"ธนาธร-พิธา"ร่วมแถลงความสำเร็จติดตั้งมิเตอร์น้ำประปาดื่มได้อัจฉริยะที่แรกของไทย
‘อาจสามารถโมเดล’ จ.ร้อยเอ็ด จ่อชง
พ.ร.บ.น้ำประปาดื่มได้เข้าสภาทันทีหลังเลือกตั้ง
วันที่
3 มีนาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
พร้อมด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ประธานคณะก้าวหน้าและผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล และ เทพพร จำปานวน
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอาจสามารถ
ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จในการปรับปรุงระบบน้ำประปาของเทศบาลตำบลอาจสามารถ ที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นจากที่ประสบความสำเร็จในการเป็นน้ำประปาดื่มได้มาแล้ว
โดยทั้งหมด
ได้ร่วมเยี่ยมชมจุดติดตั้งอุปกรณ์ IOT ทั้งบริเวณโรงผลิตน้ำประปา
ที่มีทั้งระบบเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพของน้ำประปาทุกค่ามาตรฐาน
ไม่ว่าจะเป็นค่าความใส ค่ากรด/ด่าง ค่าคลอรีน และค่าโลหะหนัก แบบเรียลไทม์
ใช้ทั้งในการตรวจสอบคุณภาพและการปรับปรุงคุณภาพของน้ำประปาในแต่ละวัน
และสมาร์ตเกตเวย์ที่ตรวจวัดค่าความดันน้ำ
ก่อนร่วมกันเดินตรวจเยี่ยมระบบในระดับครัวเรือน ที่ได้มีการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การตรวจวัดหน่วยการใช้น้ำในระดับครัวเรือนและการออกบิลในทุกครัวเรือนเช่นกัน
เทพพร
ระบุว่านับจากวันที่รับตำแหน่งมา
ทางเทศบาลได้พัฒนาปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้คำแนะนำจากทีมวิศวกรน้ำที่คณะก้าวหน้าส่งมาทำงานร่วมกัน
และทำได้สำเร็จแม้จะมีอุปสรรคนานับการ ปรับปรุงคุณภาพน้ำสำเร็จภายใน 99 วัน
ได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมอนามัยให้เป็นน้ำประปาดื่มได้
และบัดนี้เทศบาลตำบลอาจสามารถได้ยกระดับความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง
ด้วยการพัฒนาไปเป็นระบบ IOT ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
และการดำเนินการร่วมกับเอกชนผู้ผลิตระบบน้ำประปาอัจฉริยะในประเทศไทย จนบัดนี้
กำลังจะกลายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ใช้งานน้ำประปา IOT
อัจฉริยะ
ด้านนาธร
ระบุว่าการเดินหน้าโครงการนี้ร่วมกับเทศบาลตำบลอาจสามารถ
มาจากการที่เรามีความฝันที่ยิ่งใหญ่ คิดไปไกลถึงอนาคต
เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าประชากรเกิดใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 8 แสนคนต่อปีเหลือเพียง
5 แสนคนต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
คนวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลง และบัดนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมชราภาพแล้ว
แปลว่าในอนาคตคนวัยทำงานจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อแบกรับภาระการจ่ายภาษีแทนเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น
ที่อาจสามารถ
คือตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาอนาคตของประเทศ
ยกตัวอย่างเพียงแค่ระบบการออกใบเสร็จค่าน้ำประปา
ที่มีการปรับปรุงจากบิลกระดาษเขียนมือเป็นบิลดิจิทัล
พบว่าสามารถลดชั่วโมงทำงานที่ใช้ในการออกบิล จากเดือนละ 40 ชั่วโมง
เหลือเพียงเดือนละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
คนทำงานทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังลดค่าใช้จ่ายของเทศบาลลงได้ถึง 1,200
บาทต่อเดือน
ลดการบริหารการเก็บค่าน้ำแบบเงินสดเป็นการชำระค่าน้ำแบบออนไลน์
ประหยัดเวลาในการเก็บเงินเพิ่มได้อีก และเมื่อระบบประปา IOT ที่นี่ได้รับการส่งมอบ
จากเดือนหน้าเป็นต้นไปจะไม่ต้องมีใครเดินจดค่าน้ำอีกแล้ว
แต่ดึงข้อมูลจากระบบคลาวด์โดยตรงมาออกบิลได้เลย
ธนาธรกล่าวต่อไป
ว่าเพียงแค่การเปลี่ยนรูปแบบใบเสร็จเรื่องเดียว
ก็ทำให้การทำงานของเทศบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว เมื่อบวกกับการปรับปรุงระบบให้เป็น
IOT และสมาร์ทมิเตอร์
การบริการประชาชนและการบริหารของเทศบาลก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นี่คือตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย-คนวัยทำงานน้อยลง ที่มีหัวใจสำคัญ
คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนไทยทำงานน้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น
20
ปีจากนี้ ประเทศไทยค่อนข้างแน่นอนแล้ว
ว่ามิเตอร์น้ำและไฟทั้งหมดจะต้องเป็นสมาร์ทมิเตอร์
เพราะเราจะไม่มีคนเหลือเฟือมานั่งจดค่าน้ำ คำนวณบิลค่าน้ำเหมือนแต่ก่อน
และมากไปกว่านั้น นี่คือสิ่งที่จะทำให้ลูกหลานของเราในอนาคตมีงานที่มีคุณภาพทำ
ระบบสมาร์ทมิเตอร์และ IOT คืออนาคตอุตสาหกรรมของประเทศไทย
ถ้า 20 ปีจากนี้มีการเปลี่ยนมิเตอร์น้ำและไฟทุกตัวเป็นสมาร์ทมิเตอร์
ประเทศไทยจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น เมื่อผลิตชิ้นส่วนได้ทุกชิ้นเองในประเทศ
ประเทศไทยก็จะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนไทยเอง
โดยไม่ต้องนำเข้าที่เป็นการจ้างงานคนที่ต่างประเทศอีกต่อไป
“เมื่อท่านมองแผงสมาร์ทมิเตอร์ ท่านอาจจะเห็นมันเป็นแค่ชิ้นส่วนต่างๆ
ของอุปกรณ์ยากๆ แต่สำหรับผม ผมเห็นงานให้ลูกหลาน
ผมเห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
ผมเห็นโอกาสที่อุตสาหกรรมไทยจะสามารถผลิตสินค้าที่ทันสมัย
ตอบโจทย์ความต้องการของโลกได้ สิ่งที่เราทำสำเร็จที่อาจสามารถนี้
สามารถเป็นโมเดลให้ทุกที่เดินตาม และทำให้มีความต้องการ (demand) เพียงพอสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย” ธนาธรกล่าว
ด้านพิธา
ระบุว่าน้ำประปา เป็นหนึ่งในเรื่อง “ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ”
ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากร
การที่คุณภาพน้ำประปาในประเทศนี้ไม่เท่ากัน
สะท้อนปัญหาที่เกิดจากรัฐราชการรวมศูนย์ที่เต็มไปด้วยความไม่มีประสิทธิภาพ
และคนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือท้องถิ่น ทำให้เราต้องการการผสานพลังระหว่างพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า
เอาความสำเร็จจากอาจสามารถ ไปผลักดันให้สำเร็จในระดับประเทศให้ได้
และสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะทำเมื่อเข้าสภา
ก็คือการผลักดัน พ.ร.บ.น้ำประปาดื่มได้ทันที
นี่คือวิสัยทัศน์เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำและต้นทุนในชีวิตให้ประชาชน
ที่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังต้องซื้อน้ำใช้เองเป็นจำนวนมากถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
และด้วยการพัฒนาบริการสาธารณะให้เป็นแบบที่อาจสามารถทำสำเร็จในวันนี้
ซึ่งก็คือรูปธรรมของ 4.0 ประเทศไทยจะมีความต้องการวิศวกรซอฟต์แวร์
นักคอมพิวเตอร์ และอาชีพที่มีทักษะสูงอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
“สร้างงาน-ซ่อมประเทศ เริ่มต้นขึ้นที่นี่
เราอยากเห็นคนไทยทุกคนได้โอกาสในการกลับมาทำงานอยู่ใกล้บ้าน
ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น สิ่งที่อาจสามารถทำสำเร็จหากเกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ
จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างงานคุณภาพ 1 ล้านงานทั่วประเทศ
นั่นคือสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
ถ้าแก้ที่อาจสามารถได้เราก็แก้ปัญหาที่อีสานได้
แก้ที่อีสานได้ก็แก้ปัญหาให้ทั้งประเทศได้เช่นกัน” พิธากล่าว