วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ชูศักดิ์ เผย “กมธ.นิรโทษฯ” เคาะ 3 ประเด็นสำคัญให้สภาชี้ขาด รวม ม.110-112 หรือไม่ เตรียมยื่นรายงานถึงมือ "ประธานสภาฯ" พรุ่งนี้ พร้อมเสนอวิป รบ. ดันเป็นวาระด่วน คาดเข้าสู่สภาฯ กลางสิงหา นี้

 


ชูศักดิ์ เผย “กมธ.นิรโทษฯ” เคาะ 3 ประเด็นสำคัญให้สภาชี้ขาด รวม ม.110-112 หรือไม่ เตรียมยื่นรายงานถึงมือ "ประธานสภาฯ" พรุ่งนี้ พร้อมเสนอวิป รบ. ดันเป็นวาระด่วน คาดเข้าสู่สภาฯ กลางสิงหา นี้ 


วันที่ 25 ก.ค.2567 เวลา 15.30 น. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาฯ แถลงผลการประชุมกมธ.ฯนัดสุดท้ายว่า ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม โดยมีข้อสรุปคือ


1. ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการพิจารณาตามบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองใดบ้างที่เข้าข่าย หรือเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรม


2. คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น คดีที่มีความผิดต่อชีวิต หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามมาตรา288,289 ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม


นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 3. คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น คดีตามมาตรา 110 โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ที่สังคมจับตาว่าจะรวมหรือไม่ในการนิรโทษกรรม กมธ.ฯมีข้อสรุป แบ่งออกเป็น 3 ความเห็น คือ


1. ไม่เห็นด้วยให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา 110 และมาตรา 112


2. เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีมาตรา110 และมาตรา112 โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ


3. เห็นควรให้นิรโทษกรรมในคดีตามมาตรา110 และมาตรา112 แต่ต้องมีมาตรการ มีเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่ามีมูลเหตุจูงใจใด ให้มาแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบ มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ความเห็นของทั้ง3กลุ่มประเภท จะได้บรรจุลงไปในรายงานเพื่อเสนอต่อสภาฯไปพิจารณาด้วย


“วันนี้มีความคืบหน้าอีกประการที่มีมติชัดเจนคือ ควรมีมาตรการในทางบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เช่น คดีต่างๆที่เป็นคดีเล็กค้างอยู่ในโรงพัก แต่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมาตรการทางบริหารสามารถใช้ได้ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เช่น มาตรการสั่งไม่ฟ้อง มาตรการตามมาตรา21ของกฎหมายอัยการหรืออื่นๆที่จำเป็น ได้เพิ่มเข้าไป นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการนิรโทษกรรมมันจะเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาลต้องรับเรื่องนี้ไปพิจารณา หรือเป็นเจ้าภาพ เพื่อช่วยกันเร่งรัดพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้เกิดขึ้น จะได้เกิดความสำเร็จในการประนีประนอม น่าอยู่น่าอาศัย ไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนในอดีต” ประธานกมธ.ฯนิรโทษกรรม กล่าว


ด้านนายนิกร จำนง เลขานุการกมธ.ฯ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (26ก.ค.) กมธ.ฯ จะยื่นรายงานการประชุมของกมธ.ฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม จากนั้นจะดำเนินการจัดพิมพ์รูปเล่มเพื่อแจกต่อสมาชิก คาดว่าใช้เวลาในการจัดพิมพ์ประมาณ 20 วัน นอกจากนี้จะขอให้ทางวิปรัฐบาลเสนอให้นำขึ้นมาเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วน เนื่องจากอยู่ในความสนใจของประชาชน


ขณะที่นายสมคิดกล่าวว่า เมื่อยื่นรายงานต่อประธานสภาในวันที่ 26 ก.ค.แล้ว หากประธานสภาบรรจะเข้าสู่วาระการประชุมทัน ก็จะนำเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เพื่อที่จะให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน แต่หากไม่ทันในสัปดาห์หน้าก็คาดว่าจะสามารถนำรายงานดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาได้ประมาณกลางเดือน ส.ค. ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะฝ่ายค้านก็เห็นพ้องด้วย จากนั้นก็จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณา และเร่งดำเนินการตามบันทึกแนบท้ายว่าให้เร่งออกเป็น พ.ร.บ.ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธ #นิรโทษกรรม