วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ชัยธวัช” เยือนอุบลฯ ร่วมกิจกรรมตั้ง ตทอ. ศรีเมืองใหม่-ตาลสุม ย้ำ “ก้าวไกล” มุ่งสร้างพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ชี้คดียุบพรรคเป็นเรื่องการเมือง ไม่แน่นอน สิ่งสำคัญคือพรรคต้องเข้มแข็งที่ฐานราก สมาชิกพรรคเหนียวแน่น

 


ชัยธวัช” เยือนอุบลฯ ร่วมกิจกรรมตั้ง ตทอ. ศรีเมืองใหม่-ตาลสุม ย้ำ “ก้าวไกล” มุ่งสร้างพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ชี้คดียุบพรรคเป็นเรื่องการเมือง ไม่แน่นอน สิ่งสำคัญคือพรรคต้องเข้มแข็งที่ฐานราก สมาชิกพรรคเหนียวแน่น

 

วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยช่วงเช้าเข้าร่วมการประชุมเลือกตั้งตัวแทนพรรคประจำอำเภอ (ตทอ.) ศรีเมืองใหม่ และบรรยายหัวข้อ “ความสำคัญของ ตทอ. ในการสร้างพรรคของมวลชน” กล่าวช่วงหนึ่งว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคและตัวแทนพรรคประจำอำเภอ (ตทอ.) แม้กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้บังคับให้มี แต่ก้าวไกลกำหนดกลไกนี้ขึ้นมาเอง ต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ตั้งกลไกหรือโครงสร้างต่างๆ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

 

ที่มาของการออกแบบโครงสร้าง ตทอ. เพราะก้าวไกลเชื่อว่าพรรคการเมืองไม่ได้มีหน้าที่แค่ส่งคนลงเลือกตั้ง แต่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนจริงๆ ยึดโยงกับประชาชนและสมาชิก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการที่สมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพรรค เริ่มตั้งแต่หาสมาชิก ออกแบบและตัดสินใจร่วมกันในการบริหารจัดการพรรคในระดับพื้นที่ หรือมีบทบาทเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรคที่จะรับเอาประเด็นปัญหามาสื่อสารกับพรรคและผลักดันร่วมกัน

 

อีกด้านหนึ่ง โครงสร้าง ตทอ. ทำให้พรรคมีความเข้มแข็งในระดับฐานรากอย่างจริงจัง จึงกลายเป็นเป้าหมายในการตั้ง ตทอ. ทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยให้เป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นแกนนำในการทำงานร่วมกับสมาชิกพรรค และในอนาคต พรรคก้าวไกลจะต้องไปถึงการมีตัวแทนพรรคระดับตำบล (ตทต.) แลถเมื่อมีการเลือกตั้ง ตทอ. จนครบ ก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการจังหวัด

 

พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการที่พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรค มุ่งมั่นทำให้พรรคกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีชีวิตชีวา มีกิจกรรมร่วมกับประชาชนตลอดเวลา ไม่ใช่พรรคการเมืองที่เจอหน้ากันแค่สี่ปีครั้งหรือเฉพาะฤดูกาลหาเสียง ที่สำคัญที่สุด เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่เป็นเหมือน “พื้นที่กลาง” เป็นเครื่องมือที่พร้อมให้ประชาชนมาหยิบใช้เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา

 

ชัยธวัชกล่าวว่า สำหรับคดียุบพรรค หลายคนอาจสงสัยว่าในห้วงเวลาแบบนี้ทำไมเรายังมุ่งมั่นทำงานสร้างพรรค ตนขอว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าพรรคจะถูกยุบแน่นอน แม้ว่าคดียุบพรรคจะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องกฎหมาย จะยุบหรือไม่เป็นประเด็นการเมือง เอาเข้าจริงการยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ไปยืมมาจากเยอรมัน แต่เยอรมันกำหนดเนื้อหานี้ขึ้นเพื่อป้องกันปัญหากรณีพรรคนาซีในอดีต แต่ของไทยเมื่อเอามาใช้ก็น่าสงสัยว่าบรรดาพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น กระทำความรุนแรงล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ ในทางกลับกัน บรรดานายพลทหารที่นิยมชมชอบการออกมาทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย กลับลอยนวล

 

เมื่อเรื่องยุบพรรคเป็นเรื่องการเมือง เราไม่มีทางรู้ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ เพราะการเมืองเปลี่ยนทุกวัน สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความไม่แน่นอน วันนี้อยากยุบ วันถัดมาอาจรู้สึกไม่อยากยุบแล้วเพราะกลัวก้าวไกลโตกว่าเดิม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้มแข็งของพรรค ถ้าพรรคมีความเข้มแข็งจากฐานราก จากสมาชิกพรรคที่เหนียวแน่น ต่อให้พรรคถูกยุบเราก็จะไม่ล่มสลาย ทั้งยังกลับมาได้อย่างเข้มแข็งและรวดเร็วกว่าเดิม” หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

 

จากนั้นชัยธวัชเดินทางไปพบสมาชิกที่วัดบ้านหนองแสง ต.คำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง พูดคุยหัวข้อ “การกระจายอำนาจเพื่อการพัฒนาโดยท้องถิ่น” โดยกล่าวว่าพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการพบปะสมาชิกของพรรคอย่างมาก ทุกวันวันหยุดสุดสัปดาห์จะต้องมีการจัดกิจกรรมส่งแกนนำ สส. หรือทีมงานไปพบปะพูดคุย เราต้องการให้พรรคก้าวไกลมีความเป็นสถาบันทางการเมือง ดึงพี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

 

ชัยธวัชกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการเมืองท้องถิ่นมีความสำคัญมาก เรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่ประชาชนยื่นมานั้น เป็นประเด็นที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบทั้งนั้น การเมืองท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อชีวิตประชาชนมากที่สุด แต่กลับเป็นการเมืองที่ดูห่างไกลจากพี่น้องประชาชนมาก การมีส่วนร่วมก็น้อยมาก พรรคก้าวไกลจึงให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เพราะอยากทำให้ประชาชนสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยไม่ต้องใช้อำนาจ อิทธิพล หรือเงินในการทำงานเป็นหลัก

 

ส่วนนโยบายกระจายอำนาจ เป็นนโยบายหลักของพรรคมาตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ ลองพิจารณาดูว่าทุกวันนี้เรามี อบต. อบจ. เทศบาล เมื่อก่อนเราไม่มีหน่วยงานเหล่านี้ หรือถ้ามีก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาบางคนอาจรู้สึกว่านักการเมืองท้องถิ่นไม่มีคุณภาพ มีแต่ทุจริต แต่เอาเข้าจริงแล้วในหลายพื้นที่ การแข่งขันทางการเมืองที่ผ่านมาก็สร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการแข่งขัน

 

แต่ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องคน ยังมีเรื่องงบประมาณ ท้องถิ่นจำนวนมากมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะให้แก่พี่น้องประชาชน ดังนั้นต่อให้เลือกตั้งได้คนดีมีฝีมือเข้ามา แต่ถ้าไม่มีงบประมาณก็ไม่สามารถทำงานได้ อีกประการคือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นมีน้อยมาก บางครั้งจะจัดทำโครงการ ท้องถิ่นไม่สามารถตัดสินใจได้เอง ต้องส่งไปถามนายอำเภอ ผู้ว่าฯ หรือบางครั้งต้องขออนุญาตกระทรวงในการตัดสินใจว่าจะให้ท้องถิ่นทำได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าที่จะทำโครงการใหม่ๆ เพราะขาดอำนาจในการตัดสินใจและขาดการริเริ่มสิ่งใหม่

 

ชัยธวัชกล่าวว่า หลายคนอาจคิดว่าถ้ากระจายอำนาจก็จะเสร็จบ้านใหญ่ เสร็จนักการเมืองเก่า แต่ถ้าเราอยากแก้เรื่องนี้ก็ยิ่งต้องกระจายอำนาจ เพราะระบบอุปถัมภ์แบบบ้านใหญ่ที่ยึดท้องถิ่นเอาไว้เป็นสมบัติส่งต่อกันเป็นทอดๆ นั้น ดำรงอยู่ได้เพราะเรากระจายอำนาจไม่มากพอ เช่นเมื่อเงินน้อย อำนาจน้อย แล้วไม่มีงบมาแก้ไขปัญหา จึงกลายเป็นเงื่อนไขให้บรรดาผู้บริหารท้องถิ่นต้องไปวิ่งเต้นเส้นสายของบประมาณ ขอทรัพยากร จากผู้มีอำนาจกลายมาเป็นบุญคุณเป็นสายสัมพันธ์เครือข่ายอุปถัมภ์ต่อเนื่องกัน มีแต่การกระจายอำนาจที่จะยุติวงจรระบบอุปถัมภ์นี้ลง และทำให้เมืองต่างๆ จังหวัดต่างๆ ของไทย เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เต็มศักยภาพ และทัดเทียมกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในต่างประเทศ และนี่จะเป็นหนทางเดียวในการพัฒนาเมืองให้เติบโตไปในทิศทางที่ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

 

เสร็จแล้ว ชัยธวัชเดินทางต่อไปเข้าร่วมการประชุมเลือกตั้ง ตทอ.ตาลสุม ก่อนที่ช่วงเย็นจะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาชิกพรรคในพื้นที่ อ.เมือง เกี่ยวกับการเมืองวิถีก้าวไกลกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่มีอำนาจและงบประมาณ ขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจดำเนินการใดๆ จะทำโครงการก็ต้องคอยไปถามไปขออนุญาตจากส่วนราชการระดับภูมิภาค หรือยิ่งกว่านั้น การดำเนินการบางประการ อปท. ต้องวิ่งเข้าไปขอการอนุมัติจากผู้มีอำนาจในกระทรวงด้วยซ้ำ เช่น ถ้าจะขุดลอกคูคลองในบางจุด อาจต้องไปขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อน หรือถ้าจะเอาที่ดินบางแห่งมาพัฒนา ก็อาจต้องไปอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

วิธีแก้ไขในระยะสั้นและระยะกลาง เช่น แก้กฎหมายเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจของท้องถิ่นให้ชัดเจน ด้วยการเขียนกฎหมายในเชิง Negative list แทน Positive list โดยกำหนดว่าท้องถิ่นห้ามทำอะไรบ้าง และกิจการอื่นนอกจากนั้นท้องถิ่นทำได้ทั้งหมด, สำรวจและแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายแม่บทและกฎหมายระดับรองเพื่อกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น แก้ พ.ร.บ.ถนน ยกเลิกทางหลวงชนบทแล้วนำงบประมาณไปกระจายให้แก่ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลถนนเหล่านี้แทน

 

นอกจากการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่แล้ว จะต้องตามมาด้วยการถ่ายโอนทรัพยากรและงบประมาณ เช่น ตอนนี้การดับไฟป่าเป็นภารกิจที่ได้รับถ่ายโอนมาเป็นของท้องถิ่น แต่งบประมาณกลับไม่มีการอนุมัติตามมาด้วย ทำให้ท้องถิ่นขาดศักยภาพในการป้องกันไฟป่าได้อย่างจริงจัง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล