มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ยื่นคำแถลงต่อศาลขอให้พิจารณาไม่รับฝากขัง“ตะวัน-แฟรงค์” คดี ม.116 ในครั้งต่อไป
ชี้ เป็นการคุมขังเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มวลชนแต่งดำ ผูกริบบิ้นขาว ชูดอกทานตะวัน ยืนหยุดขัง
เรียกร้องปล่อยผู้ต้องหาการเมือง
วันนี้
(9 มีนาคม 2567) เวลา 10.00 น.
ที่ศาลอาญารัชดา พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
และทนายความสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ, นางสาว อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม และมวลชนอิสระ ร่วมเข้ายื่นคำแถลงต่อศาลขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังในครั้งต่อไปอีก
เพราะไม่มีความจำเป็นและเป็นการคุมขังเกินความจำเป็นไม่เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โดยเฉพาะกรณี “ตะวัน - แฟรงค์”
นางสาวพรเพ็ญ
กล่าวว่าวันนี้มาในฐานะทนายความสิทธิมนุษยชน
ขอยื่นคำร้องให้ศาลได้ทบทวนคำสั่งเมื่อวานนี้ ที่อนุญาตให้พนักงานสอบสวน
ขยายระยะเวลาการฝากขัง ตะวัน และ แฟรงค์ เป็นเวลาอีก 12 วัน
เป็นครั้งที่ 3 โดยมองว่า บทบาทของตุลาการ
สามารถที่จะเข้าแทรกแซงและดำเนินการอำนวยความยุติธรรมในคำสั่งนี้ได้ทันที
อีกทั้งพนักงานสอบสวนเอง ก็ได้เขียนเอาไว้ในคำร้องขอฝากขังว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2
คน ไม่สามารถยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ และผู้ต้องหาก็เป็นเพียงเยาวชน
จึงเชื่อว่าผู้พิพากษาจะพิจารณาถึงความจำเป็นและเหตุผลทางกฎหมายและทางมนุษยธรรม
ให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว โดยไม่มีเงื่อนไขประกันตัว
“ผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คน
เป็นเพียงเยาวชนที่ร่วมกันแสดงอารยะขัดขืนในการอดอาหารด้วยความสงบไม่สามารถทำร้ายใคร
ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมด้วยวิธีการใดๆ
ดังนั้นเหตุและผลที่เราต้องการนำเสนอ คือ ข้อเท็จจริงกฎหมาย และมนุษยธรรม
ซึ่งผู้พิพากษาซึ่งเป็นนักกฎหมายด้วยกัน สามารถพิจารณาเนื้อหาสาระได้อย่างมีความเป็นธรรม
เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบตุลาการต่อไป” นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว
ด้านนางสาวอรวรรณ
กล่าวว่า อยากให้ทุกคนในประเทศนี้ได้รับความยุติธรรม ตะวันและแฟรงค์ทั้งสองไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง
แต่มองเห็นว่า
กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวนั้นทำร้ายประชาชนและเยาวชนในประเทศนี้มาทากแล้ว
พวกเราจึงออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทยของเรายังมีปัญหาในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นประเทศไทยไม่สมควรที่จะได้เป็น
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาก
ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะเห็นต่างทางการเมืองมากขึ้นทุกวัน มีสื่อที่ถูกปิดปาก
มีประชาชนที่โดนอุ้มฆ่า ต้องลี้ภัย มีทั้งที่เรามองเห็นและที่มองไม่เห็น
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจตัดสินใจเรื่องการฝากขังเอง
ทั้งหมด แต่ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาความสมควรของการฝากขัง
ซึ่งต้องกลั่นกรองให้เกิดความยุติธรรม ไม่ใช่ให้รับฝากขังทุกครั้ง
ดังนั้นศาลไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับตำรวจทุกครั้งในการรับคำร้องขอฝากขัง
ซึ่งไม่อยากให้ใครต้องมาเจอแบบนี้ ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังบิดเบี้ยวแบบนี้
ใครก็สามารถเจอแบบนี้ได้ โดยขอเป็นกำลังใจให้กับตะวัน แฟรงค์ บุ้ง บัสบาส
ที่เผชิญกับความยากลำบากในการอดอาหาร
สุดท้ายถ้ากระบวนการยุติธรรมยังบิดเบี้ยวและหลายคนบอกว่า แค่ให้ตะวัน แฟรงค์
กลับไปรับประทานอาหารนั้น เชื่อว่า ทุกคนต้องหิวข้าว หิวน้ำ แต่ตะวัน แฟรงค์ บุ้ง
บัสบาส ที่อดอาหารอยู่ตอนนี้ก็คงหิวความยุติธรรมมากกว่า
สำหรับการยื่นประกันตัว
ตะวัน และ แฟรงค์ นั้น สายน้ำ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการยื่นประกัน
หลังทราบคำสั่งศาลเมื่อวานนี้(8 มี.ค.) ที่พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง
มายื่นคำร้องขอฝากขังผัดที่ 3 และศาลรับคำร้อง
ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักพักก่อน เพื่อปรึกษาตะวันและแฟรงค์ รวมถึงครอบครัวด้วย
จากนั้นกลุ่มนักกิจกรรม
ได้ร่วมกัน ยืน หยุด ขัง ที่บริเวณหน้าอาคารศาลอาญา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
12 นาที โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการถือดอกทานตะวัน
หมายถึง พลังของตะวัน และย้ำใน 3 ข้อเรียกร้อง ตะวัน-แฟรงค์
ซึ่งได้แก่ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ต้องไม่มีคนติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก และ 3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN
รวมถึงมีการอ่านบทกลอนถึงตะวัน
อ่านบทรำลึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
รวมถึงร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาและบทเพลงของสามัญชน
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา
ศาลได้มีคำสั่งต่อกรณีพรเพ็ญ ยื่นแถลงขอทบทวนคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง
โดยศาลอ่านคำสั่งว่า ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และเป็นวันหยุด จึงไม่รับคำร้อง
คงไว้ในสำนวนเท่านั้น
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแฟรงค์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม