วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

“พิธา” หนักแน่น นิรโทษกรรม-แก้ ม.112 เดินหน้าแน่นอนเป็นวาระเฉพาะ ชี้สถานการณ์เปลี่ยนสังคมเริ่มพูดถึง “ก้าวไกล” พร้อมดันสุด เชื่อมั่นพรรคร่วมจับมือกัน ไม่หวั่นข่าวลือ เผยเจรจา ส.ว. ราบรื่น ขอบคุณทุกพรรคช่วยเหลือ

 


“พิธา” หนักแน่น นิรโทษกรรม-แก้ ม.112 เดินหน้าแน่นอนเป็นวาระเฉพาะ ชี้สถานการณ์เปลี่ยนสังคมเริ่มพูดถึง “ก้าวไกล” พร้อมดันสุด เชื่อมั่นพรรคร่วมจับมือกัน ไม่หวั่นข่าวลือ เผยเจรจา ส.ว. ราบรื่น ขอบคุณทุกพรรคช่วยเหลือ


วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมคอนราด กทม. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำพรรคอีก 7 พรรค ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงกรณีการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันจะทำอยู่หรือไม่


โดย พิธา ยืนยันว่าจะมีการทำอยู่ โดยเมื่อ ก.พ. 2564 พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสู่สภาฯ แล้ว แต่ไม่มีการบรรจุวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม อย่างไรก็ดีครั้งนี้คิดว่าน่าจะประสบความสำเร็จ ลุล่วงด้วยดี โดยเป็นการดำเนินการของพรรคก้าวไกล


เมื่อถามว่า หากใช้สภาฯ ในการแก้ไขมาตรา 112 จะส่งผลกระทบต่อเสียงที่จะสนับสนุน พิธา เป็นนายกฯ หรือไม่ พิธา กล่าวว่า ไม่คิดว่าอย่างนั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีทีมเจรจา มีกรอบในการเจรจาเพื่อคลายความกังวลใจจากวุฒิสภาหลายเรื่อง โดยเจตจำนง เนื้อหากฎหมาย ตั้งใจทำให้มาตรา 112 ไม่โจมตีทางการเมือง คำอธิบายที่ยื่นไปแล้ว หรือเทียบกับความเป็นสากลก็ดี หรือ MOU เขียนชัดเจนว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ จะทำให้วุฒิสภาสบายใจมากขึ้น


รวมถึงประชาชนจำนวนมาก ยืนยันว่ามาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 กฎหมายที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นเข้าสภาฯ เพื่อพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ ในมุมกลับจึงไม่สร้างความกังวลใจ เมื่อพูดคุยกันได้รับฟังข้อมูล เป็นแนวทางที่ดี นี่คือสิ่งที่ได้รับรายงานจากทีมเจรจาของพรรคก้าวไกล


เมื่อถามว่า หากผลักดันมาตรา 112 เข้าสภาฯ ท่าทีของอีก 7 พรรคร่วมที่เหลือเป็นอย่างไร พิธา กล่าวว่า ย้ำว่าทุกพรรคมี MOU ตรงกัน หากพูดคุยถึงวาระร่วมของเรา การผลักดันนโยบายร่วมมีทั้ง วาระร่วม และวาระเฉพาะของแต่ละพรรคอยู่ แต่ละพรรคมีโอกาสที่จะผลักดันนโยบายเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ขัดแย้งจาก MOU ฉบับนี้ โดยผ่านกลไกของรัฐมนตรีในฝ่ายบริหาร และผลักดันผ่าน ส.ส.ในฝ่ายนิติบัญญัติ สิ่งที่พูดตั้งแต่แรกของ MOU และตอนท้ายของ MOU เขียนไว้ชัดเจน


เมื่อถามถึงแผนสำรองของพรรคก้าวไกล หากน พิธา ไม่ผ่านเสียง ส.ว.ในการโหวตเป็นนายกฯ จะทำอย่างไร พิธา กล่าวว่า ตอนนี้คิดว่ากระบวนการของเรา ไม่ว่าคณะเจรจา หรือคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล เป็นไปด้วยดี ไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่ต้องมีแผนสำรอง ถ้าเป็นฉากทัศน์แบบนั้น รัฐธรรมนูญพูดไว้ชัดเจนว่า ทำอย่างไรได้บ้าง ไม่เป็นข้อกังวล


เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมรวมกับพรรคพลังประชารัฐที่จะยุบพรรค และเอา ส.ส.มาร่วมด้วย เป็นไปได้หรือไม่ และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พิธา กล่าวว่า พูดในฐานะเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ทำงานด้วยกันมา 4 ปี และที่คุยกันมา 1 สัปดาห์ พรรคร่วมมีความหนักแน่น


"ไม่ว่าข่าวลือ หรือพูดอะไรต่าง ๆ มาสั่นคลอน ยืนยันไม่หวั่นไหว ทุกพรรคบนนี้ ทำงานด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มีความกังวลเรื่องนี้แต่อย่างใด"


เมื่อถามว่า ขณะนี้รวบรวมเสียง ส.ว.มาได้แล้วกี่เสียง พิธา กล่าวว่า การพูดคุยนำโดยก้าวไกล ในฐานะเป็นพรรคอันดับ 1 ขอบคุณหัวหน้า และแกนนำพรรคทุกพรรค มีการนำข้อมูลมาให้เรา ในการสื่อสารเจรจา พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำพูดคุย แต่ขณะเดียวกันมีหัวหน้าทุกพรรคในนี้ เคยพูดคุยกันมาก่อน ได้ส่งข้อมูลให้เรา และเราดำเนินการพูดคุยอยู่


ส่วนประเด็นการเสนอชื่อบุคคลเป็นประธานรัฐสภาคือใคร และ พิธา จะนั่งนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จริงหรือไม่ จะเกิดแรงเสียดทานกับกองทัพหรือไม่ พิธา กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้เร็วเกินไป แต่ส่วนหนึ่งในการเจรจา เรื่องตำแหน่งต่างๆ ควรจะตามวาระ ตาม MOU ตามเรื่องนโยบาย เอาประชาน เอานโยบายเป็นตัวตั้ง รับผิดชอบแต่ละหน่วยงาน เอาคนเหมาะสมกับงานมาทำ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดว่าจะเป็นไปได้


ส่วนกรณีการไม่บรรจุประเด็นการอำนวยความยุติธรรม หรือนิรโทษกรรมใน MOU ไว้ แสดงว่าจะผลักดันเป็นวาระเฉพาะใช่หรือไม่ พิธา กล่าวว่า การนิรโทษกรรมมีความพยายามที่จะพูดคุยกัน อย่างไรก็ดีเราตัดสินใจว่าจะเป็นวาระเฉพาะแต่ละพรรค โดยก้าวไกลยืนยันจะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เป็นวาระเฉพาะของก้าวไกล


เมื่อถามย้ำถึงจุดยืนของก้าวไกล เป็นพรรคเดียวหรือไม่ที่จะผลักดันแก้มาตรา 112 เป็นวาระเฉพาะในสภาฯ และสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไรกับสถานการณ์เมื่อ ก.พ. 2564 ที่ยื่นร่างเข้าสภาฯไปแล้ว พิธา กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะ ทุกสำนักข่าวตอนนี้มีการพูดคุยและตั้งคำถามกันเรื่องนี้ แตกต่างกับปี 2562-2564 ที่ไม่มี และประเด็นต่างๆ เรื่องของมาตรา 112 ได้ตอบไปแล้ว


เมื่อถามถึงกรณีหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ถูกยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบอยู่นั้น หาก กกต. มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา และเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ มีแผนสำรองอย่างไร มั่นใจเรื่องนี้แค่ไหน


พิธา กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล อย่างที่บอกต้องรอคำร้อง กกต. ก่อน ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องตีตนก่อนไข้ คำอย่างที่อธิบายหลายครั้งว่า เรามีหลักฐาน หลักกฎหมาย เตรียมตัวชี้แจงไว้แล้ว และอธิบายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ไปแล้ว แต่แน่นอนว่า ทั้งหมดทั้งปวง คำร้องมีลักษณะแบบไหน ยื่นคำร้องอย่างไร และจะอธิบายให้สังคมเข้าใจ หวังว่าจะคลายความกังวลลงไปได้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #MOU #รัฐบาลก้าวไกล #จัดตั้งรัฐบาล2566