วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567

22 คณะราษฎร ไต่สวน-สืบพยาน ในคดี “คดี 19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร” เมื่อปี 63

 


22 คณะราษฎร ไต่สวน-สืบพยาน ในคดี #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร เมื่อปี 63


วันนี้ (7 สิงหาคม 2567) ที่ศาลอาญารัชดา แกนนำคณะราษฎรได้มีการนัดรวมตัวกันที่โรงอาหารของศาลอาญารัชดา  เวลา 8.30 น. ก่อนจะขึ้นฟังการไต่สวน ที่ห้องพิจารณาคดี 912 เวลา 9.00 น.


โดยในคดีนี้นั้น จากเหตุที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญบางส่วนให้ฝ่ายจำเลยตามที่ทนายจำเลยร้องขอ และในพยานเอกสารที่ออกหมายเรียกให้แล้ว หน่วยงานที่ครอบครองเอกสารยังไม่จัดส่งเอกสารให้ ซึ่งกรณีนี้จะทำให้การสู้คดีดำเนินต่อไปอย่างไรนั้น


นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ในคดีนี้ผู้ปราศรัยส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องที่รัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ที่เยอรมัน โดยทางฝ่ายโจทย์ได้ฟ้องว่าเป็นการพูดเท็จ เราก็เลยต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นความจริง และขอให้มีการออกหมายเรียกพยาน ซึ่งเป็นตารางการบิน ไปที่การบินไทย ซึ่งในตอนแรกก็ถูกบรรจุไว้ในบัญชีพยานในวันที่นัดพร้อม เป็นที่ตกลงร่วมกันทั้งฝ่ายโจทย์ ฝ่ายจำเลย และศาล ที่ต้องออกหมายเรียกในเรื่องนี้


ซึ่งการที่จะให้เราต่อสู้คดีอย่างเต็มที่นั้น มีอยู่ 2 ประเด็น

1. คือการยืนยันว่า ศาลต้องออกหมายเรียก ซึ่งเป็นพยานสำคัญที่เราจะใช้ซักค้านพยานฝ่ายโจทย์ว่า ระหว่างที่เราทำกิจกรรมชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ 19 - 20 กันยายน 2563 นั้น รัชการที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ที่ประเทศไทย

 

2. ในการต่อสู้คดีนี้นั้น ทางด้าน อานนท์ นำภา” ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงเกิดความลักลั่น ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากเสนอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งถ้า “อานนท์” ยังถูกคุมขังเช่นนี้ จะหมายความว่าเป็นการตัดสินล่วงหน้าแล้วว่า “อานนท์” นั้นมีความผิด ซึ่งจะขัดกับหลักที่ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนผู้ต้องหานั้นบริสุทธิ์


ในกรณีนี้ เรายังไม่ได้หมายเรียกพยาน นั่นหมายความว่า เราจะไม่สามารถ สืบ-ไต่สวน-ซักค้านพยานได้เลย เนื่องจากฝ่ายโจทย์เค้ากล่าวหาว่าสิ่งที่เราปราศรัยนี้มันไม่ถูก ไม่เป็นความจริง  ดังนั้นเราก็จึงต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง ในกรณีที่เรายังไม่ได้หมายพยานนั้น เบื้องต้นศาลได้อ้างว่า ถ้าเปิดเผยข้อมูล อาจกระทบและทำให้เสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตาม พรบ. ข้อมูลข่าวสาร


สำหรับข้อมูลในดดีนี้นั้น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 นักกิจกรรมและประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำ ผู้ปราศรัย และผู้เข้าร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อเนื่องถึงสนามหลวง โดยมีนักกิจกรรม รวม 24 ราย ถูกผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีในหลายข้อหา โดยแกนนำและผู้ปราศรัยรวม 7 ราย ถูกออกหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ทั้งหมดถูกขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังในช่วง 15 ต.ค. - 2 พ.ย. 2563 ก่อนจตุภัทร์ได้รับการประกันตัว ส่วนคนอื่น ๆ ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ ในส่วนของผู้ชุมนุมมีการออกเป็นหมายเรียก ซึ่งมีอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน 2 คน ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมถูกออกหมายเรียกด้วย


ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับแกนนำและผู้ปราศรัยทั้ง 7 รายเป็นคดีแรก ทั้งยังแจ้งข้อหา 116 กับผู้ถูกดำเนินคดีคนอื่น


คดีนี้ยังถือเป็นคดีแรกจากการชุมนุมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่อัยการเร่งรัดยื่นฟ้องคดีต่อศาลในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างผิดสังเกต และจำเลยที่เป็นแกนนำและผู้ปราศรัยทั้งเจ็ดไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี จนกระทั่งมีกระแสเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ศาลจึงทยอยให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์


โดยทางด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุถึงคดีนี้ว่า การนัดสืบพยานคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19–20 ก.ย. 2563 ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง หลังจากเลื่อนนัดมาก่อนหน้านี้ จากเหตุที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญบางส่วนให้ฝ่ายจำเลยตามที่ทนายจำเลยร้องขอ และในพยานเอกสารที่ออกหมายเรียกให้แล้ว หน่วยงานที่ครอบครองเอกสารยังไม่จัดส่งเอกสารให้


สำหรับคดีนี้มีนักกิจกรรมถูกฟ้องทั้งหมด 22 ราย โดยมีผู้ที่ถูกฟ้องข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 7 คน และข้อหาหลักตามมาตรา 116 อีกจำนวน 15 คน นอกจากนี้ยังมีข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ


ทั้งนี้ จำเลย 2 ราย ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะถูกนำตัวมาศาลอาญา เพื่อร่วมการพิจารณาคดีด้วย ได้แก่ อานนท์ นำภา และ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง โดยที่อานนท์ยังทำหน้าที่ร่วมเป็นทนายความในคดีนี้ด้วย


คดีนี้ ก่อนหน้านี้ฝ่ายโจทก์ทำการสืบพยานไปได้ 1 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหา แต่ทนายความจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน เนื่องจากได้มีการร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารมาใช้ในการถามค้านด้วย


สำหรับประเด็นการขอออกหมายเรียกพยานเอกสารของจำเลย ก่อนหน้านี้ศาลได้อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ คําเบิกความในคดีของศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลัง กับ สมเด็จพระปกเกล้าฯ และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว แต่ศาลทั้งสองยังไม่ได้ส่งเอกสารมาให้


ทั้งยังมีเอกสารอีก 4 ฉบับ ที่ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องไม่ออกหมายเรียกให้เรื่อยมา ได้แก่ เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และของบริษัทการบินไทย, รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณราชการส่วนพระองค์ และ รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากโจทก์มีการบรรยายฟ้องว่า คำปราศรัยของจำเลยแต่ละคนในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเท็จ ทำให้ฝ่ายจำเลยต้องการพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง


แม้ศาลจะระบุว่า มาตรา 112 ไม่มีข้อยกเว้นความผิด หากกล่าวความจริง หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เหมือนกับกฎหายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แต่ในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยก็ยืนยันว่าทั้งหมดถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ด้วย ซึ่งองค์ประกอบข้อหานี้จะเป็นความผิดเมื่อมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ถ้าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตก็จะไม่มีความผิด ดังนั้นจึงต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงในประเด็นนี้ นอกจากนั้นตามรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต่อสู้คดีสามารถเรียกพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดได้อย่างรอบด้านอีกด้วย


สำหรับการนัดหมายสืบพยานคดีนี้ ศาลได้นัดหมายสืบพยานต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ ได้แก่ วันที่ 7-9, 21-23, 28-30 ส.ค., 11-13, 25-27 ก.ย., 16-18, 29-30 ต.ค., 1, 6-8, 13-15, 20-22 พ.ย., 3-4, 11-13, 17-20 ธ.ค. 2567 แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามว่าในแต่ละนัดจะมีการเลื่อนคดีหรือไม่อย่างไรต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112 #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร