“ทนายวิญญัติ”
ร้อง กกต. ตรวจสอบ “ลูกชวน” กรณีถือหุ้นสื่อ เข้าข่ายต้องห้ามของส.ส.
วันที่
3 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น.
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ.แจ้งวัฒนะ นายวิญญัติ ชาติมนตรี
เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยยื่นผ่าน จนท.กกต. เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบกรณี
นายสุรบถ หลีกภัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ว่ามีลักษณะเข้าข่ายบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. และจะทำให้กระบวนการเป็น
ส.ส. ขัดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดหรือไม่
เนื่องจากในห้วงที่ผ่านมาได้มีสื่อมวลชนนำเสนอผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจกิจการโฆษณา
โดยมีนายสุรบถฯ ในฐานะกรรมการบริษัทและเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่
ซึ่งหากนำไปเทียบกับกรณีอื่น ๆ ถือว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลชน ตาม ม.98
(3) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร หากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลชนใด ๆ
อาจส่งผลต่อความเป็น ส.ส. ของนายสุรบถฯ ให้สิ้นสุดลงหรือเป็นการเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบด้วยหรือไม่
นายวิญญัติฯ
กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่ตนทราบว่าภายหลัง กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว
ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่แม้ขณะนั้น นายสุรบถฯ
จะอยู่ในลำดับตามบัญชีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.
แต่ตามกฎหมายยังต้องคงสถานะการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออยู่ต่อไป
ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามด้วย
ซึ่งตนเห็นว่าต่างกับการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ประกอบกับเมื่อ 8 พ.ค.
62 ในช่วงที่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์
นายสุรบถฯ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น
ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ม.98 (3) และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561
ม.42 (3)
ทั้งนี้
นายสุรบถฯ เป็นกรรมการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโฆษณา
ระหว่างวันที่ 11 ก.ย. 55 - 22 ม.ค. 66 และเป็นกรรมการบริษัทอีกแห่ง (เอกชนที่ 2)
ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 58 - 6 ธ.ค. 63 และจากหลักฐานพบว่านายสุรบถฯ
ได้โอนหุ้นบริษัทเอกชนแห่งแรก จำนวน 29,998 หุ้น ให้แก่ นางภักดิพร
สุจริตกุล ผู้เป็นมารดา เมื่อ 19 ม.ค. 66 ในลักษณะโอนกลับไปกลับมา ระหว่างบุคคลสองคนในขณะที่นายสุรบถฯ
ยังคงมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชนนั้นอยู่
และในขณะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์
โดยตนมีข้อสังเกตว่าเมื่อ 20 ม.ค. 66 นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ก่อนนายสุรบถฯ ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. เมื่อ 20 ม.ค. 66
ประธานรัฐสภาก็ออกประกาศรับรองการเป็น ส.ส. ของนายสุรบถฯ ในวันรุ่งขึ้นทันที
ตนในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของ กกต.
และการตีความขององค์กรศาลที่เคยเป็นกรณีตัวอย่าง กรณีนี้จึงมาขอให้
กกต.ได้ตรวจสอบเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ซึ่งตนได้แนบหลักฐานจากการสืบค้นทางทะเบียนมาด้วย ทนายวิญญัติกล่าว