“ปกรณ์วุฒิ” อภิปรายงบกระทรวงดิจิทัลฯ ขอตัดงบ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม”
ทั้งโครงการ 69 ล้านบาท เหตุไร้ประสิทธิภาพ -
ไร้ความเป็นกลาง ไม่อิสระ ปกปิดความจริง
วันที่
21 มีนาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
2567 ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ได้อภิปรายขอสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 16 (งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
ในส่วนของโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หรือ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม”
โดยขอตัดงบประมาณทั้งโครงการจำนวน 69.57 ล้านบาท
ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า
จากผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในเดือนกันยายน 2566 ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของศูนย์ฯ
ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว
ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้รับข้อมูลสำหรับการตรวจสอบทั้งหมด 5.47 ล้านข้อความ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้เครื่องมือกวาดข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
และมีบางส่วนได้มาจากการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ฯ
เช่น เฟซบุ๊กและไลน์
จาก
5.47 ล้านข้อความ
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้คัดกรองจนเหลือจำนวนเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งสิ้น 539
เรื่อง จากนั้นจึงส่งเรื่องไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้ายได้รับการตรวจสอบกลับมา 356
เรื่อง แต่สามารถ “เผยแพร่ได้” เพียง 235 เรื่องเท่านั้น
โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแบ่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้แต่ไม่ได้เผยแพร่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2) หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ และ 3) หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่
สำหรับกลุ่มที่
1) และกลุ่มที่ 2) มีความคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น
ข่าวที่ปรากฏออกมาว่าบริษัทที่รับงานจาก
กสทช.มีลักษณะเป็นบ้านทาวน์เฮาส์และไม่มีเว็บไซต์ของบริษัท ศูนย์ฯ
ส่งข้อมูลไปตรวจสอบที่ กสทช. และ กสทช.ได้ตอบกลับมาว่า “ไม่สามารถชี้แจงได้”
โดยไม่ระบุเหตุผล แล้วศูนย์ฯ ก็ไม่คิดที่จะติดตามถามซ้ำกลับไปอีกรอบ
ตัวอย่างที่สองคือ
ข่าวที่ปรากฏออกมาว่าผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ในเดือนกันยายนนี้เตรียมรับเงินสูงสุด 1,900 บาท สามารถกดเป็นเงินสดได้
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมส่งข้อมูลไปสอบถามกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
แต่หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ โดยแจ้งว่า
“เพื่อความชัดเจนและถูกต้องรบกวนสอบถามกระทรวงการคลัง”
กลายเป็นว่ากระทรวงการคลังบอกให้ไปถามกระทรวงการคลัง แล้วศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ปิดเคสไปเลย
สมชื่อโครงการ “ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม” คือแค่ประสานงาน
แต่ไม่ติดตาม ไม่ทวงถาม ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ
ข่าวที่ว่า ครม.มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในพื้นที่ชายแดนใต้อีกหนึ่งเดือน
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบไปยังกรมประชาสัมพันธ์
และได้รับคำตอบว่าไม่สามารถชี้แจงได้เพราะไม่มีข้อมูล
แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงคือเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ว่ามีการประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
อีกหนึ่งเดือนจริง เป็นข่าวที่หาได้ทั่วไป
แต่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกลับไม่สามารถตรวจสอบได้
ปกรณ์วุฒิอภิปรายต่อไปว่า
ตนสงสัยมาตลอด 4
ปีว่าทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงเลือกที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการเท่านั้น
ทั้งที่บางเรื่องก็เป็นข้อมูลที่หาได้ทั่วไป
แต่ก็สิ้นสงสัยหลังจากได้ดูเนื้อหากลุ่มที่ 3) คือข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่
ตามหลักสากล
หลักการที่สำคัญที่สุดขององค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงก็คือความเป็นกลางและความเป็นอิสระ
ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ย้ำมาตลอดว่าตัวเองตรวจสอบอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ
แต่เมื่อลองมาดูตัวอย่างข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่สักสองตัวอย่าง
ก็จะเห็นว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ได้มีความเป็นอิสระจริง
แต่เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลเท่านั้น
ตัวอย่างแรก
จากข่าวที่ปรากฏออกมาว่า ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่
1.94 แสนล้านบาทจริงหรือไม่
เมื่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบไปที่กรมประชาสัมพันธ์กลับได้รับคำชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็น
“ข่าวจริง” แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่เพราะ “ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล”
ตัวอย่างถัดไป
จากข่าวที่ว่าทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์ 8 เส้น
ราคา 3.4 ล้านบาท
กรมประชาสัมพันธ์ก็บอกว่าข้อมูลดังกล่าวเป็น “ข่าวจริง” แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่เพราะ
“ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล” อีกเช่นกัน
ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า
สิ่งนี้ทำให้ตนหายสงสัย
ว่าทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น
เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา
การส่งเรื่องไปให้หน่วยงานราชการไม่ใช่การขอให้ตรวจสอบ
แต่มันคือการขออนุญาตว่าหน่วยงานราชการจะยอมให้เผยแพร่หรือไม่
หน่วยงานว่าอย่างไรศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็มีหน้าที่แค่ทำไปตามนั้น
“นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าตลอด 4 ปี 5 เดือนตั้งแต่ก่อตั้งมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง
ไม่เคยมีความเป็นอิสระ
เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้
และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น
และผมยืนยันว่าโครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว”
ปกรณ์วุฒิกล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อภิปรายงบ67 #ก้าวไกล #ประชุมสภา