คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ - ศูนย์รังสิต - ลำปาง ยื่นศาลอาญา ไม่คัดค้านการประกันตัว “ตะวัน-แฟรงค์” คดี ม.116
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก คณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปาง นำโดย นายอันเจลโลว์ ศตายุ สาธร นางสาวจีรนันท์ จูงศิริ นายชัชกร ทัศนธารากร นางสาวกันยรัตน์ มะศักดิ์ นายศิวาพัชร์ ศันสนะพงษ์ปรีชา นางสาวธัญญ์นภัส ทิพสิงห์ ร่วมกันยื่นคำแถลงไม่คัดค้านการประกันตัว “ตะวัน-แฟรงค์” ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 116 กรณีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ
เนื้อหาในคำแถลงระบุว่า ”ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษานิติศาตร์ เป็นอนาคตของชาติ และอนาคตของวงการกฎหมายไทย ข้าพเจ้าผู้เป็นตัวแทนของนักศึกษานิติศาสตร์ ในนามของคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของนักศึกษา ที่ได้รับคัดเลือกผ่านระบบการเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นธรรม
ข้าพเจ้าเป็นเยาวชนที่เพียงหวังได้เติบโตในสังคมทีปลอดภัยอันที่ผู้มีอำนาจยึดมั่นต่อการพิทักษ์สิทธิ์เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปวงประชา และความเป็นธรรมทางกฎหมาย
ข้าพเจัาขอเรียนว่าในทางกฎหมาย คดีของ 'ตะวัน และแฟรงค์' ยังไม่ได้รับคำพิพากษาจากศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุดในแผ่นดินไทย จึงสามารถเรียกได้ว่าคดีนี้ยังตัดสินคดีไม่ถึงที่สุด ภายใต้หลักของกฎหมาย เมื่อบุคคลใดได้กระทำความผิด หากยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุด จักปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้
ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว จึงมีสิทธิ์ในการประกันตัวก่อนมีคำ พิพากษาจากศาลสูงสุด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตาม มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญไทย ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานหรือศาลได้รับคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลหรือเจ้าพนักงานต้องออกคำสั่งอย่างด่วนที่สุด และจำเลยต้องได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 107 ประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นการจับกุมหรือคุมขังเขาทั้งสอง ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปองกันไม่ให้หลบนี
ข้าพเจ้า จึงขอเรียนว่า ในคดีนี้ ไม่มีความจำเป็นในการจับกุม หรือคุมขังผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่เคยมีพฤติการหลบนี ไม่ได้ขัดขวางการจับกุมที่บริเวณพื้นที่หน้าศาลอาญาโดยเจ้าพนักงาน และเป็นเพียงประชาชนธรรมดา สามัญชนทั่วไป ไม่มีอำนาจหรืออภิสิทธิ์ใดๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง ดัดแปลง หรือปลอมแปลง หรือการยุ่งเกี่ยวอันใดกับพยานหลักฐานได้
เพราะฉะนั้น ภายใต้หลักกฎหมาย และเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไป ข้าฯ ขอเรียนต่อศาลให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต่อหน้าบทกฎหมาย และยึดหลักการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด“
สำหรับ “ตะวัน-แฟรงค์” วานนี้ (28 มี.ค. 67) พ่อของตะวันและทนายความได้ยื่นประกันตัว “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ต่อศาลอาญาอีกเป็นครั้งที่ 7 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ โดยวางหลักทรัพย์คนละ 150,000 บาท หลังอาการของตะวันทรุดหนักลงจนอาจเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตจากการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว 44 วัน
ก่อนที่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งคู่โดยให้เหตุผลว่า “เห็นว่า คดีนี้อยู่ในชั้นฝากขังใกล้ครบระยะเวลาฝากขังแล้ว และศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแฟรงค์ #นิติศาสตร์ #มธ