วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2566

‘พิธา-วิโรจน์’ เสวนางานสัปดาห์หนังสือ ‘ประเทศนี้อนุญาตให้เราฝันไกลแค่ไหน’ ยกตัวอย่างหนังสือ ‘Downtown Ayutthaya-ลาร์มินูตา’ ถอดประเด็นไทยต้องคว้าโอกาสจากโลกาภิวัตน์ สร้างรัฐสวัสดิการให้คนไทยมีพื้นฐานชีวิตเท่าเทียม

 


พิธา-วิโรจน์’ เสวนางานสัปดาห์หนังสือ ‘ประเทศนี้อนุญาตให้เราฝันไกลแค่ไหน’ ยกตัวอย่างหนังสือ ‘Downtown Ayutthaya-ลาร์มินูตา’ ถอดประเด็นไทยต้องคว้าโอกาสจากโลกาภิวัตน์ สร้างรัฐสวัสดิการให้คนไทยมีพื้นฐานชีวิตเท่าเทียม

 

วันที่ 8 เมษายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา ‘อนาคตใหม่ทอล์ค: อ่านโลกแล้วหันมองไทย ประเทศนี้อนุญาตให้เราฝันไกลแค่ไหน’ โดยพิธายกตัวอย่างหนังสือ ‘Downtown Ayutthaya’ ที่สะท้อนภาพประเทศไทยในปัจจุบันโดยอ่านประสบการณ์จากยุคอยุธยา พร้อมระบุว่าการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยอยุธยาน่าสนใจมาก ใช้โอกาสจากโลกาภิวัตน์ จากการเข้ามาของต่างชาติให้เกิดประโยชน์ ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบัน เราไม่สามารถคว้าโอกาสจากโลกาภิวัตน์ได้อย่างที่ควรเป็น

 

พิธายังกล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยหรือสตาร์ตอัปไทยว่า การที่ประเทศไทยจะมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นยูนิคอร์นได้ นอกจากต้องอาศัยความสามารถของผู้ประกอบการ หลายคนยังต้องต่อสู้กับเสือนอนกินและอุปสรรคในระบบราชการ ที่ทำให้เกิดช่องโหว่เรียกรับผลประโยชน์ เช่น การส่งส่วย เรื่องเหล่านี้หากนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา จะเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างความโปร่งใสและความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ แต่การจะแก้ปัญหานี้ สิ่งสำคัญคือต้องมีคนที่กล้าพูดถึงปัญหาและกล้าเข้าไปแก้ที่ต้นตอ ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราพร้อมกิโยตินหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและล้าหลังลงถึง 50%

 

ช่วงหนึ่ง พิธาได้กล่าวถึงประเด็นทางการเมืองว่า พรรคก้าวไกลตั้งใจให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความหวังของประชาชน เราเสนอนโยบายเพื่อสร้างการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดภายใน 100 วัน ผลักดันหวยใบเสร็จเพื่อเพิ่มแต้มต่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยในการแข่งขันกับทุนใหญ่ รวมถึงสร้างงานซ่อมประเทศ ให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง สร้างอุตสาหกรรมที่สร้างงานแก่คนไทยในระยะยาว โดยยืนยันว่าพรรคก้าวไกลต้องการทำการเมืองที่ ‘เชื่อถือได้’ หมายถึงการมีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่ใช่ข้ามขั้วไปมา และ ‘จับต้องได้’ หมายถึงมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะหากพรรคก้าวไกลขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ประชาชนก็คงไม่เลือกเรา

 

เลือกก้าวไกลให้ถล่มทลาย ไม่ใช่แค่เพื่อให้พิธาเป็นนายกฯ หรือให้วิโรจน์เป็นรัฐมนตรี แต่เพื่อให้เราเป็นรัฐบาลผลักดันกฎหมายก้าวหน้าให้สำเร็จ ทั้งสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” พิธากล่าว

 

พิธายังอธิบายถึงแนวคิดการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกลว่า การจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง เป็นกระจกสะท้อน 2 เรื่อง ได้แก่ (1) สะท้อนคุณค่าภายในที่พรรคยึดถือ ว่าพรรคให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสหรือให้ความสำคัญกับนายทุน แต่สำหรับพรรคก้าวไกล คุณค่าที่ยึดถือคือความหลากหลายและความเป็นมืออาชีพ เราต้องการให้คนที่ทำงานในด้านนั้นๆ มาขับเคลื่อนประเทศในด้านที่เขาทำอยู่ และ (2) สะท้อนออกไปภายนอก ว่าพรรคมองเห็นโอกาสและความท้าทายของประเทศอย่างไร สำหรับพรรคก้าวไกล โอกาสที่เรามองเห็นคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนความท้าทายของประเทศนั้นเช่น สังคมสูงวัย ความปลอดภัยไซเบอร์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

ด้านวิโรจน์ แนะนำวรรณกรรมจากสำนักพิมพ์อ่านอิตาลีชื่อ ‘ลาร์มินูตา’ ให้เหตุผลว่าชอบหนังสือเล่มนี้เพราะได้เห็นวิธีคิดของสองครอบครัวที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงมีความคิดไม่เหมือนกัน สะท้อนว่าการหล่อหลอมคนคนหนึ่งให้เติบโต การศึกษาและการดูแลของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น การสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อให้เด็กทุกคนมีพื้นฐานชีวิตที่เท่าเทียมกัน จึงสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ พรรคก้าวไกลมีนโยบายของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เบี้ยเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นต้น

 

นอกจากเวทีเสวนาครั้งนี้ พรรคก้าวไกลยังได้รับการตอบรับจากนักอ่านหลากหลายวัย ทั้งผู้สูงวัยและเยาวชนที่หลายคนกำลังจะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก เดินทางมาซื้อหนังสือและร่วมพูดคุยกับแกนนำพรรคตลอดทั้งวันจนล้นบูธ หลายคนบอกว่าเดินทางมาเพื่อพบแกนนำพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะ และสนับสนุนพรรคมาตั้งแต่ครั้งเป็นอดีตอนาคตใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความหวัง อยากให้คนใหม่ๆ เข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศ


 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #สัปดาห์หนังสือ66