“ก้าวไกล” ยื่นญัตติด่วนศึกษาขอบเขตอำนาจศาล รธน. ยกหลายคำวินิจฉัยควรศึกษาว่าเป็นการก้าวก่ายล้ำเส้นอำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ หวังนำไปสู่ข้อเสนอจัดทำ รธน. ใหม่ ให้สมดลุย์ของอำนาจอธิปไตยชัดเจนขึ้น
วันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน แถลงข่าวยื่นญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ
โดยชัยธวัชระบุว่าจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล ที่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเห็นว่ามีประเด็นบางประการที่กระทบกับการทำหน้าที่และการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสมาชิกรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีความจำเป็นต้องเสนอญัตติด่วนดังกล่าวนี้
เนื่องจากในการกล่าวหา ที่ว่าการเสนอร่างฯ แก้ไขมาตรา 112 ของ สส.พรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างการปกครอง มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ทางพรรคก้าวไกลได้โต้แย้งไว้ว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่การใช้เสรีภาพ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แต่การเสนอร่างกฎหมายเป็นอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการนิติบัญญัติ และการเสนอร่างกฎหมายไม่สามารถเป็นการล้มล้างการปกครองได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้อยู่แล้ว
แต่ปรากฎว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 นั้น ได้มีการตีความเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา และรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะตรวจสอบและวินิจฉัยว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
ชัยธวัชกล่าวต่อว่า สิ่งนี้จะส่งผลต่อความไม่ชัดเจนแน่นอนของขอบเขตอำนาจศาล ที่จะกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะมีการศึกษาโดยเร่งด่วน เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายกรณีก่อนหน้านี้ ที่ว่าด้วยเรื่องการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรณีการไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งล้วนแต่กระทบกับดุลยภาพทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว คลุมเครือเป็นการตีความจนส่งผลต่อการขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ล้นเกินไปจากกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก่อนประกาศใช้ หรือไม่
ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าคำวินิจฉัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภาโดยตรง จึงสมควรที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องศึกษาการใช้อำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน เพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานตามกระบวนการนิติบัญญัติ ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต ป้องกันการขยายอำนาจจนทับซ้อนกัน และรักษาไว้ซึ่งดุลยภาพแห่งหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตามญัตติดังกล่าว เป็นเป็นเพียงญัตติเพื่อเสนอให้มีการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ไปกระทบต่อคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้เป็นการเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลใดๆ ทั้งสิ้น
ชัยธวัชยังกล่าวต่อว่า อย่างน้อยที่สุด การศึกษากรณีนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนในฝ่ายนิติบัญญัติ และหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคต ก็เป็นฐานทางวิชาการนำไปสู่การพิจารณาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดียิ่งขึ้น จากนั้นได้ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย ที่เคนยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปรากฏว่าก็ยังมีผู้ยื่นตีความว่าการกระทำของพรรคเพื่อไทยเวลานั้นขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เพื่อไทยได้ใช้อำนาจโดยชอบทุกกระบวนการรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากเรื่องนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนแน่นอนก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมีการศึกษาที่ชัดเจนแล้ว สภาก็อาจเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 19 ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงหากสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นอื่นๆในอนาคต
“มันจะเป็นเรื่องประหลาดมาก ถ้าสภานิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบนี้ได้ เพราะเราเคยแก้กันไปแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติรวมถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งหนึ่งสามารถที่จะแก้ไขที่มาของวุฒิสภาได้ แต่มาถึงยุคนี้ ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจในการตีความเข้ามาก้าวก่าย ล้ำแดนของฝ่ายนิติบัญญัติ จะเป็นปัญหาในทางการเมืองได้” ชัยธวัชกล่าว