และสุชาติเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2567 สุชาติได้รับหมายเรียกจาก สภ.ศรีนครินทร์ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ ทำการแจ้งความดำเนินคดีประชาชนจำนวนมากที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในสถานีตำรวจต่าง ๆ หลายจังหวัด

 

หมายเรียกดังกล่าวออกโดย ร.ต.อ.มานพ สุวรรณมณี รองสารวัตรสอบสวน สภ.ศรีนครินทร์ โดยระบุว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่ 3 แต่สุชาติยังไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 และ 2 มาก่อนแต่อย่างใด ต่อมาทนายความได้ประสานขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน จนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา สุชาติ สวัสดิ์ศรี พร้อมทนายความและผู้ไว้วางใจ ได้เดินทางไปยังจังหวัดพัทลุง เพื่อพบพนักงานสอบสวนผู้ออกหมายเรียกดังกล่าว

 

ต่อมาพบว่าเหตุที่ถูกกล่าวหานั้น ทรงชัยได้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2565 โดยนำโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นการแชร์คลิปวิดีโอจากเพจ iLaw ในเรื่อง “10 ข้อที่คนไม่รู้เกี่ยวกับ #มาตรา112มากล่าวหา และผู้แชร์ข้อความเพียงแต่เขียนข้อความประกอบว่า “ทำไมจึงต้องยกเลิก ม.112 เราจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนเรื่อง ‘ยกเลิก ม.112’ #ปล่อยเพื่อนเรา

 

สุชาติถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (1) และ (2) กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) และ (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 

สุชาติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป

 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม116




“ประเสริฐ” เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ “พายุโซนร้อนซูลิก” เพิ่มประสิทธิภาพรับมือภัยธรรมชาติ “อุตุนิยมวิทยา” คาด “19-20 ก.ย.” เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม จากนั้นอ่อนกำลังลง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 19-23 ก.ย. ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาค ส่วน “ภาคใต้” อาจมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรง

 


“ประเสริฐ” เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ “พายุโซนร้อนซูลิก” เพิ่มประสิทธิภาพรับมือภัยธรรมชาติ “อุตุนิยมวิทยา” คาด “19-20 ก.ย.” เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม จากนั้นอ่อนกำลังลง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 19-23 ก.ย. ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาค ส่วน “ภาคใต้” อาจมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรง


วันที่ 19 กันยายน 2567 นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อนซูลิก ณ ห้องปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา โดยมีนางสาวกรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์  เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร, นาวาตรี สมนึก  สุขวณิช รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายปฏิบัติการ ร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาค ทั้ง 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต  เพื่อรายงานสภาพอากาศในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและเตรียมพร้อมรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที 


นายประเสริฐ กล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการฯ จะมีการ Conference กับสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ร่วมกันประเมินสถานการณ์ของพายุ เพื่อจะได้ข้อมูลช่วยในการประเมินสถานการณ์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น


นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 312/2567 แต่งตั้งคณะกรรมคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ชุดแรก เป็นคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.)  พร้อมทั้งจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการหลักในการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


ด้าน นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้จับตาพายุลูกนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ได้ออกประกาศฉบับแรกแจ้งให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้ การเคลื่อนที่ของพายุดีเปรสชัน เมื่อเวลา 04.00 น.วันนี้ (19 กันยายน 2567)  พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 19-23 กันยายน 2567 และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พายุโซนร้อนซูลิก




“ณัฐพงษ์” กระทุ้งรัฐบาลออก 10 มาตรการเร่งด่วนหลังน้ำลด อัดฉีดเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย-ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว พร้อมแนะมาตรการเชิงรุกปรับปรุงระบบเตือนภัย เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังพัดเข้าไทย

 


ณัฐพงษ์” กระทุ้งรัฐบาลออก 10 มาตรการเร่งด่วนหลังน้ำลด อัดฉีดเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย-ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว พร้อมแนะมาตรการเชิงรุกปรับปรุงระบบเตือนภัย เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังพัดเข้าไทย

 

วันที่ 19 กันยายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

 

