วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566

วงเสวนา“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” เห็นพ้องมีสสร.จากการเลือกตั้ง 'พริษฐ์' ชี้ โจทย์ใหญ่แก้ไข รธน. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ด้าน 'นิกร' เผย 25 ธ.ค. นี้ได้ข้อสรุปประชามติแก้ รธน.

 


วงเสวนา“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” เห็นพ้องมีสสร.จากการเลือกตั้ง 'พริษฐ์' ชี้ โจทย์ใหญ่แก้ไข รธน. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ด้าน 'นิกร' เผย 25 ธ.ค. นี้ได้ข้อสรุปประชามติแก้ รธน. 


วันที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ ลานประชาชน รัฐสภา เกียกกาย เป็นการเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” ในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัยแห่งรัฐธรรมนูญ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่ม ilaw และนายเกรียงไกร หอมจันทร์เทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ 


เริ่มด้วยรศ.ชูศักดิ์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญที่จะยกร่างใหม่ควรจะมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มายกร่างเพื่อให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำเพื่อประชาชน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยแน่นอน และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ โดยควรแก้ไขมาตรา 256 เพราะกำหนดให้ต้องมีเสียงสว.สนับสนุน 1 ใน 3 ต้องตัดตรงนี้ออก แล้วทำให้เป็นรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ง่าย แก้ไขได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับระบบถ่วงดุลอำนาจ ต้องให้องค์กรอิสระมาจากรัฐสภา และกำหนดให้รัฐประหารมีความผิดไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถที่จะยอมรับการรัฐประหารได้ สำหรับกระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่


รศ.ชูศักดิ์ ย้ำว่ากระบวนการสสร.ควรจะต้องเกิดขึ้นและควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้านับหนึ่งได้ 


จากนั้นนายนิกร กล่าวถึงความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าต้องมีที่มาจากประชาชน หากรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการยึดอำนาจ จะยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับที่โดดเด่นที่สุดในขณะนี้และมีที่มาจากประชาชน แต่มีปัญหาการให้อำนาจฝ่ายการเมืองมากไป เมื่อฝ่ายการเมืองไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ควรแก้ไขจึงถูกฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีจึงควรต้องมาจากประชาชนและต้องแก้ไขได้ไม่ยากนัก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เพียงแต่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขแต่ไม่สามารถแก้ไขได้เลย


นอกจากนี้นายนิกร ยังกล่าวว่า ควรมีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร. และควรแก้ไขมาตรา 256 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีที่มาจากรัฐสภา การจะได้เสียง 1 ใน 3 จากสมาชิกวุฒิสภาจึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้น


โดยเฉพาะที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งนั้นไม่ควรมีน้ำหนักมากกว่าเสียงที่มาจากตัวแทนประชาชน จึงจะไม่เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคต เพราะการฉีกรัฐธรรมนูญเกิดจากการที่ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง


อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมี นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งในขณะนี้ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มและทุกภูมิภาคแล้ว เหลือเพียงแต่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ สมาชิกรัฐสภาจะทำแบบสอบถามความเห็นต่อประชามติ และในวันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ จะรับฟังคำตอบ เพื่อสรุปความเห็นในวันที่ 22 ธ.ค. และวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม จะนัดประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป


จากนั้น ช่วงเดือน เม.ย. ก็จะเริ่มทำประชามติครั้งแรก หรือหากมีพรรคการเมืองเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน และวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเริ่มเร็วกว่านั้นได้ แต่ห่วงเรื่องเดียวว่าประชาชนจะมาลงประชามติถึงตามระบบ 2 ชั้นหรือไม่ คือ 26 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องเห็นชอบ 13.5 ล้านคน ซึ่งจะทำได้หรือไม่


ต่อมานายชัยธวัช กล่าวว่า ตนมองว่า สิ่งสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ

1. ต้องยึดโยงกับหลักการว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนให้มั่น ตั้งแต่กระบวนการทำประชามติ การมีสสร.ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 รัฐบาลทำ ก่อนที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา ซึ่งสำคัญเพราะ ถือว่า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ข้อเสนอของพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชนแล้ว เมื่อสสร.ทำร่างประชามติใหม่เสร็จแล้วก็ควรจะไปทำ ประชามติแน่นอนว่าเสียเวลาและเสียงบประมาณมากพอสมควรแต่คิดว่าต้องให้ความสำคัญ สสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


2. กระบวนการและเนื้อหาควรจะตอบโจทย์ การเมืองไทยที่เป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่เราขัดแย้งกันในรอบ 18 ปี สะท้อนปัญหาสังคมไทยไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ว่า ระบบระเบียบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับจะอยู่ร่วมกัน


ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพดีจะไม่มีทางลัด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องออกแบบเพื่อป้องกันรัฐประหาร รวมถึงต้องมีระบบรัฐสภาที่มีคุณภาพ ต้องออกแบบให้เอื้อต่อการแข่งขันทางการเมืองอย่างมีคุณภาพ มีกลไกตรวจสอบอำนาจ ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วย สุดท้ายสิ่งที่เรียกว่าฉันทามติจะออกแบบสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ที่อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นายชัยธวัชกล่าว


นายชัยธวัช ย้ำว่ากระบวนการจัดประชามติและกระบวนการสรรหาสสร.ไม่ควรกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปตั้งแต่ต้น ควรเป็นพื้นที่เปิดให้ทุกความคิดทุกคนรู้สึกว่าเขาได้รับการโอบรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แม้สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะไม่ออกมา มีหน้าตาเหมือนกับความคิดของฝ่ายใดฝ่าย 100% ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ต้องไม่กีดกันเขาไปตั้งแต่แรก ทั้งนี้ต้องไม่ยอมรับรัฐประหารเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ


ขณะที่นายราเมศ กล่าวว่า เราต้องการการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะฉบับที่ผ่านมา มาจากการส่งต่อการยึดอำนาจ หลายประเด็นริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน จึงควรแก้มาตรา 256 ให้เสียงในรัฐสภา เสียงที่มาจากประชาชนส่วนหนึ่งรวมกับ สว. แล้วมาสู้กันว่ากำหนดกฎเกณฑ์กติกาว่าจะใช้ตัวเลขเท่าไหร่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และต้องสอบถามประชาชนว่า อยากให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิอะไรบ้างไว้เป็นหลักประกันพื้นฐาน นอกจากนี้เรื่องของการกระจายอำนาจก็ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกคนที่จะมาดูแลท้องถิ่น สำหรับกระบวนการ ตั้งสสร.นั้น เราเห็นด้วยที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  


ด้าน นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ตนมีความฝันว่าอยากอยู่ในประเทศที่มีอำนาจปกครองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้ที่ได้เสียงข้างมากย่อมเป็นรัฐบาล ไม่มีอำนาจอื่นมาแทรกแซง และตนอยากอยู่ในประเทศที่มีศาลและองค์กรตรวจสอบอำนาจที่มีที่มาเป็นอิสระ ไม่ใช่คนถูกตรวจสอบเป็นคนเลือกมา และอยากอยู่ในประเทศที่มีประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและนโยบายประเทศ และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมาไม่ดี อีก 4 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ และนโยบายที่ดีต้องมาจากประชาชนไม่ใช่มาจากการเขียนโดยคณะรัฐประหาร หรือมาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีพื้นฐานมาจากความต้องการของประชาชน


การตั้งคำถามประชามตินั้น จะต้องตั้งคำถามให้ดี ไม่ตั้งคำถามซ้ำซ้อน เพราะสุดท้ายการประชามติอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เช่น ประชาชนเห็นชอบหรือไม่ หากให้ สสร.ที่มาจากการแต่งตั้งมาทำหน้าที่ หรือประชาชนเห็นชอบหรือไม่หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 พร้อมยืนยันว่า หากรัฐบาลตั้งคำถามประชามติอย่างเปิดกว้างเป็นธรรม ภาคประชาชน จะช่วยกันสนับสนุนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติครั้งนี้ และย้ำว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมาจาก สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% นายยิ่งชีพกล่าว


ด้านนายพริษฐ์ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการเปิดใช้ลานประชาชนในพื้นที่ของรัฐสภา หวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนทุกความคิดทุกกลุ่ม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับรัฐสภาได้มากขึ้น


สำหรับภาพรวมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้นในฐานะประธานกรรมาธิการเห็นว่ามีข้อพิพากษ์วิจารณ์ ข้อเสนอเกี่ยวกับกระบวนการที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองถึงแม้จะมีการทำประชามติในปี 2559 ก็ตาม


และข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา หากยังมีหลายมาตราที่อาจจะมีความถดถอยทางประชาธิปไตย ทั้งการถูกเปรียบเทียบกับฉบับก่อน ๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล


ท้ายที่สุดแล้ว ที่มาและกระบวนการจะเป็นเช่นไร จะส่งผลต่อเนื้อหาว่าจะเป็นเช่นไรเหมือนกัน และที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเนื้อหาว่าจะสะท้อนถึงอะไร


ถ้า สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม มามีตัวแทนในสสร.ได้ เราจะมีเนื้อหาที่สะท้อนความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของทุกกลุ่มในสังคม แต่ถ้าเรามีสสร.ที่มาจากการแต่งตั้ง มิหนำซ้ำอาจจะถูกควบคุมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแทรกแซงได้ เราก็อาจจะมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ถูกขีดเขียนให้ประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ” นายพริษฐ์ กล่าว


ทำให้เราต้องมีโจทย์สำคัญ 2 ข้อ ในการออกแบบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ คือ 1. เราจะทำให้กติกาสูงสุดของประเทศเราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุม และได้มาตรฐานสากลมากขึ้นได้อย่างไร 2. ต้องแก้ไขโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรให้สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างอำนาจของวุฒิสภาที่ไม่มีความสอดคล้องกันในเรื่องของอำนาจและที่มา หรือจะเป็นคุณสมบัตินายกที่ควรมาจากสส. และส่วนอื่น ๆิเช่นศาลรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ, การกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น


นายพริษฐ์ กล่าวในมุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ จากข้อมูลยังมีสองด้านที่เรายังได้น้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยจากดัชนีประชาธิปไตย ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประชาธิปไตยบกพร่อง คือ 1. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 2. ความตอบสนองของสถาบันทางการเมืองต่อความต้องการของประชาชน


นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงการตั้งคำถามเพื่อทำประชามติในครั้งแรกว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ หากพูดด้วยหมวก สส.ของพรรคก้าวไกล ตนขอย้ำในข้อเสนอที่ให้แยกเป็นหนึ่งคำถามหลัก และสองคำถามรอง


ในส่วนของสสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง นายพริษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนส่วนตัวว่าสสร.ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงไปตรงมา เพราะเรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อมายกร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แล้วทำไมกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญถึงไม่มีสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด


ทั้งนี้ พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้นำคณะราษฎร ได้มาร่วมรับฟังการเสวนาพร้อมพี่น้องประชาชน ณ ลานประชาชน ด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญ #ประชามติ