“ณัฐชา” หวังทุกพรรคร่วมดัน “บำนาญถ้วนหน้า”
เพิ่มรายได้ผู้สูงอายุจากหลักร้อยเป็นหลักพันให้สำเร็จในปีนี้
วันที่
29 กุมภาพันธ์ 2567 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ
เขต 27 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม
กล่าวในการนำเสนอรายงานผลการพิจารณาเรื่องสิทธิบำนาญพื้นฐานประชาชน
ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ประเด็นการปรับเกณฑ์บำนาญประชาชนเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า เคยมีการเสนอเข้ามาในช่วงก่อนยุบสภาชุดที่แล้ว
แต่หลังยุบสภาประเด็นนี้เงียบหายไป ซึ่งในสภาชุดนี้ กมธ.สวัสดิการสังคม เห็นถึงความสำคัญของปัญหาเพราะปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุในสังคมไทยยังคงสูงขึ้นเรื่อย
ๆ เป็น 12 ล้านคน สวนทางกับรายได้และสภาวะเศรษฐกิจ
จึงหยิบยกมาศึกษาหาแนวทางปรับเกณฑ์บำนาญพื้นฐานเพิ่ม
โดยไม่มีธงระบุว่าบำนาญพื้นฐานควรจะเป็นเท่าไร
ทั้งนี้
ตั้งแต่ปี 2554
ถึงปัจจุบันไม่เคยมีการพูดถึงการปรับเกณฑ์เลย ยังคงอยู่ที่ 600,
700 และ 800 บาท แบบขั้นบันไดมาตลอด
จนมาสู่รายงานฉบับนี้ที่ทุกพรรคการเมืองใน กมธ.มาพูดคุยกันด้วยเป้าเดียวกันว่า
ต้องปรับเกณฑ์จากหลักร้อยเป็นหลักพันให้ได้ ส่วนควรเป็นเท่าไร บริหารจัดการอย่างไร
พวกเราอยากให้เป็นผลงานของรัฐสภาชุดนี้ในการพิจารณาร่วมกันทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ
โดยรายงานฉบับนี้ศึกษาการปรับเกณฑ์บำนาญแล้ว ข้อเสนอเบื้องต้นอยู่ที่ 1,200
บาทถ้วนหน้าซึ่งจะไม่กระทบงบของหน่วยงานใดเลย
“ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคงส่งเสียงผ่านมายัง สส.ทุกคน
ในที่นี้เหมือนกันว่าทุกวันนี้ลำบากเหลือเกิน
วันนี้เสียงสะท้อนนี้จะได้สะท้อนในที่ประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันในการส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ไปยังคณะรัฐมนตรี
และนายกรัฐมนตรีจะได้จารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนปรับเกณฑ์บำนาญผู้สูงอายุจากหลักร้อยเป็นหลักพันในปี
67”
“การอภิปรายของผมในวันนี้ขอปลดตัวเองจากทุกอย่าง ไม่มีพรรคการเมือง
และไม่มีธงเพื่อปรับเกณฑ์รายได้ให้พี่น้องประชาชนให้ได้ ผมจึงนำเสนอร่างนี้ 1,200
บาท
แม้ก่อนหน้านี้ทุกคนอาจจะได้ยินการหาเสียงของผมในการผลักดันบำนาญถ้วนหน้า 3,000
บาทมาตลอด ดังนั้น เสนอเสร็จทัวร์ลงแน่
แต่ต้องยอมเพราะบันไดก้าวแรกเล็กๆ ตรงนี้จะเป็นก้าวที่สำเร็จในอนาคต
ผมยอมเพราะจะเป็นก้าวแรกให้ประชาชนมีรายได้ใหม่ได้เร็วที่สุด”
ณัฐชา
กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังการอภิปรายในวันนี้ อยากให้เพื่อนสมาชิกกลับไปที่เขตของท่าน
บ้านของท่านเพื่อพูดคุยให้เป็นเสียงเดียวกันอย่างตกผลึกในสังคมว่าบำนาญพื้นฐานประชาชนคือก้าวแรกในการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้สูงอายุ