วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : 10 ปี 10 เมษา ของผม




๑๐ ปี ๑๐ เมษา ของผม

ผมยังจำวันนี้เมื่อสิบปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี นึกถึงวันที่ ๑๐ เมษายนเมื่อใด แผลที่แขนข้างซ้ายก็แสบร้อนขึ้นมาเมื่อนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวันนั้นเป็นวันที่มีอิทธิพลกับชีวิตผมมากที่สุดวันหนึ่ง


วันที่ ๑๐ เมษาปีนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดแผลบนแขนข้างซ้ายของผมเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดแผลที่บาดลึกในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนถึงทุกวันนี้


หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะจำเป็นที่เราจะทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วอีกครั้งเพื่อตระหนักถึงวัฒนธรรมการเมืองที่ล้มเหลวในปัจจุบัน


การปราบปรามประชาชนในเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เกิดจากการที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี


กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมใช้การเมืองในสภา, การเมืองบนถนน และองค์กรอิสระ เป็นเครื่องมือเพื่อล้มรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน เริ่มจากการใช้มวลชนเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล – ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี - สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนถัดไปถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภา - สถานที่ราชการและสนามบินถูกยึด – ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน – พรรคการเมืองบางพรรค/ส.ส. บางกลุ่ม ถูกบังคับให้เปลี่ยนขั้วการเมืองด้วยอำนาจพิเศษ และจบด้วยการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ในเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. ๒๕๕๑


หลังจากการเลือกตั้งพ.ศ. ๒๕๕๐ จนถึงการยุบพรรคพลังประชาชนและการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ประชาชนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนไม่ได้นั่งดูการดำเนินไปอย่างนิ่งดูดาย พวกเขากระตือรือร้นและต้องการปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมา พวกเขาเลือกสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเคลื่อนไหว พวกเขาชุมนุมและแสดงตนอย่างเปิดเผยและอย่างมีพลัง พวกเขาเข้าร่วมชุมนุมอย่างแข็งขันในนามรายการ “ความจริงวันนี้สัญจร”


หลังจากการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล รายการความจริงวันนี้ เปิดโปงการแทรกแซงการเมืองของ “อำมาตย์” - ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน - อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับมาใช้, ดำเนินคดีกับแกนนำที่ปิดสถานที่ราชการ, และยุบสภา


เมษายน ๒๕๕๓ ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาถูกปราบปราม เดือนเดียวกันในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ พวกเขาชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และบริเวณใกล้เคียง เพื่อกดดันและเรียกร้องให้พลเอกเปรมแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง พวกเขาถูกปราบปรามอย่างหนักและถูกสลายการชุมนุมในที่สุด การปราบปรามครั้งนั้น นอกจากจะเพิ่มความโกรธให้กับพวกเขาแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสองมาตรฐานในการจัดการกับกลุ่มคนสองกลุ่มอีกด้วย


พวกเขาไม่ได้ยอมแพ้หลังโดนปราบปรามมาหนึ่งครั้ง ในเดือนมีนาคมปีถัดมา พวกเขากลับมาใหม่พร้อมกับการจัดตั้งที่เข้มแข็งขึ้น พวกเขาชุมนุมใหญ่ยืดเยื้อที่ถนนราชดำเนิน ด้วยข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอำมาตย์ (กรณีเขายายเที่ยงและกรณีเขาสอยดาว) และให้มีการยุบสภา, เลือกตั้งใหม่อีกครั้งเพื่อให้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสินทิศทางอนาคตของประเทศ 


และนั่นนำเรามาสู่วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓

ในวันนั้น ผมไม่ได้เป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองเช่นวันนี้ ผมเป็นเพียงนักธุรกิจธรรมดาที่มีความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง รักความเป็นธรรม และรักประชาธิปไตย เนื่องจากบ้านและที่ทำงานของผมอยู่นอกเมือง ผมไม่มีโอกาสเข้าเมืองเพื่อร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินทุกวัน วันไหนเลิกงานเร็ว ไม่เหนื่อยนักก็จะเข้ามาที่ชุมนุม สังเกตการณ์และให้กำลังใจเพื่อนๆและชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่เป็นระยะๆ หากมีอะไรที่ผมพอทำได้ ก็พร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่ที่ชุมนุมอยู่เสมอ แม้จะไม่รู้จักแกนนำบนเวทีเลยก็ตาม


บ่ายวันนั้น ผมและเพื่อนกลุ่มหนึ่งตระหนักถึงความแหลมคมของสถานการณ์ และหวังว่าพวกเราในฐานะประชาชนธรรมดาจะสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เช่นนั้น เราเห็นว่าการแสดงพลัง, การต่อสู้และการยืนหยัดร่วมกันในวันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงตัดสินใจเดินทางไปราชดำเนินในช่วงบ่าย


ราชดำเนินร้อนระอุ ไม่ใช่แค่จากไอร้อนแรกของปี แต่จากสถานการณ์อันวุ่นวายบนถนนและจิตใจของผู้ชุมนุม เมื่อเราไปถึงตอนประมาณช่วงบ่ายต้นๆ ทหารได้ล้อมที่ชุมนุมไว้หลายทางแล้ว เสียงเฮลิคอปเตอร์จากด้านบนสร้างความกังวลให้ผู้ชุมนุมเป็นระยะ การปะทะกันระหว่างฝ่ายทหารและผู้ชุมนุมเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ฝ่ายทหารใช้โล่กระบองและแก๊สน้ำตา ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมมีก้อนหิน, ท่อนไม้, ขวดน้ำ และข้าวของอื่นๆที่พอจะหาได้


เนื่องจากไม่มีการสื่อสารจากเวทีใหญ่ จึงทำให้เราไม่รู้สถานการณ์ใดๆ ประกอบกับในวันนั้น เทคโนโลยียังไม่เหมือนวันนี้ ไม่มีการรายงานสดจากประชาชน ณ แนวปะทะต่างๆ ผมและเพื่อนจึงเดินสำรวจจุดต่างๆ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมตามทรัพยากรที่มี


ควันโขมงจากแก๊สน้ำตาทำให้ตาผมระคายเคือง ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ชุมนุม มีการหยิบยื่นผ้าชุบน้ำเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตาให้แก่กัน ผมรับมาจากชายแปลกหน้าผืนหนึ่ง และยังเก็บไว้ถึงวันนี้


ช่วงบ่ายแก่ๆ การปะทะเงียบลง - อย่างน้อยที่สุดตามความเข้าใจของผมในตอนนั้น - แต่นั่นไม่ได้หมายถึงค่ำคืนจะจบลงที่ตรงนั้น เราพอรู้ว่าความพยายามสลายการชุมนุมของจริงกำลังจะเริ่มขึ้นเมื่ออาทิตย์ลับฟ้า ผมและเพื่อนอีกสามคนรวมตัวกันอยู่ที่สามแยกถนนตะนาวและถนนข้าวสาร เมื่อฟ้ามืดลง ทหารกลุ่มแรกก็เดินเข้ามาทางถนนตะนาว


ผมยังจำความน่ากลัวของค่ำคืนนั้นได้เป็นอย่างดี ผมอยู่ประมาณ ๓ เมตรจากคนที่อยู่หน้าสุดของแนวปะทะถนนตะนาว ทหารเอาไม้กระบองเคาะรั้วประตูเหล็กของร้านรวงที่อยู่สองข้างทางระหว่างเดินเข้ามา ส่งเสียงกังวานก้องในถนนแคบๆ ผู้ชุมนุมเองขวัญกำลังใจดีไม่แพ้กัน พวกที่อยู่แนวหน้าไม่มีใครกลัว ตะโกนโหวกเหวกให้กำลังใจกันเป็นระยะๆ เมื่อทหารเดินถึงแนวปะทะก็เกิดการตะลุมบอนกันขึ้น ดันกันไปดันกันมา ทหารมาพร้อมโล่และไม้กระบอง ผู้ชุมนุมมีธง, ก้อนหิน, มือเปล่า และหมามุ่ย


(มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่งท่ามกลางความโกลาหลนี้ เนื่องจากความอัตคัตของผู้ชุมนุม บางกลุ่มจึงเอาหมามุ่ยมาเป็นอาวุธ ผมซึ่งอยู่เกือบแถวหน้าสุด เมื่อคนข้างหลังปาหมามุ่ยไม่แรงพอ ก็ตกใส่หลังผม ทำเอาผมดันไปก็เกาหลังไป และรู้ถึงพิษสงของหมามุ่ยก็วันนั้นเอง)


ผู้ชุมนุมสู้ยิบตาด้วยอุปกรณ์บ้านๆที่พวกเขามี ตรึงแนวทหารที่พยายามรุกผ่าเข้ามาได้ ทหารบางคนที่ล้มลงถูกผู้ชุมนุมกระทืบซ้ำ ผมต้องพยายามไปแยกพวกเขาออก เมื่อยกแรกไม่สำเร็จ ทหารถอยออกไปแนวใหม่ ระยะห่างระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมประมาณจากการคาดคะเนของผมอยู่ที่ ๓๐ เมตร


ในระหว่างที่รอยกถัดไปนี้เอง เพื่อนผมคนหนึ่งเดินออกไปอยู่ด้านหน้าของแนว พร้อมกับโบกธงที่ผมไม่รู้เขาไปเอามาจากไหน ทหารเริ่มยิงกระสุนยางในแนวราบใส่ผู้ชุมนุม ผมเห็นว่าเขาอยู่เลยแถวหน้าถือธง กลางถนน น่าจะเป็นเป้า ท่าจะไม่ดี จึงวิ่งเข้าไปหาเขา จังหวะที่มือซ้ายของผมจับเสื้อของเขาเพื่อดึงเขาออกมานั้น กระสุนยางนัดหนึ่งกระแทกเข้ากับแขนซ้ายของผม ความร้อนและความแรงของมันทำให้ผมทรุดตัวลงกับพื้น ทหารเริ่มเดินเข้ามา ผมปวดแขนลุกไม่ไหว ผู้ชุมนุมยกผมขึ้นท้ายรถกระบะคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ที่ถนนข้าวสาร (ซึ่งกลายเป็นภาพซึ่งกระจายอยู่แพร่หลาย)


รถกระบะคันนั้นพยายามถอยออกไปถนนราชดำเนิน แต่ติดผู้ชุมนุมทำให้รถถอยไปไม่ได้ ความโกลาหลเกิดขึ้นรอบรถ แนวที่ผู้ชุมนุมตรึงไว้เสียไปเพราะกระสุนยาง ทหารรุกกินพื้นที่เข้ามาเกือบจะถึงถนนราชดำเนิน รอบๆรถผมได้ยินเสียงคนวิ่งหนีตะโกนโหวกเหวก เสียงปะทะกัน เสียงประชาชนถูกทหารตี ถ้าจำไม่ผิดกระจกรถถูกตีแตกด้วย แรงผมยังพอมีอยู่แม้จะเจ็บแขน แต่สติคิดไม่ทัน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จะให้กระโดดลงจากหลังรถไปตะลุมบอนกับเขาด้วยก็กะไรอยู่ ผมคิดในใจ “กูโดนแน่คืนนี้”


คนขับรถมีสติพอ เมื่อถอยหลังไม่ได้ จึงบึ่งรถเลี้ยวซ้ายที่ถนนข้าวสาร แล้วขับออกจากแนวปะทะ เมื่อออกจากความวุ่นวาย เขานำผมมาส่งที่หน่วยพยาบาลซึ่งอยู่รอบนอกของที่ชุมนุม แขนซ้ายผมบวมตุ่ยและกลายเป็นสีม่วง มีรอยไหม้ผิวหนังกลมๆอยู่ตรงจุดกระแทก เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผม และบอกให้ผมไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจว่ากระดูกมีผลกระทบหรือไม่


ผมออกจากหน่วยพยาบาลคนเดียว โชคยังดีวันนั้นมีเงินสดติดตัวอยู่บ้างจึงจับแท็กซี่กลับไปที่ชุมนุม เมื่อกลับไปถึง เพื่อนๆของผมเข้ามาหลบอันตรายอยู่ที่บันไดที่นั่งของอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ผมจึงไปนั่งกับพวกเขาและผู้ชุมนุมอีกประมาณหนึ่ง สี่แยกคอกวัวเวลานั้นกลายเป็นเหมือนสมรภูมิสงคราม เมื่อผมกลับไปถึงทหารใช้กระสุนจริงแล้ว เสียงปืนและเสียงระเบิดดังลั่นกลางมหานคร


พวกเราเป็นปัญญาชนเกินไป ไม่มีใครกล้าไปที่สี่แยกคอกวัวหลังจากที่มีการใช้กระสุนจริง พวกเราไม่ได้คุยอะไรกันมากนัก ได้แต่นั่งกันเงียบๆจนเสียงปืนสงบลงประมาณสามทุ่ม


ผมเดินกลับไปที่แนวปะทะอีกครั้ง ผมเห็นกองเลือดสดๆของผู้เสียชีวิตอยู่บนถนนเป็นหย่อมๆ บางกองมีเนื้อหรือมีเศษสมองปนอยู่ด้วย วันที่ ๑๐ เมษา ปีนั้นจบลงด้วยผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๒๗ คน เป็นทหาร ๕ คน และเป็นพลเรือน ๒๒ คน ในจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต ๒๒ คนนั้น มีอยู่ ๙ คนที่เสียชีวิตที่ถนนตะนาว-สี่แยกคอกวัวที่ผมอยู่ กองเลือดที่ผมเห็นเป็นของคนทั้ง ๙ คนที่น่าจะเสียชีวิตหลังจากที่ผมถูกนำขึ้นรถกระบะออกนอกที่เกิดเหตุไม่นาน หากผมไม่โดนกระสุนยางเสียก่อน ผมอาจเป็นหนึ่งในนั้น


สำหรับผม ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงในวันนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว เป็นการกระทำที่วางแผนมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นระดมกำลังทหารมากว่า ๗๐ กองร้อย, การจงใจสลายการชุมนุมในตอนมืด, การใช้กระสุนจริง, การที่ผู้เสียชีวิตถูกกระสุนยิงเข้าที่บริเวณตัวหรือหัว, การใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อปิดเบือนหรือปกปิดความจริงทั้งก่อน, ระหว่าง และหลังเหตุการณ์, และ กระบวนการยุติธรรม (ที่ไม่ยุติธรรม)


หลังจากนั้น ๑๐ เมษาเวียนมาทีใด ผมอดคิดถึงรอยแผลที่แขนข้างซ้ายไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ๕๓ รวมกัน ๙๔ รายและผู้บาดเจ็บอีก ๑,๔๐๐ คน ความจริงในวันนั้นยังถูกปกปิด ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งทหารและชายชุดดำ เราถูกหลอกให้ให้ความสำคัญกับความปรองดองกันแบบฉาบฉวย ซึ่งแท้จริงแล้วคือประกาศิตที่สั่งให้เราลืม, เงียบ และยอมจำนน 


๑๐ ปีผ่านมา เราอาจหลงลืมไปว่า เมื่อไม่มีความจริง ก็ไม่มีความยุติธรรม เมื่อไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีความสงบสุข วัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดลอยนวล ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆคือวัฒนธรรมอันน่ารังเกียจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ครอบงำสังคมไทย เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะทำลายวัฒนธรรมเช่นนี้ เพราะความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อการสร้างสังคมใหม่ สังคมที่เราอยากเห็นและอยากให้ลูกหลานเราได้เติบโตขึ้นมา สังคมที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกชนชั้นได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน 


รอยแผลที่แขนข้างซ้าย ปัจจุบันจางหายไปจนแทบมองไม่เห็น วันนี้ผมรู้สึกถึงมันอีกครั้ง พร้อมกับความเชื่อมั่นที่ไม่เคยคลอนแคลนว่าประวัติศาสตร์ของวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ จะต้องถูกชำระในสักวัน


ธ.จ.
๑๐ เมษา ๖๓