วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567

“พิธา”ฝากนายกฯ กางไทม์ไลน์ แก้ปัญหาไฟป่า - ฝุ่นพิษให้ชัด ชี้ ต้องเร่งบรรเทาผลกระทบประชาชน ย้ำไม่ใช่ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” แต่ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ในฐานะ สส.ต้องลงพื้นที่จริงเพื่อเข้าใจปัญหา

 


พิธา”ฝากนายกฯ กางไทม์ไลน์ แก้ปัญหาไฟป่า - ฝุ่นพิษให้ชัด ชี้ ต้องเร่งบรรเทาผลกระทบประชาชน ย้ำไม่ใช่ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” แต่ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ในฐานะ สส.ต้องลงพื้นที่จริงเพื่อเข้าใจปัญหา

 

วันที่ 17 มีนาคม 2567 ที่ร้านอาหารใต้ถุนบ้าน ถนนช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจบภารกิจลงพื้นที่เรียนรู้และรับฟังปัญหาการจัดการไฟป่า ทั้งจากประสบการณ์ตรงของทีมอาสาดับไฟป่าในพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

 

พิธากล่าวว่า หลังจากที่ได้รับฟังการบรรยายจาก NARIT เมื่อค่ำวานนี้ ตนมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษได้ โดยเฉพาะภาพถ่ายดาวเทียมจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของปัญหา สามารถนำมาวิเคราะห์สถิติและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นที่จุดใดบ้าง ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ จะรุนแรงมากน้อยเพียงใดในช่วงสัปดาห์นี้ และจะบรรเทาลงเมื่อใด นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ยิงเลเซอร์ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ เพื่อวัดฝุ่นพิษ PM2.5 ว่ามีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด มีขอบเขตกว้างและสูงแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลออกนโยบายที่เท่าทันและแม่นยำต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ NARIT และ GISTDA มีองค์ความรู้และสามารถผลิตเครื่องมือต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ดีและต้องให้การสนับสนุนกันต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อได้รับฟังปัญหาแล้วมีสิ่งใดที่อยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พิธากล่าวว่า ตนอยากฝากให้นายกฯ ระบุไทม์ไลน์การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในระยะต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ระยะสั้นภายในสัปดาห์นี้จะแก้ไขเรื่องอะไร ภายในเดือนหน้าซึ่งคาดการณ์จากสถิติได้ว่าคุณภาพอากาศของภาคเหนือจะย้ำแย่ที่สุด รัฐบาลจะแก้ไขอะไรบ้าง รวมถึงในปีหน้ามีแผนการจะแก้ไขอะไร หากรัฐบาลมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ข้าราชการ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะสามารถให้ความร่วมมือและเดินหน้าไปพร้อมกันได้ แต่ที่ผ่านมาตนยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจนมากนัก ภาคส่วนต่าง ๆ จึงไม่ทราบว่าต้องให้ความร่วมมืออย่างไร ในมิติใดบ้าง

 

พิธากล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ฝุ่นพิษในขณะนี้สายเกินจะป้องกันที่ต้นเหตุได้แล้ว รัฐบาลจึงต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแบบเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น จัดให้มีหน้ากาก N95 และเครื่องฟอกอากาศในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่สามารถใช้ภูมิปัญญาของประเทศไทยได้ เช่น สถาบันการอาชีวศึกษาต่าง ๆ มีศักยภาพที่จะทำเครื่องฟอกอากาศได้แล้ว นอกจากนี้ยังต้องจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น โดยเฉพาะในโรงเรียนเด็กเล็กและสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มสรรพกำลังบุคลากรที่จะมาช่วยดับไฟป่า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลสามารถทำได้เลยภายในระยะสั้นสัปดาห์นี้

 

ส่วนในเดือนหน้าซึ่งจากสถิติสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นพิษน่าจะรุนแรงที่สุด สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือการนำข้อมูลของ GISTDA NARIT และกรมอุตุนิยมวิทยามาวิเคราะห์ย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งจะสามารถคาดการณ์ได้เลยทันทีว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเกิดไฟป่าบ้าง เพราะส่วนใหญ่จุดความร้อนมักจะเกิดการไหม้ซ้ำซาก รัฐบาลสามารถเตรียมการสร้างธนาคารน้ำไว้ในพื้นที่ใกล้ เคียงเพื่อให้ทีมดับไฟป่าเข้าไปใช้งานได้ทันที หากทำได้เช่นนี้ สถานการณ์ในปีนี้ก็น่าจะทุเลาลงไปได้

 

พิธาย้ำว่า ปัจจัยที่สำคัญต่อการดับไฟป่าคือการลำเลียงน้ำและคนเข้าไปดับไฟป่าได้ทันเวลา ดังนั้น เราต้องเข้าใจแบบแผนของไฟ เพื่อให้เกิด “Economy of Speed” หรือการไปให้ถึงก่อนที่ไฟจะลุกลาม และ “Economy of Scale” หรือการขยายทีมในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกจุดในเวลาพร้อม ๆ กัน รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ถ้าเราเข้าใจแบบแผนเช่นนี้ สถานการณ์ไฟป่าก็จะทุเลาลง และจะกลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

 

พิธาเข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและงบประมาณ ทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เต็มที่ในปีนี้ แต่ในระยะยาวตนต้องขอฝากนายกฯ ประเมินด้วยว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี เช่น ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดใน 10 จังหวัดภาคเหนือถึงไม่กล้าประกาศเขตภัยพิบัติ ทั้งที่สถานการณ์ฝุ่นพิษร้ายแรงติดอันดับโลก เป็นเพราะผู้ว่าฯ เกรงกลัวหรือไม่ว่าถ้าประกาศเขตภัยพิบัติแล้วจะเท่ากับว่าดูแลพื้นที่จังหวัดของตนเองไม่ดี ขณะที่ในด้านงบประมาณ การที่รัฐบาลอนุมัติงบกลางก้อนใหม่กว่า 272 ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษโดยเฉพาะก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรอติดตามต่อไปว่าจะสามารถเบิกใช้งานได้อย่างทันท่วงทีกับสถานการณ์หรือไม่

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีวิจารณ์ว่า การลงพื้นที่ของพิธาเป็นการรบกวนทีมดับไฟป่าในพื้นที่ และถือเป็นการ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” พิธากล่าวว่า หน้าที่ของผู้แทนราษฎรคือการตรากฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพื่อรับฟังปัญหาจากคนหน้างานจริง ดังคำกล่าวที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” เพราะจากที่ตนนั่งอยู่ในสภาฯ แล้วมีข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาของบประมาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการไฟป่า ตนก็เข้าใจในระดับหนึ่ง แต่การลงพื้นที่มาเห็นของจริง ได้สัมผัสถึงไอความร้อนและสะเก็ดไฟที่มาโดนตัวจริง ได้เห็นอุปกรณ์ดับไฟที่ต้องดัดแปลงมาจากอุปกรณ์อื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ฟังข้าราชการมาอธิบายในคณะกรรมาธิการ 10 ครั้งก็ไม่เข้าใจ ต้องมาเห็นหน้างานด้วยตัวเอง โดยรบกวนทีมหน้างานให้น้อยที่สุด ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อที่คราวหน้าเมื่อมีข้าราชการมาของบประมาณเรื่องไฟป่า ตนก็จะได้ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มากขึ้น จึงยืนยันว่าสิ่งที่ได้รับจากการลงพื้นที่ครั้งนี้คุ้มค่ากับเวลาแน่นอน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ไฟป่า #pm25 #เชียงใหม่