วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

"ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย" กังวล สว.ชุดใหม่ไม่หนุนแก้รัฐธรรมนูญ "จาตุรนต์" แนะ แก้ พ.ร.บ.ประชามติให้ถูกหลัก - ใช้เสียงข้างมากโดยไม่มีเงื่อนไข

 


“ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” กังวล สว.ชุดใหม่ไม่หนุนแก้รัฐธรรมนูญ “จาตุรนต์” แนะ แก้ พ.ร.บ.ประชามติให้ถูกหลัก - ใช้เสียงข้างมากโดยไม่มีเงื่อนไข

 

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ภรป.) ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และ นักการเมืองจากทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จัดให้มีการประชุมภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ครั้งที่ 1/2567 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนและมีแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เตรียมจะเสนอสู่รัฐบาลและสังคม อาทิ เปิดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชน, สสร.ต้องมาจากตัวแทนของกลุ่มอาชีพที่หลากหลายมากกว่าครั้งก่อน รวมไปถึงการทำประชามติต้องเปิดให้มีการรณรงค์อย่างเสรี เป็นธรรม และกว้างขวาง

 

ทั้งนี้ในที่ประชุมยกประเด็นอุปสรรคในการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งมีหลายด้าน โดยสิ่งที่ผู้ร่วมประชุมบางส่วนเริ่มรู้สึกเป็นห่วงไปในทิศทางเดียวกันคือร่างแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านวาระหนึ่งของรัฐสภาได้ ต้องอาศัยเสียง “เห็นชอบ” ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. และ สว. ที่มีอยู่ และในจำนวนดังกล่าว ต้องมีเสียงของ สว. ที่ยกมือโหวตเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม นั่นก็คือไม่น้อยกว่า 67 เสียง แต่ดังที่หลายฝ่ายเข้าใจคือกติกาการเลือก สว.ครั้งนี้ทำให้เราไม่ได้ สว.ที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพและไม่มีความเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ “ยากกว่าที่คิดไว้”

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ปรึกษาและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในที่ประชุมภาคีว่า สิ่งที่จะมาปลดล็อกได้คือ “การทำประชมติ” แม้ในคราวแรกจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ผลของการลงประชามติจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ สว.ไม่อาจปฏิเสธที่จะทำตามเสียงของประชาชนได้

 

โดยขณะนี้ พ.ร.บ.ประชามติ กำลังอยู่ในการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ผมเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ด้วย โดยสิ่งที่เห็นตรงกันคือการแก้ไขกติกาแบบ Double Majority ออกไป แต่สิ่งที่ยังถกเถียงกันคือยังจะต้องกำหนดจำนวนผู้มาออกเสียงมากน้อยเท่าใดหรือไม่และการกำหนดว่าต้องมีคะแนนของผู้เห็นด้วยเป็นจำนวนเท่าไหร่กันแน่ เช่น ต้องมีผู้เห็นด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง

 

สิ่งที่ผมเสนอคือนอกจากไม่ควรใช้กติกาแบบ Double majority แล้ว ยังควรใช้ “เสียงข้างมากเท่านั้น” โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขอื่นประกอบ ที่ผมเสนออย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องปกติที่การเลือกตั้งทั่วไปก็ใช้กติกาเช่นนี้ แต่อ้างเรื่องการเลือกตั้งก็ไม่ดีเท่ากับการอ้างพระราชบัญญัติประชามติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2559 ซึ่งกำหนดว่า “การลงประชามติถือว่าผ่านหากได้รับการเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด…” ผมเสนออย่างนี้เพราะว่า เราต้องมีหลักอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องอธิบายว่าทำไมเราถึงต้องยกเลิกกติกา Double majority เพราะฉะนั้นการอธิบายหลักเหตุผลที่ดีที่สุดก็คือว่ารัฐธรรมนูญตัวแม่ (รัฐธรรมนูญ 2560) มาจากการทำประชามติกันมาอย่างไรก็ทำแบบนั้น เพราะการกำหนดกติกาที่ต่างกันจะทำให้ผู้ที่เห็นไปในทิศทางใดทางหนึ่งย่อมหาเหตุผลมาอธิบายไปต่าง ๆ นานาได้เสมอ จนอาจทำให้การแก้รัฐธรรมยิ่งยากไปกว่าเดิม หรือง่ายจนเกินไปก็ได้ “ นายจาตุรนต์ กล่าว

 

ทั้งนี้นายจาตุรนต์ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องแก้พ.ร.บ.ประชามติ ให้ใช้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและอธิบายได้อย่างมีเหตุมีผลเสียก่อน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แก้รัฐธรรมนูญ #สว67