วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567

ศ. ดร.ธเนศ ขอศาลเมตตา พิจารณาไม่รับฝากขัง #ตะวันแฟรงค์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับมาหาหลักคือ สถาบันทั้งหลายต้องยึดหลักเมตตาธรรม เมตตาธรรมคือธรรมค้ำจุนโลก

 


ศ. ดร.ธเนศ ขอศาลเมตตา พิจารณาไม่รับฝากขัง #ตะวันแฟรงค์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับมาหาหลักคือ สถาบันทั้งหลายต้องยึดหลักเมตตาธรรม เมตตาธรรมคือธรรมค้ำจุนโลก


ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา กรณีเดินทางมายื่นคำแถลงขอความเมตตาให้ศาลพิจารณาไม่รับฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องขังในคดี ม.116 บีบแตรใส่ขบวนเสร็จ เพื่อผดุงความยุติธรรมของประเทศ 


ผม ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เกษียณราชการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดชีวิตของการสอน งานหลักของผมคือสอนวิชาประวัติศาสตร์ มองเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คือความเปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นสัจธรรม ประวัติศาสตร์ทุกที่ทุกประเทศในโลกนี้ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเกิดมาหลายร้อยพันปีหรือเกิดไม่กี่ร้อยปีก็ตาม ทุกประเทศต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลง


เพราะฉะนั้น หัวใจของการเกิดประเทศใหม่ รัฐใหม่ แล้วก็การที่จะสถาปนาประเทศต่อไปให้ได้นั้น ก็คือจะต้องจัดการความเปลี่ยนแปลงในตัวเองในทั้งประเทศได้อย่างไร


ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงของประเทศเราในแง่ประวัติศาสตร์นั้น มีลักษณะพิเศษที่เทียบไปแล้วเป็นคุณสมบัติที่เป็นด้านบวก ซึ่งหายากมาก ๆ ในประเทศที่เรียกว่าระดับกลาง ๆ ไม่ใช่ประเทศใหญ่ ไม่ใช่มหาอำนาจ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาต่าง ๆ ประเทศสยาม ก็อยู่ในประเทศที่ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอเอาตัวรอดได้ 


แต่ว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศสยามแต่ก่อนนั้นหลุดรอดจากการตกเป็นอาณานิคม อย่าลืมว่าทั่วทั้งเอเชีย ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น ลงมาไปจนถึงอินโดนีเซีย ทุกประเทศตกเป็นอาณานิคม ไม่ร้อยเปอร์เซ็นก็กึ่งหนึ่ง มีสยามประเทศเท่านั้นที่รอดจากการเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกตอนนั้นได้ 


ผมคิดว่าเราก็เรียนประวัติศาสตร์มาเหมือนกัน เราก็เข้าใจว่าเป็นเพราะพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 5 และคณะเจ้านายกับขุนนางในตอนนั้นที่ช่วยกันรักษาการเปลี่ยนผ่านประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ได้อย่างค่อนข้างเร็วแม้มีการต่อต้านและแข็งขืนบ้างก็ตามในหัวเมืองแต่การเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว 


เพราะฉะนั้น ประเด็นก็คือว่าไม่ใช่แค่เราสดุดีความสามารถของผู้นำครั้งนั้น แต่ผลรวมคือว่า เราเก็บรับบทเรียนของความเปลี่ยนแปลงต่อความเข้ามาของปัจจัยภายนอก-ภายในประเทศได้อย่างไร อันนี้คือประเด็นที่ผมว่าพวกเราต้องออกมาแสดงความเห็น แสดงจุดยืน แสดงทัศนะอะไรต่าง ๆ คือไม่ใช่ต้องการจะคะคานเอาชนะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ว่าที่สำคัญคือหมอเหวง หมอสันต์ ก็พูดชัดเจนเรื่องความยุติธรรม เรื่องความเมตตา 


ในส่วนของประวัติศาสตร์ผมเพิ่มนิดหนึ่งก็แล้วกันว่า ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมานั้นเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาล ชนชั้นนำ ข้าราชการ และผู้ที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการเล็กใหญ่ต่าง ๆ นานา สามารถจะผนึกร่วมมือร่วมใจกันเอาชนะอุปสรรคภายนอก-ภายในประเทศได้ตลอดเวลา คือไม่ทำให้เกิดบอบช้ำอย่างรุนแรงถึงขนาดที่ว่าต้องทำลายล้างกันไปข้างหนึ่ง


เพราะฉะนั้น ความสืบทอดต่อเนื่อง continuity ของประเทศไทยมีสูงมาก แต่ว่าความสืบทอดอันนี้มันจะอยู่ต่อไปได้ หมายความว่า ชนชั้นนำ รัฐบาล ก็คือคนที่มีความชอบธรรมที่สุดในการใช้อำนาจ จะต้องสามารถเข้าใจสถานการณ์ภายนอก-ภายใน เข้าใจถึงความรู้สึกความต้องการของคนที่ปกครองและคนที่ถูกปกครองด้วย 


ในตอนนี้ทุกคนก็รู้ว่าทั่วประเทศในโลกนี้กำลังผ่านการเปลี่ยนผ่านที่ใหญ่มากอีกช่วงหนึ่ง ถ้านับตั้งแต่ยุคอาณานิคมมา ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่ายุคอาณานิคมอีก คือการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ถ้าเราทำผิดพลาดมันหมายถึงการหายนะของมนุษยชาติ ของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เอกราชของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ไม่ใช่แค่อำนาจอธิปไตยของดินแดน จะกี่หมื่นกี่พันตารางกิโลเมตร แต่ว่ามันหมายถึงความเป็นคนและเป็นคนไทยอันดับแรก และความเป็นคนของโลกในอันดับต่อไป มันจะสูญหายไปถ้าเราไม่รักษาความเปลี่ยนแปลงที่เป็นด้านบวกนี้ไว้ได้


เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มันยาก ผมเข้าใจ มันยุ่ง และมันอยู่เหนือความสามารถของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ผมเลยคิดว่าเราต้องกลับมาหาหลักพื้นฐานที่เราทำได้ และสิ่งที่อาจารย์หมอสันต์และอาจารย์หมอเหวงได้พูดเอาไว้ ว่าสังคมต้องมีความยุติธรรม และความยุติธรรมมันก็ต้องอาศัยระบบกฎหมาย ระบบยุติธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถาบันสมัยใหม่ นี่เป็นสถาบันที่เกิดและเติบใหญ่มาบนประสบการณ์ร่วมกันของทุกคน.ในการสร้างประเทศแล้วก็เอามาตรฐานวิธีการแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ซึ่งในหลายประเทศก็มีปัญหาในการใช้มาตรฐานสถาบันแบบตะวันตก เพื่อที่จะเข้ากับระบอบ ความเชื่อ ค่านิยม แบบประเทศนอกตะวันตกซึ่งไม่มีพื้นฐานที่มาแบบนี้ ที่เราต้องสร้างความรับรู้ใหม่จากความขัดแย้งที่เกิดในท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนแปลง


แต่ในหลายสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงอาณานิคม กึ่งอาณานิคม จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราก็รักษาระบบยุติธรรมสถาบันทางกฎหมายอะไรต่าง ๆ ก็เติบโตพร้อมการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบันนี้ จนถึงช่วงนี้ความเปลี่ยนแปลงซึมลึกลงไปถึงคนรุ่นใหม่ คือคนจำนวนเล็กน้อยซึ่งแต่ก่อนนี้ผมคิดว่ารัฐไทยไม่เคยรู้สึกว่ากระทบกระเทือน ไม่ได้ตกอยู่ในภยันตรายที่คนรุ่นใหม่เด็กอายุ 17-18 จะมาทำให้รัฐบาลกลัว ไม่มีทางเป็นไปได้เลย 


กระทั่งบัดนี้เท่านั้นเอง เพราะว่าเขามีเครื่องมือโซเชียลมีเดีย มีที่มาของแหล่งข้อมูล มีความสามารถที่จะใช้เครื่องมือในการติดต่อคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เท่านั้นเองที่ทำให้รัฐเกิดหวาดผวา แล้วก็ต้องการที่จะปิดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้ใช้ความคิดใช้เสรีภาพเล็กน้อยที่เขามีต่อไป เพื่อที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลง


เฉพาะหน้าระยะสั้นได้ มันอาจทำให้รัฐมีความมั่นคงได้ แต่ระยะยาวอันนี้มันจะกระเทือนไปถึงการประกอบการทุกอย่าง ไม่ว่าเศรษฐกิจที่เราต้องการ ไม่ว่า SME หรือจะสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มันอยู่ในระนาบเดียวกันหมดเลย คือถ้าปิดกั้นความคิดทางการเมืองคนส่วนนี้ ความคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ก็จะไม่เกิด มันจะหมดสิ้นพลังไปหมด และนั่นก็คือจุดจบของความเป็นไทย ความเป็นเอกราช ความเป็นประเทศที่เราได้เปรียบ มีความได้เปรียบเชิงการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเป็นร้อยปี เราจะมาถึงจุดที่เราจะยอมเสียสละความเปลี่ยนแปลงอันนั้น เพื่อจะรักษาฐานที่มั่นสุดท้าย ซึ่งไม่รู้คืออะไร แต่มันเป็นนามธรรมทั้งนั้น ในเรื่องสถาบัน ในเรื่องความเชื่อต่าง ๆ 


เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ผมคิดว่าต้องกลับมาหาหลักที่หมอเหวงบอกไว้คือว่า สถาบันทั้งหลายต้องยึดหลักเมตตาธรรม เมตตาธรรมคือธรรมค้ำจุนโลก อันนี้ผมขอเสริมอีกว่า ในที่สุดแล้วความยั่งยืนของกฎหมาย ของการตีความ เหตุผลทั้งหลายนั้นใช้ได้ ศาลจะอ้างอย่างไรจากกฎหมายให้มันไปตามเหตุผล มันมีทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือผลที่ได้จากคำตัดสินนั้นมันมีความเมตตาไหม มันแสดงออกในการยอมรับในการรับทราบถึงผลของการตัดสินความยุติธรรมอันนั้นหรือเปล่า ซึ่งอันนี้จะสถาปนาความยั่งยืนสถาพรมั่นคงของสังคม ของคนหลากหลายในสังคมไทยปัจจุบันนี้ได้


เพราะฉะนั้นก็ขอวิงวอนและขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า ตอนนี้การต่อสู้ของคนไทยมันมีมานานแล้วในความขัดแย้ง แต่ว่าสิ่งที่เราอย่าลืมก็คือว่า ความขัดแย้งทั้งหมดมันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่การทำลายล้าง แน่นอนมันอาจมีการกระทบกระเทือนถึงสถาบัน ถึงความเชื่อเก่า ๆ ที่ยังดำรงอยู่ แต่ว่าถ้าหากไม่มีการกระทบกระทั่ง สถาบันต่าง ๆ ความเชื่อเก่าต่าง ๆ จะปรับตัวได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงไม่มีการจะเกิดได้โดยที่ไม่มีการกระทบกระเทือนระหว่างสองด้าน ระหว่างสามสี่ด้านต่าง ๆ นั้น เพราะฉะนั้น เราจะต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้ง มีความเปลี่ยนแปลง มีการกระทบกระทั่งมากบ้าง น้อยบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง อีกเยอะที่ต้องตามมา 


ประเด็นคือเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างไร ผมคิดว่าทุกฝ่ายต้องมีจุดยืนที่มั่นคง มองถึงอนาคตยาวไกลว่า จะขัดแย้งกันยังไงก็ตาม แต่ว่าคนส่วนใหญ่ต้องอยู่ เราต้องรักษาส่วนรวม ต้องรักษาสถาบัน แล้วสถาบันจะต้องเติบใหญ่ ไม่ใช่ร่วงโรยไปตามเวลา เพราะฉะนั้น “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ผมคิดว่าเป็นปราการสุดท้ายที่เราอยากจะเอามายืนหยัดตรงนี้ ไม่ใช่เหตุผล ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ไม่ใช่การโต้แย้งเรื่องใครผิดใครถูก เพราะว่าอันเดียวที่ทำให้ชุมชนความเป็นครอบครัว ความสัมพันธ์ของคนส่วนใหญ่ที่ชอบหรือไม่ชอบ แต่ในที่สุดแล้วเราต้องอยู่ เราไม่มีเมตตาตัวเดียวเท่านั้นเอง ต่อให้เราคิดดียังไงก็ตาม เราก็ไม่อยู่ อยู่ไม่ได้ เราก็จะต้องสูญสลายไป


เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากตรงนี้ ขอจบด้วยความเชื่อว่าทุกคนคงไม่มีใครปฏิเสธความเมตตาของเราหรือของคนอื่น ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