“ก้าวไกล” แถลงจับตานโยบายจากห้อง กมธ.งบ 67 ชี้ข้อสังเกตแบ่งอนุฯ-ตัดงบหลายส่วนแบบมีธง ยืนยันจุดยืนตัดงบฝายดินซีเมนต์เพราะไม่คุ้มค่า-ไม่โปร่งใส งงมติ ครม.หนุนเรือฟริเกตแต่มาตีตกทีหลัง ย้ำทุกกรณีพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อมูล
วันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลแถลงข่าวจับตานโยบาย "รวบตึงงบฯ 67 จากห้อง กมธ." โดยมี ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ เขต 8 พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข้อสังเกตที่ได้จากการทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ในส่วนของศิริกัญญา ระบุว่าการพิจารณางบประมาณในปีนี้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากปีนี้เป็นปีพิเศษที่งบประมาณออกล่าช้าไปประมาณ 6 เดือน และด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ในปีนี้ได้มีการอนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้งบประมาณไปพลางก่อน โดยนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามคำแนะนำของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่อนุมัติหลักเกณฑ์ว่าสามารถที่จะขอได้ 2 ใน 3 ของงบประมาณปี 2566 หรือราว 2 ล้านล้านบาท และเมื่อหน่วยงานส่งแผนงานมาจริงๆ ผอ.สำนักงบประมาณก็ได้อนุมัติไปทั้งสิ้น 58.8%
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่ออนุมัติไปแล้ว หน่วยงานก็เริ่มใช้งบประมาณไปตั้งแต่ต้นปีงบประมาณในเดือนตุลาคมเป็นต้นมา และเมื่อสภาฯ เข้ามาพิจารณางบประมาณปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ก็จะมีราวๆ เกือบ 2 ล้านล้านบาทที่ถูกอนุมัติและมีการใช้ไปแล้ว ดังนั้น ในความเป็นจริงสภาฯ มีอำนาจที่จะพิจารณาอย่างจริงจังเพียงแค่ 41% เท่านั้น นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพิจารณางบประมาณในปีนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า แต่วิธีการแบบนี้ก็มีปัญหามีช่องโหว่อยู่เช่นกัน แม้จะเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และในขั้นตอนอนุมัติหลักเกณฑ์ นายกรัฐมนตรี ยังเป็นผู้ที่ต้องเข้ามาเห็นชอบด้วย แต่ก็มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจอนุมัติ นั่นคือ ผอ.สำนักงบประมาณ ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจในการอนุมัติงบประมาณตกไปอยู่ที่ ผอ.สำนักงบประมาณ ที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งที่ควรจะต้องได้รับการอนุมัติโดย ครม. หรือนายกฯ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในงบประมาณในส่วนที่สภาฯ ไม่สามารถเข้าไปปรับลดได้นี้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ในห้องอนุกรรมาธิการ ที่ไปตัดโครงการบางโครงการแล้วจำเป็นที่จะต้องมาคืนในภายหลัง เพราะหน่วยงานบอกว่ามีการใช้ไปพลางก่อนแล้ว นี่จึงเป็นความพิเศษของปีงบประมาณนี้ และไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหรืออีก 4 ปีข้างหน้า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเหมือนปีที่ผ่านมา เราก็อาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีก จึงอยากให้เป็นบทเรียนว่าคนที่จะมีอำนาจในการอนุมัติแผนงานใช้งบประมาณไปพลางก่อน ควรจะต้องเป็นคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับผิดรับชอบกับงบที่ใช้ไปแล้วโดยไม่ได้ผ่านสภาฯ
