วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ทนายด่าง-สมยศ-มายด์ ล้อมวงคุย ‘กำลังจะปีใหม่ มีอะไรน่าติดตาม?’ ‘มายด์’ อัพเดทคดี เรียกร้องความกล้าหาญจากนักการเมือง ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน สมยศ เล่าชีวิตพังหลังติดคุก แต่ไม่เปลี่ยนจุดยืน หวังสังคมเปลี่ยนแปลง ยก'อานนท์' บุคคลแห่งปี

 


ทนายด่าง-สมยศ-มายด์ ล้อมวงคุย ‘กำลังจะปีใหม่ มีอะไรน่าติดตาม?’ ‘มายด์’ อัพเดทคดี เรียกร้องความกล้าหาญจากนักการเมือง ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน สมยศ เล่าชีวิตพังหลังติดคุก แต่ไม่เปลี่ยนจุดยืน หวังสังคมเปลี่ยนแปลง ยก'อานนท์' บุคคลแห่งปี 


วันที่ 24 ธ.ค. 2567 เวลา 16.30 น.​ ที่อาคาร All Rise (iLaw) Thumbrights จัดกิจกรรม "Stand Together EP.10 ส่งท้ายปี" ภายในงานประกอบด้วยงานเสวนา ‘กำลังจะปีใหม่ มีอะไรน่าติดตาม?’ ชวนพูดคุยถึงคดีมาตรา 112 ที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี และยังคงต้องจับตาในปี 2568 นอกจากนั้นภายในงานยังมีกิจกรรมเล่นเกมส์ แลกของขวัญ และเพนท์แก้วไวน์ 


สำหรับวงเสวนา มีผู้ร่วมพูดคุย 3 คน ทั้งทนายความและจำเลย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีความทางการเมืองที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล มาร่วมพูดคุยและเล่าเรื่องราวในคดีมาตรา 112 ที่ยังคงต้องไปต่อในปี 2568 อย่างคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หรือ #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ถึงเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว ความคืบหน้าและประเด็นการต่อสู้ในการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย


‘ทนายด่าง’ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชน 


สมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนจำเลยคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 – 20 ก.ย. 2563


‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนจำเลยคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เหตุปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 


ดำเนินรายการโดย จุ๊บจิ๊บ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 


นายสมยศ กล่าวตอนหนึ่งว่า อดีตตนถูกจองจำ คุมขัง เป็นนักโทษทางการเมือง ใช้ชีวิตในคุกมา 10 ปี หายไปจากสังคม พอออกมาก็ยังพูดเหมือนเดิม ว่าต้องยกเลิกมาตรา 112 สุดท้ายได้คดีเพิ่ม


“ชีวิตพังพินาศไปเรียบร้อยแล้ว ไม่เหลืออะไรอีกต่อไป เฉพาะปีนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ผมไปผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า เดินไม่ได้ประมาณ 4-5 เดือน พอหายดีต้องขึ้นศาลตั้งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ 3 เดือนสุดท้ายของปี โปรแกรมขึ้นศาลมีทุกสัปดาห์ เป็นช่วงที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ กระทบกับการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง นอกเหนือจากชีวิตครอบครัวที่ต้องพังทลายไประหว่างติดคุก พอออกมาก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน ค่อนข้างยากลำบาก เรียกว่าปีนี้เลือดกบปาก แต่ก็กัดฟันสู้เต็มที่ และยังต้องรักษาหลักการ รักษาความจริง ความจริงนี้ยิ่งใหญ่กว่าการมีชีวิตอยู่นอกคุก การรักษาความจริงไว้ ยิ่งใหญ่กว่าอิสรภาพ” 


นายสมยศ ได้กล่าวด้วยว่า ขอกราบคารวะนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญ ส่วนตัวมองว่าเทียบเท่ากับมหาตมะ คานธี และเนลสัน แมนเดลา ได้ ดังนั้น ตนจึงขอเป็นอีกคนที่ต่อสู้คดีเคียงบ่าเคียงไหล่กับนายอานนท์ โดยยินดีรับสภาพ แม้สุดท้ายจะต้องติดคุก เพื่อประโยชน์ในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคต


ขณะที่ภัสราวลี กล่าวถึง“นิรโทษกรรมประชาชน หากไม่เกิดขึ้น อานนท์ นำภา อาจได้เจอกันตอนที่หลานบรรลุนิติภาวะแล้ว นิรโทษกรรมประชาชน ถ้าไม่เกิดขึ้นเลย เราอาจไม่ได้เจอบัสบาส อีกแล้ว และเราอาจต้องมานั่งกังวลว่าเพื่อนหลายคนอาจต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีก นิรโทษกรรมประชาชนมันไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่คืออากาศหายใจที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพและปลอดภัย


เราย้ำตลอดเวลาว่า รัฐบาลมีอำนาจมากพอในการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ว่าตอนนี้สิทธิประกันตัว ทำไมจึงไม่ได้ทุกคน ทำไมมีข้อแม้ รัฐบาลสามารถถามได้ แต่ไม่ทำ


ถ้าอยากนิรโทษฯ แบบไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย แล้วหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจบลงได้ คุณคิดผิดแน่นอน อีก 10 ปี 20 ปี คุณมองย้อนกลับมาแล้วจะเสียใจสุดๆ


นักการเมืองในสภาควรมีความกล้าหาญมากกว่านี้ได้แล้ว ยืนยันในหลักการที่ต้องปกป้อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จำเป็นต้องเกิด เพื่อให้เพื่อนของพวกเราทุกคนได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างที่พวกเขาควรต้องได้ใช้” นางสาวภัสราวลีกล่าว


รับชมฉบับเต็มได้ที่

https://www.facebook.com/share/v/1G7sbnYTjx/?mibextid=oFDknk


https://www.youtube.com/live/iRfrel683Sc?si=7CnNDRoLFPzyFSug


อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ยังมีคดีความอื่น ๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่ยังคงดำเนินต่อ และเชิญชวนประชาชนร่วมจับตาและติดตามต่อไป ดังนี้


เริ่มด้วยวันที่ 13 ม.ค. 2568 มีกำหนดนัดหมายไต่สวนการตาย “บุ้ง” เนติพร 


วันที่ 20 ม.ค. 2568 ศาลมีนัดหมายสืบพยานคดีมาตรา 112 กรณีกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ บริเวณห้างสยามพารากอน 


ในวันที่ 27 ม.ค. 2568 มีนัดหมายฟังคำพิพากษา 2 คดี ได้แก่ คดีอั้งยี่-ซ่องโจร ของประชาชนและนักกิจกรรมกลุ่ม Wevolunteer รวม 45 คน และในคดีมาตรา 116 กรณีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563


ถัดมาในวันที่ 4-6 มิ.ย. 2568 ศาลมีกำหนดนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 “ปลดอาวุธศักดินาไทย” หน้ากรมทหารราบที่ 11 ส่วนคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานต่อในวันที่ 10-13 มิ.ย. 2568 


คดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ยังคงอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล โดยมีกำหนดสืบพยานนัดต่อไปในวันที่ 2 ก.ย. 2568 และคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปSCB มีกำหนดสืบพยานในวันที่ 4-7 พ.ย. 2568


หลังจากวงเสวนาเสร็จสิ้น ผู้จัดงานชวนทบทวนสถานการณ์ทางการเมืองและขบวนการภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นตลอดปี 2567 ก่อนประชาชนที่มาร่วมงานจะร่วมรับประทานอาหาร พร้อมด้วยกิจกรรมเล่นเกมส์ แลกของขวัญ และเพนท์แก้วไวน์ร่วมกัน ก่อนที่จะยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 20.15 น.


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน