วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ชัยธวัช” แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกลหลังตรวจพยานหลักฐาน ย้ำกระบวนการ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่างคำร้อง ใช้ข้อมูลเท็จจากฝ่ายความมั่นคง เรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญเปิดไต่สวน เรียกพยานบุคคล - พยานเอกสารเพิ่มเติม

 


“ชัยธวัช” แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกลหลังตรวจพยานหลักฐาน ย้ำกระบวนการ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่างคำร้อง ใช้ข้อมูลเท็จจากฝ่ายความมั่นคง เรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญเปิดไต่สวน เรียกพยานบุคคล - พยานเอกสารเพิ่มเติม


วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกล หลังกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐานจากทั้งสองฝ่าย โดยเป็นการโต้แย้งในสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือหมาย ร. พยานหลักฐานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนที่สองคือหมาย ศ. พยานหลักฐานเอกสารซึ่งเคยถูกใช้ในคดีก่อนหน้านี้ตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาสู่สำนวนคดีนี้


ชัยธวัชกล่าวถึงส่วนแรก คือเอกสารหมาย ร. จาก กกต. ว่า เมื่อพรรคก้าวไกลได้ตรวจพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว ทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ที่มาของการยื่นคำร้องยุบพรรคในคดีนี้มีที่มาอย่างไร โดยแรกเริ่มเกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 พชรนน คณาโชติโภคิน ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. กล่าวหาว่า พรรคก้าวไกลกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม. 92 วรรคหนึ่ง (2) 


ซึ่ง กกต. ก็ได้รับคำร้องไปดำเนินการ โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง (แสวง บุญมี) มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 2 ไปดำเนินการตรวจสอบ โดยผลการตรวจสอบออกมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รายงานไปยังเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เห็นว่า ข้อกล่าวหาตามคำร้องกรณีการหาเสียงเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไข ม.112 สามารถกระทำได้ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ม. 6 ตามคำร้อง รวมถึงไม่มีข้อเท็จจริงใดปรากฏว่าพรรคก้าวไกลกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม. 92 จึงเป็นคำร้องที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอ สมควรยุติเรื่อง


อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องของธีรยุทธ สุวรรณเกษร เรื่องพิจารณาที่ 19/2566 รองเลขาธิการ กกต. เห็นว่า คำร้องของพชรนนเป็นประเด็นเดียวกัน จึงมีความเห็นว่า ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวก่อน หลังจากนั้นในวันที่ 31 มกราคม 2567 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่สั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำแล้ว วันรุ่งขึ้น เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ก็ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม. 92 วรรคหนึ่ง ในทันที


หลังจากนั้น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานกิจการพรรคการเมือง ได้มีความเห็นไปยังเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่า เมื่อพิจารณาคำร้องที่ค้างไว้เดิมของพชรนน และคำร้องใหม่ของเรืองไกรและธีรยุทธ ประกอบกับเมื่อมีคำวินิจฉัย 3/2567 เห็นว่าเป็นกรณี “คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” พรรคก้าวไกลอาจกระทำการล้มล้างการปกครอง ตาม ม. 92 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง จึงเสนอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง รับคำร้องไว้ดำเนินการทั้ง 3 คำร้องเนื่องจากเป็นประเด็นเดียวกัน และควรมอบหมายให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองคณะที่ 6 ไปรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ตามระเบียบคณะกรรมการ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2566


ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองอนุมัติตามที่สำนักกิจการพรรคการเมืองเสนอ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ให้ไปดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการ กกต. และยังทำหนังสือแจ้งไปยังประธาน กกต. และคณะกรรมการ กกต. ทุกคน ให้ทราบ


ต่อมา คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ได้ประชุมและเห็นว่า คดีดังกล่าวยังต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่นนอกจากคำร้องทั้งสามฉบับ เช่น รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยที่ 3/2567 ซึ่งขณะนั้นสำนักงาน กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นไว้แล้ว โดยที่ประชุมเห็นว่า หากนำรายงานดังกล่าวเข้ามาสู่สำนวนด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จึงมีความเห็นว่า ควรขอขยายระยะเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองออกไป 30 วัน


หลังจากนั้นประธานคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกิจการพรรคการเมืองด้วย ก็ทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เพื่อขอขยายระยะเวลา ซึ่งหนังสือไปถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อเวลา 08.40 น. ของเช้าวันที่ 12 มีนาคม 2567 แจ้งว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่แล้วเร็จ เนื่องจากมีพยานหลักฐานต้องรวบรวมจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ชัดเจน และเกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย จึงขออนุมัติขยายระยะเวลารวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานออกไปอีก 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2567


ซึ่งเช้าวันเดียวกันนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ได้ลงนามอนุมัติให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ขยายเวลาการรวบรวมข้อเท็จจริงออกไป หลังจากนั้นในเช้าวันเดียวกันก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กกต. ซึ่งในที่ประชุมมีวาระนำเสนอรายงานคณะกรรมการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 กำลังรออยู่ 


แต่แทนที่ความเห็นของรายงานฉบับนี้จะถูกนำไปใช้ประกอบสำนวนของคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ปรากฏว่าคณะกรรมการ กกต. ได้มีมติโดยทันทีให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยที่ในบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ กกต. วันนั้น ยังมีการระบุให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต. ครั้งก่อนหน้า คือวันที่ 5 มีนาคม 2567 สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการ กกต. ไปแก้ไขร่างคำร้องยุบพรรคก้าวไกลให้กระชับขึ้น และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการ กกต. ยื่นคำร้องแทนคณะกรรมการ กกต. ด้วย


“จากเอกสารเท่าที่ปรากฏนี้ หมายความว่าตั้งแต่ก่อนวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่คณะกรรมการ กกต. จะรับทราบรายงานของคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ได้มีการดำเนินการให้ไปร่างคำร้องยุบพรรคก้าวไกลล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ได้ฟังรายงาน ตั้งแต่ที่การดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ” ชัยธวัชกล่าว


ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับที่มีการประชุมของคณะกรรมการ กกต. ในตอนเช้า บ่ายวันเดียวกันเวลา 13.30 น. ก็ได้มีการประชุมของคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะ 6 ซึ่งมีความเห็นว่า ไม่มีเหตุต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อเสนอนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาตามระเบียบ กกต. อีกแล้ว จึงเห็นควรเสนอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาดำเนินการต่อไป 


ในวันเดียวกัน เวลา 16.30 น. คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ได้มีหนังสือเสนอความเห็นไปยังนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับหนังสือแล้วก็ลงนามเห็นชอบในวันเดียวกัน และยังมีคำสั่งให้ยุติการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ม.93 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพราะได้มีการดำเนินการตาม ม.92 ไปแล้ว


ชัยธวัชกล่าวว่า ตามระเบียบคณะกรรมการ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานฯ เหตุในการยุติการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จะทำได้เฉพาะกรณีที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสร็จแล้ว และนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงมีอำนาจสั่งให้ยุติเรื่องได้เท่านั้น โดยระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่ากรณีที่มีการดำเนินการตาม ม.92 ไปแล้วจะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยุติเรื่องได้แต่อย่างใด


หมายความว่าการที่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 นายทะเบียนพรรคการเมืองสั่งให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ยุติการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จึงเป็นการขัดต่อระเบียบฉบับดังกล่าว ทั้งที่ระเบียบคณะกรรมการ กกต. ออกแบบมาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดย ม.92 เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ส่วน ม.93 กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน โดยระเบียบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการตามมาตรา 92 ไม่ได้แยกเป็นเอกเทศจากการดำเนินการตามมาตรา 93 ประกอบระเบียบดังกล่าวแต่อย่างใด 


เมื่อพรรคก้าวไกลได้ตรวจพยานหลักฐานตามเอกสารของ กกต. ทั้งหมดแล้ว จึงเห็นว่า การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล เป็นการดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้ระบุว่าการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เป็นการรวบรวมตาม ม.93 ในฐานะที่แยกออกจาก ม.92 เพราะการตั้งเรื่องของนายทะเบียนพรรคการเมืองให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ คณะที่ 6 ดำเนินการตามระเบียบ ปี 2566 ก็เป็นการตั้งเรื่องว่า เป็นกรณี “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลอาจกระทำการฝ่าฝืน ม. 92 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.ป.พรรคการเมือง” ตั้งแต่ต้นแล้ว


ชัยธวัชแถลงถึงกรณีการคัดค้านเอกสารหมาย ศ หรือเอกสารพยานหลักฐานที่รายงานโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้มาแล้วในคดีที่นำไปสู่คำวินิจฉัยที่ 3/2567 พรรคก้าวไกลหวังว่าในคดีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดให้มีการไต่สวนในประเด็นนี้ เพื่อให้พรรคก้าวไกลมีโอกาสโต้แย้ง ทว่าศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลกลับรับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัย


ซึ่งเมื่อเทียบกับคดีก่อนหน้านี้ที่เป็นเพียงการสั่งให้เลิกการกระทำ คดีปัจจุบันเป็นคนละข้อกล่าวหาและมีโทษร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจึงจำต้องทำการโต้แย้งประเด็นดังกล่าวในคดีนี้ โดยเอกสารพยานหลักฐานจากหน่วยงานความมั่นคงดังกล่าว มีการให้ความเห็นประกอบหลักฐานที่พยายามแสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มต่าง ๆ ที่รณรงค์เกี่ยวกับ ม.112 ซึ่งในคดีนี้ พรรคก้าวไกลโต้แย้งไปว่า พยานหลักฐานเหล่านี้ไม่สามารถรับฟังได้ และควรมีการไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานดังกล่าวทั้งหมด เพื่อให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ถูกต้องชัดแจ้ง


ตัวอย่างข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ เช่น หลักฐานที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ธิษะณา ชุณหะวัณ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้มีการตรวจสอบการดำเนินคดีตาม ม.112 โดยฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกล วางแผนกันเพื่อให้มีการอภิปรายในสภาเพื่อโจมตี ม.112 ทั้งที่ ขณะนั้น ธิษะณาไม่ได้เป็น สส.พรรคก้าวไกล และไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด ธิษะณายื่นหนังสือดังกล่าวในฐานะประชาชนเท่านั้น และการรับหนังสือดังกล่าวของรังสิมันต์ โรม ก็เป็นการกระทำในฐานะ กมธ. คณะดังกล่าว พร้อมกับ กมธ. ท่านอื่นในคณะเดียวกัน โดยหลังจากที่รังสิมันต์ โรม รับหนังสือดังล่าว ก็ไม่ได้กระทำการใดๆ ตามที่ฝ่ายความมั่นคงให้ความเห็นไว้ตามเอกสารแต่อย่างใด


ตัวอย่างต่อมา เอกสารจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่ จ.ลพบุรี วิศรุต สมงาม โดยฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ได้จัดกิจกรรมสอบถามความเห็นประชาชนว่าด้วยการยกเลิก ม.112 นั้น เป็นความเท็จ เนื่องจากในวันนั้น วิศรุตยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล แต่อย่างใด


“เหล่านี้คือตัวอย่างข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถรับฟังได้ในคดีนี้ และศาลรัฐธรรมนูญควรต้องมีการไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พรรคก้าวไกลสันนิษฐานว่า เอกสารจากฝ่ายความมั่นคง เป็นเอกสารที่เพิ่งทำขึ้นภายหลัง และได้ถูกศาลนำมาใช้เป็นหลักฐานโดยไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งในชั้นไต่สวน และได้มีการนำข้อเท็จจริงนี้ไปใช้วินิจฉัยการกระทำของพรรคก้าวไกลในคดีก่อนหน้านี้ ทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริงใดเลยที่พิสูจน์ให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลได้สั่งการให้มีการกระทำดังกล่าว โดยที่ข้อมูลหลายส่วนเป็นข้อมูลเท็จ และข้อเท็จจริงบางส่วนก็เป็นการกระทำส่วนบุคคลเท่านั้น” ชัยธวัชกล่าว


ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า พยานหลักฐานทั้งสองส่วนที่ได้แถลงมานี้ ทั้งที่มาจากคณะกรรมการ กกต. (เอกสารหมาย ร) และที่ศาลรัฐธรรมนูญให้รวมสำนวนคดีก่อนเข้าสู่สำนวนคดีนี้ (เอกสารหมาย ศ) เป็นสองส่วนที่พรรคก้าวไกล ได้ไปยื่นคำร้องโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วในวันนี้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