‘โรม’ ชี้ กกต.
กำหนดพรรคการเมืองรับผิดชอบค่าเบี้ยเลี้ยงสังเกตการณ์เลือกตั้ง
เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ-เสี่ยงเกิดทุจริตเลือกตั้ง แนะทบทวน
อย่าให้ประชาชนกังขาความโปร่งใสไปมากกว่านี้
วานนี้
(20 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รังสิมันต์ โรม
โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ตอบข้อสอบถามของพรรคประชาธิปัตย์
ว่าการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและนับคะแนน
ส.ส. แบบแบ่งเขต ค่าใช้จ่ายในการอบรมตัวแทนและค่าเบี้ยเลี้ยงในวันปฏิบัติงาน
เป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ของผู้สมัคร หรือของใคร ว่ากรณีนี้สำคัญมาก
เนื่องจากเกี่ยวพันกับการทุจริตการเลือกตั้งในเรื่องการจัดการหีบลงคะแนน
เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากเรื่องนี้
รังสิมันต์กล่าวว่า
โดยปกติพรรคการเมืองสามารถส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์
เพื่อให้มั่นใจว่าระหว่างการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ กกต. หรือใครก็ตาม
จะไม่มีการทุจริตเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งหรือการนับคะแนน
เกิดเหตุการณ์บัตรเขย่งเหมือนที่ผ่านมา
เรื่องนี้สำคัญมากต่อการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่การจะทำเช่นนี้ได้
ต้องมีการฝึกอบรม ผู้สังเกตการณ์ต้องเฝ้าระวังการทุจริตตั้งแต่เช้าถึงเย็น
ไม่ควรมีใครทำงานฟรี ต้องมีการให้ค่าตอบแทน ค่าอาหาร
กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก
ซึ่งจากการสอบถาม
ทาง กกต. ก็แจ้งว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมือง
และพรรคการเมืองมีโควตาการใช้เงินทั้งหมดเพียง 44 ล้านบาท
ซึ่งหากคิดค่าตอบแทนให้อาสาสมัคร 400 บาทต่อคนต่อวัน
และมีคูหากว่าแสนหน่วย คิดเป็นเงิน 40 ล้านบาท
นั่นเท่ากับพรรคการเมืองจะเหลือโควตาใช้เงินอีกเพียง 4 ล้านบาทในการทำแคมเปญและการรณรงค์
ซึ่งจำนวนนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
รังสิมันต์
ยังกล่าวอีกว่า การตีความเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดการทุจริต
และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส
เพราะพรรคการเมืองอาจไม่สามารถส่งตัวแทนได้ครบทุกหน่วย ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า
พรรคการเมือง ประชาชน จะไว้วางใจ กกต. ได้อย่างไร เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การทำงานของ
กกต. ได้ฝากบาดแผลไว้กับสังคมไม่น้อย และตนเห็นว่าการตีความครั้งนี้ของ กกต.
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงื่อนไขที่ กกต. กำหนดแบบนี้
ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างโปร่งใสได้
"คุณต้องตีความตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 55 คือพรรคการเมืองเป็นคนแจ้งชื่อว่าจะมีผู้ใดไปอยู่ตามหน่วยเลือกตั้ง
แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถอยู่ในค่าใช้จ่ายของผู้สมัครเขตได้
หรือหากยืนยันว่าควรเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง ก็ควรมีการขยายเพดานค่าใช้จ่าย
ให้พรรคสามารถมีค่าใช้จ่ายเพียงพอกับการรณรงค์หาเสียง
วิธีการเช่นนี้จะเป็นธรรมมากกว่า ขอฝากถึง กกต.
อย่าปล่อยให้ประชาชนกังขากับการทำงานและความโปร่งใสของ กกต. ไปมากกว่านี้เลย"
รังสิมันต์กล่าว