วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

‘พิธา’ ยันไม่ได้ด้อยค่า 100 วันผลงานรัฐบาล แต่วิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ เอาประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ กังวลระเบียบราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ “เอื้อคนรวย-สร้างความเหลื่อมล้ำ”

 


พิธา’ ยันไม่ได้ด้อยค่า 100 วันผลงานรัฐบาล แต่วิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ เอาประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ กังวลระเบียบราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ “เอื้อคนรวย-สร้างความเหลื่อมล้ำ”

 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ร่วมวงเสวนา'การเลี้ยงเด็กในโลกปัจจุบัน' ในงานสายไหมแฟร์ ครั้งที่ 1 Peekaboo Café & Playground สายไหม

 

สำหรับประเด็นที่ได้จัดแถลงข่าววิเคราะห์ผลงานรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน หลังบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 100 วัน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ไม่ได้โจมตีแต่เป็นการวิเคราะห์ เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่วิเคราะห์ไป ซึ่งตนเองทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ

 

และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือแรงงานไทยในช่วงวิกฤตอิสราเอล-ฮามาสได้เป็นอย่างดี การฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ตนเองพูดอย่างตรงไปตรงมา

 

แต่ก็มีอีกหลายเรื่องแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ยังมีความกังวล เช่น เรื่องค่าไฟและการเพิ่มค่าแรงที่ก็ยังไม่เห็นด้วยและพยายามที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตนมองว่าการจะเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงข้อสั่งการ แต่ต้องลงไปดูในรายละเอียดในกระบวนการว่าถูกต้องหรือไม่ ยกตัวอย่างเรื่องค่าแรงต้องไปดูสูตรการคำนวณของบอร์ดไตรภาคี จะได้ไม่ต้องเซอร์ไพรส์ต่อหน้านักข่าวอีก และเป็นการสร้างความมั่นใจให้พี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และกฟผ. ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้บ่อย ๆ กับนายกรัฐมนตรี จึงเตือนรัฐบาลด้วยความหวังดี

 

ส่วนการให้บอร์ดไตรภาคีกลับไปทบทวนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงต้องไปดูกฎหมาย เพราะการนำเรื่องชงเข้า ครม.แล้วถอดออก อาจเกิดความไม่มั่นใจหรือความไม่พอชอบมาพากล ก็เป็นข้อที่น่ากังวล ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องบริหารจัดการให้เสร็จภายใน การพูดคุยว่ากรอบที่เห็นควรจะเป็นอย่างไร เพราะบางทีไตรภาคีอาจจะดูแค่เฉพาะแรงงานอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค เงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพ ผลิตผล ซึ่งตนเองไม่ทราบ เพราะตัวคูณอาจไม่ตกผลึก หากมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ทำให้ตัวเลขเปอร์เซ็นเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร เป็น 2 บาท 3 บาท หรือ 10 บาท ในพื้นที่ที่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

 

พร้อมยกตัวอย่างรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้าใจว่า มีบางเรื่องที่ต้องยกเว้นเพื่อให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เรื่องนี้ก็คงเป็นลักษณะเดียวกันที่ต้องไปดูในรายละเอียด

 

สำหรับการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลนายเศรษฐา 100 วัน ที่พรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้ว่าเหมือนเป็นการด้อยค่า โดยขอให้รอดูผลงานในระยะยาว เพราะ 3 เดือนแรกเป็นการเข้ามาสางปัญหาจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายพิธา ยืนยันว่าไม่ใช่การด้อยค่ารัฐบาล แต่วาระ 100 วันแรก เป็น 100 Day Agenda ในเชิงรัฐศาสตร์เป็นเรื่องปกติของหลาย ๆ ประธานาธิบดี หลาย ๆ นายกรัฐมนตรี และหลาย ๆ รัฐบาล โดยยกตัวอย่าง ล่าสุดนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ก็ประกาศ 40 กว่าข้อที่จะทำใน 100 วันแรก การออกมาวิเคราะห์เช่นนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมไม่ใช่ 2 สัปดาห์แรกที่ยังไม่มีโอกาสทำอะไร ตอนนี้ให้เวลาพอสมควรจึงคิดว่ามีความสำคัญ 1-2 ประเด็น คือ แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นว่าจะรักษาสัญญาก่อนเข้าสู่อำนาจหรือไม่และเป็นแผนงานในการขับเคลื่อนของรัฐบาลยิ่ง 100 วันแรก ที่ยังคงเป็นงบประมาณเดิมอยู่ งบประมาณมีจำกัด และกฎหมายก็ยังผ่านสภาไม่ได้ ยิ่งต้องมีแผนงานเพราะมีข้อจำกัดเยอะ

 

จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมีวาระ 100 วันแรก เพื่อบริหารความคาดหวังของประชาชนบริหารความมั่นใจจากประชาชนและเวทีโลกว่าทิศทางในการบริหารราชการแผ่นดินหน้าตาจะเป็นลักษณะอย่างไร วิสัยทัศน์เป็นอย่างไร และเป้าหมายเป็นอย่างไร รวมถึงแผนในการดำเนินการเป็นอย่างไร เพราะหากเราเรียกความมั่นใจให้ เพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องความมั่นใจ

 

จากที่เห็นนายกรัฐมนตรีเดินทางไปหลายประเทศ เมื่อวาน(15 ธ.ค.)พูดคุยกับนักธุรกิจญี่ปุ่นก็ทำได้ดี ก็อยากให้ทำแบบเดียวกันกับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์

 

ก็อยากให้กลับมาอธิบายที่สภา อธิบายประชาชนชาวระนอง ชาวชุมพร ว่าการศึกษาระหว่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะเท่าที่เป็นฝ่ายค้าน ใช้สภาประชุมคณะกรรมาธิการฯ คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายเอกชน บริษัทเดินเรือ ซึ่งตรงข้ามกันกับที่ นายกรัฐมนตรี ไปพูดกับต่างประเทศ

 

"ไหน ๆ ท่านก็เดินทางไปต่างประเทศบ่อย อธิบายให้กับนักลงทุนต่างประเทศแล้วก็ต้องอธิบายให้กับคนไทย เพื่อบริหารความคาดหวังและบริหารความเชื่อมั่นให้กับคนที่อยู่ในประเทศนี้ อยากได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรีว่าศึกษาเรื่องนี้แบบใด กี่ครั้ง" นายพิธากล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะที่พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้านจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งอย่างไรเกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ในการคุมขังนอกเรือนจำ ที่อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในกรณี ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของระบบนิติรัฐ นิติธรรม มากกว่าการเจาะจงไปที่คนใดคนหนึ่ง ในการที่จะสร้างความสมานฉันท์ ความเท่าเทียม และปรองดอง ต้องเท่าเทียมกันทั้งระบบ และต้องไม่ยึดติดในเรื่องของบุคคล มองว่าสิ่วที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พยายามทำในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการเข้าหาผู้ที่เห็นต่างเพื่อให้เกิดการเซ็ทซีโร่การเมืองไทย ให้เกิดการปรองดองและสมานฉันท์เกิดขึ้นได้จริงในการเมือง คือการให้มีวัฒนธรรมเสาะหาข้อเท็จจริง ไม่มีวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลและรับผิดรับชอบในเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนโดนทำร้ายด้วยกฎหมายด้วยเพียงเห็นต่างทางการเมืองสามารถกลับมาเป็นดำเนินชีวิตปกติได้ทุกกรณี

 

เมื่อถามว่าอยากบอกประชาชนอย่างไรกับประโยคที่ว่า'คุกมีไว้ขังคนจน' นายพิธา กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ประเทศที่น่าอยู่ไม่ควรจะเป็นลักษณะแบบนั้น กฎหมายควรที่จะเสมอภาคกับทุกคน ไม่ว่าจะรวยดีมีจน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่กฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่สภา แต่อยู่ตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่ทางนายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พยายามทำมาโดยตลอด ซึ่งคิดว่าถ้าหากเราทำได้คงไม่ควรที่จะมีไว้ขังคนที่เห็นต่างทางการเมือง ควรมีไว้เพื่อให้สังคมสงบสุขและมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นประชาชน ที่ช่วยพัฒนาชาติได้

 

สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าระเบียบของกรมราชทัณฑ์ใหม่ อาจเอื้อให้กับนายทักษิณ นายพิธาได้กล่าวถึง รายงานข่าวของนายชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าระเบียบนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2563 ก่อนที่นายทักษิณจะกลับมา ถึงวันนี้หากสิ่งที่สภาฯ ตรวจสอบแล้วเป็นจริงก็ต้องให้ความเป็นธรรมเพราะเกิดขึ้นก่อน แต่ถ้าถามว่ามีข้อกังวลหรือไม่ตอบว่ามี เพราะระเบียบนี้ที่ระบุว่าจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการรวมศูนย์ ญาติพี่น้องหรือคนที่ติดอยู่แม้จะผ่านระยะเวลาการได้รับโทษ 1 ใน 3 แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะขอร้องได้ พร้อมทั้งมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีบ้าน โรงงาน และสถานที่ราชการเป็นหลักแหล่งในการดูแล ตรงนี้แสดงถึงความเหลื่อมล้ำ ต้องเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะถึงจะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการแบบนี้ได้ นายพิธากล่าวทิ้งท้าย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์