นายกฯ
ย้ำศักยภาพ 3 โครงสร้างพื้นฐานของไทย “ศูนย์กลางการบิน – Landbridge – พลังงานสีเขียว” ช่วยเสริมความก้าวหน้า ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
วันที่
12 มีนาคม 2567 เวลา 11.10 น.
ตามเวลาท้องถิ่นเมืองคานส์ ฝรั่งเศส นายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ (MIPIM 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 -15 มีนาคม 2567 และกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหัวข้อ “Better Infrastructures in
an Age of Risk, Scarcity and Emergency” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย
ณ Palais des Festivals เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ
รัฐบาลส่งเสริมความเท่าเทียมกันผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยเชื่อมั่นว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าและการเข้าถึงทุกภาคส่วน
นำไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งไม่เพียงสำหรับผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่เท่านั้น
แต่ยังมอบโอกาสให้กับทุกคนในทุกพื้นที่ด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
ไทยได้เปิดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อ 18 ปีก่อน
ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ประเทศไทยอย่างมีนัยยะสําคัญ
ส่งเสริมให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตกว่า 110% ในหลายปีที่ผ่านมา
ไทยจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก
ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน
ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมหลายมิติ
รวมถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งในยุคที่มีความเสี่ยงรอบด้าน ความขาดแคลน
และสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันและทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญสำหรับสังคม
นายกรัฐมนตรีจึงได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความสำคัญกับ
3 ด้านหลัก ได้แก่
1.
ด้านศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินหลักของภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
ไทยตั้งอยู่ใจกลางจุดยุทธศาสตร์ที่เมืองใหญ่ ๆ ทั่วเอเชียใช้เวลาบิน 4 ถึง 6 ชั่วโมง
จึงต้องการขยายขีดความสามารถให้รองรับนักเดินทางได้มากขึ้น
โดยมีแผนจะขยายสนามบินที่มีอยู่และสร้างสนามบินใหม่
เพื่อสามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้ 150 ล้านคนต่อปี
พร้อมโครงการสร้างสนามบินใหม่อีก 2 แห่งในภาคเหนือและภาคใต้
คือ สนามบินนานาชาติล้านนา (Lanna International Airport) และสนามบินนานาชาติอันดามัน
(Andaman International Airport) เพื่อรองรับผู้โดยสารรวมกันได้สูงสุดถึง
40 ล้านคนต่อปี
รัฐบาลมีแผนจะปรับปรุงการบริการสำหรับผู้มาเยือนทุกคนที่เดินทางผ่านสนามบินของไทย
ได้แก่
-
การปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานภาคพื้นดินและการลดระยะเวลารอผู้โดยสารขาเข้าและขาออก
-
การขยายและจัดสรรเวลาจัดการการบินขึ้น-ลงใหม่ (landing and
take-off slots) เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ
-
การลดค่าธรรมเนียมการลงจอด (landing fees) และเพิ่มค่าธรรมเนียมการล่าช้า
(delay fees) เพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อขายและรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น
-
การปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทั้งปฏิบัติการภาคพื้นดินและปฏิบัติการทางอากาศ
-
การเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเส้นทางใหม่สู่ประเทศไทย และอื่น ๆ
อีกมากมาย
โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นผู้นำภูมิภาคในฐานะศูนย์กลางการบิน
ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านต่าง ๆ
2.
ด้านโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge
Project) เป็นรากฐานสำคัญของการเชื่อมต่อทางทะเลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ปัจจุบันเราเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมาก จากการพึ่งพาช่องแคบมะละกาเพียงอย่างเดียว
ส่งผลให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้าและต้องเข้าคิวจำนวนมาก
ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญจากมุมมองเชิงพาณิชย์เท่านั้น
แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาการค้าการลงทุนของโลกและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน
รัฐบาลจึงเชื่อมั่นว่า โครงการ Landbridge จะประสบความสำเร็จและสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3.
ด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว (Green Energy
Infrastructure) โครงการและการลงทุนที่สำคัญส่วนใหญ่นับจากนี้
ล้วนต้องการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนในราคาที่เหมาะสมและเชื่อถือได้
โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
รัฐบาลได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายของการมีพลังงานทดแทน
50% ของการผลิตภายในปี 2583 รวมทั้งไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศต้น
ๆ ที่เปิดตัวโครงการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green
Tariff) เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่ลงทุนในประเทศไทยมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ในปีต่อ
ๆ ไป
ในช่วงท้าย
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า โครงการและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของไทย
ไม่เพียงสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้วย
โดยเมื่อเกิดความร่วมมือกัน จะไม่ใช้เพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น
รัฐบาลกำลังสร้างการเชื่อมต่อที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจและประชาชนเข้าด้วยกัน ทั้งนี้
ขอให้ผู้เข้าร่วมทุกคน พิจารณาการมีส่วนร่วม
เปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้เป็นความจริง
เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ภาพจาก
: เพจไทยคู่ฟ้า
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา #เมืองคานส์ #ฝรั่งเศส