วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567

'ทนายอั๋น' ยื่น 'สว.นันทนา' สอบ 'อุดม-ตุลาการศาลรธน.' ผิดจริยธรรม ปมเสียดสียุบก้าวไกล 'นันทนา'จ่อยื่นญัญติด่วน หนุนตั้งสสร.ร่างรธน.รื้อองค์กรอิสระ

 


'ทนายอั๋น' ยื่น 'สว.นันทนา' สอบ 'อุดม-ตุลาการศาลรธน.' ผิดจริยธรรม ปมเสียดสียุบก้าวไกล 'นันทนา'จ่อยื่นญัญติด่วน หนุนตั้งสสร.ร่างรธน.รื้อองค์กรอิสระ


วันนี้ (23 สิงหาคม 2567) ที่รัฐสภา นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ เข้ายื่นหนังสือต่อ รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวถึงการยุบพรรคก้าวไกล ในงานบรรยายเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา


โดยนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า นายอุดม เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นบุคคลที่ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่แสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสม ตนเองในฐานะประชาชนขอตั้งคำถามว่า พฤติกรรมของนายอุดมเหมาะสมกับการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่


"การมายื่น สว. ในครั้งนี้ เพราะ สว.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการสรรหาบุคคล มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ดำเนินการตรวจสอบ หรือใช้กลไกในทางอำนาจอื่นในการตรวจสอบ โดยหลังจากนี้ ตนเองจะไปยื่นต่อที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ช.) ต่อไป"


ด้าน รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า ทางกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ สว. ในการถอดถอน แต่สามารถยื่นญัตติเพื่อจะนำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายกันในสภา เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องจริยธรรม และบทบาทของตุลาการ เพื่อดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยอาจจะยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมกันเอง โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ


ส่วน ฝั่ง สว.จะมีการยื่นญัติด่วนเพื่อให้ถกเถียงกันหรือไม่นั้น รศ.ดร.นันทนา ยืนยันว่า จะยื่นญัติในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภา ว่าจะวินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือจะให้อภิปรายในสภาได้หรือไม่


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงคำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนดังกล่าว ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า ถ้าจะใช้คำที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในการถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องใช้คำว่า “วิญญูชน” ย่อมตระหนักได้ว่าคำกล่าวนั้น เหมาะสมหรือไม่กับสถานะที่เป็นตุลาการ


ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้ตุลาการคนดังกล่าวลาออกจากตำแหน่ง เพราะถือเป็นกาดำในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า หากอยู่ในสถานะที่เป็นคนให้คุณให้โทษ มีอำนาจอย่างกว้างขวาง มาแสดงบทบาทที่อาจจะไม่เป็นที่เหมาะสมในสถานะ และทำให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง ถ้าเป็นการพิจารณาตนเองก็เป็นสิ่งที่สาธารณะชนอยากจะเรียกร้อง แต่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่สื่อสารออกมาว่า จะหันกลับไปพิจารณาตนเองหรือไม่


สำหรับกรณีที่ สส. ระบุว่า จะต้องร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระนั้น ในส่วนของ สว. จะมีการร่วมกันรวมเสียงเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ รศ.ดร.นันนทนา ระบุว่า ส่วนตัวมีความเห็นด้วย ว่าโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญ ปี 60 ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และมีขอบเขตอำนาจที่ล้นเกิน จึงต้องกลับมามองว่ารัฐธรรมนูญข้อบัญญัติที่มีปัญหา หากจะแก้ปัญหาที่สาเหตุ คือต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้งให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ร่างคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ตรง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ทนายอั๋น