วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566

‘โรม’ จี้ อย่าให้มีล้มคดีค้ายาข้ามชาติ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทยให้ถอนชื่อลูกสาว ‘มินอ่องลาย’ จากคดีทุนมินลัต ชี้รัฐบาลไทยต้องฟื้นฟูบทบาทนำในเวทีอาเซียน เจรจาหาทางออกความรุนแรงในเมียนมา


‘โรม’ จี้ อย่าให้มีล้มคดีค้ายาข้ามชาติ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทยให้ถอนชื่อลูกสาว ‘มินอ่องลาย’ จากคดีทุนมินลัต ชี้รัฐบาลไทยต้องฟื้นฟูบทบาทนำในเวทีอาเซียน เจรจาหาทางออกความรุนแรงในเมียนมา

 

วันที่ 17 เมษายน 2566 ที่พรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวประจำสัปดาห์ในหลายประเด็น เริ่มที่ประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ที่รัฐบาลเผด็จการทหาร ทำการปราบปรามฝ่ายต่อต้านและโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 171 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 24 คน และเด็ก 38 คน

 

รังสิมันต์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลขอยืนยันจุดยืนว่าการใช้กำลังทางการทหารต่อพลเรือนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทุกกรณี และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนทุกรูปแบบ พร้อมทั้งคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชนโดยเร็ว

 

พรรคก้าวไกลเห็นว่าท่าทีวางเฉยของรัฐบาลไทยในขณะนี้ เป็นการเพิกเฉยต่อมนุษยธรรมและไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ประเทศไทยควรฟื้นฟูบทบาทนำในเวทีอาเซียนอีกครั้ง ด้วยการกลับมาเป็นผู้นำในการเจรจาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเจรจาสันติภาพ คืนประชาธิปไตยสู่ประเทศเมียนมาโดยยึดหลักการการสร้างเสถียรภาพอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Stabilization) ตั้งเป้าหมายว่าจะยุติสงครามกลางเมืองและการเสียชีวิตของประชาชนโดยเร็ว ด้วยการใช้ความร่วมระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติจัดการกับวิกฤติในประเทศเมียนมา และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านกลับมาเป็นประชาธิปไตย โดยเคารพเจตจำนงของประชาชนชาวเมียนมาในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ

 

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง ดังที่ประเทศไทยได้ส่งกลับ 3 ผู้ลี้ภัยจนมีรายงานว่าคนที่ถูกรัฐบาลไทยส่งกลับนี้ ถูกสังหารแล้วอย่างน้อย 1 ราย

 

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเผด็จการทหารไทยและเผด็จการทหารเมียนมาร์ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าความสัมพันธ์นี้ต่อยอดกลายเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับขบวนการค้ายาเสพติด ให้ทำธุรกิจค้ายาและฟอกเงินในประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย เห็นได้จากกรณีที่ถูกตั้งคำถามว่ามินอ่องลาย พูดคุยกับทางการไทยให้ถอนชื่อลูกสาวจากคดีทุนมินลัตหรือไม่

 

ตามที่สำนักข่าว The Irrawaddy ของประเทศเมียนมา รายงานข่าวว่าพลเอกอาวุโสมินอ่องลาย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา พยายามติดต่อเจรจากับทางการไทยเพื่อให้ถอนชื่อบุตรสาวของตัวเองออกจากคดีของทุนมินลัต ผู้ซึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและข้อหาฟอกเงิน และมีความเชื่อมโยงไปถึง อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ในคดีดังกล่าวไม่ได้มีชื่อลูกของมินอ่องลายร่วมเป็นจำเลย แต่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะในการตรวจยึดทรัพย์สินของทุนมินลัตที่ถือครองอยู่ เจ้าหน้าที่พบว่ามีสมุดบัญชีธนาคารในไทยของลูกสาวมินอ่องลาย และหนังสือกรรมสิทธิ์และสัญญาซื้อขายคอนโดในไทยของลูกชายมินอ่องลาย รวมอยู่ด้วย ตนเข้าใจว่าตามรายงานข่าวข้างต้นน่าจะเป็นการเจรจาเพื่อให้ลูกของเผด็จการทหารเมียนมาหลุดพ้นจากกระบวนการตรงนี้

 

รัฐบาลไทยต้องสร้างความเป็นธรรมต่อเรื่องนี้ จะปล่อยให้รัฐบาลอื่นมาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ในเมื่อคดีของทุนมินลัตมีการตั้งข้อหาทั้งเรื่องยาเสพติดและการฟอกเงินไปแล้ว ทางการไทยย่อมมีอำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินนั้นหรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่เหล่านี้ก็คือ ป.ป.ส. และ ปปง. ทว่าตลอดที่ผ่านมาหลายเดือนก็ยังไม่เห็นว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะดำเนินการอะไรกับทรัพย์สินของลูกๆ มินอ่องลายอย่างจริงจังเสียที

 

"ไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า หรือปล่อยให้คืนทรัพย์สินไปยังมินอ่องลาย เราจะถูกตั้งคำถามจากนานาชาติมากยิ่งขึ้น ว่ารัฐบาลไทยมีส่วนได้เสียกับขบวนการค้ายาเสพติดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาหรือไม่ จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดังกล่าว" รังสิมันต์กล่าว

 

ส่วนกรณีอัยการสูงสุด เปิดเผยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งทางคดี ส.ว.อุปกิต ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นวันนี้ ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากอุปกิตยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม รังสิมันต์กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นตลกร้าย สิ่งที่ตนกังวลมาตลอดเกิดขึ้นจริงแล้ว ที่อัยการระบุว่าจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุปกิตกว่า 80 แห่งนั้น ตนเห็นว่า 2 เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมัดรวมกัน หากจะมัดรวม ควรมัดรวมกับคดีทุนมินลัตซึ่งวันนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว ถ้าอัยการฯ ทำหน้าที่แบบนี้สังคมจะตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส อาจตราหน้าว่ากำลังช่วยเหลือคนที่เกี่ยวข้องคดีค้ายาหรือไม่ ตนไม่อยากให้เรื่องนี้ซ้ำรอยคดีบอส อยู่วิทยา จึงขอให้อัยการทบทวนให้ดี เพราะถึงที่สุดกังวลว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นำอาจไปสู่การล้มคดีหรือไม่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ทุนมินลัต #รังสิมันต์โรม