วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ด่วน! ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งห้าม"ประยุทธ์" บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสื่อ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 


ด่วน! ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งห้าม"ประยุทธ์" บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสื่อ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง


วันนี้ (6 ส.ค. 64) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ ศาลแพ่ง ถนรัชดาภิเษก กลุ่มตัวแทนภาคีนักกฎหมายและตัวแทนสื่อมวลชน ได้เดินทางมาฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 ที่ ภาคีนักกฎหมายและตัวแทนสื่อมวลชนออนไลน์ 12 ราย ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.ให้ถอนคำสั่งการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ข้อกำหนดที่ 29 มอบอำนาจให้ กสทช. ดำเนินคดีสื่อออนไลน์ เฟคนิวส์ 


โดย นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ตัวแทนสื่อมวลชน ในฐานะผู้ร้อง พร้อมด้วยตัวแทนสื่อสำนักต่าง ๆ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการส่งคำร้องเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และศาลได้ทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และคู่มือกรณี ก่อนที่จะนัดหมายให้มาฟังคำสั่งในวันนี้ โดยตัวเองยืนยันว่า ที่มาร้อง มองว่ากฎหมาย ประกาศดังกล่าวที่ออกมา เป็นการริดรอนสิทธิ์ของประชาชนและสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดซึ่งประชาชนควรได้รับเรื่องในแง่มุมต่างๆ และการขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชนและสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลและการขอความช่วยเหลือ ความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงรายงานข้อมูลตามความเป็นจริงในสถานการณ์ต่าง ๆ 


นางฐปณีย์ กล่าวต่อว่า คาดหวังว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ร้องได้เสนอไปให้ศาลพิจารณา จะทำให้ศาลระวังคำสั่งในมาตราดังกล่าว จนกว่าจะมีการแก้ไข หรือระบุรายละเอียดให้ชัดเจน แต่หากศาลพิจารณาผลออกมาในทางกลับกัน ก็พร้อมยอมรับความเห็นของศาล


ทั้งนี้มองว่า คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับ ผู้นำ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล ระมัดระวังการใช้คำสั่งหรืออำนาจต่าง ๆ ที่อาจจะละเมิดสิทธิหน้าที่ของสื่อมวลชนและประชาชน ที่เกินกว่าเหตุจนอาจได้รับผลกระทบ


ขณะเดียวกันได้มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตจากต่างประเทศเข้ามาสังเกตุการณ์ในการฟังคำสั่งขอคุ้มครองในครั้งนี้ด้วย


คืบหน้าล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 14.20 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวมิได้จำกัด เฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผลถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดข้อดังกล่าวนั้นมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้างทำให้โจทก์ทั้งสิบสองประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34วรรคหนึ่งและมาตรา 35วรรคหนึ่งบัญญัติคุ้มครองไว้นอกจากนี้ยังเป็นการ จำกัด สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุไม่ต้องด้วยมาตรา 26วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสองหรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุตามความในมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558


ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์ จำกัด การเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคลทั้งข้อกำหนดข้อดังกล่าวมิได้ จำกัด เฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญฯ การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ กรณีมีเหตุจำเป็นเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาตรา 255(2) (ง) ประกอบมาตรา267วรรคหนึ่งและการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ 


เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วยจึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่29) เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น


โดยภายหลังศาลพิจารณาแล้วเสร็จ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บังคับใช้กำหนดฉบับที่ 29 ตามคำสั่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยศาลพิจารณาและให้เหตุผลว่า ข้อกำหนดที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัว เป็นข้อกำหนดที่ไม่มีมีความชัดเจนแน่นอนในขอบเขต ซึ่งจะทำให้สื่อมวลชนและประชาชน สับสน ไม่รู้ว่าขอบเขตในการใช้เสรีภาพนั้นเป็นอย่างไร การนำเสนอความจริงจะขัดต่อข้อกำหนดนี่หรือไม่ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ 


ประการที่ 2 ข้อกำหนดที่ให้อำนาจ กสทช.ในการระงับอินเตอร์เน็ต ศาลเห็นว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกข้อกำหนด ไม่ได้ออกข้อกำหนดที่สั่งระงับอินเตอร์เน็ตได้ ข้อกำหนดนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอินเตอร์เน็ตมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนต้องใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นการระงับไปถึงอนาคตด้วย 


ประการที่ 3 การระงับข้อบังคับ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินได้รับการกระทบกระเทือนหรือก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะรัฐบาลยังสามารถบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาหรือ พรบ.คอมพิวเตอร์ ในการเอาผิด กับข่าวเฟคนิวส์ โดยส่วนตัวก็พอใจกับคำสั่งศาลในครั้งนี้ มองว่าศาลเห็นถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ สื่อมวลชนควรได้รับสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา แม้ความจริงบางครั้งอาจจะน่ากลัวก็ตาม


ขณะที่นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ตัวแทนสื่อมวลชนในฐานะผู้ร้อง ระบุว่า แม้ว่าวันนี้ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครอง แต่ในฐานะสื่อก็ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพและความรับผิดชอบและคงไม่นำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัวอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวัลอย่างแน่นอน ยืนยันใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์