ศิริกัญญากล่าวต่อไป ว่าตามปกติแล้วในทุกๆ ปี คณะกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งมีราว 70 กว่าคน จะมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาทำงานแทน เพราะมีเรื่องที่จะต้องลงรายละเอียดในรายโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการแบ่งตามรายการ แต่ปีนี้มีเรื่องแปลกใหม่คือแม้ทางกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลจะพยายามจะผลักดันให้มีการแบ่งอนุกรรมาธิการตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ แต่ก็ไม่เป็นผล แล้วก็สรุปจบที่การแบ่งกันตามกระทรวง
และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละอนุกรรมาธิการจะมีความเป็นเจ้าของของแต่ละรัฐมนตรีที่มาจากสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันอยู่ ทำให้มีข้อกังวลมาจากกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการด้วยเช่นเดียวกัน ว่าการจัดแบบนี้อาจจะทำให้เกิดการเข้ามาปกป้องงบประมาณของรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งจากสังเกตการณ์จะพบว่าในบางอนุกรรมาธิการจะมีผู้ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี หรือกระทั่งเลขานุการรัฐมนตรีมานั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการแบ่งอนุกรรมาธิการแบบนี้มาตั้งแต่ต้น และสิ่งนี้ควรจะเป็นบทเรียนว่าในปีหน้าก็ไม่ควรจะมีการจัดอนุกรรมาธิการเช่นนี้อีก
ศิริกัญญายังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการตัดงบประมาณในชั้นกรรมาธิการ โดยระบุว่าสิ่งที่สังเกตเห็นได้ก็คือมีความพยายามที่จะเร่งตัดกันในช่วงวันสุดท้ายหรืออาทิตย์สุดท้ายของของการพิจารณาในห้องอนุกรรมาธิการ และยังมีอีกหลายรายการที่มาตัดกันต่อในห้องกรรมาธิการใหญ่ ทำให้น่าสังเกตว่าอาจจะมีการตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะต้องตัดได้ถึงเท่าไรหรือไม่ เมื่อไม่ถึงเป้าจึงต้องมาเร่งทำยอดกันในวันท้ายๆ ที่น่าสังเกตประการต่อมา คือการที่แผนบูรณาการก็เป็นแผนที่ถูกตัดมากที่สุด โดยในห้องอนุกรรมาธิการมีการตัดไปประมาณ 3 พันล้านบาท แต่หน่วยงานกลับมาอุทธรณ์เพื่อขอคืนงบประมาณ 24 รายการ แทบจะเยอะที่สุดในบรรดาอนุกรรมาธิการทั้งหมด สุดท้ายก็คืนงบไป 2 พันล้านบาท
โดยสรุปแล้ว กรรมาธิการตัดงบประมาณไปได้ราว 9.2 พันล้านบาท ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติทั่วไปก็จะส่งต่องบประมาณในส่วนที่ตัดได้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ขอเข้ามาเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปลงที่งบกลางราว 8 พันกว่าล้านบาท ในปีนี้กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลเห็นชอบด้วย เพราะอย่างที่ตนได้อภิปรายในการพิจารณางบประมาณวาระ 1 ว่าปีนี้มีงบประมาณที่เรียกว่าเงินชดใช้เงินคงคลังอยู่ประมาณเกือบ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเยอะมากเป็นประวัติการณ์ และทำให้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 แสนล้านบาทใช้ไม่ได้จริงทั้ง 3 แสนล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งต้องเอาไปคืนเงินคงคลัง จากการใช้งบประมาณแต่ละปีไม่พอแล้วต้องไปล้วงเอาเงินคงคลังออกมาใช้
ซึ่งเงินที่เอามาใช้ตรงนี้ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น เพราะเราควรจะต้องตั้งงบประมาณไว้อย่างพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนข้าราชการ แต่ในปีนี้ก็ยังจัดสรรพลาดอยู่เช่นเดียวกัน เช่น บำเหน็จบำนาญ หากเทียบกับงบที่เบิกจ่ายปีที่แล้ว พบว่าตั้งงบขาดไปถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของข้าราชการขาดไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อมีการตัดลดงบประมาณได้ สำนักงบประมาณเองจึงเป็นผู้ที่เสนอสองรายการนี้เข้ามา