วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

‘แพทองธาร’ และคณะ ลงพื้นที่โคราช จัดการน้ำ-ตลิ่งถูกกัดเซาะ ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลต่อไป

 


‘แพทองธาร’ และคณะ ลงพื้นที่โคราช จัดการน้ำ-ตลิ่งถูกกัดเซาะ ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลต่อไป 


วันที่ 11 กรกฎาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, และ สส.นครราชสีมา นำโดย นายอภิชา เลิศพชรกมล , นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล, นายนิกร โสมกลาง, พชร จันทรรวงทอง, นางสาว ปิยะนุช ยินดีสุข, นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ, นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล, นายนรเสฎร์ ศิริโรจนกุล, นายศิริสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ, นายรชตะ ด่านกุล, นายพรเทพ ศิริโรจนกุล, นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และคณะ ลงพื้นที่ ณ บ้านไร่ หมู่ 1 ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อมาดูปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยมีพี่น้องประชาชนรอต้อนรับและให้กำลังใจกว่า 300 คน เปล่งเสียงเชียร์ “นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์สู้ๆ” 


โดย นายอภิชา สส.นครราชสีมา ได้เล่าปัญหาให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยฟังว่า ทุก ๆ ปี ในช่วงหน้าฝน น้ำในแม่น้ำมูลจะมีปริมาณมากและไหลแรง กัดเซาะตลิ่งและทะลักเข้าท่วมพื้นที่นา ซึ่งเป็นนาหว่านและนาปี ซึ่งอาศัยน้ำจากฤดูฝนเป็นหลัก และยากต่อการควบคุม ซึ่งที่ผ่านมาการจัดการน้ำไม่ให้ท่วมที่นามากเกินไปจนเกิดความเสียหายนั้นเป็นไปได้ยาก แต่หากมี ‘ผนังกันการกัดเซาะตลิ่ง’ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นสะพานที่แคบ และก่อสร้างมากว่า 30 ปีแล้ว โดยชาวบ้านต้องการให้ขยายสะพานเพื่อความสะดวกต่อการจราจรและทำให้พื้นที่ใต้สะพานเร่งระบายน้ำได้เร็วขึ้น 


โดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่าการมาพื้นที่วันนี้ มีนายประเสริฐ รองนายกฯ ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาพร้อมกับคณะด้วย โดยจะนำเสนอไปยังฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขต่อไป 


“ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ไหน ยินดีรับใช้พี่น้องประชาชนเสมอ แต่วันนี้ขอมารับใช้ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีอะไรให้บอก สส. เรื่องถึงหัวหน้าพรรคแน่นอน และเรามีรองนายกฯ โคราช ที่ดูแลเรื่องน้ำอยู่ เรื่องนี้อยู่ในความดูแลของท่าน บอกท่าน(รองนายกฯ ประเสริฐ) ท่านจะไปบอกท่านรักษาการรองนายกฯ ภูมิธรรมต่อแน่นอน ดูแลและแก้ปัญหากันต่อไป ปัญหาของพี่น้องต้องถูกได้ยิน ถูกรับฟัง” นางสาวแพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าว 


โดยก่อนหัวหน้าพรรคจะเดินทางไปทำภารกิจต่อไป พี่น้องประชาชนได้ขอถ่ายรูปและส่งเสียงให้กำลังใจ “นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์สู้ๆ“ สร้างรอยยิ้มและความอบอุ่นแก่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะ 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์




จม.จากเรือนจำฉบับ 7 ก.ค. 68 “อานนท์” เผย เหตุผลที่ไม่ลี้ภัยการเมือง ขอเป็นภาพสะท้อนกระบวนการยุติธรรมต่อคดี 112 ส่งกำลังใจมิตรสหายร่วมสู้ “จากวันแรก จนถึงวันนี้ เรามาไกลเกินกลับไปนับ 1 แล้ว”

 


จม.จากเรือนจำฉบับ 7 ก.ค. 68 “อานนท์” เผย เหตุผลที่ไม่ลี้ภัยการเมือง ขอเป็นภาพสะท้อนกระบวนการยุติธรรมต่อคดี 112 ส่งกำลังใจมิตรสหายร่วมสู้ “จากวันแรก จนถึงวันนี้ เรามาไกลเกินกลับไปนับ 1 แล้ว”


วันที่ 11 กรกฎาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก "อานนท์ นำภา" ได้เผยแพร่จดหมายอานนท์ที่เขียนขึ้นในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ฉบับวันที่ 7 ก.ค.68 


ระบุว่า“จำนวนคนที่สนใจเข้าฟังคำพิพากษา มาตรา 112 ของผม จากคดีแรกเมื่อ 25 กันยายน 2566 กระทั่งคดีล่าสุด 25 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา มีจำนวนไม่ลดลง ซ้ำยังมีการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกำลังใจผ่านทางความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่สังคมเก่ากำลังหวาดกลัว 


พวกเขาหวังว่า เวลาที่ยาวนานจะทำให้การรับรู้และความสนใจของคนลดลง แต่มันกลับเป็นในทางตรงกันข้าม เมื่อผู้คนยิ่งตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทยมากขึ้น ทางเดียวที่พวกเขาจะทำได้ คือช่วยกันเอาใบบัวมาปิดความฟอนเฟะ และเมื่อปิดสิ่งนั้นไม่มิด ก็เอามาปิดหูปิดตาผู้คนเสีย


เหตุผลประการสำคัญที่ผมไม่ลี้ภัยการเมือง คือต้องการใช้กรณีของผมเป็นภาพสะท้อนความอัปลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในมาตรา 112 และใช้ตัวเองเป็นบทบันทึกเรื่องราวในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งนี้


ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความปรารถนาดีที่จะทำให้สังคมตื่นรู้ เวลาไม่ได้อยู่ข้างเราเพียงอย่างเดียว แต่เวลายังทำหน้าที่พิสูจน์สิ่งที่เราต่อสู้ให้เห็นภาพเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนถึงความขัดแย้งและปัญหาในสังคมไทย


อย่างไรก็ตาม เวลาที่ยาวนาน ความยากลำบากและปัญหาสารพัน ที่เป็นปราการขวางกั้นการต่อสู้ก็ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นเช่นกัน คดีมาตรา 112 ของผมหลายคดีถูกสั่งให้พิจารณาลับและไม่ให้เผยแพร่ บางคดีถึงขนาดหลีกเร้น พยายามหลบหน้าสาธารณชน ในการอ่านคำพิพากษาผมเฝ้าถามในใจทุกครั้งที่เผชิญภาวะเช่นนั้นว่า "ถ้ามั่นใจว่า คำพิพากษานั้นยุติธรรม แล้วท่านจะกลัวอะไร“


ในวันที่ข้อเท้าต้องมีแผลเป็นอันเกิดจากโซ่ตรวน ผมยังปรารถนาอย่างแน่วแน่ ที่จะใช้ชีวิตเป็นบทบันทึกและเป็นภาพสะท้อนความอัปลักษณ์ของมาตรา 112 ต่อไป และเพื่อเป็นการย้ำเตือนความอยุติธรรมที่ได้รับ ผมจึงโกนคิ้วตัวเอง 1 ข้าง เพื่อที่ทุกครั้งที่มองตัวเองผ่านกระจก ผมจะได้ไม่ลืมมัน


หากการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของผม พอจะมีคุณูปการอยู่บ้าง ผมขอให้มันเป็นแรงบันดาลใจให้คนในกระบวนการยุติธรรม ได้โปรดฉุกคิดและเห็นถึงความอัปลักษณ์ของมันเสียที  


สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้มิตรสหายที่ร่วมต่อสู้กันมา 

จากวันแรก จนถึงวันนี้ เรามาไกลเกินกลับไปนับ 1 แล้ว”

 

เชื่อมั่นและศรัทธา

อานนท์ นำภา

7 กรกฎาคม 2568

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร


สำหรับอานนท์ นำภา ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ในคดีม.112 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 68 ศาลตัดสินคดี ม.112-116 “อานนท์ นำภา” เหตุปราศรัย #ม็อบ17พฤศจิกา63 หน้ารัฐสภา อีก 2 ปี 4 เดือน ซึ่งคดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 10 ของอานนท์ นำภา ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา รวมโทษจำคุกในทุกคดีทั้งสิ้น 26 ปี 37 เดือน 20 วัน หรือประมาณ 29 ปี 1 เดือนเศษ แยกเป็นคดีข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 10 คดี, คดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 จำนวน 1 คดี, คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 คดี และคดีละเมิดอำนาจศาล 1 คดี โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา #มาตรา112

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

“รัฐธรรมนูญ 60 คือ ทางตัน รัฐธรรมนูญประชาชน คือ ทางออก” 25 องค์กรภาคประชาชน แถลงข่าว แสดงเจตจำนงต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

 


“รัฐธรรมนูญ 60 คือ ทางตัน รัฐธรรมนูญประชาชน คือ ทางออก” 25 องค์กรภาคประชาชน แถลงข่าว แสดงเจตจำนงต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง


วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. ที่ห้องสุรกิจ โรงแรมอลิซาเบธ มีงานแถลงข่าวภาคประชาชน “รัฐธรรมนูญ 60 คือ ทางตัน รัฐธรรมนูญประชาชน คือ ทางออก” โดยองค์กรภาคประชาชนกว่า 25 องค์กร ถึงความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แสดงเจตจำนงต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน เพื่อปฏิรูปสถาบันทางการเมืองให้กลับมายึดโยงประชาชน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงยั่งยืน และฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งสิทธิสวัสดิการ เช่น การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ที่ดิน-ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางกระบวนการยุติธรรม หรือ สิทธิทางเพศและความเป็นธรรมทางเพศ ไปจนถึงการฟื้นฟูหลักนิติรัฐ-นิติธรรม


โดยองค์กรที่ร่วมแถลงข่าวได้แก่ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL), โครงการอินเตอร์เพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR), เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.), มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.), เครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี่ เพื่อความเท่าเทียม (TransEqual), กลุ่มทำทาง, กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก, สหภาพคนทำงาน, เครือข่ายแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), We Watch, We Fair, ActLab, Secure Renger, Beach for life, Tune & Co, DAYBREAKER NETWORK และกลุ่มทะลุฟ้า


โดยแต่ละองค์กรที่ร่วมแถลงข่าว มีตัวแทนมาร่วมกล่าวถึงข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ความจำเป็นและเจตจำนงถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีประเด็นสำคัญพอสรุปได้ดังนี้


รัฐธรรมนูญปี 2560 สถาปนาระบอบที่เรียกว่า ‘รัฐอำนาจนิยม’ ทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอ่อนแอลง ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ การลดทอนสิทธิเสรีภาพในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิชุมชน ที่ดินทำกิน แรงงาน สวัสดิการสังคม ความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ การทำแท้ง กระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแสดงออก และในขณะเดียวกันนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังทำให้อำนาจของประชาชนอ่อนแอ ตั้งแต่ความไม่ชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจของ สว. ไปจนถึงการบั่นทอนสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชนทั้งสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐบาลก็ตาม ผ่านการตีความที่เรียกว่ากฎหมู่ที่คนบางกลุ่มร่างขึ้นมาและบังคับใช้ตีความเอง คือมาตรฐานจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และยุทธศาสตร์ชาติ 


การที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บีบให้ประชาชนอยู่ใต้ทางตัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง คืนสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริงให้กับประชาชน การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นยืนยันว่าจะต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและความหลากหลายของประชาชน และ สสร. ต้องมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เต็มฉบับ และทางออกในการไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้นั้น ต้องอาศัยพลังของประชาชนในการกดดัน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการทำประชามติ และในกรณีของวุฒิสภาซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง และยืนยันว่าไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นกับรัฐบาล ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของสภา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ #สสร



































‘เศรษฐา’ เชื่อมือ ‘พิชัย’ เจรจาสหรัฐฯ หวังไทยได้ลดภาษีเหลือ 20% เท่าเวียดนาม เชื่อรัฐบาลมีแผนรองรับ แนะทำโรดโชว์ ตปท.หากเจรจาไม่เป็นไปตามเป้า

 


‘เศรษฐา’ เชื่อมือ ‘พิชัย’ เจรจาสหรัฐฯ หวังไทยได้ลดภาษีเหลือ 20% เท่าเวียดนาม เชื่อรัฐบาลมีแผนรองรับ แนะทำโรดโชว์ ตปท.หากเจรจาไม่เป็นไปตามเป้า 


วันนี้ (10 กรกฎาคม 2568) นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความหวังในการเจรจาภาษีระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาว่า เราทราบกันดีว่าเรามีเวลาถึงวันที่ 1 ส.ค.68 เชื่อว่านายพิชัย ชุณหะวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทีมงานทำงานขมักเขม้นเพื่อให้เราได้รับการยกเว้นอัตราภาษีที่ดีขึ้น คิดว่ายังมีความหวังอยู่ เราเองก็ยังมีอะไรที่ต้องไปให้เขาอีกหลายอย่าง


สำหรับแต้มต่อของไทยที่จะทำให้เราได้ลดอัตราภาษีน้อยกว่า 36% นั้น ต้องดูในรายละเอียด ทั้งจำนวนสินค้าในหมวดต่าง ๆ อะไรที่ให้เขาแล้วไม่ต้องเสียอะไรมากมาย เหนือสิ่งอื่นใดคือทีมงานเราทุกกระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน อย่าให้เสียงแตก และทำให้เขาพอใจ รวมถึงเรื่องนอนทารีฟ ขั้นตอนศุลกากร และการสวมสิทธิ์ที่เขายังเป็นปัญหาอยู่ เราจะต้องให้ความกระจ่างให้ดีขึ้นในเรื่องนี้


นายเศรษฐา ระบุว่า อย่างน้อยเป้าหมายของเรา อัตราภาษีต้องลดลงเหลือ 20% เราต้องไม่เสียเปรียบเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบหลายข้อ เช่น ระบบภาษีที่ชัดเจนกว่า ระบบราชการที่ให้การดูแลนักลงทุนอย่างเป็นธรรม ส่วนตัวเชื่อว่ามีหลายประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเลข


สำหรับการช่วยเหลือ SMEs จะต้องทำอย่างเร่งด่วนเลยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากได้รับการผ่อนปรนภาษีสหรัฐฯ ให้เท่ากับอัตราของเวียดนามก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เชื่อว่าเดี๋ยวคงมีมาตรการออกสินเชื่อพิเศษ ทั้งนี้ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าการรับมือของรัฐบาลนั้นล่าช้า ตอนนี้เราต้องรวมใจกัน และทำให้วันที่ 1 ส.ค.68 ประสบความสำเร็จไปให้ได้ก่อน อย่างน้อยก็ต้อง 20% เท่ากับเวียดนาม ส่วนแผนการรองรับอื่น ๆ ก็ต้องตามมา


สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน หากผลการเจรจาออกมาในเชิงบวกก็เป็นประเด็นหนึ่ง หากผลออกมาแล้วไม่เป็นไปตามที่เราวางไว้ คงต้องทำโรดโชว์เพื่อเอาข้อดีของประเทศไทยไปเสนอให้กับต่างชาติ


#UDDnews  #ยูดีดีนิวส์ #ภาษีทรัมป์

เครือข่ายนิรโทษกรรมจัดกิจกรรม เฝ้าจอใหญ่ๆ จับตาสดๆ #นิรโทษกรรมประชาชน ที่ลานประชาชน คู่ขนานสภาฯ ถก ร่างกม.นิรโทษกรรม ด้าน"พิเชษฐ์" ชิงสั่งปิดประชุม หลัง'เบนจา อะปัญ' ถาม กลางที่ประชุมว่าการไม่นิรโทษกรรม #มาตรา112 จะสันติสุขกันแค่พวกท่านหรืออย่างไร ? ขณะที่ ปชน.ร่วมพูดคุยและให้กำลังใจประชาชน

 


เครือข่ายนิรโทษกรรมจัดกิจกรรม เฝ้าจอใหญ่ๆ จับตาสดๆ #นิรโทษกรรมประชาชน ที่ลานประชาชน คู่ขนานสภาฯ ถก ร่างกม.นิรโทษกรรม ด้าน"พิเชษฐ์" ชิงสั่งปิดประชุม หลัง'เบนจา อะปัญ' ถาม กลางที่ประชุมว่าการไม่นิรโทษกรรม #มาตรา112 จะสันติสุขกันแค่พวกท่านหรืออย่างไร ? ขณะที่ ปชน.ร่วมพูดคุยและให้กำลังใจประชาชน


วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมสภาฯที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี สส.และภาคประชาชนเสนอรวม 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เสนอโดย พรรคประชาชน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน และ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่และยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ประธานในที่ประชุมอนุญาติให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันได้


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้จัดกิจกรรม พุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 พบกัน "ลานประชาชน" รัฐสภา เฝ้าจอใหญ่ๆ จับตาสดๆ #นิรโทษกรรมประชาชน 


โดยกางจอขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมรับฟัง การประชุมสภา กันแบบสด ๆ สลับกับการพูดคุย โดยเป็นการสรุปเนื้อหาสาระในการประชุมด้านในว่า ใครอภิปรายยังไงบ้าง 


นอกจากนี้ยังมีการเปิดบูธโดย แนวร่วมเครือข่าย ทั้งการ จำหน่ายสินค้าและการเล่นเกมส์เกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมืองทั้ง 51 คน ชิงรางวัลเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วม


โดยประชาชนเข้าร่วมรับชมการประชุมสภาด้วยความสนใจ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในขณะนั้น ได้ให้ผู้ชี้แจงขึ้นกล่าว


นายธนพัฒน์ กาเพ็ง ในฐานะผู้ชี้แจงในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับภาคประชาชน ระบุว่า ตนเองเป็นประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ตนเองไม่เคยคิดว่าการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในฐานะเยาวชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ตั้งแต่ตนศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และปัจจุบันตนเองมีคดีทางการเมืองติดตัวอยู่ 24 คดี และมีคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คดี


นายธนพัฒน์ กล่าวว่า ตนเองถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคง เป็นคนหัวรุนแรง เป็นเด็กนอกคอก เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่พวกท่านจะตีตรา ทั้งที่ตนเองเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่อยากใช้สิทธิพลเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและบ้านเมืองของเราดีขึ้น โดยหวังว่าวันหนึ่งพวกท่านจะหันมารับฟังความเห็นต่าง บางท่านบอกว่าพวกเราถูกชี้นำ ถูกชักจูงล้างสมอง ขอยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราคิดและทำคือ การแสดงออกตามสิทธิพลเมือง เป็นการแสดงออก ตามสังคมประชาธิปไตย


สิ่งสำคัญที่สุดคือ หลายคนคิดว่าคดีมาตรา 112 ไม่ใช่คดีความทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบันแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามาตรา 112 คือคดีความที่พวกเราถูกกลั่นแกล้ง การจะนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีความมาตรา 112 คือ การยุติความขัดแย้งเพียงครึ่งเดียวและจะไม่มีสันติภาพใดเกิดขึ้นได้จากความยุติธรรมที่เลือกข้าง


นายธนพัฒน์ เชื่อว่า การนิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 112 ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้กับคนเห็นต่าง แต่คือการฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม ฟื้นฟูประชาธิปไตยให้พวกเราที่เคยถูกตีตราว่าผิดได้กลับมาใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองอย่างเท่าเทียม ตนเองขอเรียกร้องไปยังผู้แทนราษฎร สส.ที่กล่าวว่าเห็นใจเยาวชนและประชาชนช่วยกันยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย


"ประชาธิปไตยจะไม่มีวันเบ่งบานในประเทศเรา ถ้าท่านยังปล่อยให้เยาวชนคนที่เห็นต่างทางความคิดถูกดำเนินคดีเพียงเพราะพวกเขามีความฝัน" นายธนพัฒน์ กล่าว


นางสาวเบนจา อะปัญ ผู้ชี้แจง กล่าวว่า การทำร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมจำเป็นต้องมีคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ซึ่งการบอกว่าผู้ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศใช้อภิสิทธิ์ ซึ่งตนเองจดบันทึกทุกวันว่าวันนี้เพื่อนเราหายไปหรือไม่ ซึ่งมีหลายคนในนั้น ไม่ได้มีสิทธิ์อะไรเลย การใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนไม่มีต้นทุนไม่ได้ภาษา ดังนั้น จะมาบอกว่ามีอภิสิทธิ์ไม่ได้ แต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่อยากต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม การขอศาลออกหมายเรียกพยานมันยากเย็น ดังนั้น จะเรียกว่ายุติธรรมสำหรับฝ่ายจำเลยอย่างพวกเราได้อย่างไร


นางสาวเบนจา กล่าวอีกว่า คนที่ติดคุกอยู่ และกำลังจะติดคุกก็เป็นเรื่องคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าจะสันติสุข หากไม่รวมคดีนี้เข้าไป จะสันติสุขแบบไหน จะสันติสุขเฉพาะพวกท่านหรือไม่ และถ้าบอกว่าอยากก้าวไปด้วยกัน เพื่อได้โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ ทำไมถึงไม่ให้โอกาสคนอย่างพวกเรา คนรุ่นใหม่ให้ก้าวผ่านไปด้วยกัน เหมือนกับคดีอื่น ๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีใครเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราร่วมกันเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ตั้งแต่วันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.09 น. เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่มีการอภิปราย อยู่ ๆ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมอยู่ ได้แจ้งปิดประชุมแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หลังเบนจา อะปัญ กล่าว โดยคิวถัดไป เป็นนายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ( ซึ่งจะได้ไปสรุปในวันพุธ ที่16)


โดยนายพิเชษฐ์ ระบุ ว่า ขณะนี้เนื่องจากมีเจ้าของร่าง จากจำนวน 5 ร่าง ยังเหลือ 3 ร่างที่จะอภิปรายสรุป โดยเอาไว้ต่อสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ ขอปิดประชุม 


ซึ่งในเวลาต่อมา นายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และ สส.อาทิ นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม., นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี, นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ, นายวีรนันท์ ฮวดศรี” สส.ขอนแก่น, นายธิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส. ภูเก็ต ได้เดินมายังลานประชาชนเพื่อพบปะกับ ประชาชนที่ ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน อละได้อัปเดตเรื่องราวในสภา รวมถึงให้กำลังใจ พี่น้องประชาชน


โดยนายณัฐพงศ์ ระบุว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 5 ร่าง ถึงแม้ยังมีความแตกต่างทางความคิด แต่สภาควรผ่านในชั้นรับหลักการทั้งหมด เพื่อเปิดประตูให้ร่างของทุกพรรค รวมถึงร่างของภาคประชาชน ได้เข้าไปถกเถียงพูดคุยกันต่อในสภา ซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดที่พวกเราจะมาหารือกันในเรื่องเหล่านี้


จากนั้น พูนสุข พูนสุขเจริญ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง เบนจา อะปัญ เดินออกจาก ห้องประชุมสภามายัง ลานประชาชน เพื่อบอกเล่าบรรยากาศด้านใน และพูดคุยความคืบหน้า ก่อนที่ทั้งหมดจะถ่ายรูปร่วมกันและมีการนัดหมาย วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม 2568 มาเจอกันอีกครั้งที่ลานประชาชน รัฐสภา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน