วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566

ศูนย์ทนายฯ รายงานสถิติคดี ม.112 คดีพุ่งขึ้น ไม่พบคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

 


ศูนย์ทนายฯ รายงานสถิติคดี ม.112 คดีพุ่งขึ้น ไม่พบคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง


เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานสถิติคดี ม.112 ภายใน 2 ปีกว่า คดีพุ่งขึ้นถึง 258 คดี


จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 18 คน โดยเป็นสถิติเท่าที่ทราบข้อมูลเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจะมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากกว่านี้อีกด้วย


และหากแยกพิจารณาเป็นรายภูมิภาคที่เกิดเหตุคดี พบว่า

- พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด คือ 183 คดี

- พื้นที่ภาคเหนือ 29 คดี

- พื้นที่ภาคใต้ 22 คดี

- พื้นที่ภาคอีสาน 17 คดี

- พื้นที่ภาคกลาง-ตะวันออกจำนวน 7 คดี


ส่วนพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 137 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของคดีทั้งหมด


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า จากสถิติดังกล่าว มีคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาลไปแล้วจำนวน 184 คดี โดยเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยมีเพียงกรณีของ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหามาตรา 112 นี้ ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 แต่ยังสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อหา กล่าวได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แทบจะถูกสั่งฟ้องคดีทั้งหมด


ท่ามกลาง คดีที่ถูกสั่งฟ้องดังกล่าว มีคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 52 คดี โดยแยกเป็นกรณีที่จำเลยต่อสู้คดี 33 คดี และกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 19 คดี โดยผลของคำพิพากษาโดยสรุป


- ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำนวน 11 คดี

- ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี

- คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 25 คดี

- คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก 11 คดี

- คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ 2 คดี


แนวโน้มคำพิพากษาในคดีที่เห็นว่ามีความผิด พบว่าศาลลงโทษกระทงละ 3-5 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้ว (จำนวน 25 คดี) ศาลลงโทษกระทงละ 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำสุดที่ตัวบทกำหนด ในส่วนคดีที่ถูกพิพากษาลงโทษมากที่สุดในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา คือคดีของ “บัสบาส” มงคล ที่จังหวัดเชียงราย ถูกพิพากษาจำคุกรวม 28 ปี จากข้อความจำนวน 14 กระทง ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด


ในคดีส่วนใหญ่ ผู้ถูกกล่าวหายังได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา แต่ก็มีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาในคดีมาตรา 112 อยู่จำนวน 2 ราย ได้แก่ “วุฒิ” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญามีนบุรี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ และศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา และ “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ต่อสู้โดยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว รับโทษอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 3 รายด้วย


ขณะเดียวกัน ในช่วงปีนี้ นอกจากนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของศาลชั้นต้นที่ทยอยติดตามมาในทุกๆ เดือน ในบางคดี คาดว่าจะทยอยมีคำพิพากษาในระดับศาลอุทธรณ์หรือกระทั่งศาลฎีกา และอาจนำไปสู่การคุมขังเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายใดๆ ในอนาคต


อ่านสถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาที่ https://tlhr2014.com/archives/46268


ที่มา : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #มาตรา112