งานปิดนิทรรศการ “วิสามัญ ยุติธรรม” #10ปีรัฐประหาร57
โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน
26 พฤษภาคม 2567
นี่คือฉากจบของกิจกรรม
Catch me
if you can ครับ ผมแอบได้ 11 วัน
เรื่องมีอยู่ว่ามีนายทหารกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะเกษียณ แล้วจริง ๆ ผมซีเรียสนะ
ผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสังคมผู้สูงอายุ คือคนกลุ่มนี้กังวลว่าเมื่อเกษียณแล้วไม่รู้จะทำอะไรดี
ซึ่งเป็นวิกฤตของวัย เพียงแต่ว่าเขามีตำแหน่งหน้าที่เป็นทหาร
เขาจึงใช้โอกาสและวิกฤตของสังคมไทยในทางการเมืองเพื่อต่ออายุความเป็นคนหนุ่มสาวของเขา
โดยการยึดอำนาจและยึดทีวีครับ
ผมมารู้ว่าผมเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในวันที่
23 พฤษภาคม 2557 ในประกาศฉบับที่ 3 ของคสช. ผมอยู่ในอันดับรายชื่อที่ 60
คือมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแฟนตาซีที่เราจะได้เห็นว่าชื่อของเรานั้นได้มีการเอ่ยในทีวีรวมการเฉพาะกิจครับ
หมายความว่าทีวีทุกช่องเขาจะพูดชื่อคุณ แล้วก็ขอให้ เป็นการร้องขอนะครับ
ขอให้มารายงานตัว จริง ๆ แล้วปกติเวลามีใครมาขอผมให้ทำอะไร
ส่วนใหญ่ผมจะไม่ค่อยปฏิเสธครับ เผอิญตอนนั้นประการแรกเลย 1) ผมไม่ว่าง ประการที่ 2
ผมไม่รู้จักว่าไอ้องค์กรที่ชื่อว่าคสช.นั้น มันเป็นองค์กรประเภทไหน
ประเทศเราไม่เคยมีองค์กรนี้มาก่อนเลยครับ อยู่ดี ๆ มาเรียกผมไปรายงานตัว
เป็นเรื่องที่ผมไม่สามารถเข้าใจได้นะครับ
ต่อให้ผมไม่เข้าใจเรื่องนี้นะครับ
แต่ว่ามันมีผลบังคับใช้เมื่อคุณถูกเรียกชื่อในทีวี และถ้าคุณไม่ไป
ในประกาศครั้งแรก การไม่ไปไม่มีความผิดนะครับ แต่หลังจากที่ผมไม่ไปปุ๊บ
เขาก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งเรียกผมไป แล้วก็บอกว่าถ้าผมไม่ไป ผมมีความผิด
นั่นจึงเป็นที่มาที่ผมได้รับโอกาสไปนอนที่ค่ายทหารเป็นครั้งที่สองในชีวิต
และเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่กระบวนการบนชั้นศาลทหารนะครับ
ผมจะเล่าเรื่องก่อนหน้านั้นนิดหน่อยตอนที่ผมหลบอยู่
11 วัน อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง เอาจริง ๆ แล้วมันนับไม่ได้ว่าเป็นการพักผ่อนนะ
เพราะว่าผมนอนอยู่บ้านหลังนั้น 11 วัน
โดยที่ผมไม่เคยก้าวย่างออกจากบ้านหลังนั้นเลยนับตั้งแต่ผมเดินเข้าไป
แล้วผมไม่รู้ว่าที่ผมไปนั้นอยู่ที่ไหน เอาจริง ๆ ผมไม่ทราบ
ผมรู้แต่ว่าอยู่จังหวัดชลบุรี เพื่อนผมคนหนึ่งเพิ่งจะเช่าบ้านอยู่ เขาย้ายบ้าน
ได้ทำงานที่บริษัทใหม่ แล้วก็ได้ยินว่าผมกำลังหาที่พัก เลย offer
ให้ผมไปพักได้ หมายความว่าก็รู้จากในทีวีแหละครับว่าทางทหารเรียกให้ผมไปรายงานตัว
ผมก็เลยไปบ้านพักหลังนั้นโดยมีเพื่อนคนหนึ่งขับรถไปส่งผม และผมไม่เคยออกมาเลย
ถึงทุกวันนี้ผมยังไม่ทราบนะครับว่าทำไมคสช.จึงสามารถตามตัวผมได้
ณ บ้านหลังนั้น แต่มีข้อพิรุธอย่างหนึ่งที่ผมได้กระทำไว้ก็คือ หลังจากที่ผมถูกควบคุมตัวแล้ว
ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกกับผมว่าเขามาเฝ้าบ้านหลังนี้ 2 วันแล้ว
และเขามั่นใจว่าผมอยู่ในบ้านหลังนั้น
ด้วยเหตุผลเพราะว่าตอนเช้าเพื่อนผมขับรถออกไปทำงาน
แต่ไอ้บ้านหลังนี้มันเปิดแอร์ไม่หยุดเลยครับ น้ำมันหยดครับ เลยจับได้ว่ามีคนอาศัยอยู่
แล้วสันนิษฐานว่าผมอยู่ในนั้น วันหลังถ้าใครจะหลบนี้อย่าเปิดแอร์นะครับ
อันนี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของผม ให้เปิดพัดลมอะไรก็ได้ทนไปนะครับ
สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับผมก็คือว่า
ผมได้เริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า Catch me if you can เป็นกิจกรรมในการที่จะ
“แมวไล่จับหนู” ผมก็พยายามเป็นหนู วิ่งหนีไปมา เพื่อใช้กิจกรรมตรงนี้เป็นวิธีการตอบโต้กับรัฐในเวลานั้นว่า
จะเรียกว่ารัฐได้หรือเปล่าครับ คือตอบโต้กับคณะรัฐประหารในเวลานั้นว่า
ผมไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารของพวกเขา
สิ่งที่เขาทำนะครับ
1) เขาอายัดบัญชีผม การอายัดบัญชีผมไม่เท่าไหร่ ผมเป็นกรรมการอีก 4 มูลนิธิ
และผมเป็นกรรมการ 1 ใน 3 ของผู้มีอำนาจในการลงนามในการเบิกเงินของมูลนิธีเวลาทำธุรกรรมต่าง
ๆ ปรากฏว่ามีมูลนิธิแห่งหนึ่งถูกอายัดบัญชีหมดมูลนิธิเลย เพราะว่าผมเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจเซ็นลงนาม
ดังนั้น เงินที่ถูกอายัดบัญชีจึงไม่ใช่บัญชีผมเท่านั้น เป็นบัญชีของมูลนิธิอื่นด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน
มีอีกมูลนิธิหนึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีเหตุอันควรบางประการในการที่จะไปแก้ไขระเบียบของมูลนิธิ
ปรากฏว่ามูลนิธิได้ส่งเรื่องไปถึงสำนักงานเขตที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนระเบียบของมูลนิธิ
ปรากฎว่าทางสำนักงานเขตไม่อนุมัติให้มีการแก้ไขระเบียบของมูลนิธิด้วยเหตุผลว่า
มีชื่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งเป็นบุคคลภัยความมั่นคงฯ เป็นกรรมการอยู่ พอผมรับทราบเรื่องนี้
เป็นหน้าที่ของผมหลังจากนั้น ผมลาออกจากทุกมูลนิธิที่ผมเป็นกรรมการอยู่หมดสิ้นเลย
ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ผมยังไม่กล้าไปเป็นกรรมการมูลนิธิใด ๆ อีกเลย
นี่เป็นผลพ่วงที่เกิดขึ้น
หลังจากอายัดบัญชีแล้ว
สิ่งที่เขาทำต่อไปก็คือ เขาพยายามจะหาตัวผมให้เจอ
เนื่องจากว่าผมไปแอบอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งที่เปิดแอร์ ปรากฏว่าเขาพยายามจะหาข้อมูลว่าผมนั้นไปแอบซ่อนอยู่ที่ไหน
จึงไปหาลูกสาวผม เผื่อลูกสาวผมจะรู้ว่าผมนั้นอยู่ที่ไหน แต่ผมไม่ได้บอกลูกสาวว่าอยู่ที่ไหน
มีอยู่วันหนึ่ง
ทหารได้ขับรถไปที่หน้าโรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนอยู่ตอนเย็นก่อนที่จะเลิกเรียน
ทางโรงเรียนก็ติดต่อมาที่ครอบครัว บอกว่าตอนนี้มีรถทหารรออยู่ที่หน้าโรงเรียน
ขอให้ผู้ปกครองมารับลูกสาวผมออกไป
พอผมทราบเรื่องนี้ก็ประสานงานให้เพื่อนฝูงที่อยู่ที่จังหวัดเชียงรายขับรถไปรับลูกสาวผมออกมาจากโรงเรียน
แล้วผมก็โพสต์เรื่องนี้ลงในโซเชียลมีเดียว่าลูกสาวผมถูกคุกคามที่โรงเรียน
มีสื่อมวลชนฉบับหนึ่งไปสอบถามทหารที่เชียงรายที่มีตำแหน่งในเวลานั้น
ถามว่าทหารไปดักรอลูกสาวผมอยู่ที่นั่นทำไม เขาอธิบายบอกว่า
เขายอมรับว่าทหารได้ไปที่โรงเรียนแห่งนั้นจริง แต่มีวัตถุประสงค์ที่ดีครับ
เห็นว่าบิดาของเขาถูกอายัดบัญชี เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องทุนการศึกษา จึงขออนุญาตเชิญลูกสาวผมไปรับทุนการศึกษาในค่ายทหาร
นี่มันเป็นเรื่องจริง ดูมันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก ๆ สำหรับคำตอบนี้นะครับ
นั่นก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผมแอบอยู่ที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งนั้น
11 วัน หลังจากนั้นก็มีตำรวจและทหารเข้ามาควบคุมตัวผม
แล้วก็มัดตาผมและพาผมมาที่สถานที่แห่งหนึ่ง ผมพยายามจะถามว่าปิดตาผมทำไม
คนที่เปิดตาให้ผมได้คือทหารนะครับ ผมไม่รู้เลยว่าผมไปที่ไหน
แต่ผมขออนุญาตสดุดีนายตำรวจท่านหนึ่งครับ ในขณะที่ผมถูกจับกุมแล้ว
นายตำรวจท่านหนึ่งท่านนั้นบอกผมว่า เขาไม่ทราบว่าเขากำลังมาจับกุมใคร
เขากำลังตามเฟซบุ๊กผมอยู่เหมือนกัน คือตามในฐานะคนเป็นแฟนคลับนะครับ
แล้วเขาตกใจมากที่พบว่าคนที่เขามาจับนั้นคือผมเอง แล้วเขารู้สึกเสียใจ
เขาบอกผมว่า
คุณสมบัติ คุณเก็บข้าวของที่จำเป็นใส่กระเป๋าและจะต้องเดินทางออกจากบ้านหลังนั้น
ผมก็พยายามจะเก็บข้าวของที่ผมกังวลมากที่สุดคือโทรศัพท์มือถือครับ
ผมได้เอาโทรศัพท์ผมไปซ่อนไว้ที่ตู้เสื้อผ้า แอบไว้
ผมไม่อยากให้เขาได้โทรศัพท์มือถือ ขณะที่คอมพิวเตอร์ของผมได้เปิดลงเรียบร้อยแล้ว
ผมพิมพ์คำสุดท้ายว่า “ผมถูกจับแล้ว” แล้วผมก็ปิดคอมพิวเตอร์ลงมีพาสเวิร์ดเรียบร้อย
จากนั้นถ้าเขาเปิดเขาไม่สามารถเปิดคอมพิวเตอร์ผมได้ แต่ผมต้องแอบเอาโทรศัพท์ไปซุกไว้
ปรากฏว่าตำรวจมาค้น ก็เป็นธรรมดานะครับหลังจับกุมเสร็จเขาก็ค้นโน่นค้นนี่
ค้นไปค้นมาไอ้โทรศัพท์ผมมันตกลงมาข้างหน้านี้เลยครับ ผมยืนสตั๊นเลย
ผมไม่รู้จะทำยังไง มองหน้าจ้องตากับตำรวจอยู่ เขาก็บอกผมว่า “คุณสมบัติ เอาไปเก็บ”
ผมก็เลยเอาไปเก็บอีกทีครับ
อันนี้เป็นความกรุณาอย่างมากผมบอกไว้ก่อน ผมจำหน้ากับชื่อเขาไม่ได้แล้วนะครับ
แล้วก็อย่ามาถามผมว่าตำรวจนายนั้นเป็นใคร ตำรวจคนนั้นถามผมว่ามีอะไรที่ผมกังวลบ้าง
ผมบอกเขาว่าผมไม่แน่ใจว่าทหารจะพาผมไปที่ไหน
ทำยังไงผมจะแน่ใจว่าการถูกจับกุมผมในครั้งนี้จะเป็นที่รับรู้ทางสาธารณะได้
หมายความว่าไม่ใช่มีแค่คนที่จับกุมผมเท่านั้นที่รู้ว่าผมถูกจับกุมแล้วไปไหน
นายตำรวจคนนั้นบอกกับผมบอกว่า เขารับปาก เขาจะดูแลเรื่องนี้ให้ผม เขาจะขับรถตามไปจนถึงที่ที่ผมอยู่
แล้วผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว
ผมก็เดินผ่านมาถึงที่อีกแห่งหนึ่ง
ผมไม่รู้ว่าที่ไหนนะ แต่ผมก็เดาว่าจะต้องเป็นค่ายทหาร แล้วก็พามาในห้องแบบหนึ่ง
แล้วเตียงที่เห็นอยู่นี้เป็นเตียงที่ผมนอนจริง ๆ ห้องที่อยู่นี้ถือว่าเป็นห้อง VIP ครับ
เพราะว่ามีแอร์ตัวหนึ่งตั้งอยู่ แอร์ที่ค่อนข้างใช้ได้แม้ว่าอาคารหลังนั้นจะเก่าแต่แอร์นี่ใช้ได้เลยนะครับ
เย็นดีมาก แต่ปัญหาของห้องนี้ก็คือว่าเขามีแอร์ที่เย็นแต่ไม่มีผ้าห่มครับ
ผมอยู่ที่นั่น 9 วันครับ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายมีอำนาจควบคุมผมเพียงแค่ 7 วัน
ผมจะพูดถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นและผมเรียนรู้ในขณะที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในค่ายทหาร
ในค่ายทหารถ้าคุณจะเห็นในรูปนี้
มันเป็นภาพที่ผมขอให้ทางผู้จัดงานช่วยทำภาพนี้ให้
ผมอยู่ในที่ที่หนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตบอกว่าที่ตรงนั้นคือที่ไหน
นอกจากไม่อนุญาตแล้ว ในห้องนั้นยังมีหน้าต่างแบบนี้อยู่
และหน้าต่างนี้มีกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดอยู่ด้วยซ้ำ
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นความหวังดีหรือเปล่า
ป้องกันรังสียูวีที่จะเข้ามากระทบกับเตียงนอนผมใช่มั้ย ไม่ใช่นะครับ
เขาไม่ต้องการให้ผมมองออกไปข้างนอกว่าข้างนอกมันมีอะไร หรือตรงนี้อยู่ที่ไหน
ในขณะที่วันแรกที่ผมไปถึงมีนายทหารคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เขามาคุยกับผมว่า
คุณสมบัติ คุณต้องการอะไรพิเศษมั้ยในขณะที่คุณจะต้องอยู่ที่นี่
ผมบอกว่าผมอยากจะได้หนังสืออ่านเพราะผมไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย ด้วยความกรุณาครับ วันรุ่งขึ้นนายทหารท่านนั้นนำหนังสือมาให้ผมอ่าน
เป็นหนังสือธรรมะครับ
ผมอยู่ภายใต้การดูแล
เขาบอกว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่ผมคนแรกที่มาอยู่ เขาเรียกสิ่งนี้ว่าบ้านรับรอง VIP ผมได้เป็น
VIP แล้ววันหนึ่งผมก็เปิดบทสนทนากับนายสิบคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าชุดดูแลความปลอดภัยของ
VIP ผมอธิบายก่อนว่าเขาจะมีหัวหน้าชุดอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นนายสิบ
แล้วก็จะมีเด็กหนุ่ม ๆ อีก 10 คน ถือปืนกลสั้นทาโวร์ ผมรู้ขนาดนั้นเพราะว่าผมไม่รู้จะถามเรื่องอะไร
ผมถามถึงว่าไอ้ปืนนั่นเรียกว่าปืนอะไร รุ่นไหน ผมรู้ว่าทาโวร์เป็นปืนของอิสราเอล
วันหนึ่งผมก็ใจกล้าเริ่มเปิดประเด็นสนทนา ผมก็บอกนายสิบคนนี้ว่า พี่ พูดตรง ๆ นะ
ผมคิดว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ที่ผู้ต้องหาอย่างผมจะถูกควบคุมตัวไว้ในที่นี้
และไม่สามารถใช้โทรศัพท์สื่อสารกับคนสนิท คนที่ผมไว้วางใจ หรือทนายความได้
และผมไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าผมอยู่ที่ไหน? หลักการนี้มันผิด!
เพราะว่ายังไงผมเป็นผู้ต้องหา ผมควรจะมีสิทธิ ผมเคยมีประสบการณ์ถูกดำเนินคดีมาหลายคดี
อันนี้เป็นต้นทุน ใครที่เคยโดนคดีมาก่อน คิดในแง่ดีแบบผมครับ ใช้ข้อมูลนี้ไปต่อรอง
ปรากฏว่า
เขาบอกว่า คุณสมบัติ คุณไม่ใช่ผู้ต้องหา คุณเป็น “เชลย”
คือผมรับรู้สถานะที่แท้จริงเลย
คือผมไม่เข้าใจตอนที่ผมอยู่หลายวันที่ผมอยู่ในค่ายทหารนั้น
ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผมถูกปฏิบัติแบบนี้ แล้วมันอึดอัดใจมาก หัวมันจะหมุนวิ่งหมุนไปหมุนมา
ผู้รู้สึกว่ามันอธิบายไม่ได้ มันไม่ยุติธรรม พอเขาบอกว่าผมเป็น “เชลย”
เท่านั้นแหละ เคลียร์ ผมเลิกวอแวเลยและนี่คือสถานะที่แท้จริงของผม
ผมลืมเล่าฉากหนึ่งซึ่งสำคัญ
เป็นฉากที่ยังไงผมไม่มีทางลืมภาพนั้น ตอนที่เขาทุบประตูห้องแล้วบอกให้ผมเปิดประตู
เสียงดังมาก คือในขณะที่ผมกำลังพิมพ์ว่าผมถูกจับแล้ว ผมยังไม่ได้ใส่เสื้อ
ใส่กางเกงแค่ตัวเดียว เมื่อพิมพ์เรียบร้อย เสียงประตูก็ดังปี้งปังอยู่
ผมก็ไปเอาเสื้อมาใส่ แล้วผมก็เปิดประตูออกไป ผมเห็นคนประมาณ 10 คนยืนซ้อนกัน
แต่ทุกคนถือปืนแล้วก็ส่องมาที่ผม คือภาพที่คุณเปิดประตูออกไปแล้วคุณเห็นปืน
คือผมไม่เคยถูกคนเอามีดมาจี้ เอาเงินมา เอาโทรศัพท์มา
ผมไม่เคยมีประสบการณ์ถูกใช้อาวุธข่มขู่
และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีประสบการณ์ในระดับที่เรียกว่าพรีเมี่ยม
ตำรวจให้เหตุผลว่าที่เขาจะต้องเอากำลังและต้องทำอะไรขนาดนั้นเพราะว่า
เขาคิดว่าคนระดับ บก.ลายจุด
หากมีการหลบหนีจะต้องมีมือปืนหรือคนมีสีคอยคุ้มกันความปลอดภัย เขาคิดว่าเป็นแบบนั้น
กลับมาเกี่ยวกับเรื่องการรัฐประหาร
เป็นเรื่องที่ผมได้มีประสบการณ์ขึ้นศาลทหาร คือผมไม่เคยมีจินตนาการแม้ว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังผ่านปี
53 มาแล้ว เป็นคดีความมา ผมเคยถูก พล.อ.สนธิกับพล.อ.สพรั่ง ฟ้องมา เคยขึ้นศาล
เคยต่อสู้กับทหาร แต่ว่าผมไม่เคยมีจินตนาการเลยว่าผมจะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร
แต่เมื่อทบทวนคำตอบที่นายสิบคนนั้นบอกว่า “คุณเป็นเชลย” คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ได้
แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ไม่แฟร์มาก
ๆ เพราะขณะที่คุณเข้าไปในศาลทหาร และคนที่ฟ้องคุณก็เป็นอัยการทหาร
และคนที่นั่งบนบัลลังก์อยู่ตรงหน้าทั้ง 3 คน เป็นตุลาการศาลทหาร ขณะที่ผมยืนอยู่ตรงนั้นผมไม่รู้เลยว่าผมจะต่อสู้ยังไง
ผมข้ามเรื่องสำคัญที่ถ้าผมไม่พูดวันนี้คงไม่ได้ เพราะลูกชายของเขาอยู่ในที่นี้