ก็เลยมีการอนุมัติให้ แต่เนื่องจากว่าตัดมาได้น้อยก็เลยแบ่งให้กับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้แค่ประมาณ 3 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการใส่เงินลงไปที่เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งก็คืองบกลางเจ้าปัญหาที่ตรวจสอบได้ยากและนายกฯ มีอำนาจเต็ม แต่เมื่อขอมาแค่ 1 พันล้านบาท ก็เลยขอแลกกับการที่จะเพิ่มเงินในกองทุนประกันสังคมที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอแทน ถือว่าเป็นการเข้าไปเจรจาต่อรองและประนีประนอมกับทั้งสองฝั่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราอยากได้
ในส่วนของสุรเชษฐ์ ได้แถลงถึงความสำเร็จของพรรคก้าวไกล 2 เรื่อง นั่นคือ ประการแรก การตัดงบประมาณฝายดินซีเมนต์ ที่ประหยัดเงินให้ประเทศได้มากถึง 1,255 ล้านบาท ที่นอกจากจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีแล้ว ยังส่อแววทุจริตอย่างเห็นได้ชัด โดยมี 8 เหตุผลด้วยกัน กล่าวคือ
1) เป็นโครงการ “แจกเสื้อโหล” มี 3 ขนาดให้เลือก Size S/M/L
2) มีความเร่งรีบอย่างผิดสังเกต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเวลาเพียง 12 วันในการเลือกสถานที่ ทำแบบก่อสร้าง และประมาณราคา ซึ่งถ้าไม่รู้กันมาก่อนหรือเป็นพวกเดียวกันเตรียมมาก่อนย่อมไม่มีใครทำทันได้
3) มีการแทรกแซงกระบวนการพิจารณางบประมาณ ไม่มีการตรวจสอบโครงการอย่างครบถ้วนบนมาตรฐานเดียวกันกับการพิจารณางบประมาณในโครงการอื่น มีการลัดขั้นตอนในการตรวจสอบเอกสาร การขออนุญาตต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อนพิจารณาอนุมัติ
4) มีหลายโครงการที่ราคาต่ำกว่า 5 แสนบาทเพียงเล็กน้อย เสมือนจงใจให้หลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่ให้หน่วยงานสามารถจิ้มเลือกผู้รับเหมาได้เลยหากราคากลางต่ำกว่า 5 แสนบาท
5) มีความจงใจหลีกเลี่ยงการรับประกันผลงาน 2 ปี โดยหน่วยงานได้ชี้แจงว่าฝายดินซีเมนต์เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นทำให้ไม่ต้องมีการประกันผลงาน 2 ปีเฉกเช่นโครงการก่อสร้างทั่วไป และไม่กล้ารับประกันด้วยว่าฝายดินซีเมนต์จะแข็งแรงทนทานอยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี แม้มีอำนาจให้ประกันผลงานได้
6) ไม่มีใบอนุญาตมาแสดง ทั้งจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมเจ้าท่า
7) มีการอ้างว่าเป็นฝายชั่วคราว แต่ราคากลับแพงเกินจริง และไม่มีใครตอบได้ว่าถ้าฝายพังใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
8) หลังจากที่มีการถกเถียงกันมามากมาย สุดท้ายหน่วยงานก็จำนนต่อเหตุผลและไม่มีการขออุทธรณ์
สุรเชษฐ์กล่าวต่อไป ว่าหลังจากที่มีการตัดงบประมาณ ก็มีผู้เสียประโยชน์จากโครงการ ฟูมฟายก่นด่า แต่ตนก็ยืนยันด้วยเหตุด้วยผลว่า ฝายดินซีเมนต์ไม่คุ้มค่าและไม่โปร่งใส เป็นการทำหน้าที่ของกรรมาธิการอย่างถูกต้องโดยสุจริตใจ และเราก็ภูมิใจด้วยว่าเราเป็นผู้เสนอตัดงบประมาณก้อนนี้ ทำให้ประหยัดเงินภาษีให้ประชาชนได้ถึง 1.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อสังเกตที่สำคัญ 4 ข้อด้วยกัน
1) มีการเอาตนและพรรคก้าวไกลไปโจมตีด้วยวาทกรรมต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไปตัดงบประมาณเยอะขนาดนี้ก็ย่อมไปเป็นก้างขวางคอของใครบางคน แต่แทนที่จะมาโจมตีที่ตัวบุคคลที่เสนอตัดงบ ทำไมไม่มาถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลว่า 8 ข้อที่กล่าวไปไม่จริงตรงไหน หากเหตุผลไม่ดีจริง มีหรือที่กรรมาธิการเสียงข้างมากจะยอมให้ตัดและหน่วยงานเจ้าของงบประมาณก็จำนนต่อเหตุผล ไม่มีการขออุทธรณ์เข้ามา มีแต่การโวยวายจากผู้เสียประโยชน์อย่างไร้เหตุผล
