วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ชัยธวัช” รับฟังปัญหาชาวสวนทุเรียนชุมพร หวั่นภัยแล้งกระทบพืชเศรษฐกิจสำคัญ แนะเตรียมรับมือระยะยาว กระจายงบและอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่

 


“ชัยธวัช” รับฟังปัญหาชาวสวนทุเรียนชุมพร หวั่นภัยแล้งกระทบพืชเศรษฐกิจสำคัญ แนะเตรียมรับมือระยะยาว กระจายงบและอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่


วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่บ้านสตงท่าสำราญ ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เปิดวงพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรสวนทุเรียน พร้อมลงพื้นที่ดูสวนทุเรียนที่กำลังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนน้ำ


ในวงพูดคุยมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาร่วมสะท้อนปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า ทำให้การพัฒนาพื้นที่เช่นการขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรไม่สามารถทำได้ รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ขาดแคลนทั้งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น


ชัยธวัชกล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลผลิตการเกษตรที่สำคัญที่สุดสำหรับภาคใต้ในระยะหลังมานี้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่เศรษฐกิจเติบโตได้จากภาคการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเท่ากับจังหวัดอื่นๆ แต่จากสถานการณ์เอลนีโญที่รุนแรงในปัจจุบันทำให้เกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะน้ำแล้ง ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนอดีตอีกต่อไป โดยผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุถึงความเป็นไปได้ว่า ฝนทิ้งช่วงอาจเกิดขึ้นแบบนี้ทุกปีไปจนถึงปี 2571 


ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรจึงเป็นปัญหาร่วมของเกษตรกรทุกพื้นที่ ซึ่งต้องใช้หลากหลายมาตรการในการแก้ปัญหา และในแต่ละพื้นที่ก็ต้องการวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น จะทำฝายหรือเขื่อน จะเลือกฝายขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก จะทำในพื้นที่จุดใด มีผู้ได้รับผลกระทบเท่าไร และเมื่อมีแล้วการบริหารจัดการน้ำแล้วก็ต้องมีกฎกติกาด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน


ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า สำหรับพรรคก้าวไกลแล้ว เราสนับสนุนการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่าโครงการขนาดใหญ่ หากไม่จำเป็นหรือสมเหตุสมผล เพราะที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่มักมีต้นทุนสูง และหากไม่วางแผนดีๆ ก็จะไม่คุ้มค่า ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างที่ประเมินไว้ ขณะที่การใช้แหล่งเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายไปในหลายพื้นที่ย่อมจัดการได้ง่ายกว่า เกิดผลกระทบน้อยกว่า และใกล้คนใช้น้ำมากกว่า


พรรคก้าวไกลจึงเสนอมาตลอดว่า งบประมาณและการตัดสินใจทำแหล่งน้ำที่มีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทควรเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง แต่ปัญหาคือปัจจุบันงบประมาณและอำนาจในการทำแหล่งน้ำยังคงกระจุกตัวอยู่ที่กรมชลประทาน ซึ่งขอยาก หรือหลายพื้นที่เมื่อมีการพิจารณาอนุมัติโครงการก็มักไม่ตอบโจทย์อย่างที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการจริงๆ ทำให้คนได้รับประโยชน์กลายเป็นผู้รับเหมา หลายแห่งทำมาแล้วก็ใช้งานไม่ได้ แต่ถ้าเป็นแหล่งน้ำขนาดกลางหรือเล็ก ท้องถิ่นกับชาวบ้านจะมีส่วนในการตัดสินใจร่วมกัน ดังนั้น ตนเชื่อว่าหากถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่นดูแลจะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่ามาก

ชัยธวัชกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันในระยะยาว ไม่สามารถใช้เวลาปีเดียวในการแก้ให้จบได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน และไฟฟ้า โดยพรรคก้าวไกลมี สส.กระจายอยู่ในทุกกรรมาธิการ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับประชาชนทุกภาคส่วน 


“พรรคก้าวไกลเป็นพื้นที่กลางที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ขอให้ทุกคนมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่” ชัยธวัชกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล