ชัยธวัช ตุลาธน : เลขาธิการพรรคก้าวไกล เสนอนโนบายและแนวทางปฏิบัติ
ต่อ 8 ข้อเรียกร้องของคปช.53
สวัสดีครับ ญาติวีรชน พี่น้องคนเสื้อแดง
นักต่อสู้ผู้รักประชาธิปไตยทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า
และเพื่อนนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทุกท่าน ผมมีโอกาสนั่งอยู่เกือบ 20 นาที่
ก็พยายามนึกถึงว่าเมื่อ 13 ปีที่แล้ว บรรยากาศที่นี่เป็นยังไง
ก็นึกออกว่าวันนั้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เราเริ่มมีการปะทะกันตั้งแต่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ
แล้วก็ไล่มากระทรวงเกษตร แล้วมาบรรจบกันช่วงเย็นที่ถนนดินสอ แล้วก็ถนนตะนาว เหตุการณ์ที่เราไม่คิดฝันว่าจะเกิดขึ้นในการปราบปรามพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรงก็เริ่มขึ้นในช่วงหลัง
6 โมงเย็น ผมพูดอย่างนี้เพื่อย้ำกันอีกทีสำหรับหลาย ๆ
คนที่อาจจะไม่ได้ตามเหตุการณ์นะครับว่าพวกเราถูกโจมตีมาตลอดว่า ศอฉ.-รัฐบาล-กองทัพ
จำเป็นต้องใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมพวกเรา เพราะพวกเรามีการใช้อาวุธและใช้ความรุนแรงก่อน
ผมในฐานะร่วมในเหตุการณ์ด้วย ผมยืนยันว่าพี่น้องเราชุมนุมโดนสงบจริง
ๆ การใช้อาวุธเกิดขึ้นในช่วงหลัง 6 โมงเย็นเมื่อพลบค่ำแล้ว
และผู้ชุมนุมไม่มีการใช้ความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น ความรุนแรงเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่ทหารและผู้เสียชีวิตทั้งหมด
รวมทั้งผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นด้วย 1 ท่าน เกิดขึ้นก่อนที่มีการปรากฏตัวของชายชุดดำทั้งหมด
ส่วนใครจะไปกล่าวหาว่าชายชุดดำใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง รัฐบาลในขณะนั้น
ศอฉ.ในขณะนั้นดำเนินการได้เต็มที่ แต่ทำไมไม่ทำ! ผมดูแล้ว
คนที่มาปรากฏตัวนะครับ มืออาชีพมาก ไม่ใช่สีแดงแน่ ไม่รู้สีไหน
ถ้าท่านจริงจังท่านจับได้แน่นอน แต่ไม่ทำ!
ในช่วงพลบค่ำวันนั้นยังจำได้
พี่อ๋อย จาตุรนต์ อยู่บนเวที ผมกับธนาธรอยู่ตรงนี้ แล้วคุณธนาธรก็ถูกกระสุนยางขึ้นรถพยาบาลไปก่อนผม
ผมก็อยู่ตรงสี่แยก โชคดีที่คว้าโล่ของปราบจลาจลได้ แย่งมาได้ แต่ไปไหนไม่ได้
ฟุบอยู่ตรงนั้นเพราะว่าหมดแรง ห่ากระสุนยาง ตอนนั้นเริ่มจากกระสุนยางมันแรงมาก พี่น้องเราก็คว้าอะไรได้ก็ขว้างกลับ
คนข้าง ๆ ผมเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวกำลังจะขว้างถังแก๊สกลับ ผมก็ตกใจมาก
ก็ช่วยกันห้าม แต่หลังจากนั้นไม่นาน กระสุนยางก็เปลี่ยนเป็นกระสุนจริง คืนนั้นก็เป็นคืนแรกที่พื้นที่การชุมนุมของพวกเรากลายเป็นทุ่งสังหาร
และเหตุการณ์วันนั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของการต่อสู้ของการเมือง
จากเดิมที่พวกเรามารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องง่าย ๆ
ว่าเราต้องการการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสิน เพราะเราไม่ยอมรับรัฐบาลที่ตั้งขึ้นจากค่ายทหาร
นอกจากข้อเรียกร้องนี้แล้วเราก็บอกกันว่าเราจะไม่กลับบ้านจนกว่าความยุติธรรมของพี่น้องเราที่ตายเมื่อคืนวันที่
10เมษา ได้รับการทวงคืน การต่อสู้ก็ดำเนินไปเรื่อยจนถึงวันที่ 19 พฤษภา
พวกเราหลายคนที่คิดว่าจะกลับบ้าน ไป ๆ มา ๆ ก็อยู่ด้วยกันทุกคืนจนถึงคืนสุดท้าย
ผมกับคุณธนาธรก็อยู่ ต้องเรียกว่าโชคดีที่เรารอดชีวิต ออกจากที่ชุมนุมได้ในวันที่
19 พฤษภาคม
เรากลับไปคิดว่าในฐานะผู้รอดชีวิต
เราจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อพี่น้องที่เสียชีวิต บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก อย่างไรได้บ้าง
สิ่งที่คิดได้อันแรกเลยคือ ต้องทวงคืนความยุติธรรม
นั่นทำให้เราเริ่มต้นจากการพยายาม ผลักดัน ประสานงาน ให้เกิดการรวบรวม
การเก็บข้อมูลหลักฐาน พยานทั้งหมด เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับพี่น้องของเราที่ล้มตายและบาดเจ็บให้ได้
โชคดีที่มีน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่เป็นนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ทนายความ คนเสื้อแดง
รวมถึงนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน นำโดย อ.พวงทอง ที่มารับบทบาทนำตรงนี้ในนาม
ศูนย์ข้อมูลประชาชน หรือศปช. สุดท้ายรวบรวมหลักฐานได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อเป็นพื้นฐานให้เราเอาตรงนี้ไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
แต่เป็นที่น่าเสียใจที่หลายท่านพูดมาแล้ว
13 ปีผ่านไป กระบวนการยุติธรรมที่มันชัดเจนมาก เรามีพยาน เรามีคลิป
เรามีข้อมูลทั้งหมดว่าใครคนไหน ตายกี่โมง ตายที่ไหน ตายเพราะอะไร
มีอาวุธอยู่ในมือหรือไม่ มีพยาน ใครเห็น เกิดอะไรขึ้น ใช้เวลา 2 ปี
นั่งดูภาพคนตายกัน 2 ปี พวกเราช่วยกัน
เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เรามั่นใจที่สุดว่าเราไม่เคยมีพยานหลักฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดได้เท่านี้อีกแล้ว
แต่กระบวนการยุติธรรมมันไม่เดินไปอย่างนั้นครับ
หลังการรัฐประหารทุกอย่างถูกหยุดนิ่งหมด แต่ผมอยากจะพูดว่า วันนี้มันยังไม่ปิดลง
กระบวนการยังไม่ปิดลง เราสามารถรื้อฟื้นดำเนินการต่อไปได้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
ในประเทศ
แน่นอนถ้ารัฐบาลหน้าเป็นรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ความสำคัญผมอยากจะย้ำ เรื่องนี้ไม่ใช่สำคัญเฉพาะเหตุการณืปี
53 เท่านั้น 52 ด้วยครับ 52 ก็เป็นเหตุการณ์ที่เดิม เราถูกสลายการชุมนุมโดยเฉพาะแยกดินแดง
ตอนนั้นเรามีพยานในเหตุการณ์บอกว่าเราถูกยิง สื่อมวลชนไม่เชื่อเรา
แต่ตอนหลังเรามีพยานบุคคล เพราะเขาถูกยิงและบาดเจ็บจริง ๆ แล้วก็ปี 53
ความสำคัญคือต้องการคืนความยุติธรรมมันไม่ใช่สำหรับคนที่บาดเจ็บล้มตาย ณ
วันนั้นเท่านั้น
แต่มันเป็นความสำคัญเป็นหลักประกันสำหรับพี่น้องประชาชนทุกคนในปัจจุบันและในอนาคตว่า
ถ้าเมื่อไหร่เราลากคอฆาตกรที่ใช้อำนาจรัฐ ใช้อาวุธจากภาษีของเรา มาเข่นฆ่าเรา
มันผู้นั้นต้องรับโทษและต้องไม่ลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป ถ้าเราไม่สามารถทำเป็นตัวอย่างได้
มันก็จะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอนาคต นี่คือความสำคัญ
แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้น
ทุกคนลอยนวลหมด คุณสุเทพ คุณอภิสิทธิ์ นายกฯ รองนายกฯ ในขณะนั้น
เมื่อกี้หลายท่านเล่าไปแล้ว ยังสบายดี ไม่ใช่เพราะบริสุทธิ์นะครับ
ผมย้ำอีกทีสรุปง่าย ๆ ตอนแรกฟ้องศาลยุติธรรมเขาบอกว่าฟ้องผิดศาล ศาลไม่รับฟ้อง
ให้ไปฟ้องศาลอาญานักการเมือง พอไปฟ้องศาลอาญานักการเมืองต้องให้ป.ป.ช.เป็นคนฟ้อง
ไม่ใช่ DSI แต่ป.ป.ช.ยุคนั้นบอกว่าเขาไม่ผิดเพราะเขาทำตามอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วทำได้ แต่ผมคิดว่าถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป
เรามีการดำเนินคดีอื่น ๆ สำเร็จ อันนี้มันจะเป็นฐานให้กลับไปดำเนินคดีนายกฯ
และรองนายกฯ ในขณะนั้นได้
มีใครอีกที่ต้องพูดถึงแล้วยังสบายดี
พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ วันนั้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เป็นรองผอ.ศอฉ.
วันนี้บอกว่าจะมาปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง เอามั้ยครับ?
เราอยากได้นักปรองดองจอมปลอมแบบนี้มาร่วมรัฐบาลมั้ย? ยังสบายดี พล.อ.อนุพงษ์
ผบ.ทบ. ขณะนั้น และเป็นผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังสบายดี เงียบ ๆ
อย่างสบาย ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะนั้นก็เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติการสำคัญในการสลายการชุมนุม
เป็นกรรมการศอฉ. ก็มีบทบาทสำคัญมาก ๆ ก็ยังสบายดี แต่หลังเลือกตั้ง ผมคิดว่าไม่สบายแล้ว
ไม่มีอำนาจการเมือง ผมมั่นใจว่าไม่มีอำนาจการเมืองค้ำหัวอีกต่อไปแล้ว
แต่กระบวนการยุติธรรมต้องเดินหน้าต่อเพื่อเอาผิดให้ได้ อีกคน พล.อ.ดาว์พงษ์
คนนี้ต้องพูด เป็นผอ.กอ.รมน. เป็นกรรมการศอฉ.
และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสลายการชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม 53 แล้วสลายพวกเราเสร็จ
ออกมาแถลงออกโทรทัศน์ทั่วประเทศอย่างภาคภูมิใจว่าประสบความสำเร็จมาก
เพราะตอนแรกคิดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 500 คน วันนี้สลายการชุมนุมมีผู้เสียชีวิต ไม่ถึง
100 คน ถือว่าประสบความสำเร็จ คนนี้ก็ยังสบายดี วันนี้เป็นองคมนตรี
เรื่องคดีความ
เพื่อไม่ให้มันสับสน ผมคิดว่าแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกที่เราพยายามจะเอาผิดกับผู้รับผิดชอบสูงสุดก็คือนายกรัฐมนตรี
แล้วก็รองนายกฯ ผมก็ยังยินยันว่าที่ผ่านมาพ้นผิดเป็นเพียงเรื่องเทคนิค ผิดศาลบ้าง หรือบอกว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้อำนาจไม่ผิด
แต่ยังมีช่องทางอื่น ๆ อีก ในอนาคตจัดการได้
ส่วนที่สองที่เป็นพื้นฐานสำคัญมากก็คือเอาผิดกับฝ่ายปฏิบัติการ
ก็คือนายทหารตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาลงมาจนถึงฝ่ายปฏิบัติที่กดปืนยิงพี่น้องเรา
อันนี้ยังไม่จบนะครับ ยังไม่มีคดีไหนขึ้นสู่ชั้นศาลเลยจนถึงวันนี้
ที่ผ่านมาถูกฟรีซไว้อย่างเดียว ไปคืบหน้าที่สุดก็คือไต่สวนการตายเสร็จแล้ว 33 ศพ
เหลืออีก 62 ศพ ยังไม่ไต่สวน 33 ศพ ไต่สวนไปแล้ว 11 ศพ ศาลบอกว่าทหารยิงเสียชีวิต
16 ศพ บอกว่ากระสุนมาจากฝั่งทหารแต่ไม่รู้ใครยิงเสียชีวิต อีก 6 ศพ
บอกว่ากระสุนไม่รู้มาจากไหนเลย ไม่รู้ว่าใครทำเสียชีวิต ดังนั้น 33 ศพนี้
อย่างน้อย 11+16 เดินหน้าได้ทันที อีก 62 ศพ ยังไม่เริ่มนับหนึ่งเลย
ไต่สวนการตายใหม่ได้ หลักฐานมีพร้อมหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า DSI
กับอัยการ จะ Active แล้วส่งขึ้นศาลหรือไม่
วันนี้มันคาอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดกัน แล้วผมเชื่อว่า DSI กับอัยการ มันขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ารัฐบาลฝ่ายไหนมันมีอำนาจ
ถ้ารัฐบาลฝ่ายเผด็จการมันก็หยุดนิ่ง ๆ
ถ้ารัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเขาก็เดินหน้า แต่เดินหน้าบ้าง
เต็มที่บ้าง ไม่เต็มที่บ้างก็ว่ากันไป แต่ถ้ารัฐบาลหน้าเต็มที่ มันเดินต่อไป
ผมยกตัวอย่างอธิบดี
DSI ธาริต เพ็งดิษฐ์ รัฐบาลที่ยิงเรา มันก็แช่แข็งไม่ทำอะไร ตอนนั้นก็เป็นกรรมการศอฉ.ด้วย
เป็นอธิบดี DSI ด้วย พอมาเปลี่ยนรัฐบาลมันก็เปลี่ยนสี
มันก็ทำบ้างไม่ให้เสียหน้า แต่ทำไม่สุด
วันนี้ลูกชายคุณธาริตลงบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยใช่มั้ยครับ ก็หวังว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล
ลูกคุณธาริตต้องชดใช้ความผิดที่พ่อเคยทำไว้ ชำระความยุติธรรมให้กับพวกเรา ทำได้ ผมยืนยัน
แล้วถ้ากระบวนการยุติธรรมในประเทศเดินหน้าไม่ได้ ICC เป็นคำตอบที่ต้องชัดเจน
เบื้องต้นก่อนที่เราจะไปลงสัตยาบันเพื่อป้องกันพี่น้องประชาชนไม่ให้ถูกรัฐ
ถูกทหารยิงตายฟรี ๆ ได้ อันนั้นเป็นเรื่องอนาคตซึ่งต้องทำ แต่ก่อนจะลงสัตยาบันสิ่งที่ทำได้เลยคือรัฐบาลหน้าสามารถลงนามอนุญาตให้รับรองอำนาจศาล
ICC เฉพาะกรณีปี 53 ได้ ทำได้ทันที อันนี้ผมมั่นใจว่าผมฟังจาก อ.ธิดา
ฟังจากหมอเหวงว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 55 อัยการของ ICC มาบอกรัฐบาลเอง
มาบอกรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นว่าทำได้ แต่ยังไม่ตัดสินใจทำ ถ้ารัฐบาลหน้าชัดเจนมุ่งมั่น
ก็ทำซิครับ อันนี้ทำได้ แล้วถ้าคดีในประเทศมันเดินหน้า
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องไปทำก่อนควบคู่กันไป
ก็คือแก้กฎหมายเกี่ยวกับศาลทหาร
เพราะประเด็นสำคัญคือทุกวันนี้ถ้าทหารทำผิดเขาขึ้นศาลทหาร ไม่ได้ขึ้นศาลเดียวกับเรา
อัยการก็เป็นทหาร ผู้พิพากษาก็เป็นทหาร แล้วเขาก็จะช่วยใครครับ
ผมพูดเรื่องนี้ไม่ได้พูดเล่น ๆ เพราะเรามีแล้ว มี 2 เคส 2 ศพ คือคุณพัน คำกอง ถูกยิงตายที่ราชปรารภวันที่
15 พฤษภาคม 53 น้องกมลเกด อัคฮาด พยายาลที่ไปช่วยพวกเราในวัดปทุมฯ วันที่ 19
ถูกยิงตาย ทั้ง 2 กรณีนี้ บนชั้นศาลไต่สวนการตายชัดเจนแล้วนะครับว่า
ทหารเป็นคนยิงให้เสียชีวิต
แต่พอไปฟ้องคดีหนึ่งศาลยุติธรรมบอกไม่รับเพราะว่าต้องไปฟ้องศาลทหาร พอน้องกมลเกด
ญาติเขาไปฟ้องศาลทหาร อัยการศาลทหารบอกว่าไม่สั่งฟ้องเพราะหลักฐานไม่พอ ดังนั้น
อันนี้ก็ต้องแก้ ต่อไปทหารทำผิดคดีอาญาก็ต้องขึ้นศาลยุติธรรมเหมือนประชาชนทั่วไป
ฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด หรือไปเป็นแฮกเกอร์เหมือนปัจจุบันนี้ มันต้องขึ้นศาลยุติธรรม
อันนี้ต้องทำ
เรื่องรัฐธรรมนูญใหม่
อันนี้ชัดเจนนะครับ ถ้าได้เป็นรัฐบาลหน้า ภายใน 100 วัน เราสามารถลงประชามติถามประชาชนไปเลยนะครับว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
โดยตั้งสสร.ขึ้นมาจากการเลือกตั้ง ทำได้และผมเชื่อว่าผ่าน แต่สำคัญ ผมย้ำนะครับ ต้องถามว่าทำได้ทั้งฉบับ
อย่าบอกว่าทำใหม่มั้ยยกเว้นหมวด....หมวด.... เรื่องนี้เป็นหลักการสำคัญ
ไม่ใช่เพราะว่าพรรคก้าวไกลอยากจะไปแก้หมวดนั้น อยากไปแก้หมวดนี้
เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการสำคัญนะครับที่ต้องยืนยันว่าเราอย่ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด
เพราะถ้าเราถามแบบนั้น เราจะเป็นครั้งแรกที่เราวางบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ว่าประชาชนไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้
ทำได้เฉพาะบางหมวดเท่านั้น บางหมวดทำไม่ได้ ต้องรัฐประหาร
ฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นถึงจะทำได้เท่านั้น นี่จะเป็นการวางบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ที่ผิดมาก
ๆ ดังนั้นต้องถามให้ถูกว่าทำใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด (ทุกมาตราไม่ได้
เพราะแก้อะไรที่ไปเปลี่ยนระบอบการปกครองและรูปแบบรัฐไม่ได้)
ยังไม่แค่นั้นนะครับ
ต้องไปสู้กันในสภาอีก เพราะผมเชื่อเหมือนที่คุณเดียร์พูดว่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
พอประชามติเสร็จ เราก็ได้ฉันทามติจากประชาชนมาแล้ว ประชาชนบอกว่าแก้ได้
แล้วเราก็ใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรไปแก้ 1 มาตรา บอกว่าทำสสร.ได้
ผมก็จะเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็จะถูกมีใครไม่รู้ไปร้องอีกว่าแบบนี้มันขัดรัฐธรรมนูญ
ทำไม่ได้ แล้วในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผมพูดอย่างนี้นะครับเพื่อให้ชัดเจน
ในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ แน่นอนมีอุปสรรค ศาลรัฐธรรมนูญมาขวาง
แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยนะครับว่าทำไม่ได้
แต่มีคำแนะนำเช่นนั้นว่าให้ไปแก้รายมาตราเถอะ อย่าไปแก้ทั้งฉบับเลย
ไม่ได้สั่งนะครับว่าทำไม่ได้ เพียงแต่ผู้แทนราษฎร ณ
วันนั้นไม่กล้ายืนยันอำนาจของประชาชน ว่าเราในฐานะสภาผู้แทนราษฎรเรามีอำนาจเต็ม
ทำได้!
ดังนั้น
Step ต่อไปประชามติเสร็จ ผู้แทนราษฎรของเราไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่ายังไง
เราต้องพิงหลังประชาชน แล้วบอกว่าทำได้!!!
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ มันจะต้องจับปืนมาฉีกหรือไงประเทศนี้ ถูกมั้ยครับ
อันนี้ต้องทำต่อ แล้วเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อป้องกันการทำรัฐประหาร
มีหลายเรื่องที่ต้องทำ นอกจากจะต้องไปแก้กฎหมายอาญา 113 อย่างที่ อ.สมชัย ว่าแล้ว
ไม่ใช่แค่ไปเขียนสวยหรูแปะ ๆ ไว้ว่าห้ามทำรัฐประหารอีกในอนาคต โน่น นี่ นั่น
สิ่งสำคัญต้องเริ่มอย่างนี้ครับเป็นรูปธรรมเลย ต้องยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช.ให้เป็นตัวอย่าง
ในการรัฐประหารปี
57 มีนวัตกรรมใหม่ของคณะรัฐประหาร คือเมื่อก่อนเขาจะออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม
ขยับขึ้นมากฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไปนิรโทษกรรมให้ ปี 57 หนักเลย
ไปนิรโทษกรรมต่อเนื่องเลย รัฐธรรมนูญชั่วคราว แล้วก็รัฐธรรมนูญถาวรปัจจุบันด้วย บอกว่าการกระทำของคสช.ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งหมด
ดังนั้น รัฐธรรมนูญหน้าต้องติดไปอีกติ่งหนึ่งด้วยนะครับว่า ออกบทเฉพาะกาล
ยกเลิกการนิรโทษกรรมของคสช.
เพื่อให้ไม่อนุญาตให้ศาลหรือรัฐธรรมนูญไปรับรองว่าการกระทำของคณะรัฐประหารตั้งแต่วันยึดอำนาจและหลังจากนั้นชอบโดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนในอนาคตเอาผิดย้อนหลังกับคณะรัฐประหารได้
มันต้องทำเป็นตัวอย่างเพื่อนับหนึ่ง
ต่อนะครับแบบเร็ว
ๆ ข้อ 5 ต้องแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ กอ.รมน. กฎหมาย 112, 116 อันนี้ชัดเจนนะครับ
ผมคิดว่าเราประกาศไปหลายครั้งแล้วว่านโยบายของเราคือยกเลิก กอ.รมน.
ความสำคัญของกอ.รมน.อย่างนี้ครับ
ตอนนี้เนื่องจากว่าที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพแบบจริง ๆ เลย
แต่ปล่อยให้มันค่อยซึมลึกโตขึ้นอย่างเงียบ ๆ อันหนึ่งก็คือ กอ.รมน.
ซึ่งโตอย่างเต็มที่หลังรัฐประหาร 49
ออกกฎหมายมาทำให้กอ.รมน.เป็นโครงสร้างบริหารประเทศอีกชั้นหนึ่งมาครอบพลเรือนทั้งหมดทั่วประเทศ
กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐที่เขาว่า แล้วมายุ่งแทรกแซงกิจการภายในทั้งหมด ดังนั้น กอ.รมน.
ต้องยกเลิก เพราะมันเป็นกลไกกองทัพที่มาซ้อนทับกับพลเรือน
แล้ววิธีคิดของกอ.รมน.มันโตมาจากการปราบปรามคอมมิวนิสต์ มันมีหน้าที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู
ไม่เห็นประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ วิธีคิดแบบนี้เวลาต้องแก้ไขปัญหาความมั่นคงมันก็บอกว่าความมั่นคงเกิดขึ้นเพราะมีประชาชนบางคนเป็นภัยต่อความมั่นคง
ถูกมั้ย? ดังนั้น ยกเลิกกอ.รมน.ซะ แล้วให้การจัดการความมั่นคงภายในเป็นของพลเรือน
กฎหมาย
112, 116 ผมไม่ต้องพูดแล้ว เยอะมาก หลายโอกาสแล้ว แต่ต้องมีอย่างอื่นอีกเต็มไปหมด
กฎหมายความมั่นคงต่าง ๆ ที่จะต้องจำกัดความให้ชัดเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน
มีเต็มไปหมด พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก ต้องทำ! กฎอัยการศึกถ้าไม่แก้
เดี๋ยวต่อไปจะมีผบ.ทบ.บอกว่าแอ่นแอ๊น วันนี้มีสถานการณ์ความขัดแย้ง
ประกาศกฎอัยการศึกในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ เราต้องแก้กฎหมายกฎอัยการศึก
ไม่อนุญาตให้กองทัพประกาศกฎอัยการศึกได้เองตามอำเภอใจ
การประกาศกฎอัยการศึกต้องประกาศโดยรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น
และจะประกาศได้เฉพาะในยามสงครามจริง ๆ (สงครามกับภายนอก ไม่ใช่สงครามกับประชาชน)
ไปเฝ้าชายแดน แล้วประกาศกฎอัยการศึกเวลามีศัตรูมาบุก ประชาชนข้างในไม่ใช่ศัตรู
แต่เป็นเจ้าของประเทศ
ปฏิรูปกองทัพ
ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เคยพูดหลายโอกาสแล้ว ผมขอสรุปง่าย ๆ หลักการสำคัญในการ “ปฏิรูปกองทัพ”
มีแค่ 3 เรื่อง
1.
ทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
2.
ทำให้กองทัพ “จิ๋ว” แต่ “แจ๋ว” คือทำให้กองทัพเล็กลง มีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ
ทันสมัย แล้วเอางบประมาณ งบนายพล แล้วไปเพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย
3.
ทำให้กองทัพมีภารกิจเฉพาะความมั่นคงระหว่างประเทศเท่านั้น กิจการในประเทศไม่ต้องเสือก! เป็นเรื่องของพลเรือน
แล้วที่ไปทำสนามกอล์ฟ ทำโรงแรม ทำบ่อน ทำสนามม้า สนามมวย เอาคืนมาให้หมด ทีวีด้วย
“กระจายอำนาจ”
เราเสนอว่าให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดพร้อมกันไปเลย เอางบประมาณ
เอาทรัพยากรบุคคล เอาอำนาจไปอยู่กับท้องถิ่น ให้ประชาชนตัดสินใจว่าอนาคตของตัวเองจะเอายังไง
แต่ละจังหวัดจะได้มียุทธศาสตร์ของตัวเอง ไม่ใช่มีแต่เบี้ยหัวแตก คนไม่มีอำนาจ
ทำอะไรไม่ได้ PM2.5 เกิดขึ้นบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจ แล้วจะมีผู้ว่าฯ
ไปทำไมครับ ก็ยกเลิกไปเลย แล้วให้มีแต่ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง เป็นตัวอย่าง
สุดท้าย
“วุฒิสภา” จะเสนอให้มาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่ก้าวไกลทดลองให้คิดนะครับว่ายกเลิกไปเลยดีมั้ย?
เพราะวุฒิสภาเมืองไทย เราเคยมีมาจากการเลือกตั้ง 1 ครั้งเท่านั้น
แล้วสุดท้ายก็มีปัญหาเพราะว่ามันก็มีที่มาที่ไปไม่ค่อยต่างจากส.ส.เท่าไหร่หรอก
ก็มาเลือกตั้งเหมือนกัน เราถูกสอนใช่มั้ยครับว่า ต้องมีส.ว.เพราะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
จะได้มาช่วยกลั่นกรองจากส.ส. เหมือนกับส.ส.มันเป็นผู้ไม่มีคุณวุฒิ
ผมถามว่าส.ส.กับส.ว.มันบอกได้หรือครับว่าใครมีคุณวุฒิกว่ากัน
บางคนยังไม่รู้เลยว่าตกลงค้ายาหรือเปล่า? ยังไม่รู้ตัวเองเลย
ขายไฟหรือค้ายายังไม่รู้เลย นี่หรือครับมีคุณวุฒิ ดังนั้นผมจะบอกว่าเรื่องนี้สำคัญ
ไม่ใช่เรื่องมีคุณวุฒิ ไม่มีคุณวุฒิ มันเป็นโครงสร้างที่ไม่จำเป็น
และส.ว.เมืองไทยมันเป็นผลผลิตของรัฐประหาร ก็คือรัฐประหารปี 2490
ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกที่ฉีกรัฐธรรมนูญในประเทศไทย แล้วเขาก็ดีไซน์ส.ว.มา
ไม่เหมือนอังกฤษนะครับเพราะอังกฤษเขามีเป็นประวัติศาสตร์ มีสภาขุนนาง
ต่อไปมีการเลือกตั้ง เขาก็ให้เกียรติ ไม่ได้ยกเลิกมันไปซะ
ของเราไม่เคยมีมาก่อนนะครับสภาขุนนาง อเมริกาเขามีเพราะเขาเป็นระบบแบบนั้น
เขามีตัวแทนมลรัฐเข้ามาด้วย ไม่ใช่มีสภาล่างอย่างเดียว
เพื่อให้รัฐเล็กรัฐใหญ่มันมีความเท่าเทียมกัน ของเราไม่มี พื้นฐานอย่างเดียวก็คือรัฐประหารปี
2490 เสร็จ ไม่อยากให้อำนาจจากการเลือกตั้งคือส.ส.มันอยู่เหนือสถาบันทางการเมืองอื่น
ไม่อยากจะให้มีอนาจสูงสุด ไม่อยากจะให้อำนาจจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจสูงสุด
มันก็เลยไปตั้งส.ว.ขึ้นมา เพื่อมาคุมส.ส.อีกที มั้นแค่นั้นแหละครับ และออกแบบมาจากการแต่งตั้งตลอด
บางสมัยบอกเลยมาจากพระราชทานด้วยซ้ำ ดังนั้น ประวัติศาสตร์มันเป็นอย่างนี้
ถ้าเรายืนยันว่าเราเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องมีใครมาเป็นพี่เลี้ยง ฉลาดแล้ว
ประชาชนฉลาด ส.ส.มันก็มีคุณภาพ เผลอ ๆ มากกว่าส.ว.อีก ไปดูประชุมส.ว.ซิครับ
ดังนั้น ยกเลิกไปเลย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #ก้าวไกล #13ปีเมษาพฤษภา53 #คนเสื้อแดง