วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2567

พ่อของตะวัน ยื่นคำร้องขอประกันตัว "ตะวัน-แฟรงค์"คดีม.116 อีกครั้ง เจอล่าสุด ศุกร์ ที่ 8 มีนา ทั้งสองอาการวิกฤต โดยศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

 


พ่อของตะวัน ยื่นคำร้องขอประกันตัว "ตะวัน-แฟรงค์"คดีม.116 อีกครั้ง เจอล่าสุด ศุกร์ ที่ 8 มีนา ทั้งสองอาการวิกฤต โดยศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม


วันนี้ (10 มี.ค. 67 ) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ภายหลังจากนางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ยื่นคำแถลงขอให้ศาลพิจารณาทบทวนคำสั่งอนุญาตฝากขังตะวันและแฟรงค์ ผู้ต้องหา คดี ม.116 ที่พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยื่นคำร้องขอฝากขังผัดที่ 3 


ต่อมานายสมหมาย ตัวตุลานนท์ บิดาของ น.ส.ทานตะวัน พร้อมทนายความ ได้ยื่นคำร้องประกอบหลักทรัพย์ขอประกันตะวันกับเเฟรงค์อีกครั้ง โดยศาลอาญาได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ศาลมีคำสั่งกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จในการฝากขังครั้งนี้ แม้ผู้ต้องหาทั้งสองมีอาการวิกฤติตามที่ผู้ร้องอ้าง แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสองอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตกรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องและผู้ต้องหาทราบ


ทำให้ตะวันและแฟรงค์ต้องถูกคุมตัวเองต่อไป ทั้งนี้ การยกคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ตะวันและนายเเฟรงค์ ดังกล่าว นับเป็นการยกคำร้องฯเป็นครั้งที่ 4 แล้ว


จากนั้นนายสมหมายพร้อมด้วยสายน้ำ ได้ให้สัมภาษณ์ สื่อมวลชน โดยนายสมหมาย กล่าวว่า เมื่อวานนี้(9 มี.ค. 67) คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานตรวจสอบข้อร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้มายื่นคำแถลงต่อศาลขอทบทวนคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง โดยศาลอ่านคำสั่งว่า กรณีของพรเพ็ญไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา


นายสมหมาย ระบุว่า วันนี้ก็เลยอยากจะมายื่นประกันตัว เพราะเป็นผู้เกี่ยวข้อง โดยรายละเอียดคำร้อวขอยื่นประกันตัวมีดังนี้


ศาลที่เคารพ ข้าพเจ้ามาขอประกันตัว นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร เพราะเขาทั้งสองในขณะนี้อยู่ในอาการวิกฤต จากวันที่ 8 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ไต่สวนประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสอง ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้แจ้งว่านางสาวทานตะวันตัวตุลานนท์ พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถที่จะทำการให้การใด ๆ ได้ และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ได้สลบฟุบลงกับโต๊ะขณะไต่สวน จนเจ้าหน้าที่พยาบาลต้องทำการย้ายไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และยังมีอาการเบลออยู่ ซึ่งทุกคนในห้องไต่สวนได้เห็น และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทั้งสองมีอาการวิกฤตจริง ๆ


ดังนั้นในวันนี้ข้าพเจ้า จึงขอประกันตัวคนทั้งสองและขอความเมตตาจากท่าน


1. ในวันที่ 8 มีนาคม 2567 ท่านมีคำสั่งในการฝากขังทั้งสองคนเป็นเวลา 12 วัน ข้าพเจ้ามีความวิตกกังวลทั้งสองว่าจะมีชีวิตไปถึงวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดฝากขังหรือไม่


2. ในการฝากขัง ศาลมีคำสั่งฝากขัง เป็นเหตุผลของตำรวจคือ 1. ฝ่ายที่ส่งไปให้ตรวจสอบนั้นยังไม่เสร็จสิ้น 2. ต้องสอบพยานอีก 2 ปาก 3. จะไปยุ่งเหยิงกับพยานซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายในคดี


นายสมหมายกล่าวต่อว่า ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้เป็นความเห็นของตำรวจในการฝากขัง ซึ่งที่อยู่ของน้องทั้งสองก็เป็นที่อยู่ที่มีหลักแหล่ง ไม่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลหรือเป็นผู้มีอำนาจใด ๆ เป็นเพียงเยาวชนธรรมดา ข้าพเจ้าจึงอยากฟังความเห็นของท่านว่าหากปล่อยตัวเยาวชนทั้งสองแล้ว จะเกิดผลเสียหายกับคดีอย่างไร 


เพื่อให้ข้าพเจ้า ทนาย และบุคคลที่สนใจได้ทราบเหตุผลของท่าน ในการฝากขังหรือไม่ให้ประกันตัว โดยไม่อ้างเหตุผลของทางตำรวจ และเพื่อให้คงความศักดิ์สิทธิ์ ของศาลท่านที่คงความยุติธรรมและจะคงความยุติธรรมตลอดไป


ด้าน สายน้ำกล่าวเพื่มเติมว่า ก็คือวันนี้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องการขอประกันตัวของพ่อตะวัน ฉบับที่พ่อได้อ่านเมื่อสักครู่ โดยมีการรับคำร้องของป้ามล ทิชา ณ นคร ที่มาแถลงการณ์ร่วมด้วยในวันนี้ ซึ่งก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว แต่เมื่อวาน(9 มี.ค. 67) ไม่รับคำแถลงของคุณพรเพ็ญ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกันว่าจริง ๆ ในส่วนของสนธิญา สวัสดี" ที่ได้ยื่นค้านประกันตัว "ตะวัน-แฟรงค์" ก็ไม่ได้เป็นส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีเช่นเดียวกัน ทำไมถึงรับคำร้องของสนธิญาได้


สายน้ำ กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้วสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ต้องทำถึงขนาดไหนกันเชียวคนไทยถึงได้รับสิทธินั้น ศาลต้องให้เพื่อนผมทำถึงขนาดไหนถึงจะยอมมอบคืนสิทธิการประกันตัวให้เพื่อนผมได้รับคืนมา 


ขณะที่นายสมหมายได้เสริมว่า เมื่อวันศุกร์ ที่ 8 มีนาคม 2567 ได้เจอน้องทั้งสองล่าสุด อาการก็ค่อนข้างแย่แล้วในข้อที่ 1 ผมถามศาลว่าโอเค คือว่าทั้งสองเกิดอาการวิกฤตศาลก็คงไม่ปฏิเสธและตอบคำถามว่าอยู่ในความดูแลของหมอแล้วคงไม่เสียชีวิต แต่ข้อ 2 ที่ผมถามว่าศาลมีเหตุผลอะไรในการฝากขัง ถ้าเกิดว่าไม่เป็นเหตุผลของตำรวจนะ ซึ่ง 3 ข้อของทางตำรวจน้องไม่สามารถไปยุ่งเหยิงเกี่ยวกับคดีได้เลย ศาลมีเหตุผลอะไรแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ


ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้ตนจะมาถามศาลอีกครั้งหนึ่งว่า เหตุผลในการที่ศาลไม่ให้ประกันหรือฝากขังตอนนี้คืออะไร ถามเหตุผลของศาลจริง ๆ ไม่ใช่เหตุผลของตำรวจ นายสมหมายกล่าวทิ้งท้าย 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแฟรงค์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม