วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ชุติพงศ์” ทวงการบ้านรัฐบาล 1 เดือนหลังโรงงานวินโพรเสสไฟไหม้ ตั้งคำถามข้อสั่งการนายกฯ เรื่องไหนคืบหน้า-สำเร็จบ้าง แนะเร่งอนุมัติงบกลาง-เยียวยาประชาชน-กวดขันผู้ประกอบการและโรงงาน

 


“ชุติพงศ์” ทวงการบ้านรัฐบาล 1 เดือนหลังโรงงานวินโพรเสสไฟไหม้ ตั้งคำถามข้อสั่งการนายกฯ เรื่องไหนคืบหน้า-สำเร็จบ้าง แนะเร่งอนุมัติงบกลาง-เยียวยาประชาชน-กวดขันผู้ประกอบการและโรงงาน 


วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง เขต 4 (อำเภอบ้านค่าย ปลวกแดง วังจันทร์) พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch หัวข้อ “ถอดบทเรียน-ทวงการบ้านรัฐบาล 1 เดือนหลังโรงงานวินโพรเสสไฟไหม้” โดยกล่าวว่า 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากนายกฯ ลงพื้นที่โรงงานวินโพรเสสเมื่อ 27 เมษายนและมีข้อสั่งการ มีอะไรเป็นไปตามที่นายกฯ สั่งการบ้าง ไม่ว่าจะเป็น (1) สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลควบคุมสถานการณ์การปะทุและเหตุเพลิงไหม้จนเข้าสู่ภาวะปกติ จัดทำแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ แต่ต่อมา 12 พฤษภาคม เกิดเพลิงไหม้ซ้ำที่โกดัง 3 หลังจากดับไปแล้วกว่า 15 วัน เหตุผลในการปะทุอีกครั้งยังไม่มีใครตอบได้ ผ่านไป 1 เดือนสาเหตุเพลิงไหม้ก็ยังไม่รู้ ควันที่กองอะลูมิเนียมดรอสก็ยังมีออกมา ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชนแทบทุกวัน เห็นได้ว่าการควบคุมสถานการณ์การปะทุยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ ไฟจะปะทุอีกเมื่อไรก็ไม่รู้ 


(2) ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านค่าย องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร เพื่อเป็นข้อมูลในการชดเชยเยียวยา ตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวข้อง ไม่แน่ใจว่าประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยองกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านค่าย มีผู้มาลงทะเบียนรับเรื่องชดเชยเยียวยา รวมกันแล้ว 0 คน ที่ อบต.บางบุตร และ อบต.หนองบัว รวมกันประมาณ 700 คน จากประชากรทั้งพื้นที่ 4,000 กว่าคน ที่สำคัญเพิ่งจะแต่งตั้งคณะกรรมการเสร็จ และประชุมครั้งแรกไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าอีกนานแค่ไหนกว่าชาวบ้านจะได้รับเงินชดเชยเยียวยา 


(3) ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดจุดตรวจวัดคุณภาพชุมชนและรายงานผลให้ทราบ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน เร่งนำกากอันตรายในพื้นที่ไปกำจัดให้ถูกต้องและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูฝนที่อาจมีวัตถุอันตรายรั่วออกมา โดยให้กรมโรงงานฯ กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน รวมทั้งให้กรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดบูรณาการตรวจสอบโรงงานประเภทนี้ทั่วประเทศ จัดทำแนวทางและมาตรการไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก 


แต่ 1 เดือนผ่านไป สิ่งที่ดูเป็นรูปธรรมที่สุด น่าจะเป็นการขุดบ่อรับน้ำฝนที่ดำเนินงานโดย อบจ.ระยอง มีการขุดบ่อขนาดใหญ่เพื่อใช้สำหรับรับน้ำ แต่ก็กลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมา เพราะดินที่กองไว้จากการขุดบ่อ กลายเป็นดินผสมสารเคมี พอฝนตกก็เกิดควันออกมาจากกองดิน ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน รบกวนขนาดที่ว่าโรงเรียนบ้านหนองพะวาข้างๆ โรงงาน ยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้เป็นปกติ เพราะทั้งเด็กและครูแสบจมูก เรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ 


เรื่องมลพิษและคุณภาพอากาศ ยังขาดการประชาสัมพันธ์มาก ประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่ากลิ่นที่ดมนั้นอันตรายต่อตัวเองแค่ไหน ชาวบ้านเรียกร้องขอป้ายแสดงผลการตรวจคุณภาพอากาศ ก็ไม่มีวี่แววที่จะดำเนินการ การขนย้ายปัจจุบันขนไปได้เพียงไม่กี่ตัน โดยบริษัทเอกชน CSR ทยอยขนกรดกัดแก้วไปกำจัดให้ ซึ่งถ้าเทียบกับสารเคมีจำนวนมากในโรงงาน คงใช้เวลาอีกเป็นปีๆ กว่าจะขนหมด 


(4) ขอให้กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการหาผู้กระทำผิด ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามจับกุมโอภาส บุญจันทร์ ประธานบริษัทวินโพรเสส นำตัวส่ง สภ.มาบตาพุด จ.ระยอง และ สภ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ขออายัดตัวเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในข้อหาปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ สภ.ภาชี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนและขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนั้นให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบว่ามีสถานที่อื่นใดที่ใช้เก็บสารเคมีในลักษณะนี้อีกหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้าง 


สส.ระยองกล่าวต่อว่า ดังนั้นเห็นได้ว่า 1 เดือนที่ผ่านมา คำสั่งการของนายกฯ มีความคืบหน้าค่อนข้างน้อยจนน่าผิดหวัง และแทบไม่เห็นการทำงานที่ชัดเจนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การขนย้ายสารเคมีต้องใช้งบประมาณแต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับไม่มีงบประมาณสนับสนุน ทั้งๆ ที่เพิ่งอนุมัติงบ 67 จนต้องทำเอกสารไปของบกลางฯ ซึ่งเอกสารก็ยังไม่เรียบร้อย แผนการขนย้ายไปจัดการก็ยังไม่ชัดเจน ยังไม่รวมถึงการปล่อยปละละเลยให้โรงงานนี้เปิดกิจการถึง 10 กว่าปี และไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว ยังมีอีกหลายที่ทั้งในเครือวินโพรเสสรวมถึงโรงงานประเภทอื่นๆ เช่น โรงงานเหล็กซินเคอหยวน ที่เพิ่งมีการอนุมัติให้โรงงานแบบนี้เกิดขึ้น จำเป็นที่ภาครัฐต้องตรวจสอบว่ามีการลดมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของโรงงานเพื่อลดต้นทุนหรือไม่ หากไม่ตรวจสอบเท่ากับจงใจละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เนื่องจากเหตุการณ์เครนถล่มที่โรงงานดังกล่าว มีแรงงานเสียชีวิตถึง 7 ราย 


ชุติพงศ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ตนขอเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพและป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก (1) ถ้านายกฯ มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างที่บอก ขอให้เร่งอนุมัติงบกลางในกรอบเวลาที่เร่งด่วน ให้มีการจัดการปัญหาที่สะสมมาเป็นสิบปีให้จบลงเสียที ไม่ใช่สั่งอย่างเดียว (2) จริงอยู่ที่เรื่องวินโพรเสสไม่ได้เกิดในรัฐบาลชุดนี้ แต่ รมว.อุตสาหกรรม ก็ปฏิบัติตัวไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นรัฐบาลมาครบปี ไฟไหม้ครบเดือน ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม อยากให้เร่งพิจารณาสิ่งที่ทำได้ ภายใต้กรอบกฎหมาย และนำเสนอแผนเข้าสู่ ครม. เพื่อของบกลางในการแก้ปัญหา


(3) เร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนกว่านี้ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษหรือผลกระทบจากสารพิษ ผ่านไป 1 เดือน เพิ่งตั้งคณะกรรมการเสร็จ แล้วเมื่อไรชาวบ้านจะได้การชดเชยเยียวยา (4) รัฐบาลควรมีแนวทางและมาตรฐานรวมถึงแผนในการกวดขัดโรงงานในลักษณะนี้ได้แล้ว


นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการทำกฎหมาย PRTR เปิดเผยบัญชีผู้ครอบครองวัตถุอันตราย เพื่อให้ประชาชนรับทราบ นำไปสู่ความโปร่งใสและการตรวจสอบ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้จะรู้ได้ว่าสารเคมีใด ควรใช้สารตัวไหนดับ และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมโรงงาน เปิดเผยหลักฐานที่ยึดมาได้จากบริษัทวินโพรเสสว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง ซื้อจากไหน ขนถ่ายได้อย่างไร ลักลอบเก็บได้อย่างไร ผ่านสายตาตำรวจมากมายได้อย่างไร มีปัญหาเรื่องส่วยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทำไมเรื่องนี้จึงเงียบมายาวนานนับ 10 ปี 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์