แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.109
ประเด็น
: ก้าวข้ามความขัดแย้ง
สวัสดีค่ะ
เราไม่ได้พบกันนาน เพราะว่าในช่วงเวลานี้เรื่องราวที่อึกทึกครึกโครมก็เป็นเรื่องราวของพรรคการเมือง
นักการเมือง และนอกจากนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาในวันที่ 10 เมษายน
เราก็ได้ร่วมกันจัดงานรำลึก 13 ปี เมษา-พฤษภา ก็ต้องถือว่าเป็นงานใหญ่ของพวกเราเหมือนกัน
เพราะนับตั้งแต่ที่เราไม่ได้มีการขับเคลื่อนในลักษณะร่วมกันแบบในอดีตที่เป็นองค์กรนปช.
เราก็เป็นคณะประชาชนทวงความยุติธรรมที่พยายามที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของคนเสื้อแดง ภารกิจของเราก็คือการทวงความยุติธรรม
และพร้อมกันนั้นก็คือทวงอำนาจประชาชน อันนี้เป็นภารกิจที่เราต้องสืบทอดต่อ
ไม่ว่าจะมีองค์กรนปช.หรือไม่มี ไม่ว่าแกนนำจะกลายสภาพไปอยู่กับองค์กรอีกฟากหนึ่งหรือพรรคการเมืองอีกฟากหนึ่งที่ไม่ใช่ฝ่ายประชาชนก็ตาม
แต่ว่าเราก็ต้องทำงานต่อไปนะคะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่ว่างานก็ประสบความสำเร็จพอสมควร
เมื่อมาถึงฤดูของการหาเสียง
มันก็เกิดคำพูดที่ว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ดิฉันจะพูดในวันนี้ว่า
เขาเป็นพรรคการเมืองที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ใช่พรรคเดียว
และบางพรรคอาจจะไม่ใช่เจ้าของวลีนี้ว่า ก้าวข้ามความขัดแย้ง
แต่ก็จะประมาณว่าไม่พูดเรื่องของความขัดแย้ง คืออยู่ฝั่งไหนก็ได้ ประมาณนั้น
คำถามก็คือแปลว่ายอมรับว่าความขัดแย้งมีอยู่จริง
ใช่หรือไม่ใช่? ถ้ายอมรับว่ามีความขัดแย้งอยู่จริง จะเข้าใจกับมันอย่างไร
แล้วการก้าวข้ามเป็นไปได้ไหม? ดิฉันพูดตรง ๆ ถึงพรรคพลังประชารัฐของคุณประวิตร เพราะว่าคุณประยุทธ์นั้นแกก็ยังยืนอยู่อย่างสง่าผ่าเผย
อย่างไม่รู้สึกว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดความเสียหายใด ๆ แกก็ยังยืนอยู่จนกระทั่งไปตั้งพรรคใหม่
ปักหลักเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม เรียกว่าเป็นหัวแถวของฝั่งนี้
ดิฉันก็ไม่ได้คิดว่าคำว่า
“ก้าวข้ามความขัดแย้ง” มันจะมีผลต่อคะแนนเสียงอะไรมาก
แต่ว่ามันก็เป็นวลีที่น่าสนใจว่า มีคนจำนวนหนึ่งและคนที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร กระทั่งร่วมรัฐบาลมาจำนวนหนึ่ง
ได้ออกมายอมรับดังที่เราเห็นจดหมายหลายฉบับว่า มีฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายจารีตนิยมหรืออนุรักษ์นิยม
เขาคงไม่เรียกตัวเขาเองว่าเผด็จการ
ในที่สุดทำรัฐประหารแล้วฝ่ายเสรีนิยมก็จะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งกลับมาอีก
ประมาณว่าในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ต่อฝ่ายเสรีนิยม
แต่ว่าเนื่องจากผู้ที่พูดมาจากอีกฝั่งหนึ่ง มาจากจารีตและอำนาจนิยม ดังนั้น
ก็คิดว่ามีคนดี ๆ อยู่จำนวนหนึ่ง และเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปก็ต้อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
ซึ่งเรื่องนี้
ความพยายามที่จะจับมือก้าวข้ามความขัดแย้ง ความพยายามที่จะหลอมรวมอะไรต่าง ๆ
เหล่านี้ มันมีคนคิดมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คือ พล.อ.ชวลิต
ก็มาจากฝั่งจารีต อำนาจนิยม เป็นนายพลที่ปราบปรามคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้น
แต่ความที่เรียกว่าเป็นคนเรียนรู้มาก ฟังมากสักหน่อย ก็หาวิธีปราบปรามโดยใช้การเมืองนำการทหาร
ซึ่งได้ผลอยู่ระดับหนึ่ง และก็คิดว่าจะมาใช้แก้ความขัดแย้งในประเทศซึ่งมันแก้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่พยายามจะทำ ซึ่งไล่มาตั้งแต่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แม้ท่านจะมีความปรารถนาดีเพียงไร
แต่ความพยายามที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งแล้วก็คิดว่าจะมีความปรองดองหรือเดินหน้าไปด้วยกัน
ดิฉันอยากจะพูดเอามาเลยว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
คือคุณก้าวข้ามศพที่เหยียบมาเป็นลำดับ คุณทำรัฐประหาร คุณสืบทอดอำนาจ มันเป็นวงจรอุบาทว์ที่มีมายาวนาน
แต่คำถามก็คือว่า ประชาชนที่ต่อสู้เขาก็สืบทอดมรดกของการต่อสู้เช่นกัน
คุณทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก ประชาชนก็ต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ตั้งแต่ยุคคณะราษฎรมาจนกระทั่งถึงบัดนี้
ถามว่าคุณจัดการหมดมั้ย?
อย่างในยุคแรกก็จัดการ อ.ปรีดี ตอนหลังก็มาจัดการ จอมพล ป.
หลังจากนั้นก็มาถึงยุคที่มาจัดการ จอมพลถนอม ชั่วคราว แล้วก็ไล่มาเรื่อย ๆ ดังนั้น
ขณะที่มีวงจรอุบาทว์ของการทำรัฐประหาร
ประชาชนก็สืบทอดเจตนารมณ์ของการต่อสู้และรับมรดก ดังนั้นตัวละครจะเปลี่ยน
มันไม่มีวันที่จะหายไปด้วยการทำรัฐประหาร หรือว่ามาบอกว่า โอเค ลืม ๆ เสียเถอะ
เพราะมีพรรคการเมืองบางพรรคก็บอกว่าให้ลืมเรื่องเก่าอย่าไปขุดคุ้ย
บางพรรคก็บอกว่าผมนี่แหละจะนำก้าวข้ามความขัดแย้ง
คุณจะก้าวข้ามความขัดแย้งโดยทำยังไง?
ต้องถามว่าพวกคุณคือใคร? คุณคือคณะที่อุ้มชู พูดตรง ๆ ก็ได้ อย่างพล.อ.ประวิตร “ผมไม่ได้เป็นคนทำรัฐประหาร”
เขาบอกอย่างนั้นนะ “โน่น ประยุทธ์เป็นคนทำรัฐประหาร”
แต่ว่าแล้วใครที่ตั้งพรรคการเมือง แล้วอุ้มชู แล้วเป็นรองนายกฯ นั่งเฉย ดังนั้น
มันไม่ใช่อยู่ที่บุคคลผู้ทำรัฐประหาร แต่มันหมายถึงกลุ่มคน ขบวนการ และเครือข่าย
ที่อุ้มชูการทำรัฐประหารทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย
ที่เราเคยพูดในสมัยโรงเรียนการเมืองของเราว่าเครือข่ายระบอบอำมาตย์ บางคนก็อาจจะใช้เป็น
Monarchy
network บางคนก็อาจจะเรียกเป็นเครือข่ายอะไรก็ได้
แต่ว่าเมื่อทำรัฐประหารสำเร็จมันก็มีเครือข่ายอุ้มชูรองรับ
อย่างน้อยที่สุดเห็นชัดมาเป็นรัฐบาลด้วยกัน
สำหรับดิฉัน
การเป็นฝ่ายรัฐบาล ร่วมรัฐบาลกับผู้ทำการรัฐประหาร คุณคือข้างเดียวกัน คุณเลือกข้างแล้ว
แล้วพอตอนนี้จะมาบอกว่า อ๋อ ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะว่ารู้อยู่แล้วว่าวงจรของการต่อสู้ของประชาชนมันก็กลับมา
พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือก แน่นอน เอาเข้าจริง ๆ อย่างเราดูผลตอนนี้เราก็จะเห็น
พรรคการเมืองที่จะเรียกว่าฝ่ายค้านเดิม แล้วก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตย
โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่คือเพื่อไทยและก้าวไกว รวมแล้วดิฉันดูแล้วก็จะไม่ต่ำกว่า 60% ของคะแนนความนิยม
ซึ่งดิฉันไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่เป็นนายกฯ นะ ยกตัวอย่างเช่น หมายถึง Popular
Vote ของบัญชีรายชื่อหรือว่าเขตก็ตาม ก็เรียกว่าเกินครึ่ง
ซึ่งขณะนี้ยังมีคนจำนวนหนึ่งอีก 20% ที่ยังไม่บอกว่าเลือกใคร
หรืออยู่ตรงไหน แต่ในทัศนะดิฉัน 20% นี้จะเลือกฝ่ายประชาธิปไตยไม่ต่ำกว่าครึ่ง
อาจจะเกินครึ่ง อาจจะทั้ง 20% เลยก็ได้ เอาว่าถ้า 10% มันก็บวก 60 มันก็คือ 70% แปลว่า 70% ของประชาชน นี่เป็นอย่างต่ำนะ 70% ของประชาชนเลือกฝ่ายเสรีนิยม
เลือกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายสืบทอดอำนาจการทำรัฐประหาร
แต่อย่างไรก็ตามดิฉันเป็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจมันมีความเป็นประโยชน์
มีคุณูปการต่อฝ่ายประชาชนทั้งหลาย ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็ตาม คุณจะเป็นสลิ่ม
คุณจะเป็นเสื้อเหลือง หรืออะไรก็ตามแล้วแต่ได้ทั้งนั้น ดิฉันอยากจะพูดให้เข้าใจว่า
ทุกคนยอมรับว่ามีความขัดแย้ง ความขัดแย้งมันสืบทอดต่อมา
เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนผู้ถูกปกครอง ขัดแย้งกับผู้ปกครองซึ่งแย่งอำนาจจากประชาชนไป
ด้านหนึ่งเขาก็เรียกว่าเก่าและใหม่ ใหม่คืออะไร? ใหม่ก็คือประชาชนมีอำนาจตามชื่อระบอบประชาธิปไตย
เก่าคืออะไร? เก่าก็คือประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็คือกลุ่มคนชนชั้นนำเดิมและคนประมาณ 1% มีอำนาจเหนือกว่าคน
99% ทั้งหมด และได้ผลประโยชน์จากการเป็นผู้ปกครอง
เพราะฉะนั้น
ความขัดแย้งนี้เมื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งจริง
แม้จะอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เลวร้าย เป็นรัฐธรรมนูญของกลุ่มจารีตอำนาจนิยมก็ตาม
แต่ว่าเสียงประชาชนก็จะออกมาบอกให้รู้ว่าเขาต้องการอำนาจในการที่จะตัดสินอนาคตของเขาเอง
คุณจะโจมตีกันว่าพรรคนี้เลว พรรคนั้นคอรัปชั่นหรืออะไรก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนัก ถ้าเราดูโพลคุณก็จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในหัวแถวของฝ่ายอำนาจนิยมเดิม
ฝ่ายจารีต แล้วเขาก็คิดว่าเขาคืออัศวินขี่ม้าขาว แทนที่จะเป็นคุณจุรินทร์ขี่ม้าขาว
(ในวีดีทัศน์ของปชป.) เขาเป็นอัศวินซึ่งจะเป็นผู้กอบกู้ “ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์”
คำถามก็คือแล้วถ้าประชาชน 70-80% เห็นต่างเพราะตอนนี้เสียงของพล.อ.ประยุทธ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ
ถ้าดูตามโพลนะ ก็ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็น แล้วมันจะไปอยู่ในบางพื้นที่ เช่น
ภาคใต้ตอนบน นี่ยกตัวอย่าง หรือในกทม.บางส่วน หรือในภาคกลางบางส่วน แล้วส่วนอื่นล่ะ
ยิ่งไม่ใช่เลย แปลว่าคุณถูกปฏิเสธโดยคนส่วนใหญ่และแทบจะสิ้นเชิงในบางภูมิภาค เช่นภาคเหนือตอนบน
เช่นภาคอีสาน แล้วคำถามว่าที่ใช้ปืนจ่อหัวประชาชนอยู่มาตลอด ยาวนานจนกระทั่ง 9 ปี
แล้วยังจะอยู่ต่อ
คำถามก็คือว่า
ดิฉันไม่เคยพบว่าในประวัติศาสตร์ไทยมีนายพลแบบนี้ หรืออดีตนายพลแบบนี้
อย่างน้อยที่สุดเขาก็ยังรู้ว่ามันถึงเวลาที่มันไม่ใช่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม บางคนก็ถูกรัฐประหาร
อย่างเช่นจอมพล ป. บางคนก็ถึงแก่อายุขัย แต่ที่ลงไปเองก็มีเยอะ เช่น
พล.อ.เกรียงศักดิ์, พล.อ.เปรม ดังนี้เป็นต้น นี่ยกตัวอย่าง แม้กระทั่งในปี 34
พล.อ.สุจินดาก็ไม่เป็นนายกฯ เอง ตัวเองกลับมาเป็นนายกฯ
ก็คือกลายเป็นเสียสัตย์เพื่อชาติ ก็จบ ก็ต้องลง คือเขาลงกันเอง
แต่นี่นับว่าเป็นคนแรกนะที่ไม่ยอมลง ที่อยู่มายาวนานก็น่าจะเป็น จอมพล ป.
พิบูลสงคราม แต่จอมพล ป. แม้จะมีส่วนลักษณะที่อาจจะมองว่าเป็นเผด็จการ
แต่ว่าส่วนหนึ่งก็คือมีความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคณะราษฎร
และเป็นผู้ที่ใช้คำพูดว่า การต่อสู้ระหว่างเก่ากับใหม่จะดำเนินไปจนถึงรุ่นลูกหลาน
คืออย่างน้อยที่สุด พูดกันตรง ๆ ก็คือ
ยังต้องการให้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้อยู่ในมือของกลุ่มจารีตนิยมเดิม
เพียงแต่จอมพล ป.
นั้นยังไม่สามารถประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองที่จะสามารถสืบทอดอำนาจ
ดังนั้นต้องยอมรับด้านหนึ่ง ก็ต้องให้เครดิตว่าพล.อ.ประยุทธ์ก็มีความอุตสาหะ
มีความเก่ง และมีความทน ทนต่อการถูกโจมตี ทนต่อความ ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี
ก็คือไม่ว่าใครจะว่าไง กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญจะว่าไงก็จะอยู่ เออ
เพราะว่าผมเป็นคนที่จะต้องรับผิดชอบประเทศ
ดังนั้น
ดิฉันก็อยากจะพูดถึงคำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทัศนะของดิฉัน
เพราะความขัดแย้งนี้มันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับผู้ที่แย่งอำนาจจากประชาชนไป
คุณก้าวข้ามไม่ได้ การก้าวข้ามคือ คุณก้าวข้ามศพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 53
คุณทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ นักการเมืองก็ไม่ผิด ทหาร รู้อยู่แล้วว่าเป็นคนส่วนไหน
ก็ไม่ผิด ไปศาลทหารก็ยกฟ้อง แล้วคุณจะมาบอกว่าลืม ๆ กันเหรอ
ก้าวข้ามความขัดแย้งแล้วก็เดินไปข้างหน้า มันไม่มีหรอกค่ะ
เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างบุคคล ความขัดแย้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคุณทักษิณกับพล.อ.ประยุทธ์
ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคุณทักษิณกับพล.อ.เปรม
หรือความขัดแย้งระหว่างคุณทักษิณกับพล.อ.ประวิตร
แต่มันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ถูกปกครอง
ขัดแย้งกับคณะ/กลุ่มคนจำนวนน้อยที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน
ที่ยึดอำนาจไปจากประชาชน ที่ปล้นอำนาจไปจากประชาชน นี่เป็นความขัดแย้งที่สำคัญ
แล้วคุณจะบอกว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง คุณจะก้าวข้ามยังไง ศพประชาชน คุณว่ายังไง
เพราะฉะนั้น มันไม่มี การก้าวข้ามมีแต่ขจัด กำจัดความขัดแย้ง
คือถ้าคุณรู้ว่าความขัดแย้งนี้คืออะไร ถ้าคุณเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลก็ โอเค
เรามาต่อรองผลประโยชน์กันนะ คุณเอาผลประโยชน์ตัวนี้ไป แล้วผมก็เอาผลประโยชน์ตัวนี้
แล้วเราก็มาประนีประนอมกัน เพื่อเราจะได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน ขอโทษ ไม่ใช่!
ประชาชนไม่ได้คิดอย่างนั้น คนเสื้อแดงเขาถูกสร้างมาด้วยอุดมการณ์
หลายคนดูถูกดูแคลนเขา กระทั่งปัญญาชนปัจจุบันนี้ เห็นว่าเขาเป็นชาวบ้าน
ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่ปัญญาชน ก็มองเอา ดูถูกดูแคลน พวกนี้เป็นพวกควายแดง
เป็นสมุนบริวารพรรคการเมือง เป็นสมุนบริวารคุณทักษิณ ถ้าสั่งหันซ้ายหันขวาก็ได้ คนเสื้อแดงเขาก็มีความคิดนะ
แล้วพัฒนาการของทั้งสองด้าน ของฝั่งที่ทำรัฐประหาร ก็คือประยุทธ์
ก็มีพัฒนาการคือสามารถที่จะเขียนรัฐธรรมนูญที่ทำให้ตัวเองมีอำนาจอยู่ได้ยาวนาน
ลองคิดดูซิว่าความขัดแย้งนี้มันเป็นความขัดแย้งของเครือข่ายโครงสร้างส่วนชั้นบนทั้งหมด
แล้วถ้าเป็นองค์กร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระทั้งหลายตั้งแต่
กกต. ป.ป.ช. ก็มาจากไหน แล้วกองทัพ หรือข้าราชการในระดับบน ระดับสูง
รอบที่แล้วออกมาเป่านกหวีดกันเต็มไปหมด คือจริง ๆ มันเลือกข้าง แล้วมันเป็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่
และไม่สามารถที่จะเดินก้าวข้ามไปได้ เพราประชาชนถูกกระทำ!
วิธีแก้ความขัดแย้งมีอย่างเดียว
ไม่ใช่ก้าวข้าม ก็คือ คุณต้องเอาอำนาจประชาชนคืนมา คุณเอาความยุติธรรมคืนมา
คุณต้องทำให้ประเทศนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยจริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม
ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ แล้วเลือกตั้งมา แล้วก็ไปรวมกันอยู่แบบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
แล้วพากันแข่งว่าใครให้ประชาชนมากกว่า เช่น คนนี้ให้ 700 คนนี้ให้ 1,000
คนนี้ให้บำนาญ 3,000 อีกพรรคหนึ่งบอก 3,000, 4,000, 5,000 ถ้าแก่หน่อยก็ 5,000 อ.ธิดานี่น่าจะได้
5,000 แล้วมั้ย หรืออะไรประมาณนี้ อันนี้เป็นการดูถูกประชาชนนะ
แน่นอนเรามีประชาชนที่ยากลำบาก เขาต้องการชีวิตที่ดีกว่า แต่ว่าเขาก็มีความรู้เข้าใจนะว่ามันต้องอำนาจเป็นของประชาชนจริง
ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจทุกอย่างมันจะดีขึ้น เพราะประชาชนแก้ปัญหาของประชาชน ไม่ใช่เอาคนที่คิดว่าตัวเองเป็นเทวดามาแก้ปัญหาของประชาชน
อาจจะโยนอะไรให้ เฮลิคอปเตอร์มันนี่จำนวนหนึ่ง แต่ประชาชนไทยไม่ได้โง่
และโดยเฉพาะคนเสื้อแดง ได้มีความตื่นรู้ทางการเมืองมาพอสมควร ถ้าเขารู้ว่าถ้าประชาชนไม่มีอำนาจจริง
ไอ้สิ่งที่เอามาล่อมันก็จอมปลอมทั้งนั้น
ดังนั้น
การที่จะขจัดความขัดแย้งแล้วพรรคการเมืองที่ได้รับการขานรับต้องแน่วแน่ที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน
พวกจารีตอำนาจนิยม คุณไม่ต้องห่วงหรอก เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนบอกว่าจะเป็นสาธารณรัฐ
ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เอานโยบายนปช.ก็ได้ ก็คือ
ที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง อ.ธิดาเป็นคนเสนอแล้วก็ได้รับการโหวต
แล้วสิ่งนี้ก็ได้แพร่ไปในหมู่ประชาชนว่าอำนาจต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะว่าเลือกพรรคการเมืองเข้าไป ไปเป็นรัฐบาลก็จอมปลอม
เพราะนั่งเสียวสันหลังอยู่ว่าทหารพอใจมั้ย? เดี๋ยวเขาจะทำรัฐประหารอีกหรือเปล่า?
ถ้าเราทำอย่างนี้แล้วเขาจะทำอย่างนั้น เขาจะจัดการเราหรืออะไร?
แต่ว่าความสำเร็จอันนี้มันยังไม่เท่ากับความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย
ซึ่งนักการเมืองไม่ได้ตระหนัก ก็คิดว่าประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว
มีรัฐธรรมนูญที่ดีแล้ว ไม่ได้ตระหนักว่าความขัดแย้งมันมีรากลึก แล้วฝั่งที่ได้เปรียบไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน
ในที่สุดรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ถูกทำรัฐประหาร แล้วก็ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก
ดิฉันบอกได้เลยว่าแค่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเดียวในเวลาที่ผ่านมา
มันยิ่งทำให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชนก็ยิ่งกลัว แล้วก็หาวิธีแก้
ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างมีพัฒนาการ พัฒนาการของการต่อสู้ของประชาชนฝ่ายจารีต
คิดว่าจัดการพรรคไทยรักไทยแล้วจะจบ มีพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
คิดว่าจัดการพรรคเพื่อไทย ในที่สุดก็มีพรรคอนาคตใหม่ จัดการอนาคตใหม่
จัดการไทยรักษาชาติ ก็มีก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก็ได้รับการยอมรับ
หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย จนมาถึงรุ่นลูกแล้ว
จะสู้ไปจนถึงรุ่นหลานหรือเปล่าก็ไม่รู้ อันนี้แสดงให้เห็นว่ามรดกการต่อสู้มันก็ถูกสืบทอดมาตามลำดับ
เพราะประชาชนรู้ว่าประชาชนถูกปล้นอำนาจไปและต้องการเอาคืน ดังนั้น
คุณจะก้าวข้ามความขัดแย้งโดยที่คุณยืนอยู่ในฐานะผู้ปกครองตลอด มันไม่ได้หรอกค่ะ
คุณไม่มีหัวใจของผู้ถูกปกครอง คุณไม่มีหัวใจของคนที่ถูกกดขี่
ดังนั้น สำหรับดิฉันก็ถือว่าวิธีที่จะแก้ก็คือต้องคืนอำนาจประชาชนคืนมา
ในขณะนี้ถ้าคุณไม่ยอมแพ้ อาจจะมีการทำรัฐประหารอีก ประชาชนก็สู้อีก ในขณะนี้ในฝั่งการต่อสู้นอกรัฐสภา
เด็กอายุไม่ถึง 15 อายุ 13-14 ปี คุณเป็นปฏิปักษ์กับคนเยนเนอเรชั่นใหม่หมดเลย
แล้วคุณดูซิว่าคน 70% เมื่อกี้ที่ดิฉันบอกไปแล้ว เพื่อไทย 40% สมมุตินะ ก้าวไกล 20% ที่ยังไม่ออกความเห็นอีก อย่างน้อยฝั่งนี้ก็ต้อง 70%
คน 70% และโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ดิฉันคิดว่า 100%
ไม่เอาพวกคุณ คุณจะมาก้าวข้ามความขัดแย้งได้ยังไง? ความขัดแย้งมันยังดำรงอยู่ คืนอำนาจประชาชนมา
คืนความยุติธรรม ต้องทำให้ประเทศนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริง
และขจัดผลพวงการทำรัฐประหาร เขียนรัฐธรรมนูญใหม่แบบที่เรานำเสนอไป
ไอ้เครื่องมือทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าเป็นองค์กรอิสระ
ไม่ว่าเป็นวุฒิสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งโดยพวกคุณ แล้วพวกคุณกลายเป็นรัฎฐาธิปัตย์
มันใช้ไม่ได้ ใครทำรัฐประหารแล้วเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แล้วสถาปนาอำนาจในทุกส่วน
แล้วตอนหลังมาบอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง มันไม่ได้นะคะ ความขัดแย้งนี้จะดำรงอยู่
มีแต่การขจัดความขัดแย้ง ไม่ใช่ก้าวข้าม เพราะนั่นคือก้าวข้ามศพประชาชน
และประชาชนไม่มีวันยอม
แล้วคุณจะสู้กับประชาชน สู้กับลูกหลานต่อไปได้อย่างไร ไม่มีทางชนะ
เพราะประชาชนมีเวลาแล้วก็มีอนาคตค่ะ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #ก้าวข้ามความขัดแย้ง