‘เศรษฐา’ โพสต์ พิษการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า:
ฤดูร้อนที่ประชาชนชาวไทยหนาว
วันที่
3 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ความว่า
ฤดูร้อนในประเทศไทยเรานี้อากาศร้อนขึ้นทุกปี
ๆ
พี่น้องประชาชนไทยก็ต้องพึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายร้อนกันถ้วนหน้า
ซึ่งเมษายนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด พี่น้องหลาย ๆ
ท่านคงอดกังวลถึงบิลค่าไฟที่แพงขึ้นไม่ได้ เพราะแค่ค่าไฟเดือนมีนาคมก็เปลี่ยนอากาศร้อนกลายเป็นหนาวได้เลยทีเดียว
ที่จริงแล้ว
ไม่ใช่แค่ปีนี้ แต่เป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี สำหรับประเด็นเรื่องค่าพลังงาน
ที่ส่งผลเดือดร้อนทั้งกับพี่น้องประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ
และทั้งกับภาคธุรกิจที่ต้นทุนสูงขึ้น
ต้องบอกว่าปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลปัจจุบัน
ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูง และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก
ซึ่งถ้าให้ร่ายรายละเอียดความผิดพลาดก็มีหลายเรื่องครับ
อย่างแรก
ปัญหาการรับช่วงต่อสัมปทานการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ่าวไทยจาก บริษัท
เชฟรอน ทำให้ผลิตก๊าซธรรมชาติ (LNG) ได้น้อยลงกว่าที่เคยทำได้
รวมถึงเรื่องการที่เรานำ ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ราคาถูกจากอ่าวไทยไปผลิต
ปิโตรเคมี แทนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้แล้ว
ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดนี้รู้อยู่แล้วว่าก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในอ่าวไทยจะไม่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า
แต่กลับไม่ได้เร่งต่อรองกับกัมพูชาเพื่อขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา
และท้ายสุดแล้วคือเรื่องของสัญญาค่าความพร้อมที่เซ็นล่วงหน้าโดยไม่มีการประมาณการความต้องการไฟฟ้าอย่างละเอียด
จากปรกติที่ควรจะมีไฟฟ้าสำรองแค่ 15% แต่ตอนนี้เรากลับมีไฟฟ้าสำรอง
มากกว่า 50% หนำซ้ำรัฐบาลที่ผ่านมายังไปเซ็นใบอนุญาตผลิตไฟเพิ่มอีกกว่า
16% ของความต้องการไฟฟ้าก่อนจะยุบสภา
เป็นเหมือนการซ้ำเติมความบอบช้ำของประชาชนให้หนักขึ้นไปอีก
ปัญหาเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
เรามีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อจัดการปัญหาอย่างทันที
ในระยะสั้น
เราจะลดราคาค่าไฟฟ้าทันที และตรึงราคาค่าไฟฟ้าไปก่อน เพราะราคาพลังงานมีแนวโน้มที่อาจจะปรับลงจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
และค่อยประเมินอีกทีในช่วงปีถัดไป
เราจะเจรจาหาข้อยุติในกรณีพิพาทเรื่องการส่งมอบสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทย
และดำเนินการหยุดให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าทุกชนิดจนกว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการจะลดลง
ในระยะยาว
เราจะเร่งเจรจาแหล่งพลังงาน ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ต้องเจรจาลดค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้า
โดยปัจจุบัน (เดือนละ 8,000
ล้านบาท) ต้องนำก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้า
แทนการนำไปผลิตปิโตรเคมี และท้ายที่สุดเราต้องมองถึงอนาคตที่จะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ
โดยมีมาตรการสนับสนุนพลังงานทดแทน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลส์) และ
ก๊าซชีวภาพ บวกกับการสร้างข้อจูงใจให้กับภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ามากกว่านี้
ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เอง (net
metering) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนถูกลง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าเรามีโอกาสได้ดำเนินนโยบายเหล่านี้ก็คือ
ทุกภาคส่วนจะมีค่าไฟฟ้าที่ลดลงทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ประชาชนมีเงินเหลือ มากขึ้น
เอกชนมีกำไรมากขึ้น สินค้ามีราคาที่ถูกลง ทำให้แข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลกได้
และการสนับสนุน พลังงานทดแทนจะช่วยในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศเราอีกด้วย
ผมเชื่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและผลักดันนโยบายนี้ควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซอฟต์ พาวเวอร์ เราจะเห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้จะเสริมกัน ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นเฉลี่ย 5% ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ตั้งไว้ อัตราไฟฟ้าสำรองที่ผลิตเกินก็จะลดลงมาใกล้เคียงกับอัตราที่ควรจะเป็น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจะดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะลดลง และประเทศไทยจะสามารถกลับมาเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคได้อีกครั้งอย่างแน่นอน