วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2566

“ปิยบุตร” ชี้สังคมไทยต้องกล้าฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า อย่ากักขังประเทศอยู่ในความทรงจำ 2520 และ 2540

 


ปิยบุตร” ชี้สังคมไทยต้องกล้าฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า อย่ากักขังประเทศอยู่ในความทรงจำ 2520 และ 2540

 

วันที่ 22 เมษายน 2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ร่วมปราศรัย “ทัพใหญ่ก้าวไกล ปราศรัยโค้งสุดท้าย” ที่สามย่านมิตรทาวน์ เชิญชวนประชาชนร่วมเลือกพรรคก้าวไกลเพื่อเดินหน้าสู่อนาคต

 

ปิยบุตร ระบุว่าที่ผ่านมาการต่อสู้ในทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม มักมีความโหยหาถึงเหตุการณ์การต่อสู้ในอดีต หรือเหตุการณ์ในต่างประเทศ แต่การคิดถึงอดีตเหล่านี้กลายเป็นการไปล้อมกรอบอนาคต ปิดกั้นจินตนาการใหม่ๆ ซึ่งการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ ก็มีความพยายามนำพาสังคมไทยกลับไปหาอดีตเช่นกัน โดยฝ่ายหนึ่งจะพาสังคมไทยกลับไปยังยุค 2520 ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็พาเรากลับไปยังยุค 2540

 

ทศวรรษ 2520 เป็นช่วงที่การเมืองไทยอยู่ในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” มีรัฐธรรมนูญ 2521 ที่อนุญาตให้มีการเลือกตั้งแต่ต้องให้ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี และให้กองทัพกับระบบราชการคุมรัฐบาล พรรคการเมืองรวบรวมคนส่งลงสมัคร ส.ส. ชนะเลือกตั้งด้วยอิทธิพลในพื้นที่และเงิน แล้วแต่ละพรรคก็มารวมกันเป็นรัฐบาลผสม สนับสนุนให้นายพลเป็นนายกรัฐมนตรี มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ให้การสนับสนุน แต่ละพรรคต่อรองกดดันจนรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ดำเนินนโยบายโดยระบบราชการและเทคโนแครต เศรษฐกิจมุ่งไปที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มทุนธนาคาร ปล่อยให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ผูกขาดและขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ นักการเมืองกับระบบราชการร่วมมือกันทุจริตคอรัปชั่น เพื่อหาเงินทุนไปทำการเมืองต่อ

 

ส่วนทศวรรษ 2540 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มุ่งให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีระบบตรวจสอบรัฐบาลและประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคไทยรักไทยถือกำเนิดขึ้นมารวบรวม ส.ส. จากพรรคอื่นๆ ขายนโยบายที่ทันสมัย ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในปี 2544 เมื่อเป็นรัฐบาลก็สามารถส่งมอบนโยบายที่ดีให้กับประชาชนได้ ต่อมา พรรคไทยรักไทยก็ได้ควบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามา บวกกับมีผลงานที่ดี ทำให้การเลือกตั้งในปี 2548 อย่างถล่มทลายมากกว่าเดิม ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะต้องไม่นำพาประเทศกลับไปอดีต ทั้งแบบ 2520 ที่นโยบายเศรษฐกิจนำไปสู่การส่งส่วยให้กลุ่มทุนใหญ่ ปล่อยให้ขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ มีพรรคจำนวนมากๆ แบบไม่มีอุดมการณ์ ตั้งพรรคมาเพื่อรวบรวม ส.ส. ให้ได้มากพอไปขอแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี นักการเมืองจากการเลือกตั้งพากันสวามิภักดิ์กับชนชั้นนำจารีตประเพณี ทุนผูกขาด และกองทัพ รวมตัวให้ชนชั้นนำจารีตประเพณีคุ้มกะลาหัว แลกกับการมีอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจอยู่บ้าง

และแบบ 2540 ที่นโยบายเศรษฐกิจคิดแต่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจ ขยายเค้กก้อนใหญ่ให้ทุนได้เติบโต แล้วค่อยแบ่งปันให้คนเล็กคนน้อยผ่านบางนโยบาย มีพรรคขนาดใหญ่พรรคเดียวครอบงำ เอา ส.ส. ทุกคนรวมเข้ามาโดยไม่คิดถึงอุดมการณ์ คิดแต่เพียงเพื่อเอาชนะเลือกตั้งให้เด็ดขาด เกิดวิกฤตการเมืองหรือรัฐประหารก็ย้ายข้างไปซบทหารแล้ววันหนึ่งก็กลับมาใหม่ นักการเมืองใช้เสียงข้างมากเจรจาต่อรองกับชนชั้นนำจารีตประเพณี แก้ไขแต่ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องโดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับชนชั้นนำจารีตประเพณี

 

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่านี่คือเวลาที่ประเทศไทยต้องมองไปสู่อนาคต นั่นคือการสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน ถ้วนหน้า ครบวงจร ยั่งยืน ให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม สนับสนุนทุนใหญ่ไปสู้ในตลาดโลก เปิดทางให้ทุนขนาดกลางและเล็กเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน มีพรรคการเมืองของมวลชนที่มีจุดยืนอุดมการณ์ชัดเจนตรงไปตรงมา คัดเลือกผู้สมัครจากอุดมการณ์ความคิด ไม่ใช่ใครมีโอกาสได้เป็น ส.ส. หรือมีทรัพยากรให้พรรค

 

มองไปสู่อนาคต ที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เปลี่ยนโครงสร้างทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปฏิรูปกองทัพ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร เอาคนเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษ ปฏิรูประบบราชการ กระจายอำนาจ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อจัดวางสัมพันธภาพทางอำนาจของทุกสถาบันกันใหม่ สร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าครบวงจร ปฏิรูปที่ดิน ปฏิวัติการศึกษา ฯลฯ

 

การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย มักเอาความทรงจำในอดีตมากักขังการมองอนาคต พรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง อยากมี ส.ส. มาก อยากเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ก็พิจารณาว่าใครมีโอกาสได้เป็น ส.ส. มีเงิน มีเครือข่ายอิทธิพล ก็ไปดึง ไปดูด เข้ามา เกจิอาจารย์กูรูการเมือง ประเมินว่าใครจะชนะเลือกตั้ง ก็ดูว่าพรรคใดมีคนเคยเป็น ส.ส.มากที่สุด พรรคใดเคยได้รับความนิยมมาก่อน จะเลือกใครก็ต้องเลือกแบบยุทธศาสตร์ เลือกคนที่มีโอกาสชนะมากที่สุด เพราะกลัวเลือกไปแล้วแพ้ คะแนนตกน้ำ เดี๋ยวไม่ ‘แลนด์สไลด์’ เดี๋ยวเปลี่ยนนายกฯ ไม่ได้ จะเลือกใคร ก็ต้องเลือกด้วยความกลัว ไม่เลือกด้วยความหวัง” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าคนเดิมๆ แนวทางเดิมๆ พยายามชวนให้ทุกคนคิดว่าแนวทางการทำพรรคแบบพรรคก้าวไกลเป็นไปไม่ได้ คิดว่านโยบาย 300 กว่านโยบายเป็นไปไม่ได้ แรงเกินไป สุดโต่งเกินไป ยังไม่ถึงเวลา ผู้มีอำนาจจะไม่ยอมให้เป็นรัฐบาลหรือถ้าเข้ามาได้ก็ต้องถูกโค่นล้ม ทั้งหมดนี้ คือกรอบคิดจากความทรงจำในอดีต

 

แต่นโยบายที่อาจเคยสำเร็จในอดีต ต้องไม่ใช่การนำอดีตมาขายปัจจุบัน เพื่อมาทำซ้ำทำใหม่อีกครั้ง แต่เราต้องอยู่กับปัจจุบัน แตกหักจากอดีตด้วยพลังของมวลชนอันไพศาล จึงจะพาเรากลับไปแก้ไขอดีต เอามาจัดการใหม่ คิดสิ่งใหม่ ฝันสู่สิ่งใหม่ในอนาคต

 

การเมืองคือความเป็นไปได้ การต่อสู้ทางการเมืองคือการสร้างจินตนาการใหม่ ถึงสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นประวัติศาสตร์ บทเรียน ประสบการณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ในอนาคตต้องทำแบบเดิมและเกิดผลแบบเดิม ภารกิจของนักการเมืองในช่วงวิกฤตคือเปิดจินตนาการใหม่ ก่อรูป ‘ความทรงจำแห่งอนาคต’ ให้มวลชนทั้งผองเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะไม่ย้อนกลับไปในอดีต เราจะไม่ทำซ้ำแบบอดีต เราจะไม่วาดอนาคตด้วยประสบการณ์ของอดีตอีก” ปิยบุตรกล่าว

 

ปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าตนขอเชิญชวนประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศทุกคน ต้องร่วมกันทลายกรอบความทรงจำของอดีตที่คอยกักขังอนาคต ร่วมมือกันสร้างอนาคตใหม่ที่จะไม่เหมือนปี 2520 และ 2540 แต่เป็นอนาคตใหม่ที่กล้าชนกับต้นตอของปัญหา กล้าเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมใหม่ ที่พวกเราร่วมกันกำหนดเอง ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ เปิดประตูจินตนาการใหม่ และความเป็นไปได้ใหม่ เลือกพรรคก้าวไกลให้ถล่มทลาย เพื่อประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #เลือกตั้ง66