วันที่ถูกส่งตัวออกจากค่ายทหารและมาที่สโมสรกองทัพบกเพื่อมาทำคดีและส่งเรื่องต่อถึงกระบวนการยุติธรรม
ผมโดนคดีแรกคือขัดขืนคำสั่ง
คสช. คดีที่ 1 ต่อมาอันที่ 2 ผมโดนคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากไปโพสต์ในอินเตอร์เน็ต
ไปบอกว่าไอ้พวกนี้มันเป็นพวกยึดอำนาจ รัฐประหาร ทำลายการปกครอง ล้มการปกครอง
อันที่ 3 ผมโดนมาตรา 116 ภัยความมั่นคง ตอนที่ผมติดอยู่ในคุก ผมถูกฟ้องมาตรา 112
ผมสาบานได้เลยว่าในขณะที่สู้โดยการแอบอยู่ คือสู้นะเนี่ย
ผมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าผมทำสิ่งนั้นโดยสำนึกของพลเมืองเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ผมคิดว่าผมเป็นพลเมืองดี
ตอนเด็ก
ๆ ผมถูกสอนว่าเราเด็ก ๆ ต้องเป็นพลเมืองดี รักษากฎหมาย อย่าทำผิดกฎหมาย
แล้วมีคนเอาอาวุธสงครามมายึดอำนาจ ล้มล้างการปกครอง ผมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ผมพิทักษ์กฎหมาย ผมผิดยังไง? มันผิดก็แล้วกัน ปรากฎว่าก็จับผมไปอยู่ค่ายทหาร 9 วัน
แล้วก็เอามาส่งตัว คนแรกเลยที่ผมเจอซึ่งไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ทหาร
ไม่ใช่แม่บ้านในสโมสรตำรวจ ตำรวจคนหนึ่งเดินมาบอกผม บอกคุณสมบัติมีคนอยากพบคุณ
ใครครับ “ทนายอานนท์ นำภา” ผมบอกว่าไปเอาเขามาเลยครับ ตำรวจคนนั้นบอกว่า
คุณไม่ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องให้เขาเข้ามาหรอก
นี่มันกระบวนการธรรมดาปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ทางที่ดีก็ไม่ต้องให้เข้ามา แต่ผมยืนยันให้
“อานนท์ นำภา” เข้ามา และแล้ว “อานนท์ นำภา” เป็นคดีความในคดีของผมที่ผมถูกดำเนินการในครั้งนั้นทั้งหมด
ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องราวช่วงสั้น
ๆ ผมอาจจะเล่าเหตุการณ์ที่ผิดปกติในกระบวนการยุติธรรมผ่านเรื่องราวที่ผมเผชิญอยู่
แต่ผมอยากจะบอกว่าประเทศไทยนั้นไม่ใช่หนังเรื่อง “Catch me if you can” การเมืองไทยเป็นการเมืองที่คล้าย
ๆ กับภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งที่มีด้วยกันหลายตอน แล้วมันจะสลับมาเรื่อย ๆ
เมื่อโอกาสมาถึง ภาพยนตร์ไทยเรื่องนั้นชื่อว่า “บ้านผีปอบ” แล้วมันจะมีภาค ๆ
หมุนไปหมุนมาแบบนี้ ผมก็หวังว่าเทรนด์เรื่องบ้านผีปอบจะได้จบไป
และพวกเราจะได้กลับสู่ความปกติ และขอให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกคนครับ
ขอบคุณครับ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วิสามัญยุติธรรม #10ปีรัฐประหาร #10ปีศูนย์ทนายฯ