วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566

เปิด 4 ข้อเรียกร้อง คปช.53 ต่อ รมว.ยุติธรรม ทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงกรณีเหตุการณ์ปี 53 ปัญหาสถานที่คุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง และปัญหาสิทธิการประกันตัวคดีทางการเมือง

 


เปิด 4 ข้อเรียกร้อง คปช.53 ต่อ รมว.ยุติธรรม ทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงกรณีเหตุการณ์ปี 53 ปัญหาสถานที่คุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง และปัญหาสิทธิการประกันตัวคดีทางการเมือง


วันที่ 9 มีนาคม 2566 เปิดรายละเอียดหนังสือร้องเรียนขอผลและความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีและการดำเนินการต่าง ๆ ของ DSI ในกรณีการปราบปรามประชาชนปี 2553 และคำขอการดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม มีรายละเอียดดังนี้


สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดำเนินการเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และมีคำสั่งดำเนินการปิดล้อม สกัดกั้นและใช้อาวุธกับประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์  และบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 และมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 ศพ และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใด ๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชการอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า คดีเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นคดีพิเศษนั้น


กรณีการตายของประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการดำเนินการชันสูตรพลิกศพและศาลได้มีคำสั่งในหลายสำนวนถึงเหตุการตายว่า เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าวถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษแต่อย่างใด แต่ประชาชน ผู้ชุมนุม แกนนำ กลับถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก


คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ประกอบด้วย

1. ญาติวีรชนคนเสื้อแดง ผู้สูญเสีย ผู้ถูกกระทำ ทั้งบาดเจ็บและถูกคุมขังโดยมิชอบ

2. คนเสื้อแดงและประชาชนผู้รักความยุติธรรม

3. ทนายความที่เคยดำเนินคดีคนเสื้อแดงถูกกระทำ คณะนักกฎหมายและทนายความ

4. นักวิชาการและองค์กรที่ร่วมช่วยเหลือคนเสื้อแดงและผู้สูญเสียกรณีปี 2553

5. แนวร่วมผู้ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต


คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53)   เห็นว่านับตั้งแต่การรัฐประหาร          เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระบวนการยุติธรรมได้ถูกแทรกแซงและทำให้คดีต่าง ๆ ไม่ดำเนินไปตามกระบวนการที่ถูกต้องและตามอำนาจหน้าที่โดยระยะเวลาได้ล่วงเลยเป็นเวลา 12 ปีเศษแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ตาย ญาติผู้ตาย และประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก  


จึงเรียนมายังท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาและดำเนินการดังนี้


1) สั่งการและเร่งรัดไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษให้เปิดเผยข้อมูลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเป็นลำดับแรก  และให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเกี่ยวกับคดีพิเศษตามมติในการประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใด ๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป ในราชการอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า คดีเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นคดีพิเศษให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว ตรวจสอบกรณีที่ได้ดำเนินการไปแล้วว่าสำนวนสอบสวนและรายงานชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่


2)  สั่งการไปยังกรมคุ้มครองสิทธิ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ผู้ที่ถูกจับกุม คุมขัง ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีหรือความผิดที่ถูกกล่าวหา ให้ได้รับการเยียวยาด้วย


3)  เนื่องจากในปัจจุบันมีประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองกับฝ่ายรัฐเป็นจำนวนมากที่ถูกจับกุม คุมขัง และอยู่ระหว่างดำเนินคดีถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ภายใต้การดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งควรจัดสถานที่ควบคุมผู้ถูกคุมขังเหล่านั้นแยกต่างหากจากนักโทษคดีทั่วไป


4) เนื่องจากมีการจับกุมคุมขังคดีการเมืองเป็นจำนวนมากและไม่ได้รับการประกันตัว จึงใคร่ขอให้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับทางศาลเกี่ยวกับสิทธิประกันตัวของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามสนธิสัญญาต่างๆที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้กับสหประชาชาติ และเป็นไปตามนิติรัฐ นิติธรรมสากล รวมทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 29 วรรค 2 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” มาตรา 29 วรรค 3 บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และมาตรา 29 วรรค 5 บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

 

จึงใคร่ขอให้ท่านได้ดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้น ภายใต้พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕ และขอทราบรายละเอียดและผลความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ  จักเป็นพระคุณอย่างสูง


ขอแสดงความนับถือ

คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง #กระทรวงยุติธรรม