ณัฐพงษ์เริ่มต้นกระทู้ถามสดโดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14-15 กันยายนที่ผ่านมา ตนและ สส.พรรคประชาชนได้ลงพื้นที่ไปยังอำเภอเมืองและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด รวมถึงยังได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาล ซึ่งประเด็นหลักที่พบคือ น้ำท่วมคือภัยที่ส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิตและการเงิน เพราะนอกจากบ้านเรือนจะเสียหาย ส่งผลให้ชีวิตประจำวันยากลำบากแล้ว การค้าขายและธุรกิจก็พังเสียหายยับเยินไปด้วย ในขณะที่รายจ่ายและหนี้สินยังคงเดินหน้าทุกวัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยกำลังทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แม้ว่าน้ำจะลดลงไปแล้ว

 

ณัฐพงษ์มองว่า การรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมประกอบไปด้วย 2 ช่วง โดยช่วงแรก “ก่อนภัยมา” สิ่งที่ต้องทำคือการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ป้องกันความสูญเสียให้มากที่สุด ส่วนช่วงที่สอง “หลังภัยมา” สิ่งที่ต้องทำคือการช่วยเหลือ-เยียวยาให้เร็วและทั่วถึงที่สุด รวมถึงการซ่อมแซม-ฟื้นฟูให้วิถีชีวิตกลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุด

 

โจทย์ข้างต้นสามารถแปลงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการได้ 3 ข้อคือ 1. “ลดความเสี่ยง” ด้วยการบริหารจัดการน้ำฝน น้ำท่า และน้ำที่ข้ามพรมแดนมาจากต่างประเทศ 2. “ลดความสูญเสีย” ด้วยระบบการแจ้งเตือนภัย ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการบูรณาการข้อมูลและวางระบบเทคโนโลยีการแจ้งเตือนภัย 3. “ช่วยเหลือ เยียวยา ซ่อมแซม ฟื้นฟู” ด้วยการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ณัฐพงษ์กล่าวว่า จากสถานการณ์เฉพาะหน้าหลังน้ำลด สิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยต้องการให้รัฐบาลจัดการมากที่สุดในขณะนี้ คือการช่วยเหลือเยียวยาและซ่อมแซมฟื้นฟู โดยมี 10 มาตรการที่รัฐบาลควรทำเร่งด่วน ซึ่งบางมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่หลายจุดที่ตนขอให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้

 

1. การจัดตั้งศูนย์กลางประสานความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน

 

2. การยกเว้นค่าน้ำ-ค่าไฟในเดือนกันยายน และลดราคา 30% ในเดือนตุลาคม ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่ น้อยไปหรือไม่ รวมถึงระบบน้ำประปาที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยค่าน้ำประปาให้กับ อปท. ด้วยหรือไม่

 

3. เงินเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไป เพราะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องผ่านประชาคมหมู่บ้าน และต้องผ่านคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด อีกทั้งระยะเวลาดำเนินการยังกำหนดไว้ยาวนานถึง 90 วัน ตนขอเสนอว่า รัฐบาลสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้เลยทันที

 

4. เงินซ่อมแซมบ้าน ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายให้หลังละ 2.3 แสนบาทหากมีความเสียหายเกิน 70% ซึ่งก็เกิดคำถามว่า 70% นั้นวัดจากอะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างก็ไม่ชัดเจน ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรให้เงินซ่อมแซม 10,000 บาททันทีสำหรับบ้านทุกหลังที่ประสบภัย จากนั้นเมื่อสำรวจและประเมินความเสียหายเสร็จสิ้นก็ค่อยจ่ายส่วนต่างที่เหลือตามมา

 

5. การพักชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารรัฐจะพักชำระหนี้ให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนธนาคารเอกชนพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเจรจาให้ธนาคารเอกชนพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเช่นเดียวกับธนาคารรัฐ

 

6. เงินเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวที่ปัจจุบันรัฐบาลชดเชยไร่ละ 1,340 บาท ซึ่งเกษตรกรสะท้อนว่าไม่เพียงพอ เพราะต้นทุนที่เสียหายจริงสูงกว่าที่รัฐบาลประเมินถึง 4 เท่า ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มอัตราเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมตามต้นทุนการผลิตจริง

 

7. งบประมาณซ่อมแซมถนนและทรัพย์สินราชการ รัฐบาลอนุมัติงบกลาง 5.3 พันล้านบาทให้เฉพาะกรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรอนุมัติงบประมาณให้ อปท. เพิ่มเติมด้วย เพื่อซ่อมแซมถนน ไฟส่องสว่าง โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอื่นๆ

 

8. การอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท. มีกำลังในการออกนโยบายฟื้นฟูเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่มากขึ้น

 

9. การกระตุ้นการท่องเที่ยว ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ โดยเดิมรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ตนขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เมืองน้ำลด” ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก 15,000 บาท รวมเป็น 30,000 บาท

 

10. การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการ ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอว่ารัฐบาลควรให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% เพื่อให้ประชาชนนำมาเร่งฟื้นฟูกิจการธุรกิจร้านค้าโดยเร็ว

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะมีพายุลูกใหม่พัดเข้าประเทศไทยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกระลอก ดังนั้น โจทย์สำคัญของการรับมือภัยพิบัติในระยะกลางและระยะยาว คือการลดความเสี่ยงและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

 

โดยในส่วนของการลดความเสี่ยง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือแผนที่เสี่ยงภัยและระบบคาดการณ์น้ำท่วม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำทั้งระบบ ไม่ว่าจะน้ำฝนหรือน้ำท่า โดยต้องมีการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบชลมาตรหรือเครื่องมือวัดระดับน้ำที่ครอบคลุมและทั่วถึง ส่วนน้ำจากต่างประเทศ เช่น น้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน รัฐบาลต้องหารือในระดับพหุภาคีระหว่างประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูลน้ำร่วมกัน

 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายจัดทำข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง โดยในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ได้มีการเปิดเผยข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลกเป็นสาธารณะแล้ว รัฐบาลไทยจึงควรสั่งการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีข้อมูลนี้อยู่ ทั้งการไฟฟ้า การประปา และไปรษณีย์ไทย ให้เปิดเผยเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ตามมาตรฐานสากล

 

ส่วนการป้องกันความสูญเสีย สิ่งที่ต้องทำคือระบบแจ้งเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ แต่ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Braodcast) ที่รัฐบาลให้ข่าวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่าขอเวลา 1 ปีจะใช้งานได้ ปัจจุบันก็ยังใช้งานไม่ได้จริง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ขณะที่หอเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ ก็แทบไม่เคยมีการใช้งาน ไม่มีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์ เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สายที่ไม่มีการแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัยแต่อย่างใด รวมถึงแผนเผชิญเหตุซึ่งมีอยู่แล้วในทุกจังหวัด แต่กลับไม่เคยถูกซักซ้อม เจ้าหน้าที่และประชาชนไม่รู้วิธีปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็ไม่พร้อม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกในอนาคต ประชาชนก็จะยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายเช่นเดิม

 

จากแผนเผชิญเหตุที่มีอยู่แล้วทั้งประเทศ ตอนนี้มีคำสั่งจากท่านนายกฯ หรือมีแนวนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือยัง ที่จะหยิบแผนเผชิญเหตุเหล่านี้มาซักซ้อม เพื่อให้ทั้งคนและเครื่องมือมีความพร้อมก่อนที่พายุลูกใหม่จะเข้ามา จนอาจเกิดเหตุภัยพิบัติอื่นๆ อีกในอนาคต” ณัฐพงษ์กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน

พี่สาว"วันเฉลิม"ร้องกมธ. มั่นคงฯ ถูกคุกคาม-ขึ้นบัญชีดำ ถามผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย เป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร โรมรับเรื่อง เตรียมเอาเข้าที่ประชุม กมธ.ต่อไป

 


พี่สาว"วันเฉลิม"ร้องกมธ. มั่นคงฯ ถูกคุกคาม-ขึ้นบัญชีดำ ถามผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย เป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร โรมรับเรื่อง เตรียมเอาเข้าที่ประชุม กมธ.ต่อไป


วันที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 13.15 น. ณ จุดรับยืนหนังสือ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ รับยื่นหนังสือจากน.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบกรณีถูกคุกคาม ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สืบเนื่องจากกรณี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกลักพาตัวบริเวณแม่โขง การ์เดน คอนโดมิเนียม กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งก่อนการถูกบังคับให้สูญหาย นายวันเฉลิมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย และได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ หลังการรัฐประหารในปี 2557 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมานับแต่นายวันเฉลิมถูกบังคับให้สูญหาย


ซึ่งน.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และตามหานายวันเฉลิมมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าในระหว่างการออกมาเรียกร้องนั้นกลับถูกติดตาม คุกคาม ข่มขู่ และปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการตามหาน้องชาย จึงขอให้ประธานคณะ กมธ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการติดตามคุกคาม ปิดกั้นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกันนายวันเฉลิมมากกว่า 3 ครั้ง ที่มาในรูปแบบเจ้าหน้าที่ปิดล้อม จำกัดสิทธิ เสรีภาพ และห้ามจัดแสดงงานรำลึกของนายวันเฉลิมในวันผู้สูญหายสากล เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 จึงตั้งคำถามว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร


ทางด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทนายความที่ติดตามคดีมาตั้งแต่ต้น ระบุว่าในฐานะนักสิทธิมนุษยชนมักจะถูกติดตามและคุกคามเป็นประจำ กรณีของนางสาวสิตานันผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ถือว่ายังเป็นผู้เสียหายที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับทุกคน


"เรามาเรียกร้องเรื่องความปลอดภัยของนักสิทธิมนุษยชนและทนายความที่ไม่สมควรถูกขึ้นบัญชีดำ เราอยากให้ทุกคนปลอดภัย การขึ้นบัญชีดำในรัฐบาลทหารเป็นการยอมรับโดยประเพณี แต่ขณะนี้มีรัฐบาลจากประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง การขึ้นบัญชีดำจึงถือเป็นความไม่ชอบธรรมและไม่อาจกระทำได้ ขณะที่ในวันผู้สูญหายสากล พวกเราถูกคุกคามโดยสั่งให้ผู้เป็นเจ้าของสถานที่ยุติการแสดงความคิดเห็นบางกรณี สั่งปลดรูปลงและไม่ให้เปิดตัวหนังสือของนางสาวสิตานั้นที่ได้เขียนบันทึกไว้จึงตั้งคำถามว่ามีผู้ส่วนเกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เปิดตัวหนังสือนี้ใช่หรือไม่" นางสาวพรเพ็ญกล่าว


ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญของการเมืองการปกครอง เป็นเรื่องใหญ่เพราะการที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งเป็นภัยต่อรัฐ ซึ่งจากเอกสารหลักฐานมีความน่าเชื่อถือ หากพิจารณาจากพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องสร้างความกระจ่างชัดเจนให้เกิดขึ้นเพราะวิธีการในการที่จะป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานที่ดีที่สุดคือ การทำให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะ กมธ. ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธความมั่นคง #ต้าร์วันเฉลิม #วันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ #ถูกบังคับให้สูญหาย #ผู้ลี้ภัยการเมือง




วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2567

อัยการสูงสุด​ สั่งฟ้อง​ 8​ ผู้ต้องหาคดีตากใบ​ เร่งตร.ตามตัวแจ้งข้อหาให้ทันสั่งฟ้อง 25 ต.ค.ก่อนหมดอายุความ​ ปัดตอบปมใช้เวลาพิจารณานาน

 


อัยการสูงสุด​ สั่งฟ้อง​ 8​ ผู้ต้องหาคดีตากใบ​ เร่งตร.ตามตัวแจ้งข้อหาให้ทันสั่งฟ้อง 25 ต.ค.ก่อนหมดอายุความ​ ปัดตอบปมใช้เวลาพิจารณานาน


วันนี้​ (18 กันยายน 2567) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อม​นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด​ และนายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกันแถลงข่าวคำสั่งอัยการสูงสุดคดีตากใบก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25​ ตุลาคมนี้


นายประยุทธ​ กล่าวว่า​ ทางอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยได้รับทั้งสองสำนวนคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 


จากนั้น อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น จนต่อมาวันที่ 12 ก.ย. อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ในการนำตัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร


โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 


ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งทางอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มารับทราบข้อหากล่าว ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง โดยขาดอายุความอายุความคดีอาญา 20 ปี


ส่วนสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ตัวผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียง พล.อ.เฉลิมชัย เป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันทั้งในสำนวนคดีของตำรวจและคดีของราษฎร ส่วนจะมีรวมสำนวนคดีทั้งของตำรวจและราษฎรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล สำหรับการพิจารณาในเรื่องของอายุความ ขึ้นอยู่กับที่ศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้แล้ว ในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีข้อมูล


ในสำนวนคดีของราษฎร ซึ่งมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ต้องหานั้น ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้งมีหมายเรียกและมีหนังสือด่วนที่สุดให้ พล.อ.พิศาล แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้ พล.อ.พิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ต.ค.นี้


ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การที่คดีตากใบใช้เวลาพิจารณานานมาจากเหตุผลใด แต่ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกมีการใช้เวลาสั่งฟ้องนาน และย้ำว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ละคร


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คดีตากใบ