2) มีการโฆษณาเกินจริงว่าทำฝายแล้วจะเก็บน้ำเพื่อการเกษตรได้มาก แต่ข้อเท็จจริงจากการให้หน่วยงานคำนวณ ฝายดินซีเมนต์จะเก็บน้ำได้น้อยมาก ที่สำคัญคือพอมีการเก็บน้ำไว้ที่ต้นน้ำโดยไม่คิดถึงคนปลายน้ำ ก็จะยิ่งทำให้คนปลายน้ำมีน้ำไม่พอแม้กระทั่งการอุปโภคบริโภค
3) การใช้ดินผสมซีเมนต์ทำให้เข้ากันได้ยากยิ่งในทางปฏิบัติ ซึ่งมีความสำคัญมากต่องานโครงสร้าง โดยทั่วไปการใช้ดินผสมซีเมนต์จึงไม่เป็นที่นิยม นอกจากนั้น ดินแต่ละที่ไม่เหมือนกัน จะผสมอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าแข็งแรงเพียงพอ การเซ็นแบบและควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ก็ไม่ได้รับความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติ เห็นแต่การบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบโดยอ้างว่าเป็นฝายชั่วคราว
4) ฝายดินซีเมนต์จะเปลี่ยนสภาพลำน้ำให้กลายเป็นขั้นบันไดและพังทลายได้ทุกเมื่อ ช่วงหน้าแล้งอาจเก็บน้ำได้บ้างโดยไม่เพียงพอสำหรับการทำเกษตร แต่ท้ายน้ำจะขาดแคลนน้ำมากขึ้นโดยไม่เหลือพอสำหรับการอุปโภค/บริโภค ช่วงหน้าฝนอาจพังทลาย ก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน คล้ายกรณีเขื่อนแตก
สุรเชษฐ์กล่าวต่อไป ว่าโดยสรุปโครงการฝายดินซีเมนต์ไม่คุ้มค่าและไม่โปร่งใส หากปล่อยไปคือได้ไม่คุ้มเสีย และจะเป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างแน่นอน ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีงบประมาณ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการแจกเสื้อโหลในโครงการนี้ สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการทำให้เกิดการกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง ให้ท้องถิ่นคิดเองว่าเมื่อมีกรอบงบประมาณไปแล้วจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ให้มีการรับทั้งผิดและชอบ ไม่ใช่เพียงของบประมาณแล้วรอเงินทอน
“ฝายสร้างได้แต่ต้องเลือก เลือกตำแหน่งที่ตั้ง เลือกขนาด เลือกวัสดุให้ดี ไม่ใช่การแจกเสื้อโหลตัวละเกือบ 5 แสนบาทเพื่อไปหากินกันแบบที่เจอในโครงการนี้ ขอฝากข้อคิดไปถึงผู้ที่อยากหาทำฝายดินซีเมนต์ หากคุณรู้จักแค่ค้อน คุณก็จะมองปัญหาทุกอย่างเป็นตะปู ฝายมีหลายแบบ สร้างได้แต่ต้องคิด คิดถึงคนท้ายน้ำด้วย คิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศด้วย” สุรเชษฐ์กล่าว
สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปถึงความสำเร็จประการที่สอง ในการตัดลดงบประมาณซ่อมถนนที่กระจุกตัวใน จ.บุรีรัมย์ อย่างผิดปกติได้ โดยระบุว่าในการอภิปรายงบประมาณปีที่แล้ว ตนได้อภิปรายถึงกรณีงบประมาณซ่อมถนนแบบไร้เหตุผลที่ให้ จ.บุรีรัมย์ได้มากที่สุด ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ที่มีจำนวนถนนมากที่สุด ไม่ได้มีจำนวนประชากรมากที่สุด ไม่ได้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ แต่กลับได้งบประมาณซ่อมถนนไปมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.29 เท่า
ซึ่งจากการตรวจสอบกรณี “บุรีรัมย์นำโด่ง” โดยพรรคก้าวไกล ทำให้หน่วยงานราชการและสำนักงบประมาณไม่กล้าที่จะตั้งงบประมาณให้จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมากเป็นพิเศษอย่างไร้เหตุผลในปีงบประมาณนี้ นี่จึงนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของพรรคก้าวไกลที่ได้มีการทำหน้าที่เพื่อติดตามและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล ไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่และงบประมาณอย่างน่าเกลียดเกินไป
นี่คือ 2 ตัวอย่างที่แสดงถึง “ความสำเร็จ” ของพรรคก้าวไกล ในการทำหน้าที่ปกป้องเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าและโปร่งใส มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดย 2 ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการมีพรรคการเมือง อย่างพรรคก้าวไกล
ในส่วนของชยพล ได้แถลงถึงข้อสังเกตต่อการตัดงบประมาณจัดซื้อเรือฟริเกตโดยกองทัพเรือ โดยระบุว่าในงบประมาณปี 2567 นี้ กองทัพเรือได้มีการตั้งงบประมาณจำนวน 1.7 พันล้านบาท หรือ 10% ของวงเงินโครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อขอซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือยังไม่เคยได้สื่อสารในรายละเอียดเชิงลึกของโครงการ จนกระทั่งได้เข้ามาถึงห้องอนุกรรมาธิการงบประมาณด้านความมั่นคง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กองทัพเรือนำเอกสารมาชี้แจงถึงความจำเป็นของการจัดหาเรือในครั้งนี้
โดยตามการประเมินของกองทัพเรือ ได้ประเมินไว้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือฟริเกตทั้งหมด 8 ลำเพื่อปกป้องน่านน้ำไทย โดยแบ่งพื้นที่เป็นฝั่งอันดามัน 4 ลำและฝั่งอ่าวไทย 4 ลำ แต่ในปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือฟริเกตใช้งานเพียง 4 ลำเท่านั้น แต่ละลำก็มีอายุถึง 29-38 ปี ยกเว้นเรือหลวงภูมิพลที่มีอายุ 5 ปี ทั้งที่เรือฟริเกตควรใช้อยู่ที่ 30 ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากว่ากองทัพเรือไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ จึงจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเรือและยืดอายุการใช้งานยาวไปจนถึง 40 ปีจึงค่อยเริ่มปลดระวาง ทำให้ประเทศไทยกำลังจะอยู่ในสถานการณ์ที่เหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง 3 ลำเท่านั้น จากความต้องการขั้นพื้นฐานในการดูแลน่านน้ำไทยทั้งหมด 8 ลำ
ชยพลกล่าวต่อไป ว่าการซื้อเรือฟริเกตปกติจะใช้เวลาในการต่อเรือ 4-5 ปี ซึ่งเพียงแค่สถานการณ์ในตอนนี้ การดำเนินงานของกองทัพเรือในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลก็ยากที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และเป็นไปได้ว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณอีกครั้งอาจจะเป็นปีงบประมาณ 2569 เลย แปลว่าเราจะมีเรือฟริเกตในการป้องกันประเทศเพียง 3 ลำต่อไปถึงอีก 4 ปี เป็นความเสี่ยงทางความมั่นคงอย่างยิ่ง
นอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคงแล้ว ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการจัดหาเรือฟริเกตครั้งนี้กองทัพเรือได้ชี้แจงในห้องอนุกรรมาธิการว่ามีความตั้งใจจะให้เรือลำนี้ต่อในไทยโดยให้บริษัทต่อเรือในไทยทำสัญญาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับองค์ความรู้ในการต่อเรือครั้งนี้ไปใช้ในการต่อยอดอุตสาหกรรมภายในประเทศ จะมีการเพิ่มองค์ความรู้ในการต่อเรือ เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มโอกาสการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ พัฒนาความสามารถของอู่ต่อเรือในไทย เป็นเจ้าขององค์ความรู้เทคโนโลยีป้องกันประเทศที่สามารถต่อยอดได้ สร้างเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ชยพลกล่าวต่อว่า การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ไม่เหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งก่อนของกองทัพเรือ เช่นการซื้อเรือดำน้ำที่เป็นการเอาเงินไปแลกเรือเปล่าๆ และไร้ซึ่งองค์ความรู้อื่นนอกจากการใช้งาน พรรคก้าวไกลจึงมองเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ถ้ากองทัพเรือทำตามที่ตัวเองวางไว้ได้ครบทั้งหมด ก็สมควรแก่การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว
โดยกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคก้าวไกลเองก็ได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดพร้อมตั้งคำถามให้กับกองทัพเรือจนกระทั่งเข้าใจถึงประโยชน์ของโครงการ แต่ก็น่าเสียดายที่กรรมาธิการสัดส่วนอื่นๆ กลับไม่ได้มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน โดยเห็นว่าไม่จำเป็นไม่เร่งด่วน รอบรรจุในงบประมาณปีถัดไปได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าตั้งคำถามจริงๆ ว่าได้ฟังที่กองทัพเรือชี้แจงมาบ้างหรือไม่ ว่าไม่มีเรือฟริเกตเหลือแล้ว
เหตุผลต่อมา คือเรื่องของทีโออาร์กับ offset policy ไม่ชัด ทั้งที่กองทัพเรือได้เตรียมเอกสารมาชี้แจงเรียบร้อยแล้ว แต่น่าเสียดายที่คนที่เข้าไปศึกษาตัวเอกสารทั้งหมดมีอยู่แค่กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลเท่านั้น ซึ่งก็คือตนและ ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคก้าวไกล จนกระทั่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความตั้งใจและแนวคิดเบื้องหลัง รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของบริษัทที่จะเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทภายในไทย ทำให้ตนคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากว่ากรรมาธิการคนอื่นไม่ได้อ่านเอกสารเหล่านี้เลย แต่มีการตั้งธงมาแล้วว่าจะต้องมีการตัดเท่านั้น
ชยพลกล่าวต่อไป ว่าหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้ออกมาสื่อสารถึงข้อดีต่างๆ ของโครงการจัดหาเรือฟริเกตในครั้งนี้ ก็มีหลายคนจากฝั่งรัฐบาลออกมาให้ความคิดเห็นต่อท่าทีของพรรคก้าวไกลในทางลบ ทั้งที่ความคิดเห็นทั้งหมดที่มีต่อโครงการนี้ผ่านการศึกษาดูข้อมูลแล้ว มีการซักถามจนเข้าใจเห็นภาพใหญ่ของตัวโครงการแล้ว
นอกจากนี้ ที่น่าสังเกตคือมีมติ ครม. วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ออกความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับตัวโครงการนี้ โดยผู้ที่ได้รับทราบประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยที่ ครม. ได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ลงมติอนุมัติความเห็นและให้กระทรวงกลาโหมรับความคิดเห็นไปดำเนินการต่อแล้ว
“คือทุกคนก็เห็นด้วยหมดแล้ว ถามจริงคือได้คุยกันเองก่อนไหม ก่อนที่จะออกมาค้านที่เราสนับสนุนโครงการนี้ เพราะว่ามันก็คือ ครม. ของรัฐบาลเองไม่ใช่หรือที่สนับสนุน แล้วก็กลายเป็น สส. ของรัฐบาลเอง กลายเป็นกรรมาธิการของรัฐบาลเองที่ออกมาค้าน ผมแนะนำให้ทุกคนไปคุยกันเองก่อนดีกว่า ไม่ใช่อนุมัติมาอย่างนี้เสร็จแล้วก็มาตีตกทีหลัง จะไม่รับผิดชอบอะไร แล้วก็ปล่อยประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางและสูญเสียโอกาสทางการทางเศรษฐกิจในระดับนี้ได้” ชยพลกล่าว
ชยพลกล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้มีจุดยืนต่อต้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ แต่ต้องมีการซื้อยุทโธปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ความจำเป็นทางด้านความมั่นคง ที่มีหลักฐานประกอบอย่างแท้จริง นั่นคือเหตุผลที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ตั้งเป้าในการตัดงบ พรรคก้าวไกลเพียงต้องการให้กองทัพเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ กะทัดรัด และสมเหตุสมผล สามารถทำงานทุกอย่างอย่างคุ้มค่าต่องบประมาณให้เหมาะสม