วันสตรีสากล
‘ก้าวไกล’ เปิด 10
นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ชู คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ด้าน
‘พรรณิการ์’ ชี้ ภารกิจสร้างคนเท่ากันของอนาคตใหม่ยังไม่จบ หวัง ‘ก้าวไกล’
สานต่อสำเร็จ
วันที่
8 มีนาคม 2566 พรรคก้าวไกล ร่วมกับ
ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) จัดกิจกรรม
“กาก้าวไกล เพศไหนก็คนเท่ากัน” เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมของทุกปี
โดยปีนี้ เครือข่าย International Women’s Day ได้กำหนดรูปแบบการจัดงานที่มีชื่อว่า
‘การโอบรับอย่างเท่าเทียม’ (Embrace Equity)
กิจกรรมเริ่มต้น
โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
กล่าวเปิดตัวนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ
ยืนยันพร้อมสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ในการสร้างประเทศไทยที่
‘คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก’ โดย 10 นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศของพรรคก้าวไกล
ซึ่งเรียงตามช่วงอายุของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนแก่ ประกอบด้วย
1.
ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน
ด้วยการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
(VAT) ในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์
และแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและความจนประจำเดือน (Period Poverty) โดยเฉพาะสำหรับผู้มีประจำเดือนในวัย 10-25 ปี
2.
ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
ด้วยการออกแบบหลักสูตรใหม่
ให้การสอนเรื่องเพศศึกษา (Sex
education) ให้ความสำคัญกับค่านิยมต่างๆ เช่น
ความเข้าใจเรื่องความยินยอม (consent) ความหลากหลายทางเพศ
และสอนเรื่องทางกายภาพอย่างตรงไปตรงมา
เพื่อให้เยาวชนเข้าใจความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ประสงค์
และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3.
ตำรวจหญิงทุกสถานี
ด้วยการเพิ่มจำนวนตำรวจหญิง
เพื่อให้อย่างน้อยมีเพียงพอต่อการมีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ เช่น
เพิ่มจำนวนรับให้สูงขึ้น เปิดรับจากบุคคลภายนอกมากขึ้น
พิจารณากลับมาเปิดรับนักเรียนนายร้อยหญิง เนื่องจากสถิติของกระทรวงยุติธรรม
พบว่าไม่ต่ำกว่า 75%
ของผู้หญิงไทยที่เคยถูกคุกคามทางเพศ เลือกที่จะไม่แจ้งความ
เหตุผลส่วนหนึ่งคือความไม่สบายใจ
เพราะผู้เสียหายสะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงมากกว่า นอกจากนี้
ต้องออกแบบกระบวนการอบรมและประเมินตำรวจทุกคนไม่ว่าเพศใด
ที่รับผิดชอบคดีคุกคามทางเพศ ให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการและบรรยากาศที่เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของคดีและสนับสนุนให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมด้วย
4.
ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ
ด้วยการแก้ประมวลกฎหมายอาญา
และกฎ ก.พ. เพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ การกระทำอนาจาร
และการกระทำชำเราเสียใหม่
เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น
5.
สมรสเท่าเทียม คู่รักทุกเพศแต่งงานกันได้
ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว โดยเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมาย จากคำนามที่ระบุเพศ เช่น
ชาย-หญิง สามี-ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส
เพื่อให้คนทุกเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้
และมีสิทธิในฐานะคู่หมั้นหรือคู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ
6.
รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ
ด้วยการปรับโครงสร้างรัฐและกฎหมายให้รับรองทุกเพศสภาพ
เพื่อเป็นรากฐานในการออกแบบนโยบายในทุกมิติ คุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย
ผ่านการกำหนดมาตรการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น
โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหรือกระบวนการทางการแพทย์
และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ซึ่งรวมถึง
สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ
สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น “นาม”)
สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล)
ตลอดจนออกกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม เพื่อให้ทุก ๆ เพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
7.
ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรี
ทุก รพ.สต.
ด้วยการคุ้มครองสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์
สำหรับบุคคลที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์
ให้สามารถรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ
มีการให้คำปรึกษาหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ฟรี
เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิงที่เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์
8.
สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
ด้วยการขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน
(98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน
ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ
ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
โดยพ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน
เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก
9.
ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน
ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.)
นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน เช่น
การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก
การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก
การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน รวมถึงใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง
(เช่น ห้องปั๊มนม) ภายในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ
เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่
10.
ตรวจมะเร็งฟรี ไม่ต้องรอหมอสั่งใน Package ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี
ของพรรคก้าวไกล
ตรวจคัดกรองฟรี
5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ
มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก
สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยให้บรรจุในแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
รวดเร็วขึ้นเพราะไม่ต้องรอหมอสั่ง
ปัจจุบันผู้หญิงสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกได้เท่านั้นที่ไม่ต้องรอหมอสั่ง
แต่คนใช้สิทธิ์ยังน้อย ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีของประชาชนให้ครอบคลุมขึ้นและมีแรงจูงใจเป็นค่าเดินทาง
ติดตามรายละเอียดได้ในการเปิดนโยบายสุขภาพเร็วๆ นี้
จากนั้น
พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่
ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ปาฐกถาพิเศษ ‘จากอนาคตใหม่สู่ก้าวไกล
กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ’ ความตอนหนึ่งว่า
ภารกิจหลักเมื่อครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้
‘คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก’
แต่ความฝันที่เรียบง่ายนี้ของพรรคอนาคตใหม่
กลับยังไม่เกิดขึ้นจริง ตลอดระยะเวลา 4 ปี เราผ่านวันแรกในสภาฯ
ที่ความพยายามผลักดันให้ผู้หญิงเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก
แต่กลับถูกหัวเราะเยาะ บอกทุกอย่างเป็นไปตามโควตาของพรรคการเมือง
เราผ่านวันที่ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้แทนราษฎร ถูกเรียกว่า ‘นายธัญญ์วาริน’
และถูกผู้แทนราษฎรคนอื่นโห่ใส่ เพียงเพราะทาลิปสติกสีแดงและใส่กระโปรง
เราผ่านวันที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่สามารถผ่านวาระสภาทันสมัยประชุม
แม้จะเป็นวาระหลักที่ประชาชนทั้งประเทศเรียกร้องก็ตาม ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่า
ภารกิจของอนาคตใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ และเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องทำต่อให้สำเร็จ
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
“เราเฝ้ารอวันที่ผู้แทนราษฎร ไม่ว่าเพศใด ความเชื่อแบบใด
ปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากันและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
วันที่ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่จะพูดเรื่องสิทธิของผู้หญิงหรือสิทธิความหลากหลายทางเพศ
แต่ผู้แทนราษฎรต้องมีความตระหนักและพูดเรื่องนี้ได้ทุกคน
ในฐานะสิทธิพื้นฐานของประเทศนี้ ไม่ใช่แค่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง”
พรรณิการ์กล่าว