“สุรเชษฐ์” จี้รัฐหยุดขยายสัมปทานทางด่วนไปเรื่อย เบื้องหน้าอ้างลดค่าทางด่วน เบื้องหลังจงใจเอื้อประโยชน์นายทุน ทำรัฐเสียรายได้ฝ ย้ำหลักการสัมปทานควรหมดแล้วหมดเลย ถ้าจะต่อต้องแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch หัวข้อ “ทวงคืนทางด่วน หยุดหาเรื่องขยายสัมปทาน เอื้อประโยชน์ให้นายทุนไปเรื่อย” โดยกล่าวถึงความพยายามของนายทุนในการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนอย่างแยบยลผ่านการขายนโยบายลดค่าทางด่วนโดยรัฐบาล โดยวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศว่าจะลดค่าทางด่วนให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งฟังเผินๆ อาจเหมือนข่าวดีที่ประชาชนจะจ่ายค่าทางด่วนถูกลง แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด จะพบว่าเป็นการลดแบบมีเงื่อนไข ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นผลดีต่อประเทศในภาพรวมหรือไม่
สุรเชษฐ์กล่าวว่า ตนเคยอภิปรายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ขณะนั้นทางด่วนกำลังหมดสัญญาสัมปทาน เอกชนมีความพยายามจะขยายสัญญาสัมปทานออกไป อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาสัมปทาน มีการฟ้องร้องกันตลอด รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมารัฐบาลประยุทธ์ 62 นำข้อพิพาทต่าง ๆ มาเจรจา “ยอมความกัน” โดยให้เอกชนได้สัญญาสัมปทานเพิ่มไปฟรี ๆ 15 ปี 8 เดือน หรือที่เรียกว่า #ค่าแกล้งโง่ ซึ่งขณะนั้น ตนในฐานะ สส. พรรคอนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้านและเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ จึงหยุดเรื่องนี้ไม่สำเร็จ และอีกกรณีคือโครงการ Double Deck หรือทางด่วนชั้นที่ 2 ที่ยกคร่อมจากบริเวณงามวงศ์วานไปถึงพระราม 9 โครงการนี้แม้หยุดสำเร็จ แต่วันนี้กำลังจะกลับมา
ขณะที่สัญญาสัมปทาน #ค่าแกล้งโง่ กำลังดำเนินไป วันร้ายคืนร้ายรัฐบาลนี้ก็สร้างกระแสผลักดัน “ลดค่าทางด่วน” ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมด้วย 3 เหตุผล (1) การเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นการแข่งขันระหว่างรูปแบบการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวกับระบบขนส่งสาธารณะ การลดค่าทางด่วนจะย้อนแย้งกับนโยบายของรัฐที่บอกว่าอยากให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะเมื่อลดค่าทางด่วน ก็จูงใจให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น
(2) ทางด่วนเป็นสินค้าประเภท Pay per use หรือผู้ใช้เป็นผู้จ่าย ซึ่งยุติธรรม แต่การลดหรือฟรีค่าทางด่วน จะทำให้ความยุติธรรมนี้ลดลง รัฐสูญเสียรายได้ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนา และ (3) ที่สำคัญมาก คือนายทุนมักเอาเปรียบรัฐมากขึ้นเมื่อได้เซ็นสัญญาใหม่ โดยปัจจุบันนายทุนได้เซ็นสัญญาขยายสัมปทานไปแล้ว 15 ปี 8 เดือน ขอตั้งข้อสังเกตว่าหากเอกชนไม่ได้อะไรมากขึ้นจากสัญญานั้น เขาจะยอมเซ็นหรือ ดังนั้นการลดราคาค่าทางด่วน ไม่มีทางเป็นเพราะเอกชนใจดี แต่แลกมาด้วยการที่รัฐสูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งค่าทางด่วน รวมถึงสูญเสียรายได้ที่รัฐควรจะได้ในอนาคต
สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ล่าสุดขณะที่ตนกำลังแถลงข่าวอยู่นี้ บอร์ด กทพ. กำลังพิจารณาเรื่องการขยายสัมปทานเพื่อลากยาวไปถึง 31 มีนาคม 2601 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า ดังนั้นวันนี้เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลคืออยากช่วยเอกชนหาเรื่องขยายสัญญาสัมปทาน แต่กลับใช้แนวทางการตลาดอ้างว่าเป็นการลดค่าทางด่วน ซึ่งต้องแลกด้วยส่วนแบ่งรายได้รัฐที่ลดลง พ่วงด้วยโครงการ Double Deck เพื่อให้สามารถขยายสัญญาสัมปทานได้นานขึ้น ซึ่งเป็นการแช่แข็งการพัฒนาและนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเฉพาะรายเป็นพิเศษโดยไม่มีการแข่งขัน
“หลักการของสัญญาสัมปทานนั้น คือหมดแล้วหมดเลย หากจำเป็นต้องต่อก็ต้องแข่งขันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ดูว่าเจ้าไหนให้ผลตอบแทนแก่รัฐดีที่สุด ไม่ใช่เจรจากับเจ้าเดียวแล้วต่อให้เจ้าเดียวไปเรื่อยๆ แบบนั้นไม่ยุติธรรมกับประชาชน” สุรเชษฐ์กล่าว
สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาค่าผ่านทางหรือระบบทางด่วนนั้น คล้ายกับปัญหาค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้า ที่ผ่านมาเรามองผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง แต่สิ่งที่ควรจะเป็น หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราอยากเปลี่ยนให้เป็นระบบ Distance-Based คือใครวิ่งใกล้จ่ายน้อย ใครวิ่งไกลจ่ายมาก
แต่การที่รัฐถูกแช่แข็งด้วยสัญญาสัมปทานเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้เอกชนหาเรื่องขยายสัญญาไปเรื่อยเพื่อให้รัฐหมดภาระผูกพัน พรรคใดมีนโยบายดี ๆ ก็มาแข่งขันกัน ให้ประชาชนเลือกว่าควรพัฒนาระบบขนส่งอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สุด
สุรเชษฐ์กล่าวว่า สิ่งที่ตนพูดวันนี้ไม่ใช่การค้านหัวชนฝา แต่เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ให้นายทุนผ่านการขยายสัญญาสัมปทาน ตอนปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าแกล้งโง่ เซ็นไปแล้ว 15 ปี 8 เดือน จะสิ้นสุดในปี 2578 แต่วันนี้ยังมีความพยายามจะขอเพิ่มอีก 22 ปี 5 เดือนนับจากปี 2578 ทำให้ไปสิ้นสุดปี 2601 เรื่องนี้ผ่านมติของคณะกรรมการบริหารของ กทพ. มาแล้ว เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าปล่อยผ่านได้อย่างไร แต่ทำแบบนี้นายทุนได้กำไรเกินควร
สิ่งที่ดีต่อประเทศนี้ไม่ใช่การลดค่าทางด่วน แต่ต้องทวงคืนทางด่วน แนวทางที่ควรจะเป็นคือควรหยุดหาเรื่องขยายสัญญาสัมปทานไปเรื่อย กทพ. ควรเน้นการแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ไม่เช่นนั้นจะไม่ตอบโจทย์เรื่องการประหยัดเวลา และไม่จำเป็นต้องรีบทำโครงการ Double Deck เพราะมีโครงการทางเลือกอื่นที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า เช่น โครงการ N1/N2/N3 รวมถึงควรเร่งพิจารณาโครงการตามต่างจังหวัดด้วย ยังมีอีกหลายทางเลือกที่ไม่ต้องเอื้อประโยชน์ให้นายทุนด้วยการขยายสัญญาสัมปทาน